บันทึกการสนทนา “เหมา-ปรีดี” ที่ผมเฝ้ารอ | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณดุษฎี พนมยงค์ (หรือ “ครูดุษ” ของลูกศิษย์มากมายของท่าน) ลูกสาวอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อย่างน้อย 2 ครั้ง

ทั้งสองครั้ง “ครูดุษ” บอกผมว่ามีเอกสารประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับการพบปะของท่านปรีดีกับประธานเหมาเจ๋อตุงของจีนที่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

ท่านบอกว่าวันหนึ่งจะให้ผมได้อ่าน

ผมเฝ้ารอมาหลายปีด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าประธานเหมากับท่านปรีดีแลกเปลี่ยนกันเรื่องอะไร

และสะท้อนถึงความเป็นไปในสถานการณ์ของประเทศจีนขณะนั้นอย่างไร

จนเมื่อเร็วๆ นี้คุณดุษฎีส่งหนังสือเล่มหนึ่งมาให้

เปิดซองแล้วคือ “จุลสารจดหมายเหตุธรรมศาสตร์” ฉบับมิถุนายน 2563 – พฤษภาคม 2564 ที่ขึ้นปกว่า

“สืบสาน รักษา ต่อยอด ปรีดา พนมยงค์”

และที่หน้า 108-109 คือ “บันทึกคำสนทนาที่สำคัญของท่านประธานเหมาเจ๋อตุงในการต้อนรับการเข้าพบของท่านปรีดี พนมยงค์” ที่ผมรอคอยมายาวนาน

ในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 ประธานเหมาเจ๋อตุงได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ประตูเทียนอันเหมิน

ท่านปรีดีได้รับเชิญเป็นเกียรติเข้าร่วมในพิธีสถาปนาประเทศจีนใหม่ในวันอันเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ ในพิธีนั้นมีแขกชาวต่างประเทศเพียงไม่กี่สิบคน

ท่านปรีดีอาศัยอยู่ในจีนนานถึง 21 ปี ได้ร่วมฉลองวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งที่ 20

ในปี 1970 จึงมีโอกาสได้ย้ายไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส

และได้พำนักอยู่ที่นั่นตลอดมาจนเสียชีวิตในปี 1983 ในวัย 83

ผมเคยอ่านหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์ กับ ๒๑ ปี ชีวิตในจีน” ซึ่งเป็นบทบันทึกของ “ดุษฎี พนมยงค์ บุญยทัศนกุล” ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน โดยความร่วมมือจาก “ศูนย์จีนศึกษา” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมเหตุการณ์สำคัญๆ ในระหว่างที่ท่านปรีดีพำนักอยู่ในประเทศจีนไว้มากมาย อาทิ การพบผู้นำจีนในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตั้งแต่หัวขบวนคอมมิวนิสต์อย่างเหมาเจ๋อตุง นายกรัฐมนตรีโจว เอิน ไหล และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในระดับนำ

หนังสือเล่มนั้นเล่าถึงการได้รับการติดต่อเป็นการส่วนตัวจากคนไทยและคนจีนเพื่อให้ท่านกลับไปเป็นผู้นำในการยึดอำนาจ โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็น “ลูกหม้อ” คอมมิวนิสต์จีน

แต่ท่านปรีดีปฏิเสธ เพราะนั่นเป็นการขัดแย้งกับหลัก “เอกราชสมบูรณ์” ที่ท่านยึดถืออย่างมั่นคงตลอดชีวิต

ต่อไปนี้เป็นบันทึกคำสนทนาที่สำคัญของท่านประธานเหมาเจ๋อตุงในการต้อนรับการเข้าพบของท่าน “ปรีดี พนมยงค์” วันที่ 6 ตุลาคม 1965

เนื้อหาและภาษาที่ใช้ของ “ประธานเหมา” ในบันทึกนี้สะท้อนถึงสถานการณ์ของจีนในขณะนั้นอย่างน่าสนใจยิ่ง

ผมอ่านไปก็ยิ้ม, เครียด และพยักหน้ารับรู้ไปตลอด

ขอนำมาเล่าขานต่อแบบคำต่อคำให้ท่านผู้อ่านได้เก็บไว้ในลิ้นชักความจำของบทหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย-จีนครับ

