ต่างประเทศ : “โดนัลด์ ทรัมป์” กับ 100 วันแห่งการกัดกร่อนประชาธิปไตย

TOPSHOT - US Republican presidential candidate Donald Trump speaks on the last day of the Republican National Convention on July 21, 2016, in Cleveland, Ohio. / AFP PHOTO / JIM WATSON

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งครบ 100 วันเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา และก็ถือเป็นธรรมเนียมที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ผลงานในช่วงเวลา 3 เดือนแรกของการทำงานเหมือนเช่นประธานาธิบดีคนที่ผ่านๆ มา และดูเหมือนเสียงวิจารณ์จะเป็นไปอย่างหนาหู

บ้างเปรียบเทียบช่วง 100 วันแรกของประธานาธิบดีผู้ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อนผู้นี้เป็นการเผชิญกับงานอันหนักอึ้ง ขณะที่บางส่วน ถึงขั้นระบุว่า เป็นช่วงเวลาที่ “ทรัมป์” กัดกร่อน “ประชาธิปไตย” ของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนเหนืออื่นใดในเวลานี้คือ ทรัมป์ เศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังนั้นกลายเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยม “น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์” แม้ว่ากลุ่มผู้สนับสนุนหลักจะยังคงหนุนหลังอย่างเต็มที่ก็ตาม

ประธานาธิบดีวัย 70 ปี ที่ชัยชนะในการเลือกตั้งส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ยังคงยึดติดกับแนวทางในแบบ “ไม่ไว้หน้าใคร” “คาดเดาไม่ได้” และ “หุนหันพลันแล่น” คุณสมบัติที่ส่งให้ทรัมป์กลายเป็นเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ และดาราเรียลลิตี้โชว์ชื่อดัง

ทว่า นั่นดูเหมือนจะใช้ไม่ได้กับงานอย่าง “ประธานาธิบดีสหรัฐ”

 

เพียงไม่กี่สัปดาห์ของการดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ดูเหมือนจะได้เรียนรู้ว่ากำลังทำงานที่ “ยากที่สุดในโลก” งานหนึ่ง เมื่อ “คำสั่งผู้บริหาร” เพื่อให้มีการห้ามผู้เดินทางจากประเทศมุสลิมเข้าประเทศ ถูกศาลระงับการบังคับใช้ในหลายรัฐ

ขณะที่ความพยายามในการฉีกนโยบายหลักประกันสุขภาพ “โอบามาแคร์” ผลงานของ บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดี ผ่านสภาคองเกรสก็ต้องล้มเหลวลง

“ไม่มีใครรู้ว่านโยบายประกันสุขภาพจะซับซ้อนขนาดนี้” ทรัมป์ระบุ

นอกจากนี้ หลังการหารือกับ สี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีนในประเด็นปัญหา “เกาหลีเหนือ” ทรัมป์ก็ได้รับรู้ถึงความยากเย็นในฐานะประธานาธิบดีอีกครั้ง

“หลังจากฟังไป 10 นาที ผมรู้เลยว่ามันไม่ง่ายเลย” ทรัมป์กล่าว

 

เสียงวิจารณ์ที่ดูเหมือนจะดังที่สุดช่วง 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่ง นั่นก็คือแนวทางการบริหารงานที่ถูกมองว่าเป็นการทำลายประชาธิปไตยซึ่งเป็นความภูมิใจของชาวอเมริกัน

“ฟรีดอมเฮาส์” องค์กรอิสระที่สังเกตการณ์ประชาธิปไตยทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกาในรายงานประจำปีโดยให้เหตุผลถึงการกัดกร่อนหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะการที่ทรัมป์พุ่งเป้าไปโจมตีที่สื่อซึ่งเป็นการขัดหลักสิทธิมนุษยชน อย่างเสรีภาพในการแสดงออก รวมไปถึงการโจมตีสถาบันนิติบัญญัติอันเป็นสถาบันเสาหลักสำคัญของประชาธิปไตย

สตีเวน เลวิตสกี้ ศาสตราจารย์ด้านการปกครองมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พิจารณาลงลึกโดยเฉพาะในช่วงเดือนแรกของการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ และพบว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังก้าวไปสู่ความเป็น “เผด็จการ” มากขึ้นภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่

เลวิตสกี้ชี้ว่าช่วงเวลาที่สังคมอเมริกันกำลังถูก “แบ่งขั้วอย่างรุนแรง” จะก้าวไปสู่การล่มสลายของประชาธิปไตย อย่างที่มีตัวอย่างมาแล้วในประเทศเผด็จการหลายๆ ประเทศ

และในเวลานี้แทบไม่มีประเทศใดในโลกตะวันตกที่จะแตกแยกได้มากเท่ากับสหรัฐอเมริกา

 

ทรัมป์ใช้ความแตกแยกในสังคมเอาชนะการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาได้ และยังคงทำอยู่ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะผู้สนับสนุนยังคงหนุนหลังอย่างเหนียวแน่นไม่ว่าทรัมป์จะทำอะไรก็ตาม

นั่นส่งผลให้ทรัมป์ทำในสิ่งที่แทบจะไม่มีประธานาธิบดีคนไหนกล้าทำมาก่อน เช่น การเปลี่ยน “ทำเนียบขาว” ให้เป็นเหมือนกับ “องค์กรที่บริหารโดยคนในครอบครัว” ด้วยการแต่งตั้งลูกสาวอย่าง “อิวานกา ทรัมป์” และลูกเขยอย่าง “จาเร็ด คุชเนอร์” เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ

การปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลการจ่ายภาษีในแบบที่ประธานาธิบดีทุกคนในประวัติศาสตร์สหรัฐเคยทำนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 รวมไปถึงการไม่เต็มใจที่จะแยกตัวเองออกจากผลประโยชน์ทางธุรกิจ เพื่อให้ปลอดจากผลประโยชน์ทับซ้อน

สิ่งที่ชัดเจนอีกประการที่ทำให้สหรัฐดูเหมือนจะห่างไกลจากประชาธิปไตยมากขึ้นไปอีกคือ การที่ทรัมป์โจมตีสื่อ ผู้พิพากษา ผู้เห็นต่าง รวมไปถึงการแสดงความชื่นชมกับขั้วตรงข้ามประชาธิปไตย อย่าง “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย

ขณะที่หนึ่งในคนแรกๆ ที่เดินทางเยือนทำเนียบขาวก็คือ “อับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซีซี” ประธานาธิบดีอียิปต์ผู้นำรัฐบาลทหาร

และทรัมป์ก็เป็นผู้นำคนแรกๆ ที่แสดงความยินดีกับชัยชนะของ “เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน” ประธานาธิบดีตุรกีในการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจให้ผู้นำตุรกีเองด้วย

 

นอกเหนือไปจากข้อกล่าวหาซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวน ที่ว่าสมาชิกทีมหาเสียงของทรัมป์ติดต่อกับรัสเซียเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐแล้ว

ทรัมป์ยังทำหลายๆ อย่างที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย

เช่น การตั้งข้อสงสัยถึงความชอบด้วยกฎหมายต่อการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบามา

รวมถึงการประกาศหลังการเลือกตั้งว่ามีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น โดยอ้างว่ามีการให้ผู้อพยพผิดกฎหมายในประเทศมาลงคะแนน ซึ่งข้อกล่าวหาเหล่านั้นไม่มีหลักฐานใดๆ มาพิสูจน์

นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของช่วงเวลา 100 วันแรกของประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐ หลังจากนี้ทรัมป์มีเวลาอีก 1,300 วันที่จะบริหารประเทศที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลกแห่งนี้ต่อไป จนกว่าจะสิ้นสุดวาระแรกลง ซึ่งนั่นจะเป็นการสิ้นสุดของประชาธิปไตยในสหรัฐหรือไม่

ต้องติดตาม