วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทุนนิยม

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮ่องกงเมื่อวันวาน (9)
พัฒนาการเศรษฐกิจฮ่องกง

ว่ากันเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจฮ่องกงแล้วต้องยอมรับว่า แม้ลัทธิอาณานิคมเป็นเหตุทำให้ฮ่องกงตกเป็นของอังกฤษ เป็นลัทธิที่โลกปัจจุบันปฏิเสธ และเป็นลัทธิที่สร้างความคับแค้นใจให้กับจีนก็ตาม แต่ลัทธินี้ก็มีส่วนอย่างมากในการทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเกาะเศรษฐกิจที่รุ่งโรจน์

ประเด็นพัฒนาการเศรษฐกิจของฮ่องกงจึงเป็นประเด็นที่มีการศึกษากันไม่น้อย และในที่นี้จะได้อธิบายโดยแยกให้เห็นพัฒนาการที่ว่าออกเป็นช่วงเวลา

ดังนี้

 

หนึ่ง ช่วงก่อนการเป็นเมืองท่า (ค.ศ.1840-1860) ในช่วงนี้จัดอยู่ในระยะเวลาก่อนและหลังสงครามฝิ่นไม่นาน โดยเริ่มจากที่ฮ่องกงได้ถูกทำให้เป็นที่ขนถ่ายสินค้า และสินค้าที่สำคัญที่สุดในเวลานั้นก็คือฝิ่น

ฮ่องกงนับเป็นฐานของสินค้าฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกไกล โดยมีบริษัท จาร์ดีน แมธีสัน (Jadine Matheson and Co., Ltd.) และบริษัทอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งเป็นผู้ค้ารายใหญ่ กล่าวกันว่า จนถึง ค.ศ.1845 ได้เป็นที่ปรากฏว่า 3 ใน 4 ของฝิ่นที่ขนมาจากอินเดียล้วนใช้ฮ่องกงเป็นฐานของการส่งออกอีกต่อหนึ่งทั้งสิ้น

นอกจากฝิ่นแล้ว สินค้าอีกประเภทหนึ่งของฮ่องกงก็คือ กุลีจีน

โดยกิจการเหมืองแร่ทองคำในแคลิฟอร์เนียและออสเตรเลียนั้น ล้วนใช้แรงงานกุลีจีนทั้งสิ้น เมื่อความต้องการกุลีจีนมีมากขึ้น กุลีจีนก็ถูกพัฒนาให้เป็นแรงงานตามสัญญา (contact labour) ในที่สุด ทั้งนี้เพื่อช่วยให้การบริหารกุลีจีนมีความเป็นระบบมากขึ้น และมีระยะเวลาเข้า-ออกงานที่แน่นอน

ที่สำคัญ สามารถรับประกันความปลอดภัยจากนักปล้นแรงงานโดยนักล่าอาณานิคมบางประเทศ ซึ่งนิยมปล้นแรงงานเพื่อนำไปขายเป็นแรงงานทาสให้กับอีกบางประเทศ

นับจาก ค.ศ.1851 ถึง ค.ศ.1872 พบว่ามีแรงงานตามสัญญาสูงถึง 320,000 คน พ่อค้าและนายหน้าค้ากุลีจีนจึงสร้างผลกำไรให้แก่ตัวเองได้สูง ว่ากันว่ากุลีจีนที่ถูกส่งไปเปรูและเวสต์อินดี้นั้น มีราคาขายส่งตามสัญญาคนละ 117-190 เหรียญสหรัฐ แต่พอขายต่อจนถึงมือเจ้าของจริงแล้วจะสูงถึง 350-400 เหรียญสหรัฐ

ซึ่งก็คือกำไรมากกว่าสองถึงสามเท่าตัว

 

สอง ช่วงการเป็นเมืองท่า (ค.ศ.1860-ต้นทศวรรษ 1950) การเป็นเมืองท่า (export port) ของฮ่องกงเริ่มขึ้นหลังสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยอังกฤษในฐานะผู้ชนะได้เรียกเอาเกาลูนมาเป็นของตนเพิ่มอีกหนึ่งเกาะ การเชื่อมต่อฮ่องกงกับเกาลูนได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของท่าเรือวิกตอเรียที่รู้จักกันในปัจจุบัน

