วิเคราะห์ : สิ่งที่จะตามมาในการระบาดระลอก 2

ที่กลัวๆ กันเรื่องการระบาดระลอกที่ 2 ของไวรัสโควิด-19 นั้น ผู้เขียนกลับมองว่า ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิดกัน

เพราะประเทศไทยผ่านการระบาดระลอกแรกมาแล้ว ในระดับดีมาก แสดงถึง

1. วัฒนธรรมคนไทยในการรับมือกับโรคระบาดมีประสิทธิภาพ

2. องค์กรและบุคลากรด้านสาธารณสุขด้านการแพทย์ของไทย มีความรู้และระบบการจัดการดีพอ

3. การบริหารจัดการโดยภาพรวมเราก็ถือว่าใช้ได้

ดังนั้น ถือว่าผ่านการทดสอบกับการแพร่ระบาดระลอกแรกมาแล้ว หากมีรอบ 2 กระบวนการต่างๆ ก็ไม่น่าจะแตกต่างจากเดิมนัก เราน่าจะควบคุมได้

 

แต่เรื่องที่ไม่มีใครมั่นใจเลยก็คือ เรื่องการบริหารจัดการวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น

เมื่อความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพความเป็นความตายจากโรคภัยไข้เจ็บทุเลาลง คนเราก็ต้องมาคิดถึงเรื่องปากท้อง

ข่าวคราวเรื่องการตกงานเลิกจ้างเริ่มทยอยกันมา ในวงการธุรกิจโรงแรมมีการเลิกจ้างอย่างเป็นทางการไปแล้วกว่า 1 ล้านคน ที่ไม่เป็นทางการไม่รู้เท่าไหร่

การปิดกิจการของธุรกิจต่างๆ

รอบแรก เกิดขึ้นไปแล้วระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

รอบที่ 2 กำลังลุ้นกันอยู่ในระหว่างสิ้นเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2563

รอบที่ 3 สิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นจุดที่ธุรกิจหมดสิ้นแล้วทั้งเงินสดสำรองและวงเงินกู้จากธนาคาร

แต่จะว่าไปแล้ว ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น เกิดขึ้นทั้งโลก ทุกประเทศได้รับผลกระทบคล้ายๆ กัน

ดังนั้น การจะเจ็บตัวน้อยหรือฟื้นตัวเร็วทางด้านเศรษฐกิจจึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องฝีมือการบริหารของรัฐบาลแต่ละประเทศล้วนๆ

อันนี้แหละที่ทำให้ธุรกิจและคนที่กำลังประสบปัญหาไม่ค่อยมีความหวัง

 

การให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็น แค่นี้ก็เห็นแล้วว่า จัดลำดับความสำคัญการบริหารไม่ถูกต้อง เอาการจัดการเซ็กเตอร์หนึ่งทางเศรษฐกิจมานำภาพรวม แทนที่จะให้ภาพรวมหรือมหภาคเป็นตัวนำ

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออก ไม่รีบเร่งหาคนเก่งมีความสามารถด้านนี้มาเป็นรัฐมนตรี ยังทอดเวลาการแต่งตั้งออกไปอีก ตรงนี้คือความไม่รู้ว่า ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคือแม่ทัพในศึกนี้

แค่รายได้ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ที่รัฐบาลยกเลิกกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ แล้วนำกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้แทนนั้น ในทางปฏิบัติจริงรัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมจนไม่มีความพร้อม ทำให้ปี 2563 นี้จัดเก็บได้น้อย และรัฐยังไปให้โปรโมชั่นส่วนลดภาษีกับแลนด์ลอร์ดอีก

ปีนี้จะได้เห็นหน่วยงานบริหารท้องถิ่นต่างๆ งบประมาณขาดไม่พอใช้อย่างแน่นอน

 

ประเทศไทยเคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้ว

บางครั้งผู้นำในขณะนั้นๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็ลาออกเปิดทางให้คนที่มีความสามารถขึ้นมาบริหารแทน แต่ทุกวันนี้กลไกประเทศไม่เปิดโอกาสให้ทำแบบนี้

บางครั้งผู้นำไม่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ แต่มีความสามารถหาคนเก่งในแต่ละด้านมาร่วมทีม และฝ่าฟันวิกฤตไปได้

แต่ครั้งนี้ดูแล้วผู้นำน่าจะคิดว่าตัวเองรู้ดีทุกเรื่อง เห็นงานบริหารเป็นงานรูทีนธรรมดา

แล้วประเทศจะผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปด้วยสภาพแบบไหน