ท่านประธานเหมากล่าวว่า

เดี๋ยวนี้มือของอเมริกายื่นออกไปยาวมาก ยื่นไปถึงที่ต่างๆ ในทวีปเอเซีย อาฟริกา และอเมริกาลาติน

ในทวีปเอเซียมันยื่นไปถึงเกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย เกาะไต้หวันของเราและที่อื่นๆ

อเมริกาถือว่าโลกนี้ล้วนเป็นของเขาทั้งหมด แม้กระทั่งโลกพระจันทร์และดวงดาวอื่นๆ ก็เป็นของเขาทั้งนั้น

ท่านประธานเหมาชี้ให้เห็นว่าการที่จักรวรรดินิยมอเมริกันรุกรานประเทศไทยนั้นย่อมเป็นการเร่งให้ราษฎรไทยลุกขึ้นทำการต่อสู้เร็วยิ่งขึ้น

ต้องผ่านขั้นนี้อย่างแน่นอน ราษฎรจึงจะมองเห็นได้ชัดแจ้งยิ่งขึ้น

ความคิดกลัวอเมริกา บูชาอเมริกา และนิยมอเมริกาเกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น

แต่ว่าการที่ราษฎรถูกหลอกลวงและไม่เข้าใจสภาพที่เป็นจริงนั้น เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ต้องมีสักวันหนึ่งอย่างแน่นอนที่ราษฎรจะมองเห็นอเมริกาและลูกสมุนของพวกเขาอย่างชัดแจ้ง

ท่านประธานเหมากล่าวว่า การอภิวัฒน์ของประเทศไทยต้องแยกเป็น 2 ขั้น

คือแยกเป็นขั้นอภิวัฒน์ประชาธิปไตย และขั้นอภิวัฒน์สังคมนิยม

ในขั้นอภิวัฒน์ประชาธิปไตยมีศัตรูอยู่ 3 พวก

คือ จักรวรรดินิยม ลัทธิศักดินา และชนชั้นนายทุนขุนนางนายหน้า

นี่ก็มากพอดูอยู่แล้ว ควรจะต้องสมานสามัคคีกับกำลังทั้งหลายเท่าที่จะสมานสามัคคีได้ และทำให้ศัตรูโดดเดี่ยวที่สุด

สำหรับชนชั้นนายทุนนั้น ต้องแยกชนชั้นนายทุนนายหน้าซึ่งมีความสัมพันธ์และพึ่งพาอาศัยจักรวรรดินิยมกับชนชั้นนายทุนชาติออกจากกัน

ชนชั้นนายทุนชาติยินดีเดินตามพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะจักรวรรดินิยมและพวกปฏิกิริยาขัดขวางผลประโยชน์ของพวกเขา

ในระยะเริ่มแรกของการอภิวัฒน์ เนื่องจากฐานที่มั่นยังไม่ใหญ่โต อำนาจรัฐยังไม่มั่นคง ฉะนั้น อย่าเพิ่งแตะต้องพวกเจ้าที่ดินที่ไม่ใช่พวกกุมอำนาจ และไม่มีหนี้เลือด

พวกนี้ไม่มีอิทธิพล ไม่ได้ข่มเหงราษฎร มีแต่ขูดรีดทางเศรษฐกิจเท่านั้น

โดยทั่วไปแล้ว พวกนี้กลัวเรื่องกลัวราวอยู่แล้ว ปล่อยพวกเขาไว้ พวกเขาจะยังเสียภาษีข้าวให้เราได้

ต่อเมื่อฐานที่มั่นขยายกว้างออกไป อำนาจรัฐมั่นคง และจิตสำนึกของชาวนาสูงขึ้นแล้ว เมื่อนั้น ถึงท่านไม่ไปแบ่งที่ดินพวกเขา ชาวนาก็จะไปแบ่งเอง

เวลาแบ่งที่ดิน ต้องให้ที่ดินส่วนหนึ่งแก่เจ้าที่ดินที่ไม่ได้หลบหนีเพื่อให้พวกเขาได้ทำมาหาเลี้ยงชีพ ให้พวกเขาหากินด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง

ขณะที่กล่าวถึงความเจนจัดในการอภิวัฒน์ของประเทศจีน ท่านประธานเหมาได้กล่าวว่า

ตอนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดตั้งขึ้นใหม่ๆ นั้น มีสมาชิกเพียง 70 กว่าคนเท่านั้น ไม่มีใครให้ความสนใจเลย

