ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์ /THE SOCIAL DILEMMA ‘สิ่งเสพติดออนไลน์’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

THE SOCIAL DILEMMA

‘สิ่งเสพติดออนไลน์’

 

กำกับการแสดง Jeff Orlowski

นำแสดง Skyler Gisondo Kara Hayward Vincent Kartheiser Tristan Harris

Justin Rosenstein

 

หนังเรื่องนี้เป็นสารคดีที่แทรกดราม่าของชีวิตครอบครัวในโลกปัจจุบันอยู่ด้วย และเริ่มนำเข้าเรื่องด้วยคำโปรยที่อ้างอิงจากโซโฟคลีส นักเขียนบทละครสมัยกรีกโบราณ ว่า

“ไม่มีอะไรที่กว้างใหญ่ไพศาลจะเข้ามาสู่ชีวิตมนุษย์โดยปราศจากคำสาป” (Nothing vast enters the life of mortals without a curse.)

คำพูดนี้อ้างว่ามาจากบทละครเรื่อง Antigone แต่อันที่จริงเป็นฉบับแปลของเลนเนิร์ด ชเลน เนื่องจากโซโฟคลีสเขียนด้วยภาษากรีกโบราณ ถ้อยคำจึงอาจผิดเพี้ยนไปจากเดิมบ้าง

อย่างไรก็ตาม คำโปรยนี้ก็เหมาะที่จะนำมาใช้สำหรับหนังเรื่องนี้

 

นี่เป็นหนังที่สมควรดูอย่างยิ่งค่ะ

ใช่ว่าเนื้อหาจะแปลกใหม่น่าตื่นตะลึง ทว่าวิธีการนำเสนอเนื้อหาโดยเล่าจากปากคำของบุคคลที่อยู่ในวงการเทคโนโลยีที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อโลกโซเชียลที่แพร่เข้าไปสู่ผู้คนส่วนใหญ่ แม้ในระดับรากหญ้าทุกวันนี้…เรียกได้ว่าแฉจากคนในที่อยู่ในวงการ หรือเป็น “คนเป่านกหวีด” ต่างหาก ที่ทำให้หนังสารคดีเรื่องนี้ควรค่าแก่การรับรู้และสำเหนียก

โลกยุคแห่งสารสนเทศ (information age) ที่เราภาคภูมิใจกันนักหนา กลายเป็นยุคแห่งสารสนเทศที่ผิดเพี้ยนมหาศาล (disinformation age)

หนังเล่าเรื่องด้วยถ้อยคำของอดีตผู้บริหารหรือโปรแกรมเมอร์หลายคนที่รับผิดชอบการพัฒนาองค์กรทางสื่อสังคม และแสดงความห่วงใยแก่ผู้ใช้ “เน็ตเวิร์ก” “เครื่องมือค้นหา” “ข้อมูลทันใจ” และอื่นๆ อย่างเช่น Facebook, Twitter, Instagram, Google, YouTube, Pinterest, Reddit, Linkedin, TikTok ฯลฯ

แน่นอน องค์กรเหล่านี้เป็นบริษัทที่ต้องการสร้างผลกำไรสูงสุด บริษัทจึงพยายามทำทุกอย่างที่จะล่อให้ผู้ใช้ใช้เวลาอยู่กับแอพพ์นั้นๆ ให้บ่อยครั้งที่สุดและนานที่สุด เพื่อขายโฆษณาที่จะป๊อปขึ้นมาเพื่อจูงใจคนที่เข้าโซเชียลมีเดียเหล่านั้น

ทุกแพลตฟอร์มในโลกโซเชียลแข่งกันแย่งชิง “เวลา” ของเราที่เป็นผู้ใช้ และทำทุกอย่างเพื่อล่อให้เราอยู่กับเขามากที่สุด

คนจึง “ติด” โลกโซเชียลเหมือนกับติดยา หรือติดการพนัน อย่างที่เรียกว่าถึงขั้นลงแดงกันได้เลยถ้าไม่มีมือถืออยู่กับตัว

 

ทริสตัน แฮร์ริส ซึ่งเคยใหญ่โตอยู่ในกูเกิล บอกว่าโปรแกรมเมอร์เหมือนเป็นนักมายากลที่เข้าใจจิตวิทยาอย่างล้ำลึก เข้าใจว่าสมองของมนุษย์ทำงานอย่างไร และจะทำให้เทคโนโลยีจูงใจผู้คนมากขึ้นได้อย่างไร

เหมือนกับการออกแบบสล็อตแมชชีนที่จะล่อให้ผู้เล่นเล่นต่อไปเรื่อยๆ เพื่อหวังจะชนะรางวัลใหญ่ โดยเล่นกับแรงกระตุ้นที่หักห้ามใจไม่ได้ที่จะตอบสนองต่อคำเรียกร้องนั้นๆ เป็นการกระตุ้นฮอร์โมนโดพามีนซึ่งเป็นตัวส่งสัญญาณประสาทจากสมองให้คนเราทำสิ่งต่างๆ

จัสติน โรเซนสไตน์ ซึ่งเป็นผู้ใส่ปุ่ม “ไลก์” เข้ามา บอกว่า เขาเริ่มต้นด้วยจุดประสงค์ในเชิงบวก เพื่อสนับสนุนให้คนส่งกำลังใจให้แก่กัน

แต่ไม่รู้สักนิดว่าเรื่องจะเลยเถิดไปได้ ในลักษณะของจิตวิทยาที่พลิกไปในทางตรงข้ามได้อย่างนึกไม่ถึง

โลกโซเชียลเรียกร้องความนิยมอย่างมหาศาลโดยนับจากจำนวนการกดไลก์ ซึ่งเป็นความนิยมจอมปลอม ฉาบฉวยและไร้ความหมาย ขณะที่สร้างความคาดหวังให้แก่ผู้ได้รับความนิยมนั้นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

