โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ/เหรียญเสาร์ห้า-มหาลาภ หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค นครสวรรค์

หลวงพ่อพรหม ถาวโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

 

เหรียญเสาร์ห้า-มหาลาภ

หลวงพ่อพรหม ถาวโร

วัดช่องแค นครสวรรค์

 

 

“หลวงพ่อพรหม ถาวโร” วัดช่องแค จ.นครสวรรค์ เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งปากน้ำโพ มีเมตตาธรรมสูง มักน้อย ถือสันโดษ

วัตถุมงคลที่สร้างไว้มีมากมายหลายรุ่น ล้วนแต่มีพุทธคุณโดดเด่น

ย้อนไปเมื่อ พ.ศ.2516 คณะกรรมการวัดช่องแคจัดสร้างเหรียญเสาร์ห้า “มหาลาภ” หลวงพ่อพรหม จัดพิธีปลุกเสกใหญ่ในวันเสาร์ห้า เพื่อหาทุนสร้างศาลาการเปรียญ

ลักษณะเหรียญ เป็นเหรียญปั๊มทรงกลม ไม่มีหูห่วง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.9 เซนติเมตร จัดสร้างจำนวน 6,500 เหรียญ เป็นเหรียญเงิน 300 เหรียญ และทองแดง 6,200 เหรียญ

ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ไม่มีฐานหรือผ้าปูนั่ง ด้านบนขอบโค้งเขียนว่า “หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค” ล้อมรอบขอบเหรียญเป็นรูปกลีบบัวและจุดไข่ปลา

ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปดอกบัวบาน มีเลข “๕” อยู่ตรงกลางเหรียญ ด้านบนมีอักขระขอม 10 ตัว ด้านล่างเขียนว่า “เหรียญมหาลาภ ๒๕๑๖”

การแยกพิมพ์ เหรียญมหาลาภ หลวงพ่อพรหม ด้านหลังมี 2 พิมพ์ เรียกว่า พิมพ์ที่ 1 และพิมพ์ที่ 2

ด้านหลังพิมพ์ที่ 1 จะอยู่กับด้านหน้าพิมพ์ไม่มีเม็ดงา ส่วนด้านหลังพิมพ์ที่ 2 จะอยู่กับด้านหน้าพิมพ์มีเม็ดงา โดยเฉพาะเหรียญเงินทุกเหรียญเป็นเหรียญมีเม็ดงา เพราะปั๊มในช่วงหลัง

ปัจจุบันเหรียญมหาลาภ หลวงพ่อพรหม ได้รับความนิยมอย่างสูง จนกลายเป็นพระชุดหลักของวงการพระเครื่องไปแล้ว

 

เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 12 เมษายน 2426 ที่ ต.บ้านแพรก อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา มีพี่น้อง 4 คน

ในช่วงวัยเด็ก เรียนหนังสือ ฝึกหัดอ่านเขียนกับพระในวัดใกล้บ้าน รวมทั้งศึกษาอักษรขอมควบคู่ไปกับภาษาไทย อีกทั้งได้ศึกษาวิทยาคมกับอาจารย์ที่เป็นฆราวาส ชื่ออาจารย์พ่วง

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดเขียนลาย ต.บ้านแพรก อ.บ้านแพรก จ.อยุธยา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2447 มีหลวงพ่อถม วัดเขียนลาย เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า ถาวโร

จากนั้นศึกษาเล่าเรียนภาษาขอมจนชำนาญและเริ่มฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ศึกษาสมถะกัมมัฏฐานและวิปัสสนาจากหลวงพ่อดำอยู่ประมาณ 4 ปี

จากนั้นจึงออกเดินธุดงค์เป็นเวลาหลายพรรษา เคยเดินธุดงค์ไปประเทศพม่าถึงเมืองย่างกุ้ง นมัสการพระเจดีย์ชเวดากอง และเดินธุดงค์ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ผ่านเทือกเขาน้อยใหญ่ และธุดงค์อยู่ในประเทศพม่าเป็นเวลานาน ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยทางด่านแม่ละเมา จ.ตาก

