เกษียร เตชะพีระ | ชนะแต่ล้มเหลว (ตอนจบ)

เกษียร เตชะพีระ

ในหนังสือวิเคราะห์วิพากษ์ความล้มเหลวของลัทธิเสรีนิยมชื่อดังเรื่อง Why Liberalism Failed (ค.ศ.2018) ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ Patrick J. Deneen แห่งมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม สหรัฐ ผู้เขียนได้สังเคราะห์สรุปความไม่ยั่งยืนในทางการเมืองของอุดมการณ์ทั้งหลายไว้ว่า :

“ในบรรดากฎเหล็กไม่กี่ข้อของการเมือง น้อยข้อนักที่ดูจะล่วงละเมิดมิได้เท่ากับความไม่ยั่งยืนในท้ายที่สุดของอุดมการณ์ในทางการเมือง อุดมการณ์ล้มเหลวด้วยเหตุผลสองประการด้วยกัน

“ประการแรก เพราะมันตั้งอยู่บนความเท็จเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ และฉะนั้นจึงเหลือวิสัยที่จะไม่ล้มเหลวได้

“และประการที่สอง เพราะเมื่อความเท็จเหล่านั้นกลายเป็นที่เห็นประจักษ์แจ้งขึ้นเรื่อยๆ ช่องว่างระหว่างสิ่งที่อุดมการณ์อวดอ้างกับประสบการณ์ที่มนุษย์พบผ่านในชีวิตจริงภายใต้เงื้อมอำนาจอุดมการณ์ย่อมถ่างกว้างออกไปจนกระทั่งระบอบปกครองสูญสิ้นความชอบธรรม

“ถึงตอนนั้น ระบอบปกครองย่อมต้องบังคับขับไสให้สยบยอมตามคำเท็จที่มันดิ้นรนปกป้อง หรือไม่มันก็ย่อมล่มสลายลงเมื่อช่องว่างระหว่างคำกล่าวอ้างกับความเป็นจริงยังผลให้ประชากรหมดสิ้นความเชื่อถือ บ่อยครั้งที่อย่างหนึ่งนำหน้ามาก่อนอีกอย่างหนึ่ง” (p.6)

อ่านแล้วผมอดรู้สึกไม่ได้ว่าข้อสรุปดังกล่าวประยุกต์ใช้ได้กับอุดมการณ์ความเป็นไทยแบบอนุรักษนิยม (the ethno-ideology of Thainess) ในการเมืองไทยปัจจุบันเช่นกัน

นับแต่รัฐประหารโดย คสช.เมื่อปี พ.ศ.2557 ความสงบราบคาบ (ไม่มีม็อบ) ผิวเผินในบ้านเมืองได้ฉาบเคลือบความเปลี่ยนแปลงเบื้องลึกเบื้องหลังอันยุ่งยากปั่นป่วนสับสนเอาไว้ซึ่งทำให้แสวงหาหรือสร้างฉันทามติใหม่ทางการเมืองมาทดแทนฉันทามติเก่าได้ยาก โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ.2559 เป็นต้นมา

อาจสรุปรวบยอดความคิดได้ว่าเกิดการลากเส้นพรมแดนเขตอำนาจกันใหม่ (Re-demarcation of Power Boundaries) ในหมู่สถาบันและกลุ่มชนชั้นนำต่างๆ ที่เข้ายึดกุมอำนาจรัฐโดยกีดกันไม่ให้กลุ่มชนชั้นนำอื่นๆ โดยเฉพาะที่มาจากการเลือกตั้งและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

พร้อมกับเกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองวัฒนธรรมของการหวนรำลึกโหยหาอาลัยอดีต (Cultural Politics of Nostalgia) ในรูปแบบต่างๆ เช่น ละครทีวี/ละครเวที วาทกรรมทางการเมือง แล้วแต่ว่าใครและกลุ่มไหนมุ่งหวังใฝ่ฝันอยากให้ [ปัจจุบัน] ย้อนยุคกลับไปเหมือน [อดีต] ยุคใดใน [อนาคต] เช่น สมัยรัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 7 ก่อน 2475, ยุคจอมพลสฤษดิ์, ยุครัฐบาลเปรม ฯลฯ

เครือข่ายผู้จงรักภักดีแต่เดิมกระจายแยกแตกตัวกันไปพร้อมกับการเปลี่ยนรัชกาล และมีความพยายามสร้างเครือข่ายใหม่มาทดแทน

ในแง่เศรษฐกิจ การเมือง แนวโน้มใหญ่ดูเหมือนกลุ่มปกครองใหม่มุ่งรวมศูนย์อำนาจ-กินรวบผลประโยชน์ มากกว่าแบ่งกันกินแบ่งกันใช้และแบ่งสันปันส่วนอำนาจในหมู่ชนชั้นนำอย่างทั่วถึง

ดังที่อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ กับอาจารย์วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร สรุปไว้ว่าภายใต้ระบอบประยุทธ์ คสช.กับกลุ่มทุนใหญ่ได้นำกองทัพเข้าหยั่งยึดโครงสร้างการเมืองและแปลงเศรษฐกิจไทยให้เป็นทุนนิยมเหลื่อมล้ำ (“The Prayuth Regime : Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand”, 2018, https://www.cambridge.org/core/services/aop-cambridge-core/content/view/E94563EBE18DD73C5ED62F0FE5F9035E/S2051364X18000042a.pdf/prayuth_regime_embedded_military_and_hierarchical_capitalism_in_thailand.pdf)

และวิธีการหลักในการบรรลุการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ คสช.ใช้กำลังอำนาจบังคับ (coercion) มากกว่าความยินยอมพร้อมใจ (consent) ของผู้คนพลเมือง

ระเบียบอำนาจ คสช. ที่เป็นผลจากปฏิบัติการดังกล่าวข้างต้นประกอบกับรัฐธรรมนูญฉบับไม่น่ารัก พ.ศ.2560 มีลักษณะพิกลพิการจนถูกเรียกขานไปต่างๆ นานา เช่น ระบบนิรนาม, ระบบ คสช.ที่ไม่มี คสช., เผด็จการประชาธิปไตย, เผด็จการเครือข่าย เป็นต้น

โดยพอสรุปอาการวิปริตที่แสดงออกในทางหลักการและในทางความสัมพันธ์แห่งระบบสถาบันการเมืองของมันได้ดังนี้ :

[วิถีการใช้อำนาจที่เป็นจริง vs. บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ] ลักลั่นตกห่างสวนทวนกัน แต่มีศาลและองค์กรอิสระต่างๆ คอยตีตรารับรองว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมาย (legalized/ constitutionalized unconstitutionality)

[อำนาจที่เป็นจริง vs. ความพร้อมรับผิด] แปรผกผันกันในตำแหน่ง/สถาบันต่างๆ ทำให้ไม่มีการจำกัดอำนาจรัฐที่มีประสิทธิผลจริง โดยผู้ใช้อำนาจตัวจริงสามารถโบ้ยปัดปฏิเสธความพร้อมรับผิดได้เสมอ (actual power vs. accountability ” deniability)

เหล่านี้จึงก่อตัวเป็นอำนาจรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์เด็ดขาดเสมือนจริงในทางปฏิบัติ (Virtual absolutism)

ผู้กุมอำนาจรัฐมีอำนาจอธิปไตยในทางเป็นจริง แต่ไม่มีอำนาจนำ (sovereignty without hegemony) ซึ่งกลับตาลปัตรกับสภาพก่อนยุค คสช. ที่มีอำนาจนำแม้ไม่มีอำนาจอธิปไตยโดยทางการ (hegemony without sovereignty)