คนของโลก : โยชิฮิเดะ สุงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้ “เริ่มต้นจากศูนย์”

โยชิฮิเดะ สุงะ หัวหน้าเลขานุการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ปรึกษาคนสำคัญของนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้รับการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่แล้วเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา

นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นของนักการเมืองทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของวงการการเมืองญี่ปุ่น โดยเฉพาะในฐานะหัวหน้าเลขานุการคณะรัฐมนตรี ที่มีหน้าที่ในการประสานงานด้านนโยบายและขับเคลื่อนองค์กรและหน่วยงานของรัฐทั้งหมดให้เดินไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง

เช่นเดียวกับการดำรงตำแหน่งโฆษกให้กับรัฐบาลอาเบะ ทำหน้าที่แถลงข่าวรายวัน ชี้แจงตอบข้อซักถามกับผู้สื่อข่าวจนประชาชนคุ้นหน้าคุ้นตามากที่สุดคนหนึ่ง

แม้ตำแหน่งเลขานุการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นนั้นจะเป็นบันไดก้าวสำคัญของนักการเมืองญี่ปุ่นในการก้าวไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ แต่สุงะพูดอยู่เสมอว่าตนไม่ต้องการตำแหน่งดังกล่าวเลย

อย่างไรก็ตาม หลังจากนายกรัฐมนตรีอาเบะประกาศลาออกจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ สุงะก็กลายมาเป็นตัวเต็งอันดับ 1 ที่จะได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต่อในทันที

 

“ผมเริ่มต้นมาจากศูนย์” สุงะในวัย 71 ปี ระบุหลังได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคแอลดีพี

“ผมจะทุ่มเททุกอย่างที่ผมมีให้กับประเทศญี่ปุ่นและประชาชนชาวญี่ปุ่น” สุงะระบุ

สุงะเป็นนักการเมืองที่มีชื่อในเรื่องการคาดเดาความคิดได้ยาก สามารถใช้อำนาจควบคุมบริหารจัดการราชการของญี่ปุ่นที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ สามารถผลักดันนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในฐานะโฆษกรัฐบาล สุงะไม่ได้แสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นการส่วนตัวบ่อยนัก อย่างไรก็ตาม สุงะเองก็มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มนโยบายสำคัญๆ

เช่น นโยบายการเก็บภาษีแบบพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท

 

สุงะลูกชายของเจ้าของไร่สตรอว์เบอร์รี่ เติบโตขึ้นมาในจังหวัดอคิตะ จังหวัดตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น

สุงะย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงโตเกียวหลังจบมัธยมปลายและทำงานหนักเพื่อหาเงินส่งตัวเองเรียนในมหาวิทยาลัยหลักสูตรภาคค่ำ

งานสายการเมืองของสุงะ เริ่มต้นขึ้นเมื่อสุงะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองโยโกฮามา เมืองชานกรุงโตเกียว ในปี ค.ศ.1987

ชายจากจังหวัดอคิตะได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นครั้งแรกในปี ค.ศ.1996 และเป็นผู้สนับสนุนนายอาเบะมาอย่างยาวนาน มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้อาเบะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 หลังจากการดำรงตำแหน่งครั้งแรกต้องสิ้นสุดลงในเวลาเพียง 1 ปีหลังจากเผชิญปัญหาต่างๆ รุมเร้า รวมถึงปัญหาสุขภาพด้วย

หลังอาเบะกลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้อย่างเหนือความคาดหมายเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา อาเบะก็แต่งตั้งสุงะให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเลขานุการคณะรัฐมนตรี ตำแหน่งทรงอิทธิพลมากที่สุดตำแหน่งหนึ่ง

โดยสุงะระบุว่า สามารถช่วยผลักดันนโยบายสำคัญๆ ของอาเบะได้หลายนโยบาย เช่น นโยบายการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดกับแรงงานต่างชาติ เป็นต้น

ความสนิทสนมใกล้ชิดกับอาเบะ ทำให้สุงะกลายเป็นบุคคลที่ถูกมองว่าสามารถให้คำปรึกษาอย่างตรงไปตรงมากับอาเบะได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้คำแนะนำอาเบะให้หยุดไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิ ในกรุงโตเกียว เมื่อปี 2013 ศาลเจ้าที่เพื่อนบ้านญี่ปุ่นมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นในยุคจักรวรรดินิยมอันโหดร้าย

แม้อาเบะจะไม่สนใจในคำแนะนำ จนสร้างความไม่พอใจทั้งในและต่างประเทศ อาเบะก็ไม่ได้ไปสักการะศาลเจ้าซ้ำอีกครั้ง ลดความตึงเครียดจากเสียงวิจารณ์ลงได้บ้างในเวลานั้น

 

ผู้เชี่ยวชาญการเมืองญี่ปุ่นระบุว่า สุงะเป็นนักการเมืองที่เน้นการลงมือทำบนหลักความเป็นจริงมากกว่าการมีอุดมการณ์สวยหรู ขณะที่บรรดาสมาชิกพรรคแอลดีพีมองว่า สุงะเป็นนักการเมืองที่มีความเป็นกลางคนหนึ่งในพรรค

ภาพลักษณ์ของสุงะเป็นที่กล่าวขานกันเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ในฐานะผู้ประกาศชื่อรัชสมัย “เรวะ” รัชสมัยใหม่หลังการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะแห่งญี่ปุ่น จนทำให้สุงะถูกเรียกติดปากกันว่า “ลุงเรวะ”

จากนี้ไป ลุงเรวะในฐานะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังคงมีงานสำคัญที่ต้องสานต่อจากนายอาเบะอีกมาก โดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยิ่งซบเซามากขึ้นไปอีกหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา