อนุช อาภาภิรม / วิกฤตินิเวศ : ศาสตร์แห่งความซับซ้อน

วิกฤตินิเวศ
: สงครามและการยับยั้งสงคราม (22)ความรู้เรื่องระบบซับซ้อน

วิชาระบบซับซ้อนเป็นศาสตร์ใหม่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ศูนย์กลางอยู่ที่สหรัฐ ความก้าวหน้าของศาสตร์นี้เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจและพยากรณ์ระบบซับซ้อนที่ต้องเผชิญอยู่ให้ดีขึ้น

เช่น ลมฟ้าอากาศ การเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ แนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ชีวิตและระบบนิเวศ ไปจนถึงการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์

ระบบเหล่านี้เป็นระบบเปิดไม่เป็นเชิงเส้น ไม่เกิดขึ้นซ้ำเป็นรอบๆ อย่างมีแบบแผน มีความไม่แน่นอน จัดการได้ยาก

มีสิ่งอุบัติใหม่ได้เสมอ วิชานี้มีการพัฒนาไปมาก ด้านหนึ่ง เกิดจากความก้าวหน้าทางคณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ที่มีอำนาจการคำนวณที่แม่นยำและเพิ่มแบบทวีคูณ สามารถสร้างโปรแกรมและชุดคำนวณที่สามารถอธิบายระบบซับซ้อนได้ดีขึ้น

ตัวอย่างที่กล่าวถึงเสมอได้แก่ นักคณิตศาสตร์และนักอุตุนิยมวิทยาชาวสหรัฐ ได้เสนอทฤษฎีเคออสปี 1963

กล่าวว่า เงื่อนไขหรือค่าตั้งต้นที่ต่างกันทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปมาก

ขณะเดียวกันศาสตร์แห่งความซับซ้อนมีส่วนช่วยให้การสร้างโปรแกรมที่ซับซ้อนขึ้น

เช่น การเรียนรู้ลึก ปูทางไปสู่ปัญญาประดิษฐ์

อีกด้านหนึ่ง เกิดจากบริบททางสังคมที่มีความซับซ้อนขึ้นมาก โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เห็นได้ชัดจากการที่ประเทศโลกที่สามได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างสูง ประเทศเหล่านี้ได้รวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเอง

ในนี้ที่สำคัญเกิดจากการที่จีนได้หันมาร่วมวงตลาดโลก เป็นจุดพลิกผันในระบบภูมิรัฐศาสตร์ของโลก

สหรัฐที่เป็นแกนนำตะวันตกในการจัดระเบียบโลก จำต้องปรับความเข้าใจใหม่ ซึ่งศาสตร์ว่าด้วยระบบซับซ้อนจะช่วยได้มาก

ในภายในประเทศซึ่งผสมกับการระหว่างประเทศ คือ การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงในสหรัฐทั้งภาวะเงินเฟ้อ และการว่างงานสูง นโยบายการเมืองระส่ำระสาย เกิดวิกฤติการนำ บีบให้มีการเคลื่อนไหวแปรเศรษฐกิจเป็นการเงิน

และสร้างกระบวนโลกาภิวัตน์ซึ่งเพิ่มความซับซ้อนของการผลิตการลงทุน การแบ่งงานกันทำในโลก เพิ่มความซับซ้อนในระบบโลกขึ้นอีก โดยเฉพาะการที่จีนก้าวมาร่วมกับตลาดโลกแบบสังคมนิยม

มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการจำนวนมากที่สร้างผลงานให้วิชาระบบซับซ้อนก่อรูปร่างเป็นที่ยอมรับ ในที่นี้จะกล่าวถึงนักวิชาการ 4 คน/กลุ่ม ที่สร้างผลงานให้วิชาระบบซับซ้อน ได้แก่

 

1)อัลเฟรด ล็อตกา (1880-1949) นักคณิตศาสตร์และฟิสิกส์เคมีชาวสหรัฐ ต้องการอธิบายทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ในแง่ทางฟิสิกส์และพลังงานที่สามารถคำนวณได้

เขาได้เสนอ “กฎของพลังงานสูงสุด” สำหรับระบบชีวภาพว่า สิ่งมีชีวิตใดที่สามารถใช้พลังงานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อเทียบกับขนาดตัวเอง เพื่อการเติบโต แพร่พันธุ์และบำรุงรักษาตัวได้ดี ย่อมอยู่รอดเอาชนะสิ่งมีชีวิตอื่นได้ (เสนอปี 1921-1922)

นักวิชาการบางคนเรียกว่า “กฎพลังงานของดาร์วิน-ลอตก้า” เขายังมีชื่อในการอธิบายพลวัตของประชากร โดยใช้ตัวแบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ล่ากับเหยื่อ

ต่อมามีนักนิเวศวิทยาเชิงระบบชาวสหรัฐคนหนึ่งคือโฮเวิร์ด ที.โอดัม (1924-2002) ได้พัฒนากฎของล็อตกาให้กว้างขวางขึ้น

จากการใช้เฉพาะระบบชีวิตไปสู่การใช้กับระบบนิเวศ เรียกกันว่า “หลักการพลังงานสูงสุด” เขาเห็นว่าสิ่งที่ร้อยระบบนิเวศเข้าด้วยกันคือการไหลเวียนของพลังงาน ความมั่งคั่งที่แท้จริงเกิดจากการไหลเวียนของพลังงาน ไม่ใช่ตัวเงิน

เขาเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และเป็นที่สนใจมากขึ้น เมื่อสหรัฐประสบวิกฤติน้ำมันครั้งแรกในปี 1973

โอดัมได้พัฒนาทฤษฎีเขาเรื่อยมา

งานเขียนสุดท้ายของเขาเขียนร่วมกับภรรยา ชื่อ “ความไพบูลย์ขาลง” (เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2001)

 

2)อิลยา พริโกกีน (1917-2003) นักเคมีฟิสิกส์เชื้อสายรัสเซีย ครอบครัวอพยพหนีระบอบคอมมิวนิสต์มาตั้งถิ่นฐานที่เบลเยียม

โลกทัศน์เขาคือหลักการไม่หวนกลับของเวลา หรือ “ลูกศรแห่งเวลา”

กฎนี้ได้จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในเครื่องจักรไอน้ำที่เป็นระบบปิดและได้สมดุล แต่เขานำหลักการนี้มาใช้กับระบบชีวิตที่เป็นระบบเปิด มีโครงสร้างแบบกระจาย (Dissipative Structure) คือมีการกระจายไปตามการไหลของพลังงานในระบบ ต้องการพลังงานและมวลสารปริมาณมากอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการหล่อเลี้ยงระบบ มีลักษณะเป็นพลวัต ไม่ได้สมดุล ไม่เสถียรและไม่เป็นเชิงเส้น เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 1977 งานเขียนชิ้นท้ายของเขาชื่อ “อวสานความแน่นอน”

(เขียนร่วมกับอิซาเบล สเตนจอร์ส เผยแพร่ครั้งแรกปี 1996)

 

3) กลุ่ม “สโมสรกรุงโรม” (ก่อตั้งปี 1968) จุดเริ่มต้นในปี 1965 ผู้ก่อตั้งสองคนคือโอเรลิโอ เปกซี ชาวอิตาลี เป็นนักอุตสาหกรรมผู้มีแนวคิดแบบสังคมนิยม

และนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษชื่ออเล็กซานเดอร์ คิง

มีความคิดห่วงใยในอนาคตระยะของมนุษย์และดาวเคราะห์โลก เป็น “สถานการณ์ยากลำบากของมนุษยชาติ”

ในปี 1968 ได้จัดประชุมเพื่อก่อตั้งสโมสร มีผู้เข้าร่วมเป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์จำนวน 36 คนที่กรุงโรมแต่ประสบความสำเร็จ เพียงการสร้างกลุ่มแกนขึ้น ที่มีความเห็นร่วมกันในการเข้าใจปัญหาในระยะยาว และการเชื่อมโยงเป็นกลุ่มปัญหาโลก ทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองและสังคม

งานของกลุ่มนี้ก้าวหน้าไปมากในการประชุมปี 1970 เมื่อเจย์ ฟอร์เรสเตอร์ (1918-2016) วิศวกรคอมพิวเตอร์ และนักทฤษฎีระบบเชิงพลวัตชาวอเมริกัน

สอนวิชาการจัดการระบบพลวัตที่สถาบันเอ็มไอทีได้เข้าร่วมและเสนอให้ใช้โปรแกรมของเขาที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนเกี่ยวกับปัญหาระบบซับซ้อน

นักวิจัยนานาชาติที่สถาบันนี้เป็นแกนในการศึกษาผลกระทบของการเติบโตแบบทวีคูณ ในด้านประชากร การผลิตทางการเกษตร การร่อยหรอของทรัพยากร ผลผลิตอุตสาหกรรม และมลพิษ ในปี 1972 กลุ่มนี้ได้นำเสนอรายงานชื่อ “ความจำกัดของความเติบโต” ชี้ว่า ปัญหาโลกที่แท้จริงคือการใช้โลกมากเกินไป (Overshoot) บุคคลโดดเด่นในการเคลื่อนไหวนี้ได้แก่ เดนนิส เมโดวส์ (เกิด 1942-ปัจจุบัน) นักวิทยาศาสตร์ด้านการจัดการระบบ

ประธาน “โครงการสถานการณ์ยากลำบากของมนุษย์ ของสโมสรกรุงโรม” ระหว่างปี 1970-1972 และดอนเนลลา เมโดวส์ ผู้เป็นภรรยา (1941-2001) นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้ (สามีของเธอ และนักเขียนอีกสองคนร่วมเขียนด้วย)

 

4)เฮอร์แมน เดลี (เกิด 1938) นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐ ที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ช่วยวางนโยบายนี้ในกลุ่มธนาคารโลก

เขาเสนองานหลักในหนังสือชื่อ “สู่สถานะเศรษฐกิจคงตัว” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 1973 และมีการแก้ไขปรับปรุงอีกสองครั้ง)

เดลีเห็นว่ามีความเติบโตที่ไม่เป็นเชิงเศรษฐกิจ (Uneconomic Growth) เนื่องจากก่อผลด้านลบทางสังคมและระบบนิเวศ และไม่ได้คำนวณไว้ในรายรับรายจ่าย เป็นการเติบโตที่ไม่ยั่งยืน

นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้จำนวนหนึ่งเริ่มจากการศึกษาทางทฤษฎี เช่น ลอตก้าและพริโกกีน บางส่วนเริ่มจากความปรารถนาดี เช่น กลุ่มสโมสรแห่งโรม เชื่อว่าสิ่งที่ตนนำเสนอนั้นเหมาะสมถูกต้อง ผู้คนจะยอมรับนำไปปฏิบัติ

แต่ความจริง ระบบอุตสาหกรรมแบบทุนยังคงทำเหมือนเดิมจนกระทั่งทุกวันนี้ เพราะว่าการปฏิบัติมีผลกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอำนาจ

ที่สำคัญคือการยอมให้สิ่งแวดล้อมและผู้คนในท้องถิ่นมากำหนดนโยบาย

 

การนำแบบซับซ้อน

การนำแบบซับซ้อนได้ขึ้นสู่กระแสสูงในศตวรรษที่ 21 นี้เอง ท่ามกลางวิกฤติและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง มีเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร เป็นต้น ประกอบกับกระแสการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม การเรียกร้องให้บรรษัทใหญ่รับผิดขอบต่อสังคม

ความสนใจการนำแบบซับซ้อนที่เพิ่มขึ้น นอกจากบริบททางเศรษฐกิจ-สังคมแล้ว ยังเกิดในกระบวนการนำในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนขึ้นอย่างมาก เช่น บริษัทข้ามชาติ องค์กรรัฐเองก็จำต้องแบกรับภาระมากขึ้น เพื่อไม่ให้กลายเป็นรัฐล้มเหลว กับทั้งมีองค์การระหว่างรัฐหรือเหนือรัฐเพื่อดูแลกลุ่มรัฐที่ตั้งขึ้นในภูมิภาคต่างๆ

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการนำ มีอยู่ 2 ด้านด้วยกัน คือ

1) การนำแบบเก่าที่ถือเป็นแบบอย่างการปฏิบัติในศตวรรษที่ 20 ได้แก่ การเน้นเรื่องการบริหารตามลำดับชั้น การออกแบบ วิสัยทัศน์ นโยบายและยุทธศาสตร์ การควบคุมและการจัด อิทธิพลหรือบารมีของผู้นำ เป็นต้น เหล่านี้แสดงอาการว่าใช้ไม่ได้ดีในศตวรรษที่ 21

การเป็นผู้นำแบบเก่าที่ถูกปฏิเสธมีอยู่ 4 กลุ่มได้แก่

ก) ผู้นำเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ระบุและอธิบายอนาคตที่พึงประสงค์ ออกแบบการปฏิบัติ และปัดเป่าปัญหาออกไป แต่ระบบซับซ้อนเห็นว่าองค์กรนั้นมีลักษณะทำนายไม่ได้ เพราะมันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกและผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ผู้นำควรจะเน้นในด้านการเอื้อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติได้อย่างบังเกิดผลในอนาคตมากกว่า เช่น โอบอุ้มและเร่งการสร้างเครือข่ายจากล่างขึ้นบน

ข) ผู้นำเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง แต่ในทางเป็นจริง มีเหตุไม่คาดคิดจำนวนมาก สามารถก่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างใหญ่หลวง เช่น โรคโควิด-19 ดังนั้น ผู้นำจึงสามารถก่อแบบรูปของการเปลี่ยนแปลงได้ในสเกลขนาดเล็กเท่านั้น ผู้นำควรสร้างเครือข่ายขององค์ความรู้ กระตุ้นให้สมาชิกองค์การเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งอุบัติใหม่

ค) ผู้นำเป็นผู้จัดความไม่มีระเบียบและลดช่องว่างระหว่างความประสงค์กับความเป็นจริง นั่นคือผู้นำจะต้องเป็นผู้สามารถส่งอิทธิพลให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ปฏิบัติงานมอบหมายให้เป็นไปตามจุดประสงค์ขององค์กร แต่ที่จริงองค์การทั้งหลายเป็นกระบวนต่อเนื่องของเสถียรภาพและความไร้เสถียรภาพ ผู้นำแบบใหม่จำต้องเป็นผู้คิดเชิงระบบ

ง) ผู้นำเป็นผู้ส่งอิทธิพลแก่ผู้อื่นเพื่อให้ปฏิบัติตามอนาคตที่พึงประสงค์ ทัศนะแบบนี้เป็นการมองเชิงเส้น แต่ในโลกแห่งความซับซ้อนและไม่แน่นอนนั้น เป็นการยากที่ผู้นำจะเข้าใจองค์ประกอบทั้งหมดขององค์กร และออกคำชี้แนะให้ผู้อื่นปฏิบัติ ตรงกันข้ามกลายเป็นว่าสมาชิกขององค์กร เป็นผู้ช่วยให้ผู้นำค้นพบหนทางออกจากความวุ่นวาย และความไม่แน่นอน (ดูบทความของ Barrett C. Brown ชื่อ Complexity Leadership : An Overview and Key Limitation ใน integratleadersphipreview.org ตุลาคม 2011)

2) มีองค์กรธุรกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูงหลายแห่งได้นำตัวแบบการนำแบบซับซ้อนไปใช้ เช่น บริษัทกุ๊กเกิ้ล เป็นต้น และประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งได้สร้างวัฒนธรรมการนำแบบซับซ้อนขึ้นในองค์กรอย่างมั่นคง ประกอบด้วยหลักการประจำใจ 5 ประการ คือ

ก) เชื่อมั่นในสัญชาตญาณของตน

ข) ปรับแต่งอารมณ์ความรู้สึก

ค) เตรียมพร้อมปรับตัว

ง) จัดหาพื้นฐาน

จ) เปลี่ยนเส้นทางเมื่อจำเป็น

และมีแนวปฏิบัติในภาวะเคออสและไม่แน่นอน 4 ประการได้แก่

ก) สร้างความชัดเจนและทิศทาง

ข) มองเห็นภาพใหญ่

ค) เน้นการเรียนรู้

ง) เพิ่มความระมัดระวัง (ดูบทความของ David B. Peterson ชื่อ How to lead your team in time of chaos and complexity ใน thinkwithgoogle.com พฤษภาคม 2020)

ความสำเร็จในการนำและการจัดองค์กรเหล่านี้ ก่อให้เกิดมีการเลียนแบบและช่วยกระตุ้นการศึกษาการนำแบบใหม่ขึ้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงโควิด-19 กับการนำแบบซับซ้อนและสมรภูมิใหญ่กับโควิด-19