อนุช อาภาภิรม : สาธารณสุขโลกในภาวะนำแบบซับซ้อนต่อวิกฤตโรคระบาด

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (23)

โควิด-19 กับการนำแบบซับซ้อน
และระบบสาธารณสุข

โควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดเร็วไม่คาดฝัน ส่งผลกระทบแบบพลิกโลก

มีนักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมและระบาดวิทยาจำนวนไม่น้อยได้กล่าวถึงการระบาดของโรคทำนองนี้ แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อใดและรุนแรงขนาดไหน

ภัยคุกคามนี้จึงถูกซุกไว้ใต้กองใหญ่ของวิกฤติและปัญหา

จนเมื่อมันอุบัติขึ้นจริง ผู้ปกครองทั้งหลายในช่วงแรกมีแนวโน้มไม่ยอมรับมัน เช่นกรณีเจ้าพนักงานที่จีนที่เมืองอู่ฮั่น รวมทั้งในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังเกิดมีผู้นำที่คิดว่าตนสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง และนำพาชาติไปสู่ความแข็งแรงไพบูลย์ได้ ก็มีแนวโน้มที่จะแสดงตัวเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ได้ และดูเบาความรุนแรงของโรคด้วยประการต่างๆ

ซึ่งสะท้อนการนำแบบเดิมที่ให้ความสำคัญแก่การบริหาร ไม่ใช่ความซับซ้อนของปัญหา

โควิด-19 ได้ระบาดมาเข้าเดือนที่ 9 แล้ว ยังมีพลังอยู่ไม่หายไปเอง

และการจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ถ้าสามารถสร้างได้จริง ก็จะต้องมีผู้ติดเชื้อ ล้มป่วยและตายไปอีกเป็นจำนวนมาก

ตัวเลขผู้ติดเชื้อในต้นเดือนกันยายน 2020 มีกว่า 26 ล้านคนแล้ว

ขณะนี้หลายประเทศกำลังชิงกันนำวัคซีนต้านโควิด-19 มาใช้กับสาธารณชน ในท่ามกลางอารมณ์ ความรู้สึกที่ผสมกันหลายอย่าง

มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ทำงานด้านการบริหาร การนำ และงานด้านสาธารณสุข ได้เสนอแนวคิดว่าควรจะปรับใช้การนำแบบซับซ้อนในกรณีโควิด-19

นักวิชาการเหล่านี้มีหลายคน ในที่นี้จะกล่าวถึง ดร.แมรี อุห์ล-เบียน เป็นตัวอย่าง เธอเป็นนักวิชาการแนวหน้าทางด้านการนำแบบซับซ้อนของสหรัฐ สอนที่มหาวิทยาลัยเนแบรสกา-ลินคอล์น มีผลงานด้านนี้ตั้งแต่ปี 2001 เมื่อเกิดเหตุโควิด-19 เธอได้นำทฤษฎีการนำแบบซับซ้อนมาใช้วิเคราะห์ปัญหา

การจัดการปัญหาและข้อเสนอแนะบางประการ จะได้กล่าวเป็นลำดับไป

 

ในทัศนะของ ดร.แมรี อุห์ล-เบียน และคณะ เห็นว่าระบบซับซ้อนเป็นเรื่องที่จะทำความเข้าใจให้ละเอียดลออได้ยาก ถึงทุกวันนี้นักวิชาการก็มีความเห็นต่างกันในรายละเอียด เพื่อที่จะให้เราพอจะเข้าใจเรื่องนี้และใช้งานได้ จำต้องเน้นประเด็นที่ชัดเจนบางประเด็นที่เห็นว่ามีประโยชน์ สรุปได้ว่าระบบซับซ้อนมีอยู่ 2 ด้าน

ดังนี้

ด้านหนึ่ง คือการมีปฏิสัมพันธ์ เป็นปฏิสัมพันธ์ของเอเย่นต์หรือตัวแทนในระบบ เราที่เป็นสมาชิกของสังคมก็เป็นเอเย่นต์หรือของระบบ ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวแสดงถึงลักษณะขึ้นต่อกันและเชื่อมต่อกันของเอเย่นต์เหล่านี้ เป็นพลวัตและควบคุมได้ยาก ปฏิสัมพันธ์ก่อให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เรียกว่าการอุบัติใหม่

