จิตต์สุภา ฉิน : “อุปกรณ์แวร์เอเบิล” อาจเป็นตัวช่วยตรวจจับโควิด

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ถึงแม้ว่าข่าวเรื่อง COVID-19 จะซาหายไปจากหน้าฟีดโซเชียลมีเดียของเราไปเยอะ

แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังต้องรับมือกับจำนวนเคสผู้ป่วยติดเชื้อกันอยู่ไม่น้อย

และสำหรับประเทศที่มูฟออนไปกังวลเรื่องอื่นๆ กันแล้ว ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าเราจะไม่กลับมาตกอยู่ในสถานการณ์เดิมที่เราต้องเผชิญตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาอีก

นอกจากหลายๆ ประเทศจะเร่งมือคิดค้นวัคซีนกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยกำลังช่วยกันทำก็คือการลองศึกษาดูว่าอุปกรณ์บางอย่างที่เราพอจะมีใช้งานกันอยู่บ้างแล้ว

อย่างอุปกรณ์สวมใส่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสายรัดข้อมือหรือนาฬิกาสมาร์ตวอตช์ทั้งหลาย สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยรับมือกับโรคนี้ได้หรือเปล่า

 

ผลวิจัยชิ้นล่าสุดออกมาเผยโดยบริษัท Fitbit ซึ่งเป็นแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์แวร์เอเบิลเพื่อสุขภาพที่ Google เพิ่งจะซื้อกิจการไปเมื่อไม่นานมานี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Fitbit ประกาศขอความร่วมมือจากผู้ใช้งาน Fitbit ทั่วโลกเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันสร้างอัลกอริธึ่มที่จะสามารถใช้ในการตรวจจับโรค COVID-19 ก่อนจะเกิดอาการขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้งานในสหรัฐและแคนาดามากกว่า 100,000 คน และมีจำนวน 1,000 คนที่เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจแล้วว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

สิ่งที่ Fitbit มุ่งมั่นที่จะหาคำตอบให้ได้คือ อุปกรณ์ของ Fitbit ที่ผู้ใช้สวมใส่เป็นประจำทุกวันจะสามารถตรวจจับสัญญาณของโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือไม่

ผลลัพธ์ที่ค้นพบจากการศึกษาครั้งนี้ก็คือ อุปกรณ์ของ Fitbit เมื่อใช้ควบคู่กับอัลกอริธึ่มที่บริษัทคิดค้นขึ้นมา จะช่วยให้สามารถตรวจจับเคสผู้ป่วย COVID-19 ได้เกือบ 50% โดยจะตรวจจับได้หนึ่งวันก่อนที่คนคนนั้นจะแสดงอาการของโรคขึ้นมาด้วยซ้ำ และสามารถระบุได้ละเอียดถึง 70%

Fitbit บอกว่าสาเหตุที่การได้รู้ก่อนล่วงหน้าว่าตัวเองมีอาการของโรค COVID-19 นั้นมีความสำคัญตรงที่ว่าคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อแล้วเพราะยังไม่มีอาการก็จะไม่ระวังตัว และอาจจะแพร่เชื้อไวรัสให้กับคนอื่นๆ ได้ แต่หากได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้าแม้เพียงแค่วันเดียวก็จะสามารถไปขอรับการตรวจได้เร็วขึ้น กักตัวเองได้เร็วขึ้น

และจะเป็นการลดการแพร่ระบาดลงได้ในที่สุด

 

ส่วนข้อมูลที่ใช้ในการคาดการณ์ว่าผู้สวมใส่น่าจะติดโรคแล้วตั้งแต่ก่อนจะมีอาการของโรคขึ้นนั้น Fitbit จะวิเคราะห์จากรูปแบบการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจในช่วงหยุดพัก และอัตราการผันแปรของการเต้นของหัวใจ หรือ HRV

ซึ่งทั้งหมดนี้จะบ่งชี้ได้ว่าคนคนนั้นเข้าข่ายติดโรคแล้วหรือยัง โดยข้อมูลเหล่านี้เหมาะสมที่สุดที่จะเก็บมาในช่วงกลางคืนในตอนที่ร่างกายกำลังพักผ่อน

โดย Fitbit พบว่า อัตราการผันแปรของการเต้นของหัวใจมักจะลดลงในกลุ่มคนที่แสดงอาการของโรค ในขณะที่อัตราการเต้นของหัวใจขณะพักและอัตราการหายใจจะเพิ่มสูงขึ้น เมื่ออัตราทั้งหมดลงตัวตามรูปแบบที่ได้ค้นพบ ก็จะเป็นการคาดเดาได้ว่าคนคนนั้นจะเริ่มแสดงอาการป่วยในอีกไม่นาน ซึ่งอัตราทั้งหมดนี้จะแสดงให้เห็นชัดตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ก่อนผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรคเลยทีเดียว

ในการวิจัยครั้งเดียวกันนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ COVID-19 อีกหลายอย่าง อย่างเช่น การคาดการณ์ความรุนแรงของโรคในกลุ่มคนที่ติดเชื้อ พบว่า

คนที่มีอาการหายใจขาดห้วง และอาเจียน จะเป็นคนที่มีแนวโน้มจะอาการรุนแรงและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ในขณะที่อาการอย่างเจ็บคอ และปวดท้อง จะแสดงให้เห็นว่าการนอนพักรักษาตัวที่บ้านอาจจะเพียงพอแล้วก็ได้

ซึ่งการศึกษาคราวนี้ก็ได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับที่หน่วยงานอื่นๆ เคยออกมาประกาศว่า ปัจจัยอย่างการมีอายุมาก เพศชาย และการมีค่า BMI ที่สูงกว่าคนอื่นจะเพิ่มความเป็นไปได้ของการมีอาการที่รุนแรงขึ้น

 

Fitbit พบว่าอาการที่พบเห็นได้มากที่สุดในหมู่คนที่ติดโรค COVID-19 คือ อาการอ่อนล้า ตามมาด้วยปวดหัว ปวดตัว สูญเสียการได้กลิ่นและรับรส และไอ ซึ่งทั้งหมดนี้มีความเป็นไปได้มากกว่าอาการไข้ ดังนั้น จึงแปลว่าการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเฉยๆ ไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ที่เพียงพอในการที่จะระบุว่าใครเป็นหรือไม่เป็นโรค

สำหรับผู้ป่วยเคสที่ไม่รุนแรงมากนักคือสามารถพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้มักจะใช้เวลาเฉลี่ยในการอยู่กับโรคประมาณ 8 วัน ในขณะที่กลุ่มที่มีอาการรุนแรงกว่าอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 24 วันเลยทีเดียว

การศึกษาครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นว่าร่างกายของเราส่งสัญญาณบอกถึงความผิดปกติตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดอาการของโรคที่สามารถสังเกตและมองเห็นได้เสียอีก

ดังนั้น การมีเครื่องมืออะไรบางอย่างที่คอยตรวจจับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็จะทำให้เรารับมือกับโรคระบาดได้เร็วขึ้น

หลังจากนี้ไป Fitbit ก็จะทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในการศึกษาให้ลึกลงและตัดสินใจว่าจะนำผลการศึกษามาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อทุกคนอย่างไรบ้าง

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือแม้ว่าอุปกรณ์สวมใส่ได้ที่เก็บข้อมูลของร่างกายเราได้อย่างละเอียดอาจจะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถตรวจจับโรคได้เร็วขึ้น แต่การจะนำไปใช้เพื่อรับมือกับการระบาดครั้งใหญ่ หรือที่เรียกว่า pandemic นั้นไม่น่าจะใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนั่นก็แปลว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะต้องถูกนำไปแจกจ่ายให้กับทุกคน ซึ่งอุปกรณ์สวมใส่ได้ประเภทที่เก็บข้อมูลต่างๆ ที่ว่ามาได้ก็ไม่ได้ราคาถูก และไม่ใช่ว่าคนในทุกกลุ่มรายได้จะสามารถเข้าถึงได้

อีกอุปสรรคที่สำคัญคือ อุปกรณ์อย่างแวร์เอเบิลแบบนี้มักจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในภาษาอังกฤษ ทั้งในเมนูอุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นที่ใช้ร่วมกัน ดังนั้น หากไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักก็จะเกิดกำแพงทางภาษาขึ้น

ประกอบกับอุปกรณ์เหล่านี้มักจะไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยการใช้ข้อมูลประชากรที่มีฐานกว้างเพียงพอด้วย

และเมื่อมีข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่ได้กล่าวมา ก็น่าจะแปลว่าต่อให้อุปกรณ์สวมใส่ได้เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการตรวจจับโรคตั้งแต่เนิ่นๆ คนจำนวนมากก็น่าจะยังไม่ยอมรับ และไม่ยอมใช้เทคโนโลยีนี้อยู่ดี ซึ่งในที่สุดก็จะต้องมีการคิดค้นกันต่อไปว่าถ้าหากไม่ใช่แวร์เอเบิลในรูปแบบนี้ แล้วจะต้องเป็นรูปแบบไหนถึงจะตอบโจทย์มากที่สุด

และที่สำคัญก็คือ จะต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนบนโลกสามารถเข้าถึงได้โดยเท่าเทียมกันด้วย