เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก ว่าด้วยญาณหยั่งรู้ ที่ทำให้ครูสอนจนรู้แจ้ง

อ่านตอน  1   2   3   4

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (5) ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ ตอนที่ 4

(7)

ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ (ญาณหยั่งรู้เหตุที่ทำให้ฌานเป็นต้นเสื่อม หรือเจริญ) อันนี้ตีความง่ายๆ ว่าได้แก่ รู้ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้การเรียนรู้ล่าช้าหรือเจริญแล้วรู้จักแก้ไขให้หรือหนุนให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี

นอกจากอุปสรรคที่กีดกั้น มิให้เรียนรู้ได้สำเร็จแล้ว ยังมีเงื่อนไขปัจจัยอย่างอื่นอีกด้วยที่คอยถ่วงให้ล่าช้ายิ่งขึ้น ที่ครูผู้สอนจะต้องรู้ให้หมด การแก้ไขจึงจะบรรลุผลโดยเร็ว

เช่น คนที่ความจำไม่ดี ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนนั้น อาจมิใช่เพราะสมองไม่ดีหรือสมรรถนะแห่งมันสมองเสื่อม

แต่อาจเป็นเพราะจิตใจผู้เรียนไม่สงบ เพราะมีปัญหาบางอย่างเข้ามาทับถมก็ได้

เมื่อรู้ว่าเงื่อนไขปัจจัยที่เข้ามาผสมอย่างนี้แล้ว แก้ไขให้ถูกประเด็นปัญหา ผู้เรียนก็สามารถเรียนวิชาที่ต้องท่องจำได้ โดยไม่จำต้องเปลี่ยนไปเรียนวิชาอื่นที่ไม่ต้องท่องจำ เป็นต้น

เคยมีข่าวเด็กหญิงคนหนึ่ง ตอนแรกๆ ก็เรียนหนังสือดี สอบได้เกรด 3 เกรด 4 แทบทุกวิชา

แต่ต่อมาการเรียนของเธอตกต่ำลง ชอบขาดเรียนบ่อยๆ

ครูได้แต่คาดโทษบ้าง ทำโทษบ้าง ก็ไม่ดีขึ้น มีแต่ตกต่ำลง

ความทรงจำก็เสื่อมลง สมาธิก็ลดน้อยลง

ต่อมาครูได้ทราบข้อเท็จจริงว่า เธอต้องรับภาระเลี้ยงดูแม่ หรือยายก็จำไม่ได้ ผู้พิการ จนไม่มีเวลาทำการบ้านหรือท่องหนังสือ สมาธิในการเรียนของเธอจึงลดลง ผลการเรียนตกต่ำลง

เมื่อสังคมได้ช่วยผ่อนเบาภาระเลี้ยงดูบุพการีผู้พิการของเธอบ้างแล้ว เธอก็มีสมาธิในการเรียน

ผลการเรียนก็กระเตื้องขึ้นตามลำดับ

(8)

ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ (ญาณหยั่งรู้อดีตชาติ) ครูอย่างพระบรมศาสดาแน่นอนทรงหยั่งรู้อดีตชาติของผู้รับสอน เพราะทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณ พระองค์จึงทรงสามารถสอนให้คนเข้าถึงธรรมได้ทุกคนที่ตัดสินพระทัยสอน

แต่สำหรับครูทั่วๆ ไป ไม่ต้องเอาถึงขนาดนั้น

กำลังภายในในข้อที่ 8 นี้ ตีความง่ายๆ คือ รู้พื้นเพเดิม หรือที่ภาษาการศึกษามักจะพูดว่ารู้ประสบการณ์เดิมของผู้เรียน

ประสบการณ์เดิมนี้สำคัญ ถ้าเขามีประสบการณ์หรือมีความ “เสพคุ้น” (ภาษาพระแปลว่าทำบ่อยๆ จนชิน) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะฝังใจอยู่ในเรื่องนั้น และทำตามนั้นโดยไม่รู้ตัวก็มี

นายเกสีคนฝึกม้า มีประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับม้า เพราะวันๆ ขลุกอยู่แต่กับการฝึกม้า

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปพบ จะทรงสอนธรรมแก่เขา ทรงรู้ประสบการณ์เดิมของเขาจึงชวนคุยเรื่องม้า (การฝึกม้าครับ ไม่ใช่เรื่องสนามม้า หรือแข่งม้า)

ตรัสถามเขาว่ามีเทคนิคในการฝึกม้าอย่างไร

นายเกสีภูมิใจมากที่ตรัสถามเรื่องที่เขารู้ดี จึงบรรยายวิธีการฝึกม้า 3 วิธีให้พระพุทธองค์ฟังว่า ใช้วิธีเข้มคือ กวดขันอย่างหนัก ตีได้ก็ตี เพื่อให้หลาบจำบ้าง

ใช้วิธีละมุนละไม ค่อยๆ สอน ค่อยๆ ฝึกบ้าง ใช้ทั้งสองวิธีผสมกันบ้าง แล้วแต่โอกาสเหมาะ

เมื่อถูกถามว่า ถ้าใช้ทั้งสามวิธีแล้วไม่ได้ผล จะทำอย่างไรกับม้าตัวนั้น นายเกสีกราบทูลว่า “ก็ฆ่ามันทิ้งเสีย”

พระพุทธองค์ทรงทราบประสบการณ์เดิมของนายเกสีอย่างนี้แล้ว ก็ทรงปรับวิธีการสอนให้เหมาะแก่ประสบการณ์เดิมและการเรียนรู้ของเขา

ความสามารถในด้านนี้แหละครับ นับเป็นกำลังภายในขั้นที่ 8

(9)

จุตูปปาตญาณ (ญาณหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย) ความหมายเดิมก็คือ มีตาทิพย์มองดูรู้เลยว่า นายคนนี้ นางคนนั้นที่มาเกิดเป็นอย่างนี้ เพราะทำกรรมอะไรไว้ ทำบาปทำบุญไว้มากน้อยเพียงไหน จะแก้ไขโดยการช่วยให้เพิ่มบุญลดบาปได้แค่ไหนเพียงใด นั่นเป็นความสามารถของพระบรมครู

อย่างเรื่องพวกศากยะพระญาติของพระองค์ ทรงรู้ด้วยตาทิพย์ว่าชาติปางก่อนเคยร่วมกันฆ่าสัตว์ตายเป็นเบือ ผลกรรมนั้นทำให้ได้รับผลสนองมาแล้วหลายร้อยชาติ ชาติสุดท้ายเศษกรรมก็จะบันดาลให้ได้รับผล นั่นก็คือจะถูกพระเจ้าวิฑูฑภะเชื้อสายของพวกตนทำลายล้าง ขณะที่วิฑูฑภะยาตราทัพเข้ามาจากเขตโกศลรัฐเข้าสู่เขตศากยรัฐ

พระพุทธเจ้าเสด็จไปดัก โดยประทับใต้ต้นไม้เงาโปร่งต้นหนึ่ง

วิฑูฑภะเห็นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปนมัสการ กราบทูลว่า ทำไมพระองค์ไม่เสด็จไปประทับใต้ต้นไม้ต้นโน้นที่มีร่มเงาหนากว่า จะได้เย็นสบาย

บังเอิญว่าต้นไม้ต้นที่วิฑูฑภะชี้ไปนั้น อยู่ในเขตแดนโกศลรัฐ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ร่มเงาของญาติย่อมร่มเย็นกว่า”

เพียงเท่านี้วิฑูฑภะก็ทราบทันทีว่า พระพุทธองค์เสด็จมาปกป้องพวกศากยะ ด้วยความเกรงพระทัย จึงยกทัพกลับ

เพราะพระพุทธองค์ทรงมีจุตูปปาตญาณ จึงทรงทราบชะตากรรมของพวกศากยะ

และทรงหาทางผ่อนปรนชั่วคราว

แต่กรรมนั้นแก้ไม่ได้ ลบล้างไม่ได้ ใครทำใครได้ ในที่สุดก็ทรงปล่อยให้เป็นไปตามวิถีของมัน ไม่เสด็จไปขอร้องพระเจ้าวิฑูฑภะอีก

พวกศากยะจึงถูกวิฑูฑภะยกไปทำลายล้างในที่สุด

ที่หลงเหลือจากสงครามครั้งนั้นไม่มากนัก

พวกศากยะจึงหายไปจากประวัติศาสตร์มาแต่บัดนั้น

มาโผล่อีกทีเมื่อจันทร์คุปต์ มหาโจรแย่งชิงบัลลังก์กษัตริย์วงศ์นันทะเมืองปาตลีบุตร สถาปนาตนเป็นพระเจ้าจันทรคุปต์ราชวงศ์เมารยะ ซึ่งอ้างตนว่าสืบเชื้อสายมาจากพวกศากยะพระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้า

ที่พูดกันว่าพระเจ้าอโศกเป็นเชื้อสายศากยะก็เพราะเหตุนี้แหละครับ ก็พระเจ้าอโศกท่านเป็นหลานพระเจ้าจันทรคุปต์นี่ครับ

เมื่อผมเปรยเรื่องนี้ให้เพื่อนคนหนึ่งฟังเขาอุทานว่า “มิน่าล่ะ พระเจ้าอโศกจึงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน ขนาดประกาศพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” เขาว่าอย่างนั้น

พระพุทธองค์ประทานจีวรของพระองค์เองแก่พระมหากัสสปะเถระ ภาพจาก http://www.sookjai.com

(10)

อาสวักขยญาณ (ญาณหยั่งรู้ความสิ้นอาสวะ) อาสวะก็คือกิเลส กิเลสก็คือ สิ่งที่หมักดองอยู่ในจิตสันดาน เกาะติดอย่างเหนียวแน่นมากจนแกะไม่ออก

กิเลสมีมากมาย สรุปแล้วมี 3 ลักษณะคือ

อยากได้ อยากเอา อยากกอบโกยมาเพื่อตน ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตามนี้ลักษณะหนึ่ง

อยากทำลาย อยากขจัดให้มันพังพินาศฉิบหายไป ไม่ชอบหน้ามันก็สั่งลูกน้องเอาปืนไปยิงทิ้งอะไรอย่างนี้ นี้ลักษณะหนึ่ง

อีกลักษณะหนึ่งโง่เง่าไม่รู้ตามเป็นจริง เชื่อสิ่งใดเข้าใจอย่างใดก็ฝังหัวอยู่อย่างนั้น ไม่รู้ไม่รับฟังอะไรอื่น

เช่น เชื่อว่าผู้นี้เป็นอัจฉริยะเป็นคนบริสุทธิ์ ขนาดเยี่ยวยังหอมอะไรทำนองนั้น

ครั้นใครพิสูจน์ให้เห็นว่า ที่แท้มันก็อลัชชีลวงโลก ก็ย่อมเปลี่ยนความเชื่อที่ฝังหัว

อาสวักขยญาณนี้เป็นกำลังกายในชั้นสูงสุดของพระพุทธองค์ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ข้อคือ

(1) พระองค์ทรงรู้วิธีขจัดอาสวะกิเลสให้หมดไปจากจิตใจของพระองค์ ได้กลายเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ จิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์นั้น จะไม่มีความคิดที่จะได้เอามาเพื่อตน ไม่มีความคิดที่จะทำให้ผู้อื่นลำบาก ไม่มีความเชื่อหรือเข้าใจผิด ไม่มีการยึดติดในอะไรผิดๆ การกระทำอะไรทุกอย่าง โดยเฉพาะทำหน้าที่เป็นผู้สอนชาวโลกก็จะทำด้วยความรักความปรารถนาดีต่อพวกเขาอย่างแท้จริง

(2) เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อจะทรงสอนให้เขาทำอะไร เป็นอย่างไร พระองค์ทรงทำได้อย่างนั้น เป็นอย่างนั้นมาก่อน พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ทรงเป็นตัวอย่างที่ดีหรือทรงทำได้ตามที่สอนเขา เมื่อพระองค์มีคุณสมบัติอย่างนี้ งานการสอนคนอื่นก็ประสบสัมฤทธิผลอย่างง่ายดาย

กำลังภายในขั้นที่ 10 นี้ ถ้าเป็นครูธรรมดาๆ ครูที่ยังเป็นปุถุชน (ปุถุชนแปลว่า คนมีกิเลสหนาอยู่ โลภ โกรธ หลง ยังเต็มอัตราศึกอยู่) ก็หมายเอาเพียงว่าความรู้ชัดแจ้งว่าผลสัมฤทธิ์ที่เป็นจุดหมายนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร และตนก็สามารถทำผลสัมฤทธิ์นั้น ให้เกิดขึ้นได้จริงๆ

นึกถึงครูสังคม ทองมี สอนเด็กให้วาดภาพจนส่งเข้าประกวดระดับนานาชาติ ชนะรางวัลที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม มากมาย สร้างความอัศจรรย์แก่สังคมชนิดที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน

เด็กที่ครูสังคมปลุกปั้นขึ้นมานั้น ตรงกับคำพูดที่ว่า “ปั้นดินให้เป็นดาว” จริงๆ คือเป็นเด็กบ้านนอก ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาจริงๆ ที่ใครๆ ประมาทว่าไม่มีสติปัญญาสู้คนในกรุงไม่ได้

แต่ครูสังคม มองเห็นศักยภาพของเด็กเหล่านี้ว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงได้ตรงตามแนวพุทธดำรัสว่า สัตว์ทั้งโลกทั้งปวงเป็นเวไนยสัตว์ (ผู้ที่พึงฝึกฝนอบรมได้)

เมื่อมองเห็นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นจัดหมายนี้ชัดเจน ครูสังคมจึงพยายามหาเทคนิควิธีในการปลุกปั้น หล่อหลอมเด็กๆ เหล่านี้ให้พัฒนาตนขึ้นมาจนกลายเป็นศิลปินวาดภาพที่เก่งที่สุด ส่งภาพเข้าประกวดระดับนานาชาติ ประสบชัยชนะจนได้รับรางวัลจำนวนมากมาย

นี้คือตัวอย่างของครูที่มีอาสวักขยญาณ (ในความหมายสามัญ) คือ รู้ว่าผลสัมฤทธิ์ที่เป็นจุดหมายนั้นอยู่ที่ไหน อย่างไร และตนเองก็สามารถผลักดัน หรือกระทำผลสัมฤทธิ์นั้นให้เกิดขึ้นได้

อาจารย์สอนนักยิงธนูคนหนึ่ง เมื่อศิษย์ผู้กระหายวิชามาขอเรียนยิงธนูด้วยก็รู้ทันทีว่า ถ้ารีบสอนให้ศิษย์คนนี้ไม่มีทางเรียนสำเร็จเพราะ “อยากมาก” เกินไป

ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นจุดหมายนั้น หาเข้าถึงได้ด้วยความกระหายวิชาไม่

จึงบอกให้ศิษย์กลับบ้านกลับไปเอาเหาผูกเส้นไหม แล้วนั่งเพ่งทุกวัน เพ่งให้เหานั้นใหญ่ขึ้นๆ เท่ากำปั้นแล้ว ค่อยกลับมาหาอาจารย์

ศิษย์กลับไปเพ่งเหาจนเหาตายไปหลายสิบตัว ในที่สุดสามารถเพ่งเหาให้โตเท่ากำปั้นได้ จึงกลับไปหาอาจารย์

อาจารย์บอกให้เขากลับบ้านอีก ไปเพ่งเหาตัวเดิมให้เล็กลงเท่าเดิม และให้เพ่งตุ่มน้ำให้เล็กเท่ากำปั้น เขากลับไปทำได้ตามคำสั่ง แล้วไปหาอาจารย์

อาจารย์จึงบอกว่า บัดนี้เธอพร้อมที่จะเรียนวิชายิงธนูแล้ว จึงสอนศิษย์เพียงไม่กี่วันก็สำเร็จ

ถามว่าทำไมจึงสำเร็จเร็วนัก ตอบว่า วิชายิงธนูเป็นเรื่องของการเล็งเป้าและยิงให้ถูกเป้า ถ้าสามารถขยายเป้าให้โตแล้ว การยิงก็ไม่พลาดเป้า ยิงทีไรก็ถูกทุกที ยิ่งกว่าลี้คิมฮวง “เซียวลี้ปวยตอ” (มีดน้อยบินมิพลาดเป้า) เสียด้วยซ้ำ

แทนที่จะเสียเวลากับการสอนให้จับคันธนู ยิงธนู อาจารย์ก็ใช้เวลากับการฝึกศิษย์เพ่งกสิณจนสามารถมองอะไรใหญ่โตได้ ย่อให้เล็กได้ นี่แหละครับกำลังภายในชั้นสุดท้ายของครู