อีกด้านหนึ่ง ได้แก่ ความอุดมสมบูรณ์หรือความเข้มข้นของปฏิสัมพันธ์นี้ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน หรือเปลี่ยนสถานะ เช่น เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือขบวนการ เพื่อรับมือกับสถานการณ์หรือแก้ไขปัญหา

มีของบางอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างสลับซับซ้อน เข้าใจยาก เช่น เครื่องบินเจ็ต แต่มันก็เป็นเพียงเครื่องจักรที่ซับซ้อน ไม่ใช่ระบบซับซ้อน มันไม่มีการอุบัติใหม่ หรือการเปลี่ยนผ่านไปเป็นอะไรอื่น

ภาวะซับซ้อนนี้ ส่งผลกระทบอย่างสูงต่อผู้นำและการนำในศตวรรษที่ 21 คือ ก่อแรงกดดันจากความไม่แน่นอนและการจัดการอะไรไม่ได้ บีบให้ต้องติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่มตรงข้าม การประพฤติปฏิบัติภายในองค์การ การคาดคะเนแนวโน้ม การเตรียมการรับมือและอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา

อันที่จริง ไม่ว่าผู้นำในศตวรรษไหนก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากความไม่แน่นอน ความเสี่ยง และการจัดการไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น

แต่แรงกดดันจากความไม่แน่นอนและการจัดการอะไรไม่ได้ในศตวรรษที่ 21 ได้ขึ้นสู่คุณภาพใหม่ ได้แก่ เกิดสิ่งอุบัติใหม่ที่ส่งผลกระทบกว้างไกลและรุนแรง

ถึงขั้นกระทบต่อความอยู่รอดขององค์การ ทั้งยังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ตัวอย่างเช่น โควิด-19 ที่เป็นโรคอุบัติใหม่ หรือกรณีบริษัทหัวเว่ยของจีนที่ถูกทางการสหรัฐขึ้นบัญชีดำ ห้ามบริษัทของตนขายอุปกรณ์มีไมโครชิพเป็นต้นให้ ผู้บริหารบริษัทจีนต้องประกาศแก่พนักงานของตนว่า บริษัทต้องเผชิญสถานการณ์ว่าจะอยู่หรือจะไป

มีเรื่องที่เล่าขานกันทั่วไปว่า สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง นักทฤษฎีฟิสิกส์ก้องนามชาวอังกฤษ เมื่อถูกถามว่า ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษของฟิสิกส์ใช่หรือไม่ เขาตอบว่า เขาคิดว่าศตวรรษที่ 21 เป็น “ศตวรรษแห่งความซับซ้อน”

ส่วนศตวรรษที่ 20 เป็นศตวรรษแห่งฟิสิกส์และชีววิทยา

 

สําหรับการบริหารแบบซับซ้อนในทัศนะของ ดร.อุห์ล-เบียน และคณะ อธิบายดังนี้ว่า ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

ก) การนำเชิงผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Leadership) การนำแบบนี้เน้นในด้านการสร้างนวัตกรรม เป็นการแสวงหาผลิตภัณฑ์ใหม่ วิธีการใหม่ และความรู้ใหม่เพื่อการแข่งขันในตลาดหรือเวทีโลก การนำแบบนี้มีความสำคัญขึ้น เนื่องจากบทบาทของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เกิดเศรษฐกิจฐานความรู้ คนงานความรู้ และเศรษฐกิจ นวัตกรรม เป็นต้น

ข) การนำเชิงบริหารหรือเชิงปฏิบัติการ เน้นในด้านลูกค้า การขายซึ่งทำให้กำไรเป็นจริง และการบริหารต้นทุน-กำไร และการเงิน ไปจนถึงงานบริหารบุคคล ซึ่งมักเป็นไปตามแบบเดิมหรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อย พบว่าในองค์การจำนวนไม่น้อย การนำแบบเชิงบริหารตามกรอบลำดับชั้น มักขึ้นมามีอำนาจเหนือการนำเชิงผู้ประกอบการ การทำงานขององค์การนั้นกลายเป็นแบบเช้าชามเย็นชาม ขาดความริเริ่มหรือการกล้าปฏิบัติจากชั้นล่าง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นจากการนำอีกสองส่วน คือการนำเชิงผู้ประกอบการที่กล่าวมาแล้ว

