อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : สิ่งที่มองไม่เห็นใต้น้ำ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

“…เราจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศ…”

นี่เป็นคำแถลงข่าวของกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ช่วงนั้น กองทัพเรือได้เจรจาซื้อเรือดำน้ำไปแล้ว 1 ลำในวงเงิน 13,500 ล้านบาท และได้ยื่นขอซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำในวงเงิน 22,500 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 36,000 ล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีช่วงนั้นได้ชี้ให้เห็นเหตุผลของการจัดซื้อเรือดำน้ำว่าเป็นความมั่นคงของประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

แม้การจัดซื้อเรือดำน้ำจะถูกเลื่อนออกไปหนึ่งปี ทว่าบทความเล็กๆ ชิ้นนี้อาจช่วยบันทึกอะไรที่เป็นประโยชน์เอาไว้บ้าง

 

ลัทธิอาวุธนิยมที่บิดเบี้ยว

เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้เป็นดั่งการซื้ออาวุธหลายครั้งที่ผ่านมา ผู้นำกองทัพมักอ้างเหมือนกันทุกกองทัพว่า ประเทศไทยได้พัฒนาศักยภาพทางทหารมาตลอดเพื่อเอาไว้เจรจาต่อรอง

ประเด็นที่น่าถามผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงทางทหารและนักต่อรองระหว่างประเทศว่า ยุคไหนของไทยหรือครับที่ไทยใช้ศักยภาพทางทหารเพื่อต่อรองโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ไทยเข้าสู่สงคราม เช่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ช่วงสงครามเย็น (Cold War) (1960-1980) ทว่าศาตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ไม่เคยมีการใช้ศักยภาพทางทหารในประวัติศาสตร์การทูตไทยเลย ตรงกันข้ามการเจรจาจบลงบนโต๊ะเจรจาทางการทูตของไทย

ผมเห็นว่าไม่ว่าการเจรจาทางการทูตนั้นจะออกมาดีต่อไทยมากน้อยเพียงใด ไทยใช้ศักยภาพทางการทูตของชาติเล็กๆ แล้วถ้าใช้ศักยภาพทางทหารเราคงพังกันไปแล้ว

ขอขยายความว่า แม้มีการรบในสนามรบในอินโดจีนโดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2521 ช่วงที่กองทัพเวียดนามบุกยึดกัมพูชา ทางการไทยก็ใช้การเจรจาทางการทูตกดดันเวียดนาม

เวียดนามไม่ได้กลัวอาวุธของกองทัพไทย แม้กองทัพได้อาวุธมาจากจีนก็ตาม ทางการไทยใช้จีนช่วยกดดันเวียดนามในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ หากย้อนไปช่วงตลอดสงครามเย็น ทางการไทยก็ใช้ศักยภาพทางการทูตโดยดึงพลังอำนาจของสหรัฐอเมริกา

ครั้นเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในระเบียบโลกที่จีนเริ่มเข้ามานำทางการเมืองระหว่างประเทศ ไทยก็ใช้ศักยภาพทางการเมืองของจีน แล้วเวลานั้นไทยสร้างสมดุลระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

แต่แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายเรื่องเรือดำน้ำตอนนี้คือ ข้ออ้างเรื่องยุทธศาสตร์ กลัวเวียดนามบุกไทย คราวนี้เมื่อกลัวเวียดนามบุกไทยซึ่งต้องเป็นทางพื้นราบที่ติดกัมพูชาและต่อเข้าไทย ดังนั้น ชนชั้นนำกองทัพไทยจึงสั่งซื้อรถถังจากจีน น่าจะประมาณ 100 คัน

นายทหารระดับรองที่ต้องใช้รถถังจีนจริงๆ ชี้แจงว่า ถ้ารถถังนั้นยิงปืนเมื่อไร รถถังคันนั้นตีลังกาเลย ช่างอนาถใจ แต่ตอนนี้รถถังจีนจำนวนหนึ่งนำเอาไปทิ้งทะเลเพื่อเพาะปะการังในอ่าวไทย ช่างอนาถใจยิ่งนัก

ไทยเรามีชนชั้นนำกองทัพแนวลัทธิอาวุธนิยม ทว่าพวกเขาไม่ใช่สายเหยี่ยว (Hawkist) ที่เจนจัดและกระหายสงครามตามนิยามที่ถูกต้อง พวกเขาไม่ได้เป็นพวก สายพิราบ เพราะเจรจาความเมืองไม่เป็น

แต่เป็นสายช้อปปิ้ง สายนายหน้า เฮฮาปาร์ตี้ เลี้ยงโต๊ะจีน ดื่มเหมาไถ อ้างผู้ใหญ่ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก

 

ยุทธศาสตร์อะไรกัน?

ชนชั้นนำกองทัพชอบพูดคำว่า ยุทธศาสตร์

ผมคิดว่าคำว่ายุทธศาสตร์ในบ้านเราเป็นคำต้องห้าม สำหรับคนทั่วไปไม่ให้ถามและสงสัยเหมือนยันต์ชนิดหนึ่ง โดยอ้างว่า ความลับ คือไม่มีใครรู้ดีเท่าผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงโดยเฉพาะอาวุธ ผูกขาดเป็นของคนกลุ่มเล็ก ยุทธศาสตร์ยังเป็นคำสูง คนคุมกำลังเท่านั้นที่เข้าใจ ห้ามถามรายละเอียด

ยุทธศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงอยู่ผิดยุคและกาลเวลา

โลกยุคใหม่ถ้าอ้างเรื่องทะเล พวกเขาใช้ยุทธศาสตร์ทางการทหารเพื่อคุมภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งๆ ที่ไม่มีทางคุมได้

แต่โลกยุคใหม่ ยุทธศาสตร์หลักคือ ใครสร้างความมั่งคั่งทางทะเล ดังนั้น จึงเป็นยุทธศาสตร์ของความมั่นคงทางอาหาร ยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจากทะเลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ผลิตภาพของโรงงานแปรรูปอาหารที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีสายการผลิตที่เป็นวัตถุดิบ การแปรรูป บรรจุภัณฑ์และจัดจำหน่ายเป็นห่วงโซ่ในท้องที่ต่างๆ ในภูมิภาคและมีตลาดในต่างประเทศอันสร้างรายได้ให้กับบริษัทและประเทศไทย

ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงทางทะเลชอบพูดในหลายๆ เวที หลายกาละและเทศะ ชอบอ้างถึงปลาทู หรือปลาทูไทยหน้างอในอ่าวไทยว่าหายไปเยอะแล้วไทยเราต้องสูญเสียรายได้

น่าสงสัยนะครับ เมื่อมีเรือดำน้ำแล้ว ปลาทูจะมาวางไข่ในอ่าวไทยมากขึ้นแล้วเรือประมงไทยจับปลาทูได้เยอะขึ้นหรือครับ

หรือเป็นเรื่องของฤดูกาล เรื่องสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงสำคัญผิด ขณะนี้ข้อพิพาทระหว่างประเทศที่ล่อแหลมมากอยู่ที่ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ทว่าความจริงเป็นข้อพิพาทระหว่างชาติมหาอำนาจใหญ่ของโลก

ที่สำคัญชนชั้นนำของไทยต้องตระหนักว่า ไทยไม่ควรเอาตัวเราไปผูกพันกับข้อพิพาทของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จนกลายเป็นโซ่ตรวนที่คล้องคอไทยให้เดินตามชาติมหาอำนาจบางชาติไป

พอมีเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เกือบทุกฝ่ายนึกถึงอาเซียนในแง่ถูกท้าทายเรื่องจุดยืนและยุทธศาสตร์ของอาเซียน

ไทยควรโน้มน้าวชาติสมาชิกอาเซียนให้วางบทบาทเป็นกลางเพื่อให้ภูมิภาคนี้มีเสถียรภาพ

ในเวลาเดียวกัน เรามักอ้างถึงจุดยืนและท่าทีของกัมพูชาว่ามีความโน้มเอียงไปทางจีนมากกว่า อีกทั้งได้เห็นอิทธิฤทธิ์ของกัมพูชาคราวดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนโดยกัมพูชาโน้มน้าวสมาชิกอาเซียนไม่ให้ออกแถลงการณ์ร่วมช่วงที่จีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

ไทยควรใช้การเจรจาทางการทูตในอาเซียนมากกว่าเร่งซื้อเรือดำน้ำ เรือดำน้ำของไทยไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทนั้นได้

 

ยุทธศาสตร์จอมปลอม

ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงใช้ช่วงเวลาหลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งมีการตรวจสอบน้อย จัดการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ได้แก่ รถถัง รถหุ้มเกราะล้อยาง เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง และเรือดำน้ำ ซึ่งไม่ใช่ความต้องการทางยุทธศาสตร์ของไทย ฝ่ายความมั่นคงมียุทธศาสตร์เอาอาวุธทั้งหมดเพื่อไปรบกับประเทศไหนหรือครับ ทั้งๆ ที่แนวโน้มสงครามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดน้อยลง หรือโอกาสเกิดสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านมีความเป็นไปได้น้อยมาก

อย่างดีเพื่อให้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงมีความชอบธรรม หรืออีกนัยยะหนึ่ง ซื้ออาวุธโดยชอบธรรมทางความมั่นคง เราจะได้เห็นและได้ยินเรื่องแต่งซึ่งเล่ากันซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึง ศัตรู ซึ่งเป็นเพียงศัตรูในประวัติศาสตร์ ศัตรูตลอดไปของชาติไทย น่าประหลาดใจยิ่งนัก ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงได้คบค้าและเป็นมหามิตรกับเจ้าลัทธิคอมมิวนิสต์คือจีน

ไม่มีผู้นำทหารไทยคนไหนกลัวคอมมิวนิสต์กันแล้วหรือ

ไม่มีผู้นำกองทัพหวาดระแวงการปรากฏตัวหลากหลายรูปแบบของจีนในประเทศเพื่อนบ้านเรา ในเมืองใหญ่ ตลาด ท่าเรือ ถนนและเส้นทางสำคัญ แหล่งแร่ธาตุสำคัญ โรงเรียน โรงเรียนสอนภาษา มูลนิธิ ค่ายทหาร บริเวณชายแดนติดไทย

ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงคิดอย่างไรกับความไม่มั่นคงเยี่ยงนี้

ผมมองว่า อ้างอีกแล้วถึงยุทธศาสตร์ นี่เป็นยุทธศาสตร์จอมปลอมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับไทยและภูมิภาคในช่วง พ.ศ.2520 ที่เขาเรียกขานว่า ยุทธศาสตร์ กลายพันธุ์เป็นย้ายกระบวนทัศน์ทั้ง Hard ware คืออาวุธ และ Software คือความผูกพันที่ดิ้นไม่หลุดนับแต่นั้นมา แล้วชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายก็ฉลองโต๊ะจีน ดื่มเหมาไถ และเมา

นี่คือ สิ่งที่เรามองเห็น