ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ชุมนุม 19 กันยา : เปลี่ยนผ่านประเทศสู่อวสานระบอบประยุทธ์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

หลังจากม็อบประชาชนปลดแอกก่อตัวขึ้นในวันที่ 18 กรกฎาคม ประเทศไทยก็เคลื่อนตัวเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่มีใครเคยเห็นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากม็อบจะนำไปสู่การขยายตัวของการเมืองมวลชนที่กว้างขวางและลงลึกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ประเด็นของม็อบยิ่งนานก็ยิ่งทะลุเพดาน

คนบางกลุ่มอ้างว่าประเด็นของม็อบปลดแอกเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พูดกัน แต่คำว่า “ใครๆ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงชาวบ้านที่เป็นประชาชนคนธรรมดาแน่ๆ เพราะหากม็อบพูดเรื่องที่ทุกคนพูดกันจริงๆ ก็ไม่มีเหตุผลที่ธรรมศาสตร์จะห้ามชุมนุมและรัฐบาลจะวางแผนสกัดม็อบทุกวิถีทางเลย

ตรงข้ามกับม็อบใต้อุปถัมภ์ชนชั้นสูงอย่างพันธมิตรและ กปปส. ซึ่งแกนนำด่ารัฐบาลที่ประชาชนเลือกด้วยทุกข้อหาที่ชนชั้นสูงต้องการ ม็อบปลดแอกเป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ จนทุกเรื่องที่ม็อบพูดนั้นแทบไม่เคยปรากฎในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสิบข้อเสนอสถาบันหรือเรื่องอี่นก็ตาม

นักศึกษาธรรมศาสตร์พูดตลอดว่าสิบข้อเสนอเกิดจากความต้องการยกระดับการพูดให้ทะลุเพดาน ตัวข้อเสนอจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดในสังคมโดยเปิดเผยมาก่อน และต่อให้เรื่องใต้เพดานอย่างหยุดคุกคามประชาชนหรือแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องพูดได้ รัฐบาลก็ไม่เคยยอมรับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

หัวหน้าพรรคก้าวไกลเคยอภิปรายในสภาว่าม็อบปลดแอกสะท้อน “ความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจ” ขบวนการปลดแอกจึงเปล่งเสียงที่มีอยู่จริง แต่ไม่มีใครฟัง จนแทบไม่มีใครได้ยินไปด้วย หรือพูดอีกแบบคือพลังของขบวนการปลดแอกอยู่ที่การเป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มที่ถูกกดทับในสังคม

ปลดแอกเป็นขบวนการซึ่งไม่มีแกนนำ ความเป็นผู้นำจึงเกิดจากการริเริ่มกิจกรรมจนมีผู้สนับสนุนมากกว่าจะเป็นการชี้นิ้วสั่งแบบสนธิลิ้ม, จำลอง หรือสุเทพ โดยบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์ของขบวน การคือลูกหลานคนธรรมดาที่บางคนต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาด้วยซ้ำไป

ถ้ายอมรับความจริงว่าม็อบพันธมิตรและกปปส.คือม็อบอำมาตย์ หรือไพร่ที่มีอำมาตย์อยู่เบื้องหลังจนเสร็จม็อบแล้วได้เป็น ส.ว., รัฐมนตรี, กรรมการองค์กรอิสระ, คณบดีในมหาวิทยาลัยที่อธิการบดีเป่านกหวีด ฯลฯ ม็อบปลดแอกก็คือม็อบไพร่ที่เสร็จม็อบไม่มีใครได้อะไรมากกว่าโดนยัดคดี

มองในแง่นี้ นักเรียนนักศึกษาในม็อบปลดแอกมีสถานะทางประวัติศาสตร์คล้ายคนเสื้อแดง จึงไม่แปลกที่ในที่สุดแล้วสองม็อบจะเกิดภราดรภาพจนคนเสื้อแดงร่วมม็อบปลดแอกอย่างกว้างขวาง ถึงแม้พรรคเพื่อไทยและ นปช.จะไม่มีท่าทีผลักดันให้มวลชนร่วมชุมนุมกับกลุ่มปลดแอกเลยก็ตาม

ขณะที่คนเสื้อแดงประกาศว่าตัวเองเป็นไพร่ซึ่งถูกอำมาตย์ปฏิบัติแบบสองมาตรฐานทางการเมือง ม็อบปลดแอกคือไพร่ซึ่งถูกรัฐหรือกลไกรัฐ “กดทับ” ตั้งแต่เรื่องการเมืองถึงเรื่องอื่น ตัวอย่างเช่นอัตลักษณ์ทางเพศ, ประชาชนมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้, สมัชชาคนจน หรือแม้แต่นักเรียนมัธยม