ครั้นถึงปี 1927 จำนวนสมาชิกได้ขยายขึ้นถึง 50,000 กว่าคน

ตอนทำสงครามปราบขุนศึกภาคเหนือ พวกเราร่วมมือกับพรรคก๊กมินตั๋ง อุ้มชูเจียงไคเช็กขึ้น พวกเรามิได้ระแวงเขา

ผลสุดท้ายถูกเขาโจมตีจนต้องหลบลงใต้ดิน

ระยะนั้นปรากฏว่าสมาชิกพรรคแบ่งออกเป็น 4 จำพวก

จำพวกหนึ่งถูกศัตรูฆ่าตาย

จำพวกหนึ่งยอมจำนนต่อศัตรู

จำพวกหนึ่งโลเล ถอนตัวออกจากพรรค เลิกไปเลย

อีกจำพวกหนึ่งอยู่ในพรรคต่อไปอย่างเด็ดเดี่ยว

ตอนนั้นสมาชิกพรรคเหลืออยู่ไม่ถึง 7-8 พันคน

เวลานั้น ผู้นำของพรรคเราคือ เฉินตู๋ซิ่ว เขาได้ทำความผิดพลาดทางลัทธิฉวยโอกาสเอียงขวา

คนนี้ไม่ดี แต่จะโทษเสียทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะภายในพรรคเราต่างก็ไม่ได้เตรียมพร้อมทางจิตใจทั้งนั้น

ตอนนั้นสหายเฮ่อหลงมีกำลังอยู่ในมณฑลหูหนานบ้างเล็กน้อย

สหายผู้นี้เดิมทีเป็นนักประชาธิปไตย มาเข้าพรรคเอาภายหลัง แต่ว่าเวลานั้นเขาดีกว่าสมาชิกพรรคหลายต่อหลายคน

เจียงไคเช็กได้สอนให้พวกเรารู้จักทำสงคราม

ต่อมาพวกเราได้ทำสงครามกลางเมืองเพื่ออภิวัฒน์ที่ดินเป็นเวลา 10 ปี

ระหว่างนั้น พวกเราได้ทำความผิดพลาดอีก ทำให้ฐานที่มั่นในภาคใต้สูญเสียไป จำต้องเดินทัพทางไกลหมื่นลี้

ฐานก็ลดน้อยลงจาก 300,000 คนเหลือเพียง 20,000 กว่าคน

การเดินทัพทางไกลนั้นลือชื่อไปทั่วโลก แต่พวกเราไม่ใช่ว่าอยากเดินทัพทางไกล แต่เพราะแพ้เขา ไม่มีทางอื่นจึงต้องทำเช่นนั้น

เวลานั้นพวกเราทำผิดพลาดจึงพ่ายแพ้

หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็เข้ามา

ในระยะแรก พวกเราบางคนทำความผิดพลาดทางลัทธิยอมจำนนเข้าไปอีก

อะไรๆ ก็ต้องฟังเจียงไคเช็ก พวกเขาลืมไปว่าเจียงไคเช็กเคยฆ่าพวกเราอย่างไร ลืมสงครามกลางเมือง 10 ปี

ท่านประธานเหมากล่าวว่า ความผิดพลาดนั้นหลีกเลี่ยงได้ยาก

สรุปความจัดเจนแต่เนิ่นๆ และแก้ไขให้ถูกต้องเสียแต่เนิ่นๆ ก็หมดเรื่อง

เรามักจะรู้ตัวเมื่อศัตรูฉวยเอาข้อบกพร่องและความผิดพลาดของเรามาเล่นงานเรา

พรรคคอมมิวนิสต์ทำผิดพลาดได้เหมือนกัน

พวกเราเมื่อก่อนก็เคยทำความผิดพลาด พวกเราเมื่อสรุปความจัดเจนแล้ว การกระทำก็ถูกต้องขึ้น

มีแต่ชาวลัทธิมาร์กซ์-เลนินเท่านั้นที่สามารถแยกมิตรและศัตรูได้อย่างชัดแจ้ง

และใช้ทรรศนะทางชนชั้นไปวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ

คนเลวย่อมเป็นฝ่ายข้างน้อย คนดีย่อมเป็นฝ่ายข้างมาก