การเกิดขึ้นของท่าเรือวิกตอเรียได้ทำให้ร้อยละ 20 ของการนำเข้า และร้อยละ 14 ของการส่งออกใน ค.ศ.1867 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 37 และร้อยละ 21 ของการนำเข้าและส่งออกใน ค.ศ.1880 ตามลำดับ เมืองท่าแห่งนี้จึงทำให้ฮ่องกงค่อยๆ กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมและเมืองพาณิชยกรรมโดยลำดับ

อันตรงกันข้ามกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม

จากการเป็นเมืองท่าดังกล่าว ฮ่องกงจึงเป็นแหล่งจูงใจให้พ่อค้าและช่างหัตถกรรมจากจีนแผ่นดินใหญ่อพยพเข้ามาไม่น้อย โดยข้อมูลใน ค.ศ.1858 ชี้ให้เห็นว่า ชาวจีนที่ดำรงชีวิตอยู่ในฮ่องกงประมาณ 75,000 คนนั้น ได้เป็นที่ปรากฏว่า มีมากกว่า 2,000 คนเป็นเจ้าของกิจการในรูปแบบต่างๆ

กล่าวคือ ร้านค้าเทียนไข 287 ร้าน ร้านค้าสินค้าต่างประเทศ 49 ร้าน ร้านขายส่งหรือที่ภาษาจีนกวางตุ้งเรียกว่าหอง (ไทยเรารู้จักกันในคำว่า ห้าง) 35 ร้าน ร้านธุรกิจนายหน้า (compradore) 30 ร้าน แลกเปลี่ยนเงินตรา 17 ร้าน ขายข้าวสาร 51 ร้าน ซ่อมแซมเรือ 53 ร้าน โรงพิมพ์ 12 โรง ค้าทอง เงิน และนาก 116 ร้าน และช่างไม้ 92 ร้าน เป็นต้น

จากเหตุนี้ พอถึงช่วงระยะผ่านของทศวรรษ 1870 ไปสู่ทศวรรษ 1880 ผู้ประกอบการเหล่านี้ก็กลายเป็นพลังทางสังคมที่สำคัญของฮ่องกงไปโดยปริยาย

สิ่งที่บ่งชี้ถึงความสำคัญดังกล่าวไม่มีอะไรดีไปกว่าตัวเลขการเสียภาษีของผู้ประกอบการเหล่านี้ โดยใน ค.ศ.1876 ผู้เสียภาษีรายใหญ่ 20 รายของฮ่องกงซึ่งแบ่งเป็นผู้ประกอบการชาวยุโรป 12 รายจะเสียภาษีคิดเป็นเงิน 62,523 เหรียญฮ่องกง ที่เหลืออีก 8 รายเป็นผู้ประกอบการชาวจีนจะเสียภาษีคิดเป็นเงิน 28,267 เหรียญฮ่องกง

แต่พอถึง ค.ศ.1881 กลับปรากฏว่า จากผู้เสียภาษีรายใหญ่ 20 รายเท่าเดิมแต่เหลือชาวยุโรปอยู่เพียง 3 รายที่เสียภาษีคิดเป็นเงิน 16,038 เหรียญฮ่องกง ส่วนชาวจีนที่เพิ่มขึ้นเป็น 17 รายนั้น เสียภาษีคิดเป็นเงิน 99,110 เหรียญฮ่องกง

จากตัวเลขนี้ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ผู้ประกอบการชาวจีนได้กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจไปแล้ว และเป็นผู้ทรงอิทธิพลขึ้นมาได้ก็โดยลัทธิอาณานิคมที่มีอังกฤษเป็นผู้เล่นตัวสำคัญ

กล่าวอีกอย่างคือ อังกฤษเป็นผู้สร้างอิทธิพลให้แก่ชาวจีนเหล่านี้นั่นเอง

ตราบจนสิ้นศตวรรษที่ 19 เมื่ออังกฤษได้นิวเทอริทอรี่เพิ่มเข้ามาเป็นเขตเช่า และพอถึง ค.ศ.1911 ที่ทางรถไฟกว่างโจว-ฮ่องกงแล้วเสร็จ ฮ่องกงก็กลายเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ การเป็นเมืองท่านี้มาสะดุดลงระยะหนึ่งเมื่อเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นใน ค.ศ.1937 ครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ฮ่องกงก็หวนกลับมาเป็นเมืองท่าอีกครั้งหนึ่ง

