จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง เขตปกครองพิเศษ Macau Hong Kong

ผมยังคิดว่าตลอดทั้งปี 2563 บ้านเราไม่น่าจะมีโอกาสได้เปิดน่านฟ้าบินไปต่างแดนได้อย่างเสรี การเดินทางโดยเครื่องบินอย่างดีคงเพียงแค่ภายในประเทศ

จริงๆ แล้วเฉียด 9 เดือนที่ผ่านมาแทบไม่ได้เดินทางไปไหน เพิ่งได้มีโอกาสไปยังจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งจะว่าไปเหมือนแค่กลับไปยังบ้านเกิดเยี่ยมเยียนเพื่อนพ้อง ซึ่งมิได้ไกลจากกรุงเทพฯ เท่าไร

การเดินทางท่องเที่ยวอย่างที่ชอบพอเป็นอันว่าต้องพับไปเป็นปี และยังไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนจะได้เริ่มต้นใหม่ ในเวลาเดียวกันยังคงมีกำลังเหลือพอจะพาร่างกายเคลื่อนไปได้อย่างคล่องตัวเหมือนเดิมหรือไม่

 

ปีพ.ศ.2564 ประเทศเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ แต่คนสูงวัยซึ่งได้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงยังต้องระมัดระวังตัวเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะกับไวรัสร้าย (Covid-19) การป้องกันยังต้องอยู่กับบ้านให้มากๆ กว่าเที่ยวเพ่นพ่านไปในสถานที่ชุมนุมชน

ในบ้านเราแม้จะมีศักยภาพในการต่อสู้กับไวรัส (Virus) ตัวร้ายเป็นประเทศต้นๆ แต่กลับปรากฏว่าประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างพม่า ถึงเวียดนามซึ่งไม่ค่อยจะมีข่าวในช่วงเวลาที่กำลังมีการระบาดอย่างรุนแรงกลับมาพบผู้ป่วยเป็นรายวันจำนวนมากเวลานี้

เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยต้องทำงานหนักในการป้องกันการเดินทางข้ามเขตแดนเข้ามายังประเทศไทย โดยเฉพาะการลักลอบเข้ามาตามเส้นทางธรรมชาติ ซึ่งมีแนวชายแดนติดต่อกันเป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตร ยากแก่การดูแลควบคุม

ว่ากันว่าประเทศอินเดีย-พม่าซึ่งมีเขตแดนติดต่อกับจีนแผ่นดินใหญ่ มันจะเป็นไปได้ไหมว่าการระบาดในประเทศดังกล่าวจะสามารถเข้ามาถึงประเทศไทยได้อีกครั้ง เนื่องจากคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอินเดียกลับเข้ามาบ้านถูกตรวจพบผู้ติดเชื้อเช่นกัน

 

ความหวังของมวลมนุษย์อยู่ที่ความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่พยายามคิดค้นทดลองวัคซีน (Vaccine) เพื่อผลิตออกมาให้ได้โดยเร็ว ซึ่งดูเหมือนมีข่าวว่าอาจเป็นต้นปี กลางปี ถึงปลายปี พ.ศ.2564 แต่ขณะนี้ในบางประเทศมีอันต้องระงับการทดลองในคนไว้ชั่วคราวเนื่องจากเกิดมีอาการไม่ปกติขึ้น

เมื่อประเทศรัสเซียเปิดตัวออกมาว่าได้ทำการผลิตวัคซีนสำหรับไวรัสโคโรนาได้แล้ว หลายประเทศกลับไม่ให้ความเชื่อถือมากนัก ต่างพากันวิจารณ์ไปในทิศทางไม่ค่อยจะชื่นชมยินดีในความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เป็นอันว่าต่างต้องรอคอยต่อไปอีก

ยังไม่มีหน่วยงาน สำนักสำรวจผู้เชี่ยวชาญแห่งไหนคิดคำนวณหรือประเมินความเสียหายของมนุษยชาติทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสร้าย (Covid-19) ว่าผู้คนไร้งานเท่าไร ความสูญเสียในภาพรวมเรื่องเศรษฐกิจมากมหาศาลเพียงใด นอกจากรายงานผู้เสียชีวิต ผู้ติดเชื้อในทุกๆ วันที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่หยุด

เพราะฉะนั้น การเปิด “น่านฟ้าเสรี” ทั่วโลกจึงยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน

 

เพื่อนๆ หลายเพศสลับไปข้ามมาร่วมมหาวิทยาลัยของสาวน้อยที่บ้าน ซึ่งมีการนัดหมายรวมตัวสังสรรค์รับประทานอาหารร่วมกันเสมอๆ ต้องเว้นวรรคเมื่อเกิดโรคระบาด แต่เมื่อ “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” (ศบค.) คลายล็อกออกบ้างหลังจากไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศเป็นจำนวนหลายๆ วัน การนัดหมายที่อั้นมานานหลายเดือนจึงกลับมาอีกครั้ง แต่ยังคงเว้นระยะห่าง (Social Distancing) รวมทั้งใส่หน้ากาก (Mask) ป้องกันด้วยความไม่ประมาท การ์ดไม่ตก

ในกลุ่มเพื่อนพ้องทั้งข้ามเพศ ไม่ข้ามเพศอย่างน้อย 3 คนมีคนรักเพศชายเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งต้องตัดอกตัดใจบินกลับบ้านเกิด และยังไม่มีโอกาสได้กลับมาเยี่ยมเยียนคนรักยังประเทศไทยได้อีก คิดว่าต้องร้องเพลงรอไปจนกว่าจะถึงสิ้นปี พ.ศ.2564 หรือมากกว่านั้น

คนแรกเป็นชายสูงวัยจากสาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) ประเทศที่แยกตัวมาจากเชโกสโลวะเกีย และไม่มีทางออกสู่ทะเล เรียกว่ามีพรมแดนติดต่อกับโปแลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี อยู่กลางยุโรปทีเดียว

รู้แต่เพียงคร่าวๆ ว่าเป็นนักธุรกิจที่มาลงทุนในเมืองไทย มีโรงแรม อพาร์ตเมนต์ อยู่ในอำเภอหัวหิน ฯลฯ ที่มาหลงรักกับสาวไทยวัยคราวลูกหลาน ได้บินกลับไปยังบ้านเมืองของเขา และยังไม่มีโอกาสได้กลับมายังเมืองไทย เพราะทุกประเทศปิดน่านฟ้า

อีกคนหนึ่งเป็นคนหนุ่มที่มีเชื้อชาติจีนไต้หวัน (Republic of Taiwan) แต่ไปเกิดยังเมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา และได้มารักชอบพอกับสาวไทย ซึ่งก็ไม่แตกต่างที่ต้องบินกลับไปติดล็อกอยู่ยังเมืองดังกล่าว ยังดีว่าทุกวันนี้โลกมันแคบเพราะการสื่อสารที่ทันสมัยยังพอบรรเทาเบาบางได้บ้าง

แต่อีกรายหนึ่งน่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากได้กำหนดวันแต่งงานแล้ว ซึ่งกว่าจะถึงวันนี้ได้ต้องต่อสู้ฝ่าฟันกันมายาว กระทั่งครอบครัวของฝ่ายเจ้าสาวจะยกกันมาจากไต้หวัน (Taiwan) เพื่อร่วมงานแต่ง

 

ผมยังยืนยันเหมือนเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรจะไม่เดินทางไกลๆ โดยเครื่องบินอีกต่อไป ไม่ได้กลัวอะไร แต่เบื่อการเดินทางข้ามวันข้ามคืนแบบยาวนาน แต่ยังยินดีเดินทางโดยเครื่องบินในระยะใกล้ๆ แบบพักค้างคืนไม่เกิน 2-3 คืน จึงหนีไม่พ้นประเทศที่แยกตัวมาจากผืนแผ่นดินใหญ่ และเป็นเมืองเอ็นเตอร์เทน (Entertain) ซึ่งย่อมต้องมีทุกอย่าง รวมทั้งอาหารที่ถูกปาก

ผมไม่เคยปกปิด ไม่ปฏิเสธว่าชอบไปพักผ่อนยังฮ่องกง (Hong Kong) มาเก๊า (Macau) ในเดือนที่อากาศกำลังเย็นพอสบายๆ ไม่มีฝน ไม่มีมรสุม ขณะที่ 2 ประเทศเขตปกครองพิเศษ ใช้เวลาเดินทางไม่มาก เสียค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายพอรับได้ ไม่แตกต่างกับบ้านเรามากนัก

ผมได้เดินทางจากกรุงเทพฯ สู่มาเก๊านอนพัก 1 คืนก่อนเดินทางโดยรถบัสจากมาเก๊าทางสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งเพิ่งก่อสร้างเสร็จเปิดให้ใช้ก่อนหน้านั้นไม่นานเท่าไร ที่เรียกว่าสะพาน “Hongkong- Zhuhai- Macau” (HKZMB) เชื่อมระหว่างเมืองสำคัญทางภาคใต้ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลของจีน ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีกับความยาวสะพาน 55 กิโลเมตร ไปสิ้นสุดทางฮ่องกง ฝั่งเกาลูนใกล้กับสนามบินฮ่องกง และองค์พระใหญ่ที่คนไทยเชื้อสายจีนนิยมไปไหว้กันนั่นเอง

ต่อรถไฟลงมาทางใต้ยังเกาะฮ่องกง เดินทอดน่องท่องเที่ยวและหาอาหารรับประทาน แล้วโดยสารเรือเฟอร์รี่ (Ferry) กลับมาเก๊าตอนกลางคืนซึ่งก็มีความสุขสบายพอสมควร

วันรุ่งขึ้นจะยังมีเวลาตระเวนมาเก๊า แวะเวียนไปสถานที่เที่ยว โรงแรมกาสิโนอันทันสมัยขนาดใหญ่ได้อีกทั้งวันก่อนกลับกรุงเทพฯ

 

รายงานว่าวันนี้ ฮ่องกง (Hong Kong) เปลี่ยนไปแล้วหลังการประท้วงและถูกปราบปราม พร้อมกับการระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) คนหนุ่ม-สาวตกงานเป็นเรือนแสน ธนาคารใหญ่ย้ายฐานการเงินไปประเทศสิงคโปร์ ออสเตรเลีย เศรษฐกิจเลวร้ายสุด ร้านค้า ร้านอาหาร ได้รับผลกระทบระหว่างการประท้วงเจ๊งระนาว รถใต้ดิน โรงแรม เศรษฐกิจไม่เหมือนเดิม ฮ่องกงแม้จะเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน แต่เป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย

มาเก๊า (Macau) ไม่มีเรื่องการเมือง ไม่มีการประท้วง แต่ได้รับผลจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ถึงไม่มากเหมือนประเทศอื่น แต่ก็ต้องปิดตัวเพื่อ Big Cleaning โดยเฉพาะโรงแรมกาสิโน (Hotel Casino) ขนาดใหญ่ ก็คงต้องตั้งคำถามว่าจะมีประชากรของประเทศไหนในโลก โดยเฉพาะแผ่นดินใหญ่ที่เดินทางเข้ามายังเมืองกาสิโนแห่งนี้

มีรายงานว่ากลุ่มโรงแรมกาสิโนเสียหาย 3.3 ล้านเหรียญ/สหรัฐ ระหว่างปิดตัว 15 วัน MGM Resorts แจ้งว่าเสียหายวันละ 1.5 ล้านเหรียญ/สหรัฐ แต่รายงานข่าวแจ้งว่าเครือข่ายเอ็มจีเอ็ม รีสอร์ต เลิกจ้างพนักงานเป็นหมื่นคน ส่วน Wynn Resorts เปิดเผยเช่นกันว่าเสียหายวันละ 2.5 ล้านเหรียญ/สหรัฐ

ไม่น่าแปลกใจกับตัวเลขขนาดนี้ ซึ่งคาดว่าจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำสำหรับประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ไม่แตกต่างไปจากประเทศไทย

ไวรัสโคโรนา (Covid-19) สร้างความเสียหายมหาศาลยับเยินทั่วโลก ยังไม่รู้ว่าวันไหนจะได้คืนกลับดังเดิม