อภิญญา ตะวันออก : ระบอบกษัตริย์ กับประชาธิปไตยบนเส้นขนาน

อภิญญา ตะวันออก

กระบวนการถ่ายผ่านระบอบประชาธิปไตยแบบทดลองของการเมืองเขมรที่น่าตื่นตะลึงแก่ทุกฝ่ายในห้วง 10 ปีแรก โดยจะเห็นว่า 1 ในมรรคาสำคัญนี้ มีพระบาทนโรดม สีหนุ (2465-2555) ที่การันตีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 สมัยในต่างกรรมต่างวาระและกึ่งทางเลือกร่วมอยู่ด้วย แต่ก็เพียงที่ราชสำนักกัมโพชจะกระโจนยึดเอาอาญาสิทธิ์พิเศษนี้ หลังจากสิ้นสภาพไปนานแต่ครั้งฝรั่งเศสยึดเป็นประเทศในการปกครอง

จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกลับมาท้าทายจารีตนิยมใหม่ที่แผกไปจากอดีต

แต่โชคดีที่เลือดขัตติยะของกษัตริย์พระองค์นั้น ช่างเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานทางการเมือง

ขณะเดียวกันก็โลดโผนโจนทะยานไปในทุกเงื่อนไขที่ขับให้พระองค์กลายผู้นำอนาคตไกล

ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องเอกราช การสร้างการปกครองใหม่แบบรัฐสภาและสมัชชาแห่งชาติ

และนี่คือความชอบธรรมของการเมืองสมัยที่ตั้งอยู่ด้วยมาตราแห่งรัฐธรรมนูญ และนั่นจึงเป็นคำตอบที่ว่า เหตุใดจึงผลาญ 10 ของพวกหัวก้าวหน้าที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตย จนแน่ใจว่าจะไม่กลับมาอีก ทรงตั้งพรรคการเมือง จนแน่ใจว่าพรรคสังคมราษฎร์นิยมจะตั้งมั่นสถาพรในแบบราชสำนักนโรดมนิยม ที่ตามมาด้วยการสละราชสมบัติ

พลันระบอบศักดินานิยมก็คืนสู่กัมพูชาแบบราชาธิบดี? หรือราชาธิปไตย?

 

ดังนี้ องค์นโรดม สีหนุ ประเดิมนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศเป็นสมัยที่ 5 แม้จะ 99 วัน (3 ตุลาคม 2498-9 มกราคม 2499) ก็ตาม แต่นี่คือตำแหน่งหัวหน้าพรรคสมัยแรกที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย กระทั่งผ่านสภาแห่งชาติและประกาศตนเป็นประมุขแห่งรัฐ

นายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ต่อมา นายอุม เฌียงชุน (2443-2506) กลับมารับตำแหน่งสมัยที่ 2 ในนามพรรคใหม่-สังคมราษฎร์/สังคมเรียด (ที่หมายถึงพระราชาด้วยนั้น) ด้วยเวลา 55 วัน (5 มกราคม-29 กุมภาพันธ์ 2499) และเป็นที่รับรู้ว่าพรรคประชาธิปไตยได้ถึงกาลพินาศไปแล้วครานั้น

ทว่านับจากนี้ไปก็จะเห็นว่า นโรดม สีหนุ เป็นขัตติยะนักการเมืองที่โลดโผนต่ออำนาจกว่านักการเมืองทั่วไป ดังนั้น เมื่อบีบ (?) อุม เฌียงชุน ลาออกแล้วก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ด้วยเวลาเพียง 23 วัน และเป็นสมัยที่ 6 (1 มีนาคม-24 มีนาคม 2499) อย่างโลดโผนพิสดาร แลส่งสัญญาณว่า จะยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง

จากนั้นก็แต่งตั้งรายต่อไป นายคึม ติ๊ด (2439-2518) นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ที่มีอายุงาน 117 วัน (3 เมษายน-27 กรกฎาคม 2499) มาแทน และแต่งตั้งตนเองอีกครั้งเป็นสมัยที่ 7

นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 องค์นโรดม สีหนุ อายุงานเพียง 30 วัน (15 กันยายน-15 ตุลาคม 2499)

ตัวแทนระบอบราชาธิปไตยฉบับสีหนุราชนี้ ยังสลับกับพระองค์ต่อไป นั่นคือ นายกรัฐมนตรีคนที่ 26 คือ นายสาย ยุน (2448-2517) อายุงาน 166 วัน (25 ตุลาคม 2499-9 เมษายน 2500)

องค์นโรดม สีหนุ ทรงกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 เป็นสมัยที่ 8 ด้วยระยะเวลา 93 วัน (5 เมษายน-7 กรกฎาคม 2500) ทรงลาออก และด้วยเหตุนั้น นายสิม วา (2449-2532) นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 (26 กรกฎาคม 2500-11 มกราคม 2501) กินเวลา 169 วัน

นายเอก ยีอุน (2453-2556) ที่แม้จะอายุยืนยาวถึง 103 ปี แต่ชีวิตการเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของเขากลับสั้นเพียง 6 วัน (11-17 มกราคม 2501)

นายกรัฐมนตรีลำดับที่ 30 นายแปน นุด (สมัยที่ 4) เป็นอีกคนหนึ่งที่ย้ายมาจากพรรคประชาธิปไตย อายุงาน 97 วัน (17 มกราคม-24 เมษายน 2501)

นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ซิม วา กลับมาอีกสมัย (24 เมษายน-10 กรกฎาคม 2501) รวมเวลา 77 วัน

จากนั้น นโรดม สีหนุ ก็กลับมารับตำแหน่งนายกฯ ลำดับที่ 32 เป็นสมัยที่ 9 คราวนี้ 1 ปี 284 วัน (10 กรกฎาคม 2501-19 เมษายน 2503) คือเวลาที่นานที่สุดและคงจะนานได้กว่านี้ แต่ยินดีจะสละตำแหน่งให้แก่…

นายกรัฐมนตรีคนที่ 33 นายภู เตรือง (2446-2518) รวมเวลา 284 วัน (19 เมษายน 2503-28 มกราคม 2504) มีข้อสังเกตว่า เมษายน มกราคม และตุลาคม คือเดือนที่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีอย่างฉุกละหุกกะทันหันเจียนิจ

โดยนอกจากจะเป็นเทศกาลปีใหม่เขมร, ปีใหม่สากลและเดือนประสูติของพระองค์แล้ว การตากอากาศฤดูร้อนในต่างแดนคราวละนานๆ คือสิ่งโปรดปรานของประมุขแห่งรัฐ

 

แปน นุด จึงเริ่มถูกเรียกใช้ ในวาระที่ 5 ของการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 34 ในระยะ 293 วัน (28 มกราคม-17 พฤศจิกายน 2504) แต่ในที่สุดองค์สีหนุก็กลับมาเป็นนายกฯ ลำดับที่ 35 สมัยที่ 10 ด้วยเวลา 88 วัน (17 พฤศจิกายน 2504-13 กุมภาพันธ์ 2505) ที่กำลังดี

ในที่สุด ความเชื่อโหราศาสตร์ที่ว่า การจำพรากมาตุภูมิเป็นครั้งคราน่าจะเป็นการสะเดาะเคราะห์ชะตาน่าจะมีส่วนจริง? จากนี้ไป พล.อ.ยึก จูล่ง (2451-2539) และพ่อตาในอนาคตของนายสัม รังสี ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 36 ต่อจากพระองค์ ด้วยเวลา 174 วัน (13 กุมภาพันธ์-6 สิงหาคม 2505)

จากนั้นองค์สีหนุก็ประทานตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 37 ให้แก่เจ้าแสนกุศล (2448-2552) สายสกุลเก่าแก่จากกัมพูชาใต้ ด้วยเวลา 61 วัน (6 สิงหาคม-6 ตุลาคม 2505) ก็นับว่าทรงไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังทั้งฝ่ายเจ้าศักดินาและพวกประชาธิปไตย

นายกรัฐมนตรีคนที่ 38 องค์นโรดม กันฑุล (2463-2519) พระประยูรญาติคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งนี้ครบ 4 ปี 19 วัน (6 ตุลาคม 2505-25 ตุลาคม 2509)

จากนั้นก็ถึงเวลาของหน่วยตำรวจลับและเสนาธิการ-พล.อ.ลอน นอล (2456-2428) นายกรัฐมนตรีลำดับที่ 39 อายุงาน 188 วัน (25 ตุลาคม 2509-1 พฤษภาคม 2510)

แต่แล้วสถานการณ์อันวุ่นวาย ทำให้นายกรัฐมนตรีคนที่ 40 ตกไปสู่นายซอนน์ ซานน์ (2454-2546) อดีต รมต.การคลังหลายสมัยที่ได้ชื่อว่ามือสะอาดและนายกฯ 275 วัน (1 พฤษภาคม 2510-31 มกราคม 2511) แต่แล้วซอนน์ ซานน์ นี่เองที่แต่งตั้งนายเขียว สัมพัน เป็น รมต.การคลังในนามพรรคประชาธิปไตย