เดินธุดงค์ไปจนถึงเขาช่องแค ต.พรหมนิมิตร อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เกิดฝนตกหนัก ได้หลบเข้าไปอยู่ในถ้ำซึ่งเป็นถ้ำเล็กๆ เป็นสถานที่ที่เห็นว่าเป็นที่วิเวกเหมาะสำหรับการบำเพ็ญธรรม จึงได้อยู่ปฏิบัติสมาธิเจริญจิตภาวนา ณ ช่องเขาแห่งนี้

เหรียญมหาลาภ หลวงพ่อพรหม

 

ขณะที่จำศีลปฏิบัติธรรมอยู่นั้น ที่วัดช่องแคมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่แล้ว 2 รูป แต่ยังไม่มีเจ้าอาวาส ภายในวัดยังไม่มีเสนาสนะใดๆ บริเวณวัดรกร้าง

ต่อมาชาวบ้านเห็นวัตรปฏิบัติจึงเกิดความนับถือเลื่อมใส นิมนต์ให้จำพรรษาวัดช่องแคจวบจนปัจจุบัน จนได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

โดยที่ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคที่ดินเพิ่มเติม จึงเริ่มต้นสร้างวัดจากวัดที่รกร้างเมื่อปี พ.ศ.2460 จนกลายมาเป็นวัดที่มีกุฏิ ศาลาการเปรียญ โรงครัว ซึ่งส่วนหนึ่งของทรัพย์สินมาจากการขายสมบัติส่วนตัวและมรดกของหลวงพ่อ

ครั้นต่อมา เมื่อวัดจะสร้างอุโบสถซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์สูง คณะกรรมการของวัดจึงขออนุญาตหลวงพ่อสร้างวัตถุมงคล ด้วยหลวงพ่อพรหมชอบระฆัง การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อจึงเน้นรูประฆัง ทั้งพระผง เหรียญรูประฆัง จนกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหลวงพ่อพรหม

จากผลการศึกษาพระธรรม การปฏิบัติจิต เจริญสมาธิภาวนาและการเดินธุดงค์ รวมไปถึงการศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จากหลายครูบาอาจารย์ ทำให้ท่านได้ชื่อว่าเป็นพระเถระที่มีวิทยาคม มีวัตถุมงคลที่เลื่องลือในด้านประสบการณ์บ่อยครั้ง

ด้านการปลุกเสกวัตถุมงคล มีวิธีการปลุกเสกวัตถุมงคลที่ไม่เหมือนใคร ส่วนใหญ่จะปลุกเสกในบาตร ถ้ามีเทียนชัยจะจุดเทียนชัยหยดน้ำตาเทียนลงในบาตรน้ำมนต์แล้วนำเทียนชัยวน 9 รอบ ต่อจากนั้นจึงนำดินสอพองมาเจิมที่วัตถุมงคล เอามือคนไปรอบๆ โดยที่ลืมตาเพ่งกระแสจิตอัดพลัง แล้วจึงนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมวัตถุมงคลทั้งหลาย แล้วจับบาตรใส่วัตถุมงคล

ดังนั้น เป็นที่สังเกตได้ว่าพระเนื้อผงจะมีรอยบิ่น เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ด้วยเกิดจากเอามือคนในบาตร

 

ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ.2514 รวมเวลาที่เป็นเจ้าอาวาสวัดช่องแค 54 ปี เพื่อให้พระปลัดแบงค์ ธัมมวโร เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน ตลอดเวลาที่จำพรรษาอยู่ที่วัดช่องแค สร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับชุมชนและประชาชนทั่วไป ตั้งแต่การทำนุบำรุงพระศาสนา รักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย สร้างเสนาสนะในวัด

กระทั่งมรณภาพลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2518 เมื่อเวลา 15.00 น. ที่โรงพยาบาลบ้านหมี่ จ.ลพบุรี สิริอายุ 91 ปี พรรษา 71

หลังมรณภาพแล้ว คณะกรรมการวัดบรรจุศพไว้ในโลงแก้ว ตั้งอยู่บนศาลาการเปรียญ