ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | กรองกระแส |
เผยแพร่ |
กรองกระแส
อุบัติ แห่ง โลกใหม่
กับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เกาะติด กับโลกเก่า
การเคลือนไหว “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มายังท้องสนามหลวง และมุ่งตรงไปยังทำเนียบองคมนตรีในเช้าวันที่ 20 กันยายน
ให้บทเรียนในทางความคิด ในทางการเมืองอย่างอเนกอนันต์
ประชาชนได้เห็นการหลั่งไหลของมวลมหาประชาชนทั้งที่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งที่เป็น LGBTQ อันมาพร้อมกับรุ้งหลากสี
ทั้งที่เป็นเคยชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่มาพร้อมกับ “ธงแดง”
ขณะเดียวกัน ประชาชนได้รับฟังการคาดคำนวณจากด้านความมั่นคงของรัฐบาลที่ยืนยันด้วยความมั่นใจว่ามีประชาชนเข้าร่วมไม่น่าจะเกิน 20,000 คน
แม้ว่าการไลฟ์สดจะสะท้อนความคึกคักหนักแน่นอย่างมหึมา มหาศาล
เมื่อผ่านพ้นการชุมนุมวันเสาร์ที่ 19 เข้าวันที่ 20 กันยายน จึงได้รับการประเมินผลจากมุมมองอันแตกต่างกันเป็นอย่างสูง มุมหนึ่งล้มเหลว มุมหนึ่งได้ชัยชนะงดงาม
นี่คือการดำรงอยู่ของโลก 2 โลกอันแตกต่างกัน
เสียง ความล้มเหลว
แตกแยก ไม่มีเอกภาพ
แม้หน่วยงานด้านความมั่นคงจะประเมินว่า น่าจะมีคนเข้าร่วมถึง 50,000 คน โดยวางพื้นฐานจากที่เคยชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ณ ธรรมศาสตร์ วันที่ 16 สิงหาคม บนถนนราชดำเนิน
แต่แล้วก็มีความเห็นตรงกันในภายหลังว่าน่าจะไม่เกิน 20,000 คน
ทั้งยังสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งแตกแยกที่มวลชนจาก “เยาวชนปลดแอก” น้อยลง สัดส่วนของนักเรียน นิสิต นักศึกษาจึงน้อยกว่าสัดส่วนของคนเสื้อแดง
ทั้งยังสะท้อนการปฏิเสธเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” จากบางพรรคการเมือง
ทั้งยังประเมินการปราศรัยบนเวทีแตกกระจายไม่มีความเป็นเอกภาพ มวลชนถอนตัวเมื่อเน้นโจมตีในแบบทะลุเพดานทำให้ยิ่งโดดเดี่ยวและหมดพลัง
กระนั้น เมื่อมองภาพการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐกลับไปอีกทาง
เพราะไม่เพียงแต่ระดมกำลังพลจากทั่วประเทศ หากแต่ยังจัดตั้งป้อมปราการผ่านบังเกอร์พร้อมกับติดลวดหนามหลายชั้นเพื่อสกัดมิให้ไปยังทำเนียบรัฐบาลได้
การกล่าวหาให้ร้ายจึงสวนกับความเป็นจริงทางการปฏิบัติ
โลกเสมือนจริง
โลกที่เป็นจริง
ไม่ว่าจะมองจากทางด้านของรัฐบาล ไม่ว่าจะมองจากทางด้านของนักเรียน นิสิต นักศึกษา การปะทะและขัดแย้งอันเกิดขึ้นในทางความคิดในทางการเมือง
จึงเป็นการปะทะระหว่างโลก 2 โลก
เหมือนกับเป็นโลกแห่งความเป็นจริง แต่ความเป็นจริงนั้นก็ดำรงอยู่บนฐานแห่งความเชื่อทั้งที่แตกต่างกันและดำเนินไปในลักษณะไม่ได้สัมผัสกับความเป็นจริง
แม้กระทั่งในเรื่องของ “หมุดคณะราษฎร”
ไม่ว่าจะเป็น “หมุดคณะราษฎร 2475” อันเคยฝังอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ไม่ว่าจะเป็น “หมุดคณะราษฎร 2563” อันเพิ่งได้รับการฝังอยู่ในพื้นที่ของท้องสนามหลวง
ในความเป็นจริงถูกทำให้ “หาย” ไปแล้วจากจุดที่ฝังเอาไว้
กระนั้น ในความเป็นจริงทางด้าน “ความคิด” ไม่ว่า “หมุดคณะราษฎร 2475” ไม่ว่า “หมุดคณะราษฎร 2563” กลับดำรงอยู่ในจินตภาพอย่างสมบูรณ์และครบถ้วน
โลกเสมือนจริงจึงเข้ามายึดครองเหนือโลกที่เป็นจริง
กระบวนการรัฐธรรมนูญ
รัฐสภา 24 กันยายน
การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในวันที่ 24 กันยายน ได้กลายเป็นเวทีแห่งการต่อสู้อันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง
ไม่ว่าผลจะออกมาในด้านเห็นชอบ ไม่ว่าผลจะออกมาในด้านปฏิเสธ
เพราะว่าการดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถูกปฏิเสธอย่างคึกคักกว้างขวาง แม้จะผ่านการลงประชามติมาแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ก็ตาม
เนื่องจากเห็นตรงกันว่าเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ
อำนาจอัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นผลจากอภินิหารทางกฎหมายจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้
การลงมติจะแก้ไขหรือไม่ก็สำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือจะแก้อย่างไร
ไม่ว่าผลการลงมติจะออกมาอย่างใด ความรับผิดชอบทั้งหมดจะอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และจะมีผลชี้ทิศทางในอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นี่คือผลสะเทือนจากรัฐธรรมนูญอันเป็นผลไม้พิษนี้
การปะทะ ขัดแย้ง
ความคิด การเมือง
มีความขัดแย้งแตกแยกดำรงอยู่จริงในสังคมประเทศไทย เริ่มจากความขัดแย้งในทางความคิดและส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงไปเป็นความขัดแย้งทางการเมือง
ระหว่างโลกเก่า กับโลกใหม่
ระหว่างความต้องการในการรักษาโลกเก่า ความรุ่งเรืองในอดีต กับความต้องการที่จะสร้างโลกใหม่เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
โลกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นโลกเก่า
โลกของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและขบวนการประชาชนเป็นโลกใหม่ เป็นความเรียกร้องต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง
โลกหนึ่งไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง อีกโลกหนึ่งต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงพัฒนา