ต่างประเทศ : “โคเรียน เวฟ” ฝ่ากระแสโควิด

ในช่วงเวลาที่ทั้งโลกต่างกำลังฟันฝ่าวิกฤตสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีการใช้ชีวิตของพลเมืองโลกเราในแทบจะทุกด้าน จนต้องปรับตัวรับกับภาวะ “นิวนอร์มอล” หรือความปกติใหม่ ที่รูปแบบการดำเนินชีวิตแตกต่างไปจากในอดีตที่ผ่านมานั้น

นอกเหนือจากที่เรากำลังรอลุ้นให้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้สำเร็จโดยเร็วเพื่อจะได้มีการนำไปแจกจ่ายป้องกันให้กับชาวโลกได้อย่างทั่วถึงกันแล้ว

ในประเด็นเศรษฐกิจปากท้องเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ทุกคนต่างลุ้นกันสุดตัวให้ฟื้นคืนกลับมาโดยเร็วจากที่ทรุดหนักลงเพราะพิษภัยโควิด-19

ซึ่งทำให้เราเห็นภาคธุรกิจจำนวนมากต้องพากันปิดกิจการไป และแรงงานอีกมากมายหลายล้านคนต้องกลายเป็นคนตกงานโดยไม่ทันตั้งตัว

ในท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนที่ทรุดหนักจนน่าหดหู่ซึ่งมีออกมา แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานการศึกษาที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เผยแพร่ออกมาที่น่าจะทำให้ดินแดนโสมใต้พอจะใจชื้นขึ้นมาบ้าง

 

เป็นรายงานการศึกษาของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ที่พบว่า ซิงเกิลเพลง “Dynamite” ผลงานเพลงล่าสุดของวง “บีทีเอส” ศิลปินบอยแบนด์ยอดนิยม แห่งค่าย “บิ๊กฮิต” ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการขึ้นอันดับหนึ่งบนชาร์ต Billboard Hot 100 ในอเมริกา อันเป็นชาร์ตเพลงระดับโลกได้สำเร็จ

และมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ยังสร้างสถิติมียอดชมบนยูทูบภายใน 24 ชั่วโมงแรกสูงสุดถึง 101.1 ล้านวิวด้วยนั้น

อาจจะช่วยทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เป็นมูลค่ามากถึงกว่า 1.7 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 43,400 ล้านบาท

และจะทำให้เกิดการจ้างงานใหม่เกือบ 8,000 ตำแหน่งได้

นอกจากนี้ ยังจะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในตลาดจากยอดขายตรงที่มีมูลค่ามากกว่า 400,000 ล้านวอน

และจะนำไปสู่ยอดจำหน่ายเครื่องสำอางมูลค่าเกือบ 600,000 ล้านวอน อาหารและเครื่องดื่มอีกเกือบ 180,000 ล้านวอน

ตัวเลขประมาณการข้างต้นมาจากการวิเคราะห์ยอดขายจากค่ายต้นสังกัดของวงบีทีเอส ตลอดจนข้อมูลทางสถิติของกรมศุลกากรเกาหลีใต้ ธนาคารเกาหลี และข้อมูลวิเคราะห์แนวโน้มคำค้นหาทางกูเกิล

ขณะที่ในปี 2019 การจัดแสดงคอนเสิร์ต “เลิฟ ยัวร์เซลฟ์” ของวงบีทีเอส จำนวน 3 ครั้งในกรุงโซล ซึ่งดึงดูดแฟนเพลงมาเข้าชมได้ 130,000 คน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกาหลีใต้ได้ถึงเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หรือราว 31,000 ล้านบาท

 

แม้ในปีนี้เหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจทำให้ทุกอย่างแทบจะหยุดชะงักไปหมด ทั้งการเดินทาง งานแสดงคอนเสิร์ต และงานแฟนมีตติ้งของบรรดาศิลปินต่างๆ

แต่นั่นไม่อาจหยุดยั้งกระแสความนิยมที่มีเพิ่มขึ้นของศิลปินเพลงเคป๊อปและภาพยนตร์ซีรี่ส์เกาหลี ที่เป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่สำคัญและสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับเกาหลีใต้ไปได้

โดยเพลงเคป๊อปและภาพยนตร์ซีรี่ส์เกาหลี ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของ “โคเรียน เวฟ” กระแสวัฒนธรรมเกาหลี ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของเกาหลีใต้ในการแผ่ขยายอิทธิพลของตนเองไปทั่วภูมิภาคเอเชียและโลกที่ดำเนินมานานกว่า 2 ทศวรรษ

จนประสบผลอย่างที่เราได้เห็นความสำเร็จของวงบีทีเอส และวงแบล๊กพิงก์ เกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีสุดฮอตในเวทีระดับโลกมาแล้ว

แม้จะเผชิญกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่หลายคนมองว่าในวิกฤตยังมีโอกาสให้เห็นอยู่สำหรับโคเรียน เวฟ!

 

A man walks past commercial posters showing K-pop group BTS members outside a duty free shop in Seoul on September 1, 2020. – K-pop sensation BTS has become the first all-South Korean act to rule the top US singles chart, industry tracker Billboard announced on August 31, with their English-language “Dynamite” hitting number one. (Photo by Jung Yeon-je / AFP)

คิม ฮุน ซิก นักวิจารณ์ทางด้านป๊อปคัลเจอร์ในกรุงโซลมองว่า เหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เปิดประตูโอกาสใหม่ให้กับโคเรียน เวฟ ในการแผ่ขยายอิทธิพลให้เติบโตต่อไปได้

โดยมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสำคัญ ซึ่งมีการทำให้เห็นแล้วอย่างเอสเอ็ม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ 1 ใน 3 ค่ายเพลงยักษ์ของเกาหลีใต้ ที่จับมือกับบริษัทเอสเค เทเลคอม ผู้ให้บริการโทรคมนาคมไร้สายรายใหญ่ ซึ่งนำเอาเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) มาใช้ในการจัดแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินส่งตรงแบบไลฟ์สดถึงห้องนั่งเล่นที่บ้านของบรรดาแฟนเพลง

หรือจะเป็นเทคโนโลยีเสมือนจริงแบบ 3 มิติ หรือเอ็มอาร์ ที่เอสเอ็ม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ นำมาใช้ในงานคอนเสิร์ตไลฟ์สดของวงซูเปอร์จูเนียร์ ให้แฟนเพลงทั่วโลกได้ชมก่อนหน้านี้

จอน จิน ซู หัวหน้าฝ่ายกลุ่มธุรกิจบริการ 5GX ของเอสเค เทเลคอม บอกว่า แม้ศิลปินจะไม่ได้อยู่บนเวที แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเหล่านี้จะทำให้เห็นเหมือนว่าศิลปินมาอยู่ต่อหน้าเราจริงๆ

ขณะที่จอห์น ฮัน หนึ่งในทีมธุรกิจของซีเจ อีเอ็นเอ็ม บริษัทธุรกิจบันเทิง บอกว่าปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิงที่เป็นการแสดงสด โดยเฉพาะวงการเคป๊อป ที่จะต้องมีการปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกันระหว่างแฟนเพลงกับศิลปิน

ทว่าในความยากลำบากนี้ยังมีโอกาสอยู่ที่มาพร้อมกับไอเดียและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นที่เป็นการเชื่อมต่อแฟนเพลงและศิลปินให้ถึงกันได้ผ่านโลกเสมือนจริง

นอกจากนี้ กระแสวัฒนธรรมโคเรียน เวฟ จะยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ประกาศอัดฉีดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าเพิ่มขึ้นถึง 43 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่า 585 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งของงบประมาณก้อนนี้จะถูกอัดฉีดเข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ เพื่อให้ขับเคลื่อนกระแสโคเรียน เวฟได้อย่างต่อเนื่องต่อไป