จนเกิดปรากฏการณ์กวาดล้างผู้นำชาวนาตำบลสำโลต

 

พอนึกอะไรไม่ออก สีหนุก็เรียกหาแต่แปน นุด มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 41 (31 มกราคม 2511-14 สิงหาคม 2512) ด้วยเวลา 1 ปี 195 วัน แต่นายกฯ พลเรือนดูจะคุมบ้านเมืองไม่อยู่ ลอน นอล จึงกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 42 อีกครั้ง (14 สิงหาคม 2512-18 มีนาคม 2513)

มันคือวันสุดท้ายที่เขาก่อรัฐประหาร ล้มกษัตริย์และระบอบสีหนุราช จากนั้น วันที่ 11 มีนาคมปีถัดมาเขาก็ลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง สิริรวมอายุนายกฯ คนนี้ 1 ปี 209 วัน

พระองค์เจ้าสีโสวัตถิ์ สิริมะตะ (2457-2518) คือนายกรัฐมนตรีคนแรกของระบอบเขมรสาธารณรัฐในนามพรรคเขมรเสรี ด้วยเวลา 1 ปี 7 วันแห่งการต่อสู้กับลูกพี่ลูกน้องสีหนุ (11 มีนาคม 2514-18 มีนาคม 2515)

นายซึง ง็อกทันห์ (2451-2520) กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 44 ของกัมพูชา และเป็นสมัยแรกของระบอบประชาธิปไตยที่กลุ่มของซึง ง็อกทันห์ ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้แม้จะเพียงแค่ 208 วัน (18 มีนาคม -15 ตุลาคม 2515)

นายกรัฐมนตรีคนที่ 45 นายหงส์ ทุนฮัก (2469-2518) นักละครเวทีสังกัดพรรคสังคมสาธารณรัฐ ตำแหน่ง 203 วัน (15 ตุลาคม 2515-6 พฤษภาคม 2516)

นายกรัฐมนตรีคนที่ 46 นายอิน ตัม (2465-2549) พรรคประชาธิปไตย เวลา 217 วัน (6 พฤษภาคม-9 ธันวาคม 2516)

นายกรัฐมนตรีคนที่ 47 คนสุดท้าย นายลอง บุเรต (2476-2518) 1 ปี 129 วัน (26 ธันวาคม 2516-17 เมษายน 2518) แห่งระบอบประชาธิปไตยที่พ่ายแพ้คาสนามรบให้แก่สีหนุ-พล พต

 

เมื่อย้อนมองไทม์ลงมา ก็ให้ประหลาดใจว่าพระบาทนโรดม สีหนุ ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางการเมืองที่ถึงซึ่งเลือดขัตติยะแห่งกัมโพชอย่างแท้จริง เช่น เพื่อได้มาซึ่งมหาราชวังและวัดพระแก้วที่จำลองจากพระนคร (กรุงเทพฯ) พระบาทนโรดม (2377-2447) ก็เคยยอมสูญเสียในพระราชอำนาจต่อฝรั่งเศสมาแล้ว

ในยุคเหลนสีหนุนั้นยิ่งกว่า ความพยายามต่อสู้กับวิถีสังคมนิยม-ประชาธิปไตยแทบจะบดขยี้ให้ระบอบราชานิยมแทบจะล้าหลังและตกยุคโดยพลัน

โดยเหตุนั้น การปกป้องราชสำนักของสีหนุจึงเบาหวิวและไร้ทิศทางจากวิสัยทัศน์ที่ว่า ระบอบสาธารณรัฐอเมริกันคือตัวทำลายระบอบกษัตริย์ และหันไปหากลุ่มสังคมนิยมประเทศ ตั้งแต่ฝรั่งเศส รัสเซีย เวียดนามและจีนในที่สุด

ทั้งการเมืองภายในและนอกประเทศ สีหนุพ่ายแพ้มันอย่างหมดรูป เพราะโดยแท้จริงนั้น ธรรมชาติของผู้เกิดมาเป็นกษัตริย์คือ ขัตติยะมานะที่ไม่อาจลดละ และไม่เคยเหมาะกับครรลองของระบอบประชาธิปไตย

โดยไม่ว่าระบอบนี้จะมีอยู่หรือไม่?