 

สาม ช่วงการเป็นเมืองอุตสาหกรรม (ต้นทศวรรษ 1950-ค.ศ.1970) แม้การยึดครองจีนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ค.ศ.1949 จะทำให้เกิดความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างจีนกับอังกฤษก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของฮ่องกง

ในทางตรงกันข้าม การปฏิวัติในจีนกลับผลักดันให้ชาวจีนที่มีฐานะดีจำนวนหนึ่งอพยพเข้ามายังฮ่องกงเพิ่มขึ้น ผู้อพยพกลุ่มนี้ได้นำเอาเครื่องไม้เครื่องมือ (equipment) ช่างเทคนิค และนักบริหารเข้ามาด้วย คนกลุ่มนี้ได้เข้ามาขยายอุตสาหกรรมของฮ่องกงให้เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น

อุตสาหกรรมสิ่งทอ ยาง เคมี เครื่องจักร ไม้ขีด ฯลฯ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และจากเดิมที่มีโรงงาน 961 โรง คนงานอีก 47,000 คน ก็ก้าวกระโดดขึ้นเป็นโรงงาน 4,541 โรง พร้อมกับคนงานอีก 170,000 คนใน ค.ศ.1951

จนถึงทศวรรษ 1960 การก้าวเข้ามาของสินค้าใหม่ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า นาฬิกา และของเล่น ฯลฯ ก็ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมโดยสมบูรณ์

 

สี่ช่วงของเศรษฐกิจแปรรูป (ตั้งแต่ ค.ศ.1971) อาจกล่าวได้ว่า ทศวรรษ 1970 ฮ่องกงได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของการเป็นเมืองอุตสาหกรรม และพร้อมที่จะก้าวสู่ความทันสมัยที่จะผันตนไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออกต่อไป สถานประกอบการที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นจาก 16,507 แห่งใน ค.ศ.1970 มาเป็น 45,025 แห่งใน ค.ศ.1980

และในช่วงเวลาเดียวกันนี้จำนวนแรงงานก็เพิ่มจาก 549,000 คนมาเป็น 907,000 คนตามลำดับ โดยร้อยละ 40 ของแรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานฝีมือ

และในระหว่างทศวรรษ 1960 และ 1970 สามอุตสาหกรรมหลักที่มีมาแต่เดิมของฮ่องกงอันได้แก่ การส่งออก การท่องเที่ยว และการก่อสร้างนั้น พอถึงปลายทศวรรษ 1970 อันเป็นช่วงเดียวกับที่จีนประกาศใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ ก็เป็นที่ปรากฏว่า อุตสาหกรรมการเงินและการบริการธุรกิจอย่างธนาคาร ประกันภัย การเดินเรือ และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ก็เริ่มมีการพัฒนาอย่างจริงจัง

ก่อนที่จะนำฮ่องกงให้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคเอเชียในที่สุด

จากพัฒนาการทางเศรษฐกิจสี่ระยะของฮ่องกงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่เอื้อให้เกาะแห่งนี้สามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาได้ก็คือเสถียรภาพทางการเมือง อันเป็นเสถียรภาพที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และทำให้เศรษฐกิจของฮ่องกงมีความมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้

แต่บนข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ส่งผลให้ฮ่องกงมีบุคลิกภาพที่แตกต่างไปจากสังคมจีน ไม่ว่าจะเป็นสังคมจีนแผ่นดินใหญ่หรือไต้หวัน บุคลิกภาพที่แตกต่างนี้เป็นผลมาจากการที่ฮ่องกงถูกทำให้เป็นแบบตะวันตกในระดับหนึ่ง แต่ก็คงความเป็นจีนเอาไว้ในอีกระดับหนึ่ง

บุคลิกภาพนี้สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีวัฒนธรรมของฮ่องกง