อุดมการณ์ “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์” ของไทย มีที่มาจากอะไร ?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

อุดมการณ์ “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์” ของไทย มีที่มาจากคำขวัญรณรงค์สงครามของอังกฤษ ในสงครามโลกครั้งที่ 1

อุดมการณ์เรื่องชาติ, ศาสน์ และกษัตริย์ น่าจะเริ่มปรากฏในไทยเป็นครั้งแรกเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 ดังมีหลักฐานอยู่ในพระราชนิพนธ์บทกลอนของพระองค์เองที่มีชื่อว่า “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” ตีพิมพ์ลงในวารสารดุสิตสมิต เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2462 เอาไว้ว่า

“ขอร่ำรำพันบรรยาย ความคิดเครื่องหมาย แห่งสีทั้งสามงามถนัด

ขาว คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน และธรรมคุ้มจิตไทย

แดง คือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้ เพื่อรักษะชาติศาสนา

น้ำเงิน คือสีโสภา อันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์

จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึงเป็นสีธง ที่รักแห่งเราชาวไทย

ทหารอวตารนำไป ยงยุทธวิชัย วิชิตชูเกียรติสยาม”

 

จากร้อยกรองข้างต้น อาจสรุปได้ว่า สีขาวเป็นสีที่บริสุทธิ์ จึงเป็นสีของพระศาสนา โดยในร้อยกรองได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า หมายถึงเฉพาะ “ศาสนาพุทธ” เพราะมีคำว่า “พระไตรรัตน” กำกับอยู่

สีแดง คือสีของโลหิต ที่ยอมสละได้เพื่อรักษาชาติ และศาสนา

ส่วนสีน้ำเงิน คือสีที่โปรดปรานเป็นการส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 6 เอง

น่าสนใจว่า นอกจากร้อยกรองข้างต้นนี้แล้ว ก็ไม่ได้มีการนิยามความหมายของ “สี” บนธงไตรรงค์เอาไว้อย่างเป็นทางการในเอกสารราชการเลย ซ้ำร้ายรัชกาลที่ 6 ก็ทรงใช้พระนามแฝงว่า วรรณะสมิต ในการพระราชนิพนธ์บทร้อยกรองนี้ ราวกับไม่ได้ตั้งใจจะเปิดเผยพระองค์ว่าทรงเป็นผู้ให้ความหมายของสีบนธงไตรรงค์ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยของพระองค์อีกต่างหาก?

 

แต่ประวัติอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการใช้ธงไตรรงค์นั้น กลับให้ความหมายของการเปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์ว่า ไม่ได้เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ แต่สัมพันธ์อยู่กับการประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังข้อความในพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 ที่ว่า

“ได้ทรงพระราชคำนึงถึงการที่กรุงสยามได้ประกาศสงครามต่อชาติเยอรมันแลออสเตรีย ฮังการี เข้าเปนสัมพันธไมตรีร่วมศึกกับมหาประเทศในยุโรป อเมริกา และอาเซีย ผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมธิปไตยครั้งนี้ นับว่าชาติสยามได้ก้าวขึ้นสู่เจริญถึงคั่นอันสำคัญยิ่งแล้ว สมควรจะมีอภิลักขิตวัตถุ เพื่อเปนเครื่องเตือนให้ระลึกถึงอภิลักขิตสมัยนี้ไว้ให้ปรากฏอยู่ชั่วฟ้าและดิน

จึงทรงพระราชดำริว่า ธงสำหรับชาติสยามซึ่งได้ประดิษฐานขึ้นตามพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2459 นั้น ยังไม่เปนสง่างามพอสำหรับประเทศ สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าอีกสีหนึ่ง (ก่อนหน้าจะใช้ธงไตรรงค์ ใน พ.ศ.2459 แถบสีตรงกลางเป็นสีแดงสลับขาวทั้งผืน-ผู้เขียน) ให้เปนสามสีตามลักษณธงชาติของประเทศที่เปนสัมพันธมิตรกับกรุงสยามได้ใช้อยู่มากนั้น เพื่อให้เปนเครื่องหมายให้ปรากฏว่า ประเทศสยามได้เข้าร่วมสุขทุกข์ แลเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่ ช่วยกันทำการปราบปรามความอาสัตย์อาธรรมในโลกนี้ให้พินาศประลัยไป

อีกประการหนึ่ง สีน้ำเงินนี้เปนสีอันเปนศิริแก่พระชนมวาร นับว่าเปนสีเครื่องหมายฉเภาะพระองค์ด้วย จึงเปนสีที่ควรจะประกอบไว้ในธงสำหรับชาติด้วยประการทั้งปวง” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ แต่จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

ดังนั้น ถ้าจะว่ากันตามพระราชบัญญัติฉบับที่ว่าด้วยการเปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์เป็นธงประจำชาติของสยามประเทศไทยนั้น ริ้วสีทั้งสามบนผืนธงนั้นจะมีความหมายเกี่ยวพันถึงการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่างหาก

 

และอันที่จริงแล้ว การใช้ริ้วสีแดง, น้ำเงิน และขาว ก็ดูจะใกล้เคียงกับการใช้สีบนธงของฝ่ายสัมพันธมิตรที่สยามเข้าร่วมจริงๆ อย่างที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวว่าไว้จริงๆ นั่นแหละ

ชาติแรกที่ริเริ่มใช้สีอย่างนี้คือพวกดัตช์ ที่ใช้ในการต่อสู้เพื่อเป็นอิสระจากการปกครองของสเปน ระหว่าง พ.ศ.2111-2191 จนทำให้ทั้งสามสีนี้มีความหมายถึงอิสรภาพ และการปกครองแบบสาธารณรัฐ

