ในประเทศ : “บิ๊กแดง – ณรัชต์” จาก ผบ.ทบ.-อธิบดีกรมราชทัณฑ์ สู่ตำแหน่ง “รองเลขาธิการพระราชวัง”

“บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. และ “ดร.เอ” พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโอนจากข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือน เป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นพิเศษเฉพาะรายในตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง ระดับ 11

สำหรับ พล.อ.อภิรัชต์ (ตท.20-จปร.31) ถูกจับตาถึงบทบาทหลังเกษียณ 30 กันยายนนี้มาโดยตลอด ว่าจะไปดำรงตำแหน่งใด

เพราะที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ถูกมองว่าจะเป็นนายกฯ คนต่อไป โดยกระแสมีตั้งแต่ปลายปี 2562 เริ่มจาก “วิสาร เตชะธีราวัฒน์” ส.ส.เพื่อไทย ที่กล่าวกลางสภาว่า นายกฯ คนต่อไปคือ ผบ.ทบ. รวมทั้ง “พรรณิการ์ วานิช” ขณะเป็น ส.ส.อนาคตใหม่ กล่าวว่า หมดลุงตู่ เขาเตรียมบิ๊กแดงไว้

ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ต้องออกมาสยบกระแส ย้ำ 2 เหตุที่ทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกฯ 1.ตนยังรับราชการอยู่ 2.ตนเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ-ปลัดกลาโหม ตามที่รัฐธรรมนูญระบุต้องเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี

ส่วนอนาคตจะเป็นนักการเมืองหรือไม่ พล.อ.อภิรัชต์ปฏิเสธว่า “ผมเป็นเพื่อนกับนักการเมืองดีกว่า ผมไม่เล่นการเมือง ผมไม่เล่นกับนักการเมือง”

ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์อยู่ท่ามกลางกระแสข่าวรัฐประหาร ในห้วง 1 เดือนก่อนเกษียณ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ระอุขึ้นเรื่อยๆ ในการยกระดับการชุมนุม 19 กันยายนนี้ ซึ่งเพดานข้อเรียกร้องได้ยกสูงขึ้นเป็นที่มาของ 1 ความฝัน และ 10 ข้อปฏิรูปสถาบัน ยิ่งทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ถูกจับตาจะมีท่าทีอย่างไร

ทว่า พล.อ.อภิรัชต์กลับนับวันรอเกษียณจากเก้าอี้ ผบ.ทบ.แทน

แน่นอนว่า พล.อ.อภิรัชต์รู้อยู่แล้วว่ามีภารกิจใหม่รออยู่

 

ย้อนกลับไปกรกฎาคม 2563 มีกระแสข่าวถึง พล.อ.อภิรัชต์ ถึงการต่ออายุราชการ ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ต้องออกมาปฏิเสธ ย้ำว่าตนจะเกษียณ 30 กันยายนนี้ เตรียมส่งมอบธงให้กับ ผบ.ทบ.คนใหม่ รวมทั้งเซ็ตซีโร่ตัวเองหลังเกษียณ โดยให้ติดตามว่าตนจะทำอะไร

ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ถือเป็น ผบ.ทบ.คนแรกที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) และเป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

นอกจากนี้ พล.อ.อภิรัชต์ยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีที่ พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.ทบ. เป็นที่พูดถึงอย่างมาก โดยเฉพาะการออกมาตอบโต้ทางการเมือง เช่น ซ้ายจัดดัดจริต ฮ่องเต้ซินโดรม หนักแผ่นดิน เป็นต้น

โดยเฉพาะการจัดเวทีแผ่นดินของเราในมุมมองฝ่ายความมั่นคง ในการชี้ให้เห็นถึงสภาวะสงครามลูกผสม พร้อมกล่าวถึงพวกคอมมิวนิสต์เก่า สมคบกลุ่มซ้ายจัด ไร้จรรยาบรรณ ล้มสถาบัน สร้างโฆษณาชวนเชื่อ แสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว

หากย้อนกลับไป 10 ปีก่อน พล.อ.อภิรัชต์ขณะเป็นผู้การ ร.11 รอ. ก็ติดแบล๊กลิสต์คนเสื้อแดง โดยเฉพาะปฏิบัติการยึดคืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคม จ.ปทุมธานี

ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ยังได้คุย ว.5 กับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ช่วงต้นเดือนกันยายน 2562 โดยเรื่องถูกแพร่ออกมาช่วงเดือนมีนาคม 2563 หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรคได้ไม่นาน ว่ากันว่างานนี้มี “สัญญาสุภาพบุรุษ” ระหว่างกัน ทำให้ระยะเวลาผ่านมา 5-6 เดือน ไม่มีข่าวเล็ดลอดออกมา ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นดีลทางการเมืองหรือไม่

โดย “ปิยบุตร” ออกมาชี้แจงว่า เป็นการคุยเรื่องปฏิรูปกองทัพ ให้กองทัพถอยห่างจากการเมือง รวมทั้งเจตนารมณ์ของพรรคที่ไม่ได้คิดล้มล้างการปกครอง

ทว่าหลังพูดคุยเพียง 1 เดือน แต่ละฝ่ายกลับตั้งเวทีทอล์กโจมตีกัน

 

มากันที่ “ดร.เอ” พ.ต.อ.ณรัชต์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นเพื่อน ตท.20 กับ พล.อ.อภิรัชต์ ที่จะเกษียณพร้อมกัน 30 กันยายนนี้ โดย พ.ต.อ.ณรัชต์เติบโตมาในครอบครัวตำรวจ เป็นบุตรชาย พล.ต.ต.นิทัศน์ เศวตนันทน์ อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ กับ รศ.อมรรัตน์ เศวตนันทน์ และเป็นหลาน พล.ต.ต.จรุง เศวตนันทน์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร 1 ที่มีศักดิ์เป็นคุณปู่

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ณรัชต์จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 36 โดยเป็นหัวหน้านักเรียน ตท.20 และ นรต.36 รุ่นเดียวกับ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ที่เป็น “คู่บัดดี้” กัน

พ.ต.อ.ณรัชต์เริ่มชีวิตราชการตำรวจเป็นนายเวร พล.ต.ท.วิรุฬ ฟื้นแสน ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล จากนั้นเป็นสารวัตรปราบปราม สน.ลุมพินี ก่อนขึ้นรองผู้กำกับภูธรภาค 1, รองผู้กำกับการปราบปราม สภ.ชลบุรี

และตำแหน่งสุดท้ายในสายงานตำรวจคือ ผู้กำกับการฝ่ายองค์การตำรวจสากล สตช. ก่อนโอนย้ายมาอยู่กระทรวงยุติธรรม

เป็นผู้บัญชาการสำนักงานกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ, ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร, ผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ก่อนขึ้นเป็นรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จากนั้นเป็นอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, อธิบดีกรมคุมประพฤติ และอธิบดีกรมราชทัณฑ์

สำหรับผลงานขณะเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 3 ปีที่ผ่านมา เน้นหนักในงานจัดระเบียบเรือนจำทั้งระบบ โดยเฉพาะดูแลความเป็นอยู่ของนักโทษ ที่เป็นวาระสำคัญของยุคสมัยนี้

อีกสิ่งที่เป็นข่าวเมื่อสิงหาคม 2562 พ.ต.อ.ณรัชต์ได้ออกมาระบุว่า ทีมงานของรัฐมนตรีไม่ให้เกียรติข้าราชการประจำ ทำให้เกิดกระแสข่าว “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม จะโยกย้าย ทำให้ “สมศักดิ์” ต้องออกมาปฏิเสธข่าว

ส่วนผลงานในอดีตที่โด่งดังคือ ได้กำกับดูแลคดีพิเศษ เช่น คดีฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบีย, คดีการหายตัวไปของนายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย และคดีติดตามทรัพย์สินที่ถูกโจรกรรมจากประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น

 

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ณรัชต์ผ่านหลักสูตรต่างๆ มาจำนวนมาก ทำให้มีคอนเน็กชั่นหลายวงการอาชีพ รวมทั้งทำให้ได้พบกับ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ นักธุรกิจหญิงและประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ขณะเรียนหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.8) เมื่อปี 2552 ก่อนจะสมรสกันเมื่อปี 2557 ซึ่งมาดามแป้งเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจและลูกหนังไทย รวมทั้งเป็นกรรมการบริษัท สุวรรณชาด จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ชื่อ พ.ต.อ.ณรัชต์เคยถูกทาบทามให้มาร่วม ครม.ประยุทธ์ ในเก้าอี้ รมว.ยุติธรรม เพราะตรงกับสายงานที่ผ่านมา

อีกทั้งถูกพูดถึงในช่วงที่ผ่านมา หลังได้เดินออกมาส่ง “อานนท์ นำภา” และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ที่ได้รับการปล่อยตัว ภายหลังถูกคุมขังอยู่ 5 วัน

หลัง 30 กันยายนนี้ ติดตาม “บิ๊กแดง-ดร.เอ” กับภารกิจอันสำคัญยิ่ง