มนัส สัตยารักษ์ | คอร์รัปชั่นบนความสุข คอร์รัปชั่นบนความทุกข์

มีด้วยหรือ คอร์รัปชั่นบนความสุข?

…มีครับ มากด้วย ค่าเสียหายมหาศาลกว่าด้วย

มีความสุขกันทั้ง 2 ฝ่าย อย่างเช่น กรณี “ให้และรับสินบน” เพื่อกระทำหรืองดเว้นการกระทำ ด้วยเงินจำนวนหลายร้อย-หลายพันล้านในการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าหมื่นล้าน-แสนล้าน เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามีความสุขกันทั้งผู้ให้และผู้รับ

ส่วนคอร์รัปชั่นบนความทุกข์นั้น ขอยกตัวอย่างจากกรณียังร้อนๆ อยู่ คือการพลิกคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส กระทิงแดง” ขับรถชนตำรวจตาย ซึ่งนับเป็นความทุกข์ของครอบครัวอยู่วิทยา กับครอบครัวของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ตาย

ผมคิดถึงวลี “คอร์รัปชั่นบนความทุกข์” ขึ้นมา เพราะมีเพื่อนพลเรือน/อดีตนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ โทรศัพท์มาชวนคุยแต่เช้า ด้วยคำถามที่ผมตอบไม่ได้

“คิดว่าตำรวจและอัยการได้สักเท่าไหร่กับการเบี้ยวคดีนี้แล้วต้องติดคุก ถ้าเทียบกับคดีที่นักการเมืองได้จากคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นร้อยล้านพันล้าน แล้วไม่ต้องติดคุก?”

วลี “คอร์รัปชั่นบนความทุกข์” มาจากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่สอนในหลักสูตร “สารวัตร” เมื่อนานมาแล้ว ความมุ่งหมายในคำสอนก็คือ ไม่ให้ตำรวจคอร์รัปชั่น เพราะการคอร์รัปชั่นของตำรวจส่วนใหญ่ทำบนความทุกข์ของประชาชน อื้อฉาวและตำรวจตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาและเป็นจำเลยได้ง่าย

แม้เพียงไถเงินแค่ 1-200 บาท จากคนขับรถ

ไม่เหมือนกับที่เขาคอร์รัปชั่นกันบนความสุข ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อเครื่องบินพาณิชย์ 38 ลำ (1.56 แสนล้านบาท)

เรือเหาะตรวจการณ์ Sky Dragon (350 ล้านบาท)

เครื่องหาวัตถุระเบิด (GT200) 1,398 เครื่อง (1,134 ล้านบาท)

สนามฟุตซอล 18 จังหวัด (รวม 4,459 ล้านบาทเศษ)

โรงพักและแฟลตที่พักตำราจ (รวมความเสียหาย 5,722 ล้านบาท)

และรับจำนำข้าว เอกสารจาก ปปง.ระบุว่า ความเสียหายจากโครงการ ในภาพรวมไม่น้อยกว่า 5.36 แสนล้านบาท รัฐบาลต้องตั้งงบฯ ชดใช้เงินต้นและดอกเบี้ยปีละ 5 หมื่นล้านบาทติดต่อกันเป็นเวลา 16 ปี รวมเป็นเงินกว่า 8 แสนล้านบาท

และ ฯลฯ

ฝ่ายผู้รับนั้น ถ้าไม่ถูกเนินคดี หรือรอดจากการติดคุกติดตะรางไปได้ อาจจะเติบโตในสนามการเมืองถึงขั้นได้เป็นรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีทีเดียว

บางคดีศาลต่างประเทศพิพากษาลงโทษผู้ให้สินบนไปแล้ว แต่ผู้รับในเมืองไทยยังมีความสุข ได้เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจ ได้เป็นหัวหน้าพรรคผู้มีพลัง (ที่จะได้รับความสุขอื่นอีกต่อไป) ทั้งที่ประเทศเสียหายยับเยิน รวมแล้วเป็นเงินกว่าล้านล้านบาท

ไม่มีการกล่าวโทษ ไม่มีการสอบสวน ไม่มีมาตรการต่างๆ ที่จะคอยรั้งไม่ให้กระทำผิดฐานเดียวกันนี้อีก ไม่มีการว่ากล่าวตักเตือนที่จะทำให้กังวล ไม่ต้องแคร์กระแสประณามจากสังคม และยังคงเชิดหน้าชูตาได้อย่างปลอดโปร่ง

รู้ๆ และเห็นๆ กันอยู่ไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างและเอ่ยชื่อครับ

คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส กระทิงแดง” ขับรถชน จยย.ตำรวจ สน.ทองหล่อ เป็นเหตุให้ตำรวจถึงแก่ความตาย เทียบกับคดี “เสี่ยรถเบนซ์” ขับรถชนรถรอง ผกก.ป. เป็นเหตุให้รอง ผกก.ป.กับภรรยาถึงแก่ความตายและบุตรสาวได้รับบาดเจ็บสาหัส จะเห็นได้ว่าพฤติการณ์แห่งคดีเกิดขึ้นคล้ายกัน แต่การสอบสวนดำเนินคดีกลับแตกต่างกันอย่างเป็นตรงกันข้าม

ที่แตกต่างอย่างชัดเจนก็คือคดีเสี่ยรถเบนซ์ไม่มีการคอร์รัปชั่น

ผู้ต้องหารับผิด พร้อมที่จะรับโทษทางอาญา แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกอย่าง เยียวยาครอบครัวผู้ตาย บิดา-มารดาและครอบครัวพ่อตาแม่ยายของผู้ตาย 45 ล้านบาท ดูแลค่ารักษาพยาบาลบุตรสาวที่บาดเจ็บของผู้ตาย เปลี่ยนรถที่ถูกชนเสียหายให้ใหม่ และเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือน 4 หมื่นบาทเป็นเวลา 8 ปี

รวมทั้งได้เลิกดื่มสุราโดยเด็ดขาด

ครอบครัวทางฝ่ายเสี่ยรถเบนซ์เห็นดีด้วยกับการเยียวยานี้ ครอบครัวของผู้ตายก็ให้อภัยเมื่อเห็นว่าเสี่ยรถเบนซ์สำนึกผิดอย่างแท้จริง

ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา

คดีเสี่ยรถเบนซ์เกิดก่อนคดีบอส กระทิงแดง จึงมีคนสงสัยว่าทำไมบอสและครอบครัวของบอส ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าจึงไม่เอาอย่างเสี่ยรถเบนซ์

ประการแรก ก็คงจะเป็นเพราะนายวรยุทธไม่ได้มีจิตสำนึกที่จะยอมรับผิด จะเห็นได้ว่าหลังเกิดเหตุเขาพยายามหลบหลีกความผิด ซ่อนตัวแล้วให้ลูกน้องในบ้านออกมารับผิดแทน

ประการที่สอง ที่ผมเห็นว่าเป็นประการสำคัญมากก็คือ ครอบครัว “อยู่วิทยา” สัมพันธ์และถูกล้อมรอบด้วยอภิสิทธิ์ชน นักการเมืองใหญ่ ทหาร ตำรวจที่ทรงอิทธิพล นักกฎหมายทนายความผู้มีเส้นสาย อดีตอัยการและอดีตตำรวจชั้นผู้ใหญ่ผู้มีประสบการณ์ในด้านมืด

บุคคลเหล่านี้ไม่ได้มองถึงความยุติธรรม ไม่คิดถึงว่าแทนที่นายดาบวิเชียรจะได้ตายในหน้าที่ราชการอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี กลายเป็นคนผิดที่ตายฟรีข้างถนน แถมทำให้รถ จยย.ของหลวงเสียหายอีกด้วย พวกเขาไม่ได้คำนึงถึงข้าราชการชั้นผู้น้อยซึ่งครอบครัวและทายาทไม่มีบำเหน็จของผู้ตาย

เมื่อไม่คิดถึงความยุติธรรม เขาจะคิดถึงศักดิ์ศรีขององค์กรได้อย่างไร

ถ้าปล่อยให้ดำเนินการสอบสวนไปตามปกติเหมือนอย่างคดีของเสี่ยรถเบนซ์ พวกเขาก็ไม่ได้ผลประโยชน์อะไร แต่ถ้าสามารถช่วยให้นายวรยุทธรอดพ้นจากความผิดได้สำเร็จ ตำรวจและอัยการจะต้องได้ผลประโยชน์จำนวนหนึ่ง และพวกระดับผู้ใหญ่แม้จะไม่ได้ผลประโยชน์เป็นกอบเป็นกำจากงานนี้ แต่ก็จะได้ “บุญคุณที่ต้องตอบแทน” หรือ “ได้ตอบแทนบุญคุณที่เคยได้มา”

ตามวิสัยและวัฒนธรรมของระบบอุปถัมภ์

แม้นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการสอบสวน (ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง) จะระบุค่อนข้างชัดว่าการสอบสวนและสั่งไม่ฟ้อง “บอส กระทิงแดง” ทำเป็นกระบวนการ เจตนาช่วยผู้ต้องหาให้พ้นผิดโดยทุจริต มีคนต้องรับผิดชอบหลายคน แต่นายวิชาก็โยนให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะดำเนินการกับใครและอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า ได้อ่านรายงานของนายวิชาแล้ว “เป็นเรื่องเศร้ามากสำหรับประเทศไทย”

ครับ เป็นคอร์รัปชั่นบนความทุกข์ ที่แม้ประเทศจะไม่สูญเสียเงินทองเท่ากับคดีที่คอร์รัปชั่นบนความสุข

แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ “กระบวนการยุติธรรม” ย่อมทำให้โลกขาดความเชื่อถือต่อประเทศทั้งประเทศทีเดียว

เรื่องนี้จะเป็นโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะสร้างภาพใหม่ ควรคุยกับที่ปรึกษาของท่านที่เคยผ่านการเป็นผู้พิพากษาตุลาการมาก่อนและไม่เคยมีประวัติความเสียหาย

ที่เป็นห่วงก็เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ชอบมีคำพูดติดปากว่าตัวเอง “ไม่ทุจริต” นั้น แต่เท่าที่ผ่านมาทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ท่านไม่เห็นหรือไม่รู้ว่าทุจริตคืออะไร หรือไม่รู้ว่าอะไรคือทุจริต-ก็ได้

อีกนัยยะหนึ่ง ท่านมีตรรกะ หรือทัศนคติ หรือแปล หรือตีความคำว่า “ทุจริต” แตกต่างกับเราก็ได้!