เพ็ญสุภา สุขคตะ : รอยพระพุทธบาทยุคหริภุญไชย ค้นพบใหม่ ณ เวียงรมณีย์ ลำปาง

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เวียงรมณีย์หรือเวียงเหล็ก
จุดยั้งขบวนก่อนเคลื่อนสู่เขลางค์

รอยพระพุทธบาทที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ ตั้งอยู่ภายในวัดแห่งหนึ่งที่บ้านใหม่พัฒนา อำเภอเกาะคา (ใกล้รอยต่ออำเภอห้างฉัตร) จังหวัดลำปาง

ปัจจุบันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดถ้ำขุมทรัพย์จามเทวี” โดยพระชนาเมธ (สกุลเดิม ณ ลำปาง) เจ้าอาวาสบอกว่า ตั้งชื่อตามมุขปาฐะที่ชาวบ้านเรียกวัดร้างแห่งนี้กันว่า “ถ้ำแม่จ๋าม” “ถ้ำย่าจ๋าม”

ในขณะที่บริเวณนี้ อดีตเรียกกันว่า “เวียงรมณีย์” บ้างเรียก “เวียงเหล็ก-เวียงตอง”

ทันทีที่ได้ยินคำว่า “เวียงรมณีย์” ใจดิฉันประหวัดนึกถึงวัดรมณียาราม หรือวัดกู่ละมักขึ้นมาในบัดดล

วัดนั้นตั้งอยู่ที่บ้านศรีย้อย หมู่ 4 ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ห่างจากตัวเมืองลงไปทางทิศใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร ริมฝั่งแม่น้ำกวง

ประวัติของวัดรมณียาราม กล่าวว่า สถานที่แห่งนี้เป็นจุดหยุดพักกระบวนเสด็จของพระนางจามเทวีที่เดินทางมาใกล้ชานเมืองหริภุญไชยแล้ว

แต่เห็นว่ายังไม่ควรรีบร้อนเข้าไปในเมือง ควรจะรอให้ฤๅษีวาสุเทพมาอัญเชิญด้วยตัวเองอีกครั้งเมื่อทุกอย่างพร้อม จึงตั้งเวียงชั่วคราวขึ้นบริเวณนอกเมืองเสียก่อน

พระนางจามเทวีทรงสถาปนา “เวียงเหล็ก” ขึ้น เอกสารบางเล่มเขียน “เวียงเล็ก” แต่พิจารณาแล้ว เวียงขนาดเล็กในภาษาล้านนาควรเรียก “เวียงน้อย” มากกว่า

ส่วนคำว่า “เหล็ก” หมายถึงเป็นเวียงที่ใช้รั้วเหล็กล้อม ไม่ต่างจากเวียงรมณีย์ที่ห้างฉัตร-เกาะคาก็มีชื่อเรียกว่า “วังเหล็ก-วังตอง” ด้วยเช่นกัน ซึ่งคำว่า “ตอง” หมายถึง “ทองเหลือง” คงมีการใช้วัสดุประเภททองเหลืองสร้างรั้วรอบเวียงไว้

เวียงเหล็ก (เล็ก) ที่ลำพูนนั้นสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พลับพลาชั่วคราว ตำนานระบุว่า พระนางจามเทวีโปรดให้สร้างกำแพงล้อมรอบ (กำแพงคงล้อมด้วยรั้วเหล็ก ไม่ได้ก่ออิฐหรือหินทึบ เนื่องจากเมื่อขุดค้นใต้ชั้นดินที่วัดกู่ละมักพบร่องรอยของเศษเหล็กจำนวนมาก)

ทรงโปรดให้ปลูกต้นมะพร้าว ต้นตาล ต้นส้ม สร้างที่พักสงฆ์ สร้างพระราชนิเวศน์เรือนหลวงเป็นทรงปราสาทสี่เหลี่ยมจัตุรมุข รวมทั้งที่พักหรือนิคามของคณะผู้ติดตามทั้งหมด