พลเอกประยุทธ์พูดหลายครั้งว่าไม่กังวลที่เกิดการชุมนุมของกลุ่มปลดแอกและกลุ่มอื่นๆ แต่วิธีที่รัฐบาลจัดการกับคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ยัดคดี, เปิดทำเนียบแถลงข่าวด่า, รัฐมนตรีอภิปรายเท็จกลางสภา, ส่งตำรวจขู่ตามบ้าน, ใช้ผู้ว่าสั่งครูคุมนักเรียน ฯลฯ ชี้ว่ารัฐบาลกังวลประชาชนกลุ่มนี้มากขึ้นทุกวัน

แม้สองเดือนที่ผ่านมาจะชี้ว่ารัฐบาลประสบผลสำเร็จในการยัดคดีประชาชนจนถึงเด็กมัธยม แต่การขยายตัวของการชุมนุมและแสดงออกรูปแบบต่างๆ ก็สะท้อนว่าผลอย่างเดียวของการยัดคดีคือทำให้นักเรียน, นักศึกษา และประชาชนเห็นว่าต้องชุมนุมมากขึ้นเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

รัฐบาลรู้อยู่แก่ใจว่ากลุ่มปลดแอกไม่มีทหารหรือ “อำมาตย์” อยู่เบื้องหลังอย่างพันธมิตรและ กปปส. ส่วนนักเรียนนักศึกษาที่ถูกตั้งฉายาเป็น “แกนนำ” ก็คือลูกหลานคนธรรมดา การชุมนุมที่ขยายตัวขึ้นท่ามกลางการคุกคามอย่างหนักของรัฐจึงสะท้อนว่าคนมหาศาลเห็นว่าการพูดทะลุเพดานไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

เครือข่ายพลเอกประยุทธ์อย่าง ผบ.ทบ.และสื่อกลุ่มซึ่งรับงานเผด็จการตั้งแต่รัฐประหาร 2549 จนถึง 2557 พยายามใส่ร้ายว่ากลุ่มปลดแอกคือนักเรียนศึกษาโง่ๆ ที่ถูกล้างสมอง, ล้มสถาบัน และรับจ้างล้มรัฐบาล แต่ชะตากรรมของข้อหานี้ก็เป็นได้แค่ข้อความส่งต่อในไลน์คนแก่หรือเพจที่ไม่มีใครฟัง

ด้วยข้อเท็จจริงที่กลุ่มปลดแอกมุ่งปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคม ยุทธการปั้นน้ำเป็นตัวของรัฐบาลจึงล้มเหลวในการโจมตีกลุ่มปลดแอกแทบทั้งหมด เพราะแกนของข้อเรียกร้องกลุ่มอย่างการร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วคืนอำนาจให้ประชาชนนั้นไม่อาจเป็นเรื่องของคนถูกล้างสมองได้เลย

ขณะที่รัฐบาลโจมตีและใช้ตำรวจทหารปั่นข่าวด้อยค่ากลุ่มปลดแอกว่ามี “ท่อน้ำเลี้ยง” เหมือนที่เคยให้ร้ายคนเสื้อแดงและ นปช.ก่อนที่จะเข่นฆ่าประชาชนอย่างอำมหิตในปี 2553 “มวลชน” ที่ร่วมสนับสนุนกลุ่มปลดแอกอย่างกว้างขวางทางการเงินทำให้ข้อหานี้ถูกตีตกตั้งแต่วินาทีแรกในทันที

ความหมกมุ่นเรื่องทักษิณทำให้ชนชั้นนำไทยวนเวียนกับการกวาดล้างฝ่ายทักษิณจนเกิดรัฐประหาร 2549, การปราบปรามคนเสื้อแดงปี 2553 และรัฐประหาร คสช. แต่ด้วยการรวบอำนาจอย่างบ้างคลั่งของพล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2557 คนที่ไม่ใช่พวกทักษิณก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน

ถ้าการเมืองไทยช่วง 2548-2557 มีแกนกลางอยู่ที่ “เอาทักษิณ” หรือ “ไม่เอาทักษิณ” พฤติกรรมของพลเอกประยุทธ์ก็ทำให้แกนกลางของการเมืองไทยหลังปี 2557 เปลี่ยนเป็นเรื่อง “เอาคสช.” หรือ “ไม่เอา คสช.” เพราะในที่สุดแล้วการดำรงอยู่ของพลเอกประยุทธ์สร้างปัญหาให้กับคนทุกคน

ขณะที่ชนชั้นนำทำให้การเมืองไทยก่อนปี 2557 ถูกครอบงำด้วยเรื่องตัวบุคคลว่าจะไม่ให้ “พวกทักษิณ” เป็นนายกจนเกิดการต่อสู้เพื่อให้ “พวกทักษิณ” เป็นนายก การเมืองไทยหลังปี 2557 กลับเคลื่อนจากเรื่องนี้สู่การสร้างรัฐธรรมนูญหรือ “ระบบ” ที่ไม่ให้คนแบบประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อศูนย์กลางของการต่อสู้ทางการเมืองไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งผู้นำการเมือง โอกาสที่รัฐบาลจะยัดเยียด ว่ากลุ่มปลดแอกมี “ท่อน้ำเลี้ยง” เพื่อตำแหน่งการเมืองก็เป็นเรื่องเหลวไหลไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่เต็มไปด้วยข่าวแย่งตำแหน่งและกอบโกยผลประโยชน์ตลอดเวลา

ตรงกันข้ามกับรัฐบาลที่สร้างเครือข่ายทางการเมืองด้วยวิธีจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี กลุ่มปลดแอกกลับสร้างเครือข่ายจาก “ความรู้สึกแห่งยุคสมัย” ซึ่งคนแต่ละกลุ่มพัฒนาขึ้นจากการเผชิญความโหลยโท่ยของประเทศภายใต้การปกครองของเครือข่ายประยุทธ์ซึ่งกระจายตัวไปทุกจุดของสังคม

ผู้ใช้แรงงานนับล้านทั่วประเทศไม่ชอบแน่ที่พลเอกประยุทธ์แทบไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเกือบหกปี แต่กระทั่ง “นายทุน” ก็คงไม่พอใจที่พลเอกประยุทธ์บริหารประเทศจนเศรษฐกิจฝืดและสภาพคล่องต่ำขนาดนี้ เช่นเดียวกับ “ผู้ประกอบการ” หรือ SMEs ที่พบว่าประเทศตอนนี้แทบไม่มีกำลังซื้อเลย

คนพุทธธรรมกายไม่มีทางลืมที่พลเอกประยุทธ์บุกวัดและปิดโทรทัศน์ของวัดจนปัจจุบัน เช่นเดียวกับมุสลิมมลายูก็ไม่พอใจที่พลเอกประยุทธ์ใช้ทหารคุมสามจังหวัดจนเกิดการละเมิดสิทธิที่ประชาชนเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ผลก็คือทั้งสองกลุ่มซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันกลับไม่พอใจประยุทธ์เหมือนกัน

“เจ้าสัว” เป็นคำที่มีความหมายลบตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ตั้งตัวเป็นนายกแล้วเกิดนโยบายเศรษฐกิจซึ่งเอื้อประโยชน์แก่คนที่เป็น “เครือข่าย” เดียวกัน และความรู้สึกซึ่งคนแต่ละกลุ่มมีต่อพลเอกประยุทธ์ก็คล้ายกับเรื่องนี้ในแง่ที่ไม่มีใครได้อะไรเลย ถ้าไม่ใช่คนในเครือข่ายพลเอกประยุทธ์โดยตรง

พลังของประชาชนปลดแอกเกิดจากการมีมวลชนที่กว้างขวางจากคนทุกกลุ่มที่ถูกกดทับตลอดหกปีใต้ระบอบเผด็จการ วิธีที่พลเอกประยุทธ์ปกครองด้วยระบบเครือข่ายทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพลเอกประยุทธ์ไปแทบทั้งหมด หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่พวกประยุทธ์โดยตรง

หกปีของพลเอกประยุทธ์ทำให้คนทั้งประเทศมี “สำนึกแห่งยุคสมัย” ว่าคนแบบนี้ไม่ควรเป็นนายกต่อไป แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ “ตาสว่าง” ว่าคนแบบนี้มีอำนาจเพราะ “เครือข่าย” ทำให้เกิดกติกาที่เหยียบย่ำคนในประเทศทั้งหมด จึงจำเป็นต้องรื้อรากฐานของเครือข่ายเพื่อยุติปัญหานี้โดยสิ้นเชิง

ม็อบประชาชนปลดแอกคือย่างก้าวสำคัญที่คนจำนวนมากต่อต้านการปกครองแบบเครือข่ายซึ่งกดทับอย่างอยุติธรรม ประเทศไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่ชนชั้นนำยังไม่มีวี่แววของการเปลี่ยนแปลงที่สันติ ตราบใดที่ผู้มีอำนาจยังไม่สำนึกว่าวิธีปกครองแบบนี้ไม่มีทางอยู่ได้ในระยะยาว

เปลี่ยนผ่านประเทศสู่อวสานของระบอบประยุทธ์คือทางเลือกเฉพาะหน้าที่ดีที่สุดสำหรับประเทศในตอนนี้จริงๆ