ค) การนำเชิงเพิ่มศักยภาพ (Enabling Leadership) ถือได้ว่ามีความสำคัญสูงในการปรับการนำสองอย่างแรกให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนสถานะใดๆ เป็นการนำที่เน้นการอำนวยความสะดวก และช่วยการปรับตัวขององค์กร รับการอุบัติใหม่ การนำเชิงเพิ่มศักยภาพจำต้องนำมาปฏิบัติมากขึ้น เนื่องจากความกดดันจากความซับซ้อน ซึ่งเป็นการเปิด “พื้นที่แห่งการปรับตัว”

ในพื้นที่แห่งการปรับตัวหรือพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมเกิดผู้แสดงใหม่ วิธีการปฏิบัติใหม่ ช่วยให้ผ่านความซับซ้อนนี้ไป แต่พื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลงมักไม่ถาวรและดำรงอยู่ไม่นาน ผู้นำเชิงเพิ่มศักยภาพจึงจำต้องกด “กำแพงแห่งการต่อต้าน” ซึ่งมักเกิดขึ้นเสมอ ไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางการเปลี่ยนแปลง ขยายพื้นที่แห่งการปรับตัวและทำให้มันมั่นคง

เพื่อการเผยแพร่และการยอมรับนวัตกรรมการปฏิบัติใหม่

 

การนำแบบซับซ้อน
ขยายจากการเน้นต้นทุนมนุษย์
สู่ต้นทุนสังคม

ในด้านการวิเคราะห์วิจารณ์การรับมือโควิด-19 ของสหรัฐ และข้อเสนอแนะบางประการ สรุปได้ว่าเมื่อเผชิญกับปัญหาใหญ่คือการระบาดของโควิด-19 สิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วไปได้แก่การสร้างแผนปฏิบัติการที่ดีขึ้น

เช่น การตรวจเชื้อ การสนองอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

แต่ผู้นำแบบเก่าที่ไม่เป็นแบบซับซ้อนมีการตอบโต้ปัญหาซับซ้อนอยู่ชุดหนึ่ง คือ การปฏิเสธว่ามันดำรงอยู่ คิดว่ามันจะยุติหรือหายไปเอง หรือกลับไปเหมือนเดิมได้ คิดว่าระบบที่เป็นอยู่ก็เพียงพอ

ให้การรับมือ คือมีการตอบโต้แบบสั่งการและจัดระเบียบเป็นหลัก

ส่วนผู้นำแบบซับซ้อนหรือแบบปรับตัว จะมีการตอบโต้อีกแบบหนึ่ง ได้แก่ การสร้างยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่ดี ผสานกับการตอบโต้จากท้องถิ่นและเชิงผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้เกิดการโต้ตอบเชิงปรับตัว อาศัยนวัตกรรมและการปรับตัวตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ซึ่งการตอบโต้ในระดับท้องถิ่นนั้น เหมาะกับสถานการณ์ที่เป็นจริงมากกว่า ผู้นำแบบปรับตัวจะฉวยโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นมั่นคง กระทั่งเป็นสถาบัน เช่น ในการระบาดของโควิด-19 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์และสาธารณสุขหลายประการ ได้แก่ สุขภาพทางไกล ซึ่งแพทย์จำนวนไม่น้อยปฏิเสธ ทำงานจากบ้าน การประชุมเสมือนจริง ผ่านแอพพลิเคชั่น “ซูม” เป็นต้น ควรจะได้แพร่กระจายการปฏิบัตินี้ลงสู่ชุมชน

(ดูปาฐกถาของ ศ. Mary Uhl-Bien ในโปรแกรม The Leadership Lectures 2012-2013 ใน lead.fiu.edu และบทความของ Diane Ketley ชื่อ Covid-19 – A Complexity Leadership Response ใน nhshorizons.passle.net 07/07/2020 เป็นต้น)

 

ทฤษฎีการนำแบบซับซ้อนในทำนองนี้ ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือใหม่สำหรับผู้นำในศตวรรษที่ 21 ในการรับมือกับความซับซ้อนได้ดีขึ้น เกิดความยืดหยุ่นและคงทนแก่ระบบ ลดทอนผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนผ่านและสามารถก้าวเดินต่อไปได้ เป็นการนำที่คนหมู่มากนำคนหมู่มาก ไม่ใช่คนคนเดียวหรือคนกลุ่มเล็กกลุ่มเดียว

อย่างไรก็ตาม ในองค์กรใหญ่โดยเฉพาะในระดับรัฐและระหว่างรัฐ ระบบซับซ้อนกินความกว้างและเกิดโจทย์ใหม่มากกว่านั้น ในหลายด้านด้วยกัน คือ

ข้อแรก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเอเย่นต์หรือตัวแทนในระบบมีความหลากหลาย มีทั้งด้านที่เห็นด้วยกับระบบ และด้านที่เป็นปรปักษ์กับระบบ และในสองด้านใหญ่นี้ก็มีองค์ประกอบย่อยและการแปรเปลี่ยนไปมา เช่น เคยเห็นด้วยกับระบบกลับมาเป็นปรปักษ์และกลับกัน กลุ่มนายทุนทั้งหลายมักสามัคคีกันเพื่อมีอำนาจเหนือแรงงาน แต่ในบาง เงื่อนไขกลับเป็นปรปักษ์ต่อสู้กันอย่างดุเดือด

ข้อที่สอง ในสังคมชนชั้นที่มีการแบ่งคนเป็นสองกลุ่มใหญ่ได้แก่ ชนชั้นผู้ปกครองกับชนชั้นผู้ถูกปกครอง ทั้งสองกลุ่มนี้มีด้านที่อยู่ด้วยกันแต่ก็มีด้านที่เผชิญหน้าเป็นปรปักษ์กัน ในปัจจุบันเห็นกันว่าความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้การเผชิญหน้าเป็นปรปักษ์กันรุนแรงขึ้น ในขณะนี้ที่ปรากฏความเหลื่อมล้ำขยายตัวทั่วโลก และก็พบว่าเกิดความขัดแย้ง แตกแยกรุนแรงในประเทศต่างๆ มากตามไปด้วย ไม่เว้นแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว ในสหรัฐรุนแรงถึงขั้นกล่าวกันว่าอาจเกิดสงครามกลางเมืองครั้งที่สอง

ข้อที่สาม ระบบซับซ้อนที่ทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพและความคงทน จำต้องมีการไหลเวียนทางข่าวสารและทรัพยากร ได้แก่ พลังงานและวัตถุ ทั่วถึงทั้งระบบ แต่เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำ ความแตกแยกที่เป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนอย่างรุนแรงดังกล่าวแล้ว ระบบซับซ้อนที่ดำรงอยู่นี้ ย่อมอยู่ในภาวะระส่ำระสาย ยากที่จะแก้ไขวิกฤติและปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นได้

ข้อที่สี่ เทคโนโลยีด้านข่าวสารและการสื่อสารที่คาดหวังว่าจะช่วยให้การแลกเปลี่ยนข่าวสารเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน สามารถปฏิบัติเช่นนั้นได้เพียงครึ่งเดียวหรือน้อยกว่านั้น ในอีกครึ่งหนึ่ง เกิดการบิดเบือนข่าวสาร การสร้างข่าวปลอม การมีข้อมูลข่าวสารมากเกินไป เทคโนโลยีข่าวสารที่ก้าวหน้ากลายเป็นการเสริมสร้างกลุ่มพวกแบบพวกใครพวกมันมากขึ้น ผู้คนจำนวนไม่น้อยปลีกตัวไปอยู่กับสมาร์ตโฟนและอินเตอร์เน็ต

สังคมทั้งหลาย/สังคมโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น การสร้างเครื่องมือใหม่อย่างเช่นทฤษฎีการนำแบบซับซ้อน แม้ว่าจะอยู่ในระยะเริ่มต้น ก็นับว่าน่าสนใจ การนำมาใช้กับกรณีโควิด-19 ทำให้เกิดความสำนึกขึ้นว่า การต่อสู้กับไวรัสชนิดนี้ ไม่สามารถกระทำได้โดยลำพังประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะสัมฤทธิผลเมื่อเกิดความร่วมมือกันระหว่างชาติ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสมรภูมิใหญ่ของการต่อสู้กับโควิด-19