และเมื่อได้รับคำวิจารณ์หรือ “ไลก์” ลดน้อยลง ก็อาจทำให้เกิดความผิดหวัง ถึงขั้นนำไปสู่ความหดหู่ ทำร้ายตัวเองและมีแนวโน้มไปสู่การฆ่าตัวตายได้

ฟังดูเหมือนเรื่องไร้สาระสำหรับคนที่มีวุฒิภาวะพอสมควร แต่สำหรับวัยรุ่นที่ฮอร์โมนกำลังเปลี่ยนแปลง สถิติแสดงให้เห็นแนวโน้มที่พุ่งขึ้นสูงอย่างน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และนักจิตวิทยาเชื่อมโยงสุขภาพจิตของคนปัจจุบันเข้ากับโลกโซเชียล

ยังไม่ต้องพูดถึงสิ่งที่นิตยสารไทม์เคยลงหน้าปกไว้เมื่อหลายปีก่อน โดยเรียกคนรุ่นอายุนี้ว่า The Me Generation ทุกสิ่งทุกอย่างโคจรอยู่รอบตัวตนของ “ฉัน” เท่านั้น วันๆ เอาแต่เซลฟี่เพื่อจะโพสต์ให้สังคมรับรู้ในตัวตน

และรอคอย “ไลก์” ที่จะกดให้แก่กัน

 

หนังมีตัวอย่างของวัยรุ่นแรกสาว ที่โพสท่าเซลฟี่และใช้โปรแกรม Beatify ทำให้ดูดีขึ้นสวยขึ้น ครั้นเมื่อมีคำวิจารณ์เล็กๆ ว่าหูใหญ่ไปหน่อย สาวเจ้าก็กลุ้มอกกลุ้มใจ ทำท่าเหมือนจะเป็นจะตาย

นี่อาจเป็นสาเหตุให้วัยรุ่นสมัยนี้ทำศัลยกรรมพลาสติกกันเป็นว่าเล่น เขามีคำศัพท์เรียกว่า snapshot dysmorphia ซึ่งหมายถึงการแปลงรูปโฉมไปตามภาพถ่าย ทำให้คนไปทำศัลยกรรมเพื่อให้หน้าตาเหมือนภาพที่ตกแต่งแล้วแบบที่เห็นในโลกโซเชียล

สิ่งที่คุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของคนยุค disinformation age คือการเสพติดโลกโซเชียลจนตกอยู่ใต้อิทธิพลและการบงการที่ชักใยพฤติกรรมการบริโภคของเราอย่างที่เราไม่รู้ตัวและนึกไม่ถึง

เราได้รับการป้อนภาพที่บิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงของโลก ของตัวเองและของคนอื่น ในโลกของทุนนิยมสอดแนม (surveillance capitalism) ซึ่งอะไรก็ตามที่เราทำในโลกออนไลน์จะถูกเก็บไว้เพื่อประโยชน์ของ “ลูกค้า” ของแพลตฟอร์มนั้นๆ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของเราไปทีละเล็กทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและแทบจะไม่รู้สึกตัว

หนังอ้างถึงหนังยอดนิยมที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางอีกสองเรื่อง คือ The Truman Show ซึ่งมีจิม แคร์รี่ เล่นเป็นคนที่เกิดมาในโดมครอบที่สร้างขึ้นเป็นท้องฟ้า เพื่อประโยชน์ทางการค้าแท้ๆ นั่นคือตัวเขาเป็นโปรดักต์ของ reality show ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง มีคนดูคอยติดตามชีวิตของเขา

หนึ่งในทีมงานผู้สร้างตั้งคำถามว่า “แล้วเขาจะไม่รู้ตัวเลยเชียวหรือ” เอ็ด แฮร์ริส ซึ่งเป็นผู้กำกับการแสดงและผู้อำนวยการสร้าง ตอบว่า “คนเรายอมรับความจริงของโลกอย่างที่เราได้รับการนำเสนอ (ให้รับรู้)”

ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมทรูแมนจึงไม่เคยนึกสงสัยในความจริงของโลกที่เขาอยู่เลย จนกระทั่ง…

 

หนังอีกเรื่องที่อ้างอิงถึงคือ The Matrix โดยบอกว่า “เราจะตื่นขึ้นในโลกเมทริกซ์ได้ยังไงถ้าเรายังไม่รู้เลยว่าเราอยู่ในโลกของเมทริกซ์”

ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารถูกบิดเบือนเพื่อวัตถุประสงค์ของคนที่อยู่เบื้องหลัง และสร้างความแตกแยกทางสังคมที่อยู่กันคนละขั้ว และถ้าเชื่อตามคำกล่าวของทริสตัน แฮร์ริส ผู้ก่อตั้งองค์กรเพื่อเทคโนโลยีที่เห็นแก่ประโยชน์ของมนุษยชาติ ข่าวสารข้อมูลปลอมจะแพร่ไปเร็วกว่าข้อมูลจริงถึงหกเท่า เนื่องจากข้อมูลจริงมักจะน่าเบื่อและไม่กระตุ้นความสนใจมากนัก เราก็คงต้องเบิกตาไว้กว้างๆ และเลือกจะไม่เชื่อเอาไว้ก่อนจะเชื่อละค่ะ

ขอแนะนำให้ดูต่อไปเมื่อเครดิตตอนจบขึ้นแล้วนะคะ เพราะยังมีคำแนะนำดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีอยู่บ้าง

เป็นหนังที่ขอแนะนำให้ดูจริงๆ ค่ะ เปิดตัวในเทศกาลซันแดนซ์เมื่อต้นปี และออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์แล้ว