สุจิตต์ วงษ์เทศ /บ้านเชียง ชื่อจากช้าง หรือ พรรณไม้?

ต้นเชียงยักษ์ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ต้นเชียงยักษ์ อายุนับร้อยปี หน้าวัดกกเต็น บ้านกกเต็น หมู่ 15 อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี นายเสน่ห์ คงกษัตริย์ อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 15 บ้านกกเต็น กล่าวว่า ต้นเชียงต้นนี้มีอายุเก่าแก่มาก และที่ตรงนี้ยังเป็นสถานที่ตั้งของศาลเจ้าบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในหมู่บ้านนับถือ ตอนนี้ทุกคนในชุมชนกำลังเสนอเรื่องให้พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของอำเภอด่านช้าง (ข่าวสดออนไลน์ วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม 2563)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

บ้านเชียง

ชื่อจากช้าง หรือ พรรณไม้?

“บ้านเชียง” เป็นคำใหม่ในชื่อ “วัฒนธรรมบ้านเชียง” อ.หนองหาน จ.อุดรธานี

ก่อนชื่อบ้านเชียง บริเวณนี้ชาวบ้านแต่ก่อนเรียก “ดงแพง” หมายถึงบริเวณป่าทึบหนาแน่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่หลายหลาก โดยเฉพาะต้นแพง (“แพง” เป็นชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่งใบรีและมีขอบใบเป็นหยักๆ ผลของต้นแพง (ลูกแพง) สัตว์ป่าชอบกิน

หลังชาวพวนพากันอพยพโยกย้ายและถูกกวาดต้อนไปอยู่บริเวณดงแพง หนองหาน แล้วรวมกันเป็นชุมชนหมู่บ้าน จากนั้นชื่อ “บ้านเชียง” มีขึ้น โดยผูกนิทานว่ามาจากคำว่า “เชียง” ในชื่อ “เชียงงาม”

ต้นเซียง  อยู่ในพื้นที่ชุมชนลาวครั่ง บ้านสะนำ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี (ภาพจาก https://www.noozup.me/1094088/)

 

เชียงงาม

“บริเวณบ้านเชียงเดิมเรียกว่า ‘ดงแพง’ เคยเป็นโบราณสถานสมัยขอม ครั้งนั้นมีชายรูปงามคนหนึ่ง ใครเห็นใครก็รัก เมื่อยังเล็กอยู่พ่อแม่พาไปอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้เมืองหลวงของขอม ต่อมาไปบวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง เมื่อลาสิกขาบทออกมาแล้ว ชาวบ้านเรียกหนุ่มผู้สึกใหม่คนนี้ว่า ‘เชียงงาม’ (ออกสำเนียงอีสานว่า ‘เซียงงาม’)

คำว่า ‘เชียง’ (เซียง) หมายถึงผู้ที่เคยบวชเป็นสามเณรมาแล้ว

บรรดาหญิงสาวและไม่สาวต่างหลงรักหนุ่มเชียงงาม แม้เมียพระยาขอมก็หักใจไว้ไม่ได้ พระยาขอมทราบเข้าก็โกรธมาก จึงสั่งให้เสนาขอมจับตัวเชียงงามไปประหารตัดหัวเสียบประจานไว้

ก่อนตาย เชียงงามได้กล่าววอนเทพเจ้าให้เป็นพยานและสาปแช่งพระยาขอม ขอให้เมืองพระยาขอมจงพินาศล่มจม”

[ประวัติความเป็นมาของบ้านเชียงตามที่มีผู้เฒ่าผู้แก่จดจำแล้วบอกเล่าสืบต่อกันมาจนมีผู้จดเอาไว้ว่า (ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี อ้างถึง พรมมี ศรีสุนาครัว ชาวบ้านเชียง และสุมิตร ปิติพัฒน์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ในหนังสือ วัฒนธรรมบ้านเชียงในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ : กรมศิลปากร จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2515 : หน้า 12)]

ต้นเซียง เป็นต้นไม้ที่ใหญ่สุด อายุประมาณ 150-200 ปี เส้นรอบวงประมาณ 22 เมตร อยู่ในป่าสาธารณประโยชน์ บ้านนาบอน ต.ชัยพฤกษ์ อ.เมือง จ.เลย (ภาพและข่าวจาก “พบต้นสะพุงอายุร่วม 200 ปีขนาด 40 คนโอบ ตั้งตระหง่านกลางป่าที่ จ.เลย” ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 30 สิงหาคม 2559)

 

บ้านเชียง

คําว่า “เชียง” ในชื่อบ้านเชียง อาจมาจากคำมีความหมายอื่นได้อีก แต่เท่าที่พบคำลุ่มน้ำโขงและที่ราบสูงยังมี ดังนี้

  1. เจียง แปลว่า ช้าง กลายคำได้ว่า เชียง
  2. เซียง หมายถึง พรรณไม้เรียกต้นเซียง กลายคำได้ว่า เชียง บางท้องถิ่นเรียก ต้นผึ้ง

บ้านเชียง หมายถึง ชุมชนมีช้าง หรือชุมชนมีต้นผึ้ง ย่อมสอดคล้องเข้ากันได้ดีกับภูมิประเทศ และน่าเชื่อกว่ามาจากชื่อนิทานเชียงงามที่พยายามลากเข้าวัดจนเกินงาม

ต้นสะพุง (เซียงใหญ่) บ้านน้ำขอบ ต.หินฮาว อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ (ภาพและข่าวจาก “ตะลึง! ต้นมะขาม-ต้นสะพุงยักษ์อายุหลายร้อยปีที่หล่มเก่า คุณยายใจอารียกให้เป็นของส่วนรวม” มติชนออนไลน์ วันที่ 23 ธันวาคม 2559)

………………………………………………………………………………………………………………………………………….

ต้นเชียงยักษ์ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

 

ต้นเชียงยักษ์ อายุนับร้อยปี หน้าวัดกกเต็น บ้านกกเต็น หมู่ 15 อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

นายเสน่ห์ คงกษัตริย์ อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 15 บ้านกกเต็น กล่าวว่า ต้นเชียงต้นนี้มีอายุเก่าแก่มาก และที่ตรงนี้ยังเป็นสถานที่ตั้งของศาลเจ้าบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในหมู่บ้านนับถือ ตอนนี้ทุกคนในชุมชนกำลังเสนอเรื่องให้พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของอำเภอด่านช้าง

(ข่าวสดออนไลน์ วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม 2563)