ต่อมาพวกฝรั่งเศสได้ใช้ริ้วสีอย่างนี้เป็นธงเครื่องหมายในการปฏิวัติฝรั่งเศส (เพียงแต่จับแถบสีตั้งขึ้นเป็นแนวดิ่งแทนที่จะวางเป็นแนวนอนเหมือนพวกดัตช์) โดยได้เพิ่มเติมความหมายไปด้วยว่าหมายถึงหลักสามประการ อันได้แก่ เสรีภาค, เสมอภาพ และภราดรภาพ จากนั้นชาติอื่นๆ ในยุโรป, อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ก็เลือกที่จะใช้สีสามสีนี้บนธงของตนเอง เพื่อสื่อความถึงอะไรในทำนองเดียวกันนี้

ดังนั้น ถึงแม้ว่ารัชกาลที่ 6 จะทรงมีพระราชนิพนธ์ถึงแนวคิดว่า สีแดง, ขาว และน้ำเงิน บนธงไตรรงค์นั้น หมายถึง ชาติ, ศาสน์ และกษัตริย์ แต่ความหมายของสีอย่างเป็นทางการในพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยการเปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์มาเป็นธงชาติของสยามนั้น กลับอ้างถึงการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ใช้สีทั้งสามสีดังกล่าว ในความหมายของเสรีภาพ, เสมอภาค และภราดรภาพต่างหาก

 

น่าสังเกตว่าในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการประกาศใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติของสยามสองปี คือเมื่อ พ.ศ.2457 นั้น ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น โดยอังกฤษได้ใช้คำขวัญว่า “For God, King and Country” (เพื่อพระเจ้า, กษัตริย์ และประเทศชาติ)

และรัชกาลที่ 6 เองก็ทรงเป็นนักเรียนนอก ที่จบมาจากอังกฤษนี่เอง ดังนั้น ถ้าพระองค์จะเอาคำขวัญเพื่อรณรงค์สงครามดังกล่าวมาสวมแทนแนวคิดเรื่องเสรีภาพ, เสมอภาค และภราดรภาพ ตามความหมายดั้งเดิมในโลกตะวันตก พร้อมกันกับที่พระองค์ทรงเลือกที่จะประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และใช้ธงไตรรงค์เป็นสัญลักษณ์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจอะไรนัก

แต่การที่พระองค์ทรงนำคำขวัญดังกล่าวมาใช้นั้น ก็ได้นิยามความหมายว่า “กษัตริย์” มีสถานะเท่ากับ “ชาติ” ไปด้วยในตัว ดังจะเห็นได้ว่าในพระราชนิพน์อีกเรื่องหนึ่งของพระองค์ คือบทความเรื่อง “ความเป็นชาติโดยแท้จริง” ที่ทรงใช้นามปากกาว่าอัศวพาหุ และตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย เมื่อ พ.ศ.2458 นั้น มีข้อความที่ว่า

“ถ้าเขาจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม เขาจึ่งจะเป็นไทยแท้ แต่ถ้าใครแสดงตนว่าเป็นอิสระแก่ตน ไม่มีความจงรักภักดีต่อผู้ใดดังนี้ ต้องจัดว่าผู้นั้นเป็นคนไม่มีชาติ เพราะคนคนเดียวหรือหมู่เดียวจะตั้งตนเป็นชาติต่างหากหาได้ไม่…การที่ผู้ใดยอมสละอำนาจอันชอบธรรมเช่นนี้ต้องเข้าใจว่าเพราะเห็นแก่สาธารณประโยชน์และความสะดวกแก่มหาชนยิ่งกว่าเห็นแก่ความสะดวกของตนเอง…คือผู้มีความภักดีจริง รักชาติจริง ผู้ที่ไม่ยอมคือผู้ที่รักชาติแต่ปาก”

จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า สำหรับรัชกาลที่ 6 แล้ว “กษัตริย์” มีความหมายเท่ากับ “ชาติ” เพราะถ้าไม่จงรักภักดีต่อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม” ก็คือ “ผู้ที่รักชาติแต่ปาก”

และก็เป็นในบทความชิ้นเดียวกันนี้เอง พระองค์ก็ยังทรงให้เหตุผลถึงความสำคัญของ “กษัตริย์” ในฐานะที่เท่าเทียมกับ “ชาติ” เอาไว้ด้วยว่า

“ชาติใดเมืองใด มีพระราชาธิบดีครอบครองอยู่โดยมั่นคง จึงได้นับว่ามีพยานแน่ชัดอยู่ว่ามีอำนาจเต็มบริบูรณ์ มีอิสรภาพเต็มที่ ตั้งอยู่มั่นคง ก็นับว่าเป็นชาติที่มีสง่าราศี เป็นที่นับถือยำเกรงแก่ชาติอื่นๆ พระราชาธิบดีเป็นเครื่องหมายแห่งอำนาจ โบราณท่านจึงกล่าวเป็นคำภาษิตว่า “พระราชาเป็นเครื่องปรากฏของแว่นแคว้น” คือเป็นสง่าของเมืองและชาติ…พระราชาธิบดีเป็นสง่าของชาติ ก็ย่อมเป็นสง่าของคนทุกคนที่ถือตนว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งชาติ จึงเป็นหน้าที่ของคนทุกคนที่ต้องตั้งใจรักษาพระเจ้าแผ่นดิน”

อุดมการณ์เรื่อง “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์” ของไทย จึงมีที่มาจากคำขวัญรณรงค์สงครามของอังกฤษ เมื่อยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยผูกโยงความหมายทั้ง 3 สถาบันมีสถานะเท่ากัน และแสดงออกผ่านธงไตรรงค์นั่นเอง