กรองกระแส / การปะทะ ต่อสู้ ระหว่างพลังใหม่ พลังเก่า ในพื้นที่ การเมือง

กรองกระแส

 

การปะทะ ต่อสู้

ระหว่างพลังใหม่ พลังเก่า

ในพื้นที่ การเมือง

 

เหมือนกับว่าการปรากฏขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก” นับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้นมา กับการจะปรากฏขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 กันยายน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นการปะทะระหว่างรุ่น เป็นการปะทะระหว่างวัย

เพราะว่าด้านหลักของผู้เข้าร่วม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นนิสิต นักศึกษา เป็นเยาวชน และเมื่อมีการแตกกระจายขยายตัวไปก็ยังเป็นนิสิต นักศึกษา เป็นเยาวชน

แม้ว่าจะลงลึกไปยัง “นักเรียนเลว” ก็ยังเป็นเรื่องของ “คนรุ่นใหม่”

กระนั้น หากนำเอาการเคลื่อนไหวครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มายังการเคลื่อนไหวครั้งหลังสุดในวันที่ 19 กันยายน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ก็จะสัมผัสได้ในสิ่งที่อยู่เหนือกว่าวัย เหนือกว่ารุ่น

เพราะภายในการเคลื่อนไหวมีเรื่องของพื้นที่ มีเรื่องของสัญลักษณ์ มีเรื่องของความหมายอันสัมพันธ์กับประชาธิปไตยและเผด็จการที่แตกต่างกัน และผู้เข้าร่วมก็ขยายวงกว้างไปสู่ประชาชน

กลายเป็นเรื่องของความคิดอันสะท้อนผ่านการเมือง

 

เรื่องของพื้นที่

เรื่องของสัญลักษณ์

คําประกาศของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ที่จะขับเคลื่อน “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” โดยเริ่มต้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้ง กลายเป็นวิวาทะร้อนแรง

มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยออกโรงต่อต้าน คัดค้าน ขณะเดียวกัน มีกลุ่มที่เห็นด้วย ล่ารายชื่อสนับสนุนและพร้อมจะเข้าร่วมอย่างมีกัมมันตะ

1 เพราะว่ามีเรื่องของธรรมศาสตร์ เน้นไปยังท่าพระจันทร์

1 เพราะว่ามีเรื่องของการล้นทะลักไปยังสนามหลวง มีเรื่องของการขับเคลื่อนไปบนถนนราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาล

1 เพราะว่าเน้นอย่างเป็นการจำเพาะไปยังวันที่ 19 กันยายน

ไม่ว่าจะมองไปยังวันที่ 19 กันยายน ไม่ว่าจะมองไปยังทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะมองไปยังถนนราชดำเนิน ไม่ว่าจะมองไปยังสนามหลวง ไม่ว่าจะมองไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ล้วนเป็นเรื่องของสัญลักษณ์ ล้วนเป็นพื้นที่ในทางการเมือง

 

19 กันยายน

14 ปี รัฐประหาร

ต้องยอมรับว่ารัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นเส้นแบ่งอย่างมีนัยสำคัญต่อประวัติศาสตร์ยุคใกล้ในทางการเมืองของไทย

เพราะมีเมื่อปี 2549 จึงมีในเดือนพฤษภาคม 2557

จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้ทิ้งปัญหาไว้มากมายให้สะสางในทางการเมือง

จึงมีข้อเสนอเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” จึงมีข้อเสนอเรื่อง “ต้านรัฐประหาร”

ปัญหาเหล่านี้อาจได้รับการหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นร้อนจากการเคลื่อนไหวของเยาวชน ไม่ว่านิสิต นักศึกษา และนักเรียน

แต่ในที่สุดแล้วก็คือ ปัญหาของประเทศ ปัญหาของบ้านเมือง

ไม่ว่ามองไปยังคนที่ออกมาต้าน “เยาวชน” ไม่ว่ามองไปยังคนที่ออกมาให้การหนุนเสริม “เยาวชน” ล้วนได้รับผลสะเทือนมาจาก 2 รัฐประหารนี้ในห้วงกว่า 1 ทศวรรษ

เป็นปัญหาในทางความคิด เป็นปัญหาในทางการเมือง

 

ลักษณะที่สวนทาง

ระหว่าง 2 ความคิด

ต้องยอมรับว่า ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อปี 2549 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยเปิดเผยต้องการต้านสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณ แต่ปัญหาที่ตามมาคือสิ่งที่จะมาแทนที่ระบอบทักษิณ

นั่นก็คือ ความพยายามดึงเข็มนาฬิกากลับ

โดยคำประกาศคือการดึงเข็มนาฬิกาจากระบอบประชาธิปไตยปกติ ไปยังระบอบที่มิได้เป็นประชาธิปไตย หรือที่เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ

เป็นการย้อนกลับไปยัง “อดีต”

ปฏิกิริยาที่ตามมาในเบื้องต้นอาจยังเป็นการต่อสู้ระหว่างพลังที่เหลืออยู่แห่งผลิตผลของ “ระบอบทักษิณ” ซึ่งประสบผลสำเร็จระหว่างเป็นรัฐบาล

แต่ต่อมาได้กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างพลังเก่ากับ “พลังใหม่”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพลังใหม่ประกอบด้วยคนที่ไม่เห็นด้วยและไม่สามารถยอมรับได้กับระบอบเก่าอันมีพื้นฐานมาจากรัฐประหาร

พลังใหม่นี้เองที่กำลังก่อรูปขึ้นเพื่อต่อสู้กับกลุ่มกุมอำนาจในปัจจุบัน

 

การต่อสู้กับอดีต

โดยพลังอนาคต

มีความแจ่มชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วงรอบแห่งการเคลื่อนไหว “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ว่าการเปิดหน้าชนดำเนินไปอย่างเปิดเผย เด่นชัด

1 คือพลังเก่าอันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวแทน

1 คือพลังใหม่อันไม่เพียงแต่จะมีเยาวชนซึ่งประกอบด้วย นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นกองหน้าอย่างมีนัยสำคัญเท่านั้น

หากแต่ยังมี “ประชาชน” เข้าร่วมด้วยอย่างคึกคัก

ฝ่ายหนึ่ง ต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจของตนเอง ดึงสังคมประเทศให้ย้อนกลับไปยังสภาพที่ตนคิดว่ารุ่งเรืองไพบูลย์ในอดีต ฝ่ายหนึ่ง ต่อสู้เพื่อให้ประเทศก้าวสู่ความทันสมัย อยู่ในความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความหมาย

   ฝ่ายหนึ่งอยู่กับอดีต ฝ่ายหนึ่งอยู่กับปัจจุบันและทอดมองไปยังอนาคต