หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ/’ม่อ ปะตี’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
หมาไน - สัตว์ผู้ล่า ซึ่งทำงานได้ผลอย่างยิ่งอย่างหมาไน มีประสาทสัมผัสในการระวังภัยดี และขี้สงสัย พวกมันมักเดินเข้ามาดูสิ่งที่สงสัยใกล้ๆ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ม่อ ปะตี’

 

การ “ซ่อนตัว” อยู่บริเวณแหล่งอาหารของสัตว์ป่า สำหรับผม คือวิธีขออนุญาตอย่างหนึ่ง นอกจากการรักษาระยะห่างที่พอดี ด้วยวิธีนี้ นอกจากสัตว์ป่าจะ “อนุญาต” ให้ถ่ายรูปแล้ว พวกมันยังใช้ชีวิตไปตามปกติ

และในความปกตินี่แหละทำให้ผมรู้ว่า พวกมันขี้สงสัย

สงสัยในกลิ่นแปลกปลอม ในสิ่งที่เห็น อย่างเช่น เสียงกิ่งไม้ไหวยวบยาบ ดังขึ้นข้างบนตอนเดินไปตามด่าน

นั่นมักเกิดจากเสียงที่ชะนี หรือค่าง ซึ่งมองเห็นเรา มันตกใจจะกระโจนหนีรวดเร็ว แต่ไปได้สักพักก็หยุดชะโงกหน้ามอง คล้ายดูให้แน่ใจว่าหนีอะไร เป็นสัตว์ผู้ล่าชนิดไหน

เก้ง กวาง วัวแดง กระทิง เมื่อได้กลิ่น เผชิญหน้าคน หรือสัตว์ผู้ล่า พวกมันจะชะงักเบิ่งหน้าดูสักครู่ ก่อนหันหลังวิ่งแน่บ วิ่งไปสักพักก็หยุด หันกลับมาดู ด้วยสีหน้าและแววตาแสดงความสงสัย

ส่วนใหญ่แล้วเพราะความสงสัย อันทำให้หยุดหันมาดู นี่แหละทำให้ผู้ล่ากระโจนถึงตัว

ผู้ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจอมสงสัยอันดับหนึ่งในป่า น่าจะยกให้ช้าง นักวิจัยที่ต้องใช้กล้องดักถ่ายภาพ โดยตั้งทิ้งไว้นานๆ ยืนยันได้

ทุกปี ทีมสำรวจประชากรเสือโคร่ง สูญเสียกล้องดักถ่ายปีละหลายตัว เพราะช้างดึงออกจากต้นไม้และเหวี่ยงไปไกล ทั้งที่พวกเขามัดด้วยสะลิงอย่างแน่นหนา

กล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวทำให้เห็นว่าช้างมีปฏิกิริยาอย่างไร ไม่มีการเดินผ่านไปเฉยๆ ต้องมีตัวหนึ่งหยุดใช้งวงดมๆ ก่อนหาทางกระชากกล้องโยนไป

กล้องอีกตัวบันทึกภาพการกระทำชัดเจน แม้ว่าจะมีเจ้าทุกข์ มีความเสียหายเกิดขึ้น ความผิดเกิดสมบูรณ์แล้ว มีหลักฐานชัดเจนในการเอาผิด แต่ “ผู้ต้องหา” ก็ “ใหญ่” เกินกว่าใครจะเข้าไปจับกุม

เสือก็ด้วย ภาพที่ได้ แสดงให้เห็นว่า มันรู้ว่าเดินผ่านสิ่งแปลกปลอม บางตัวเข้ามาดมๆ มีบางตัวเดินหลบ อ้อมไปด้านหลัง และขี้ไว้ข้างๆ

 

ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ช่วงกลางปีบางครั้งเราอยู่ท่ามกลางพายุฝน ราวกับจะไม่มีวันหยุด กระทั่งลืมไปเลยว่า วันที่มีแสงแดดจ้า ท้องฟ้าแจ่มใสนั้นเป็นอย่างไร

ในโป่งเล็กๆ แห่งหนึ่ง ช่วงที่ฝนซา เหลือเพียงละอองปรอยๆ เก้งตัวหนึ่งเดินเข้ามาจนชิดซุ้มบังไพรที่อยู่บนต้นไทร มันทำจมูกเชิดสูดกลิ่น จ้องมอง ยกตีนหน้าข้างซ้ายกระทืบดิน ท่าทางสงสัยใคร่รู้อย่างมาก

โป่งเล็กๆ แห่งนี้อยู่ในหุบเขา เหมือนกับลักษณะโป่งส่วนใหญ่ในป่านี้

โป่งนี้ยังไม่มีการบันทึกพิกัดลงในข้อมูล ชุดลาดตระเวนพบและชวนผมมาดู

“วันนั้นเราเดินอยู่บนสันเขาโน่นแหละครับ” พุฒิตาล หนึ่งในชุดลาดตระเวนพูด พลางชี้ไปบนสันเขาด้านทิศเหนือ

“มองลงมาเห็นโป่งนี้ ตอนนั้นมีกระทิงอยู่ในโป่ง 4-5 ตัว” เขาพูดต่อ พุฒิตาล ชายหนุ่มเกิดในหมู่บ้านจะแก เรียนจบชั้นมอสาม กลับมาช่วยพ่อ-แม่ปลูกข้าวทำงานเล็กๆ น้อยๆ ก่อนเข้าไปทำงานที่เมืองกาญจน์ 2-3 ปี และกลับบ้าน เข้ามาทำงานในป่า

สภาพโป่งถูกขนาบด้วยแนวเขาสูงชัน ด้านทิศตะวันออกเป็นพนังหินมีน้ำไหลรินๆ ถัดมาคือแอ่งน้ำกว้างราว 3 ตารางเมตร

ต่อจากแอ่งน้ำ มีลักษณะคล้ายลำห้วยสายเล็กๆ ไหลลดหลั่นไปตามระดับ

รอบๆ เป็นป่าเบญจพรรณ มีไทรต้นใหญ่ กิ่งโน้มเอียงลงมาใกล้แอ่งน้ำ

โป่งเล็กและแคบ มีรอยตีนสัตว์ย่ำสับสน ส่วนใหญ่เป็นกวางและกระทิง มีรอยหมูป่าคุ้ยเป็นบริเวณกว้าง

รอยสมเสร็จเก่าพอๆ กับรอยเสือโคร่ง…

“รอยเก่านี่แหละดี เดี๋ยวก็กลับมา” ผมพูดกับพุฒิตาล ปกติเสือตัวผู้ใช้เวลาในการเดินตรวจตราอาณาเขตของมันรอบๆ หนึ่งราว 15-20 วัน

 

“หม่องโจต้องขึ้นไปนั่งบนต้นไทรนั่น เพราะถ้าอยู่ข้างล่าง ที่แบบนี้กลิ่นไม่ไปไหน ไม่มีตัวอะไรมาหรอก” ผมฟังคำแนะนำ และรับคำอดิเทพ คู่หูอย่างไม่มีข้อแม้ นั่งบนต้นไม้ เลี่ยงไม่พ้นกับอาการเมื่อยขบ แต่หากไม่ระวัง กลิ่นกายคนย่อมทำให้สัตว์ตื่นหนี เสียโอกาสในการเข้ามากิน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรเกิดขึ้น

นี่เป็นการขออนุญาตแบบหนึ่ง

 

“หม่องโจว่า เราเรียกโป่งนี้ว่าอะไรดีครับ” พุฒิตาลถาม เขาจะบันทึกพิกัดลงจีพีเอส

โป่งส่วนใหญ่ถูกตั้งชื่อตามสิ่งที่คนเห็นตอนแรก เช่น โป่งหมี โป่งกวาง โป่งยาว และอื่นๆ

“เรียกว่า ม่อ ปะตี แล้วกัน” ผมพูด

ม่อ หมายถึง โป่ง ปะตี หมายถึงทราย พื้นที่มีลักษณะเป็นทรายรอบๆ ทำให้ผมเรียกโป่งนี้ว่าโป่งทราย

พุฒิตาลยิ้มกับชื่อในภาษาของเขา และจดชื่อรวมทั้