พระนางและปวงเสนาประชาราษฎร์ต่างอาศัยอยู่ในเวียงเหล็ก (เล็ก) นั้นด้วยความสุขสบายรื่นรมย์ ทรงมีพระเกษมสำราญ สถานที่ดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า “รมยคาม” คนทั้งหลายเรียกกันสืบมาว่า บ้านละมัก บ้านรัมมกคาม หรือรมณียาราม

ปี 2475 ช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่วัดกู่ละมัก ท่านเรียกวัดนี้ว่า “วัดอารัมมริยะ” หรือ “อารามมนียะ”

เมื่อพินิจ “เวียงรมณีย์” ของลำปาง พบว่าเป็นจุดที่กระบวนเสด็จของพระนางจามเทวีกับเจ้าอนันตยศ พระโอรสแฝดน้อง ได้มาแวะพัก ณ บริเวณนี้ ในช่วงก่อนที่จะเคลื่อนเข้าสู่ราชธานีคือเมืองเขลางค์เช่นกัน

ทำให้ได้ข้อสรุประดับหนึ่งว่า เวียงที่ประทับชั่วคราวขณะยั้งกระบวนเสด็จนั้น ในยุคหริภุญไชยจะเรียกกันว่า “เวียงรมณีย์” อันปรากฏทั้งที่ลำพูนแถววัดกู่ละมัก และปรากฏที่ลำปางคือแถวห้างฉัตร-เกาะคา

ส่วนคำว่า “เวียงเหล็ก” หรือ “เวียงเล็ก” นั้น เป็นคำเรียกในภาษาล้านนา ใช้เรียกชื่อของเวียงรมณีย์ยุคหริภุญไชยย้อนหลังในช่วงที่พระภิกษุล้านนาเขียนตำนาน

เวียงเหล็กที่พบในสมัยล้านนาเอง ปรากฏหลักฐานชัดเจนที่บริเวณวัดเชียงหมั้น วัดแรกที่พระญามังรายสร้าง ซึ่งก่อนจะยกถวายสถานที่แห่งนั้นให้เป็นพระอาราม พระญามังรายเคยใช้บริเวณวัดเชียงหมั้นเป็นพลับพลา “หอนอน” ที่ประทับชั่วคราวของพระองค์มาก่อน

ดังนั้น คำว่า “เวียงรมณีย์” ก็ดี “เวียงเหล็ก” (เวียงเล็ก) ก็ดี ล้วนเป็นกลุ่มคำที่มีความหมายเดียวกัน คือที่พักชั่วคราวก่อนจะสร้างเวียงหลวงจริงสำเร็จ

 

ปรากฏรอยพระพุทธบาทรุ่นเก่า

ช่วงที่มีการบุกเบิกฟื้นฟูวัดร้างถ้ำขุมทรัพย์จามเทวีแห่งนี้ราวปี 2555 ได้ค้นพบรอยพระพุทธบาทคู่ บนแผ่นหินศิลาแลง ภายใต้รอยพระพุทธบาทมีอุโมงค์เป็นโพรงสามารถเดินทะลุได้ตอนล่าง

รอยพระพุทธบาทคู่นี้ มิใช่ว่าอยู่กลางแจ้งในที่เปิดเผยซึ่งสามารถพบได้โดยง่าย แต่ถูกกลบฝังบดบังเสียมิดชิดด้วยซากอิฐดินปูนถมทับ ทางวัดต้องช่วยกันรื้อเศษซากต่างๆ ที่กองสุมออกมาหลายต่อหลายชั้น กว่าจะได้พบว่ามีรอยพระพุทธบาทคู่ซุกซ่อนอยู่

จากนั้นทางวัดจึงได้เชิญนายเมธาดล วิจักขณะ อดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน (ปัจจุบันหน่วยงานนี้ถูกยุบลงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่) ในขณะนั้นคือปี 2555 (ต่อมานายเมธาดล วิจักขณะ เกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองอธิบดีกรมศิลปากรในปี 2561) มาสำรวจศึกษา

นายเมธาดลได้ตรวจสอบสภาพของรอยพระพุทธบาทคู่ พบว่าข้างหนึ่ง (พระบาทขวา) สลักบนเนื้อศิลาแลง ไม่มีวัสดุอื่นใดโบกทับ ในขณะที่อีกข้างหนึ่ง (พระบาทซ้าย) มีร่องรอยของการเอาปูนเททับชั้นบน ผิวปูนมีสีชมพูคล้ายกับเป็นส่วนผสมของชาดที่เคยใช้รองรับการปิดทองมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง

หรือในความเป็นจริง อาจเคยถูกปูนโบกเพื่อปิดทองล่องชาดมาแล้วทั้งสองข้าง แต่ต่อมาด้านขวาปูนกะเทาะลอกออกหมดแล้ว จึงเห็นแค่เนื้อศิลาแลง

พระบาททั้งสองข้างมีความยาว 2.40 เมตร ความกว้างด้านบนของนิ้ว 110 เซนติเมตร และความกว้างบริเวณส้น 72 เซนติเมตร

ข้อสำคัญคือ พบลักษณะของการขูดขีดลายก้นหอยที่บริเวณนิ้วเท้าทั้ง 10 นิ้ว อันเป็นเส้นริ้วแบบธรรมชาติ ไม่ใช่เส้นประดิดประดอยแบบรอยพระบาทยุคหลังๆ กับมีลวดลายธรรมจักรอยู่กลางฝ่าเท้า ธรรมจักรมีกงล้อรอบวงใน 8 ล้อ และกงล้อรอบวงนอก 18 ล้อ

นอกจากนี้ พื้นฝ่าเท้ายังถูกแบ่งตีเป็นตารางช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก จำนวนข้างละ 108 ช่อง อันเป็นสัญลักษณ์ของ “มงคล 108” ตามคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ ในข้อที่กล่าวถึงฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า ว่า

“ฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย ลายพื้นพระบาทเป็นรูปจักร”

นายเมธาดลเห็นว่ารอยพระพุทธบาทคู่แห่งนี้มีลักษณะที่เก่าแก่มาก ละม้ายคล้ายคลึงและอาจจะร่วมสมัยกับรอยพระพุทธบาทที่วัดสระมรกต ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เลยทีเดียว คือเก่าถึงยุคทวารวดีหรือยุคหริภุญไชยเมื่อราว 1,400 ปีที่ผ่านมา

จากข้อสันนิษฐานของอดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 น่านดังกล่าว ทำให้ดิฉันพินิจพิเคราะห์ดูสภาพของรอยพระพุทธบาทค้นพบใหม่วัดถ้ำขุมทรัพย์พระนางจามเทวีอย่างละเอียดลออ

ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เมื่อนำไปเทียบกับรอยพระพุทธบาทที่เก่าที่สุดในประเทศไทย ณ วัดสระมรกต หรือสามารถเปรียบเทียบกับรอยพระบาทแห่งอื่นใด ในละแวกอุษาคเนย์ได้อีกบ้าง

 

คติรอยพระบาทจากลังกาและพุกาม

รอยพระบาทที่สระมรกตนั้น สลักเป็นรอยเว้าลงไปในพื้นศิลาแลง รูปร่างของฝ่าเท้าและนิ้วเท้ามีลักษณะเป็นธรรมชาติ มีธรรมจักรสลักนูนประดับอยู่กลางฝ่าเท้าแต่ละข้าง

ดร.นันทนา ชุติวงศ์ นักวิชาการด้านโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยไลเดนส์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรอยพระพุทธบาท กำหนดอายุไว้ว่า มีความเก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 11-13

ดร.นันทนายังได้เปรียบเทียบว่ารอยพระบาทที่สระมรกตมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับรอยพระบาทคู่ที่พบ ณ สำนักอภัยคีรี ในประเทศศรีลังกาอีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับรอยพระบาทที่สระมรกตคือ การพบรอยบากลึกคล้ายกากบาทไขว้ประทับพาดอยู่บนรอยพระบาทคู่ตรงกึ่งกลางของทั้งสองข้าง ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไว้เพื่อเจตนาอันใด ดร.นันทนาสันนิษฐานว่า อาจบากไว้เพื่อใช้เป็นฐานรองรับคันฉัตรลอยตัวที่จะถูกนำมาปัก ดังเช่นภาพรอยพระบาทสลักนูนที่กรุงอนุราธปุระ ศรีลังกา ก็มีลักษณะของการนำคันฉัตรปักบนรอยพระบาท

ครั้นเมื่อพินิจรอยพระพุทธบาทที่เวียงรมณีย์ กลับไม่มีรอยบากรูปกากบาทสำหรับปักคันฉัตร

ผิดกับรอยพระบาทที่สระมรกต

จึงน่าจะตีความกำหนดอายุรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ใหม่ ว่าอาจเก่าไม่ถึงยุคทวารวดีหรือหริภุญไชยตอนต้น

ทว่าหากถอยมาเป็นทวารวดีหรือหริภุญไชยตอนปลาย ก็อาจมีความเป็นไปได้สูง

โดยดิฉันนำไปเทียบกับกลุ่มรอยพระพุทธบาทในกรุงพุกาม ที่สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 จำนวนหลายแห่ง

เช่น ที่วัดโลกะนันทะ วัดชะเวซิคน และที่โค้งเพดานวิหารกุบบอคยี เป็นต้น

รอยพระพุทธบาทในพุกามกลุ่มนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่วัดถ้ำขุมทรัพย์จามเทวีมากพอสมควร กล่าวคือ มีลายธรรมจักรอยู่ตรงกลางบนพื้นช่องตารางมงคล 108 ที่นิ้วเท้ามีก้นหอยวนแบบธรรมชาติ

สิ่งที่น่าคิดคือ ใต้รอยพระบาทของวัดต่างๆ ที่พุกาม นิยมทำเป็นช่องอุโมงค์ หรือโค้งประตูทางเข้าสามารถเดินลอดผ่านได้ เป็นการสื่อถึงการเทิดทูนฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้าอันควรบูชาไว้เหนือเศียรเกล้า ซึ่งที่วัดถ้ำขุมทรัพย์จามเทวีก็มีการเจาะช่องอุโมงค์เป็นโพรงลอดได้ตอนล่างของรอยพระบาทเช่นเดียวกัน

น่าเสียดายที่ลวดลายในช่องตารางเล็กๆ ที่ตั้งใจสร้างให้เป็นรูปมงคล 108 ของรอยพระบาทที่เวียงรมณีย์นั้นลบเลือนหมดแล้ว อีกทั้งครั้งหนึ่งยังถูกโบกด้วยปูนแล้วลงชาดทับอีกชั้นนี้ อาจมีการมาบูรณะรอยพระพุทธบาทใหม่ในสมัยล้านนาเมื่อราว 500 ปีก่อนก็เป็นได้

ดังจะเห็นว่ารอยพระบาทฝังมุกและอัญมณีมีค่าท่ามกลางลายคำน้ำแต้มที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างขึ้นถวายพระพุทธสิหิงค์ ณ วัดพระสิงห์นั้น (ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่) ก็มีรูปลักษณ์ที่ถ่ายถอดแบบมาจากรอยพระบาทที่พุกามและที่เวียงรมณีย์แห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ณ ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเรื่องรอยพระพุทธบาทที่เวียงรมณีย์อย่างเป็นกระบวนการ เช่น การนำตัวอย่างผิวศิลาแลงหรือเนื้อปูนไปพิสูจน์กำหนดหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ มีแต่ข้อสันนิษฐานด้นรูปแบบศิลปะ

จึงยังไม่มีข้อยุติที่แน่ชัดว่ารอยพระพุทธบาทคู่ดังกล่าวนี้ จักมีอายุเก่าแก่รุ่นราวคราวเดียวกันกับที่สระมรกตได้หรือไม่ แต่ถึงแม้จะไม่ร่วมสมัยกับสระมรกตซึ่งเก่าแก่มากถึง 1,400 ปี

แต่ก็ยังถือได้ว่า รอยพระพุทธบาทที่เวียงรมณีย์แห่งนี้ เป็นรอยพระพุทธบาทที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดในเขตภาคเหนือ เพราะอย่างน้อยก็เก่าราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 ร่วมสมัยกับที่พุกามหรือหริภุญไชยช่วงกลางค่อนปลาย ไม่หลังไปจากนั้นอย่างแน่นอน