วิเคราะห์ : มองโลกด้วยความเป็นห่วง หลังประชากรสัตว์โลกลดฮวบ 68%

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

รายงานสิ่งแวดล้อมโลก ฉบับล่าสุดปี 2563 ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF (World Wildlife Fund) เปิดข้อมูลช่วงระหว่างปี 2514-2559 จำนวนประชากรสัตว์นานาชนิด ทั้งนก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลายลดลง 68 เปอร์เซ็นต์

ระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อมเสื่อมสลายลงพร้อมกับการเกิดโรคระบาดใหม่ๆ เช่น โควิด-19

สาเหตุหลักมาจากจำนวนประชากรโลกพุ่งขึ้น การบุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ ป่าชายเลนและทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์

ในสายตาของ ดร.แอนดรูว์ส เทอร์รี่ ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ของสมาคมสัตว์วิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London) หน่วยงานที่ให้ข้อมูลกับ WWF มองว่า การเสื่อมถอยของสภาพธรรมชาติเฉลี่ยอยู่ที่ 68% ถือเป็นตัวเลขวิกฤต แสดงให้เห็นชัดเจนว่ากิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ส่งผลโดยตรงถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

“หากมนุษย์ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สัตว์ป่าหลายสายพันธุ์จะถูกคุกคามจนสูญพันธุ์ และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม”

ดร.เทอร์รี่ระบุ

 

ข้อมูลในรายงานสิ่งแวดล้อมโลก หรือ The Living Planet Report 2020 รวบรวมมาจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก 125 คน เสนอภาพรวมของสถานะปัจจุบันเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของโลก พิจารณาจากความหลากหลายทางชีวภาพ ปริมาณประชากรสัตว์ป่าและการกระจายตัว

รายงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงสาเหตุหลักที่ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ตกอยู่ในสภาวะอันตราย ส่วนหนึ่งเกิดจากการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย อาทิ การทำลายป่า เพื่อนำมาปลูกพืชที่เป็นอาหารสัตว์ การบริโภคของมนุษย์

เซอร์โรเบิร์ต วัตสัน นักวิจัยแห่งศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศทินดอลล์ ประเทศอังกฤษ บันทึกไว้ในรายงานฉบับดังกล่าวว่า ตัวขับเคลื่อนทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพสูญเสียอย่างใหญ่หลวงในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพผืนป่าบริสุทธิ์มาเป็นแหล่งเพาะปลูกเกษตรกรรม การจับปลาในทะเลอย่างไม่บันยะบันยังจนเกินกว่าธรรมชาติใต้ท้องทะเลจะฟื้นฟูกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ทัน

“ตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา ประชากรโลกมีจำนวนมากเป็นทวีคูณ เศรษฐกิจโลกเติบโต 4 เท่า และการค้าโลกเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว ปัจจัยเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ”

ประกอบกับสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกทำให้ระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติแปรปรวน อุณหภูมิบนผิวดินและความร้อนแล้งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า

อุณหภูมิใต้ท้องทะเลที่ร้อนขึ้น กระทบกับแหล่งปะการัง เกิดสภาวะฟอกขาว กลายเป็นพื้นที่ป่าช้าใต้ทะเลเพราะบรรดาฝูงปลา และสัตว์ท้องทะเลพากันย้ายถิ่นหนีตาย

 

ผลสำรวจจำนวนประชากรสัตว์ป่ากว่า 21,000 ตัว มากกว่า 4,000 สายพันธุ์ของสมาคมสัตว์วิทยาแห่งลอนดอนพบว่า ประชากรสัตว์ที่พบในแหล่งน้ำจืดลดลงกว่า 84% คิดเป็นค่าเฉลี่ยในการลดลงต่อปีที่ 4%

ตัวอย่างหนึ่งเห็นได้ชัด คือประชากรปลาสเตอร์เจียนในแม่น้ำแยงซี ประเทศจีนลดลงกว่า 97% ระหว่างปี 2545-2558 สาเหตุหนึ่งมาจากการสร้างเขื่อนส่งผลให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง เส้นทางน้ำเปลี่ยนทิศ

ในละตินอเมริกา และบริเวณทะเลแคริบเบียน ผู้คนพากันขย่มธรรมชาติอย่างสนุกมือทั้งจับปลามากเกินไป โค่นป่าอย่างมโหฬาร สัตว์ป่า นก บรรดาสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรธรรมชาติลดลง 65%

ที่ยุโรปและเอเชียตอนกลาง จำนวนสัตว์ป่า นกและสัตว์เลื้อยคลานลดลง 24% ทวีปอเมริกาเหนือ ประชากรสัตว์หดหายเฉลี่ย 33%

ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์วิทยาทำนายว่า โลกใบนี้กำลังเข้าสู่ยุคการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 เพราะมีหลักฐานชี้ชัดว่ากิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในปัจจุบันทำให้สิ่งมีชีวิตราว 1 ล้านสายพันธุ์เผชิญความเสี่ยงสูญพันธุ์

การทำลายป่าและเอาผืนป่ามาเป็นแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่นั้นทำลายวงจรธรรมชาติอย่างมหาศาล

พื้นที่ป่าราว 75% ถูกมนุษย์โค่นทำลายทิ้งแปรเป็นไร่นาเรือกสวน เป็นโรงงาน หมู่บ้านชุมชน

 

ช่วงเวลา 200 ปี นับจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าโกงกาง ป่าชายเลนเจอน้ำมือมนุษย์บุกรุกจนพังราบพินาศไปกว่า 90%

สัตว์ป่าที่กำลังตกอยู่ในสภาวะอันตรายใกล้สูญพันธุ์ได้แก่ กอริลล่าที่อาศัยในพื้นที่ราบต่ำ อย่างเช่นที่อุทยานแห่งชาติคาฮูซี-บิยา (Kahuzi-Biega) สาธารณรัฐคองโก ประชากรลดลงกว่า 87% ตั้งแต่ปี 2538-2558 เป็นเพราะพฤติการณ์ของกลุ่มค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

จำนวนนกแก้วแอฟริกันเกรย์อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศกานา ประชากรลดลงมากกว่า 99% จากผลสำรวจตั้งแต่ปี 2545-2557

สาเหตุหลักจากการจับนกสายพันธุ์หายากนำไปขายในตลาดค้านกเถื่อน และพื้นที่ป่าถูกทำลาย

“มาร์โค แลมเบอตินี่” ผู้อำนวยการทั่วไปขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล บอกว่า รายงานสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้ เน้นย้ำให้เห็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ ก่อให้เกิดผลกระทบมากมายมหาศาล ไม่ใช่เพียงแค่เพียงชีวิตของสัตว์ป่าเท่านั้น หากภัยร้ายได้คืบคลานมาถึงสุขภาพของมนุษย์ และยังส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิตของทุกคน

“เราไม่อาจมองข้ามเรื่องราวเหล่านี้ไปได้ การเสื่อมถอยลงของสภาพธรรมชาติและสัตว์ป่าหลายสายพันธุ์เป็นตัวชี้วัดที่มีนัยยะสำคัญที่บอกได้ว่าโลกของเรามีสุขภาวะที่ไม่ดี และระบบนิเวศน์กำลังจะล้มเหลว ตั้งแต่ปลาในมหาสมุทรและแหล่งน้ำจืด จนถึงผึ้งตัวจิ๋วๆ ที่เป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างระบบเกษตรกรรมที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ การลดลงของประชากรสัตว์ป่าที่ส่งผลไปถึงระบบความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ และความเป็นอยู่ของประชากรโลกนับพันล้านคน”

ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ยังชี้อีกว่า ในขณะที่ทั่วโลกกำลังอยู่ท่ามกลางการระบาดของโรคสายพันธุ์ใหม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะสร้างความร่วมมือกันในระดับโลกเพื่อเป้าหมายในการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของการสูญเสียระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพเสียใหม่

“เราต้องหยุดยั้งการเสื่อมถอยของธรรมชาติให้ได้ภายในทศวรรษนี้ รวมถึงปกป้องสุขภาพของมนุษย์ เพราะความอยู่รอดของเราในอนาคตนั้น ขึ้นอยู่กับวิถีการใช้ชีวิตในปัจจุบัน” แลมเบอตินี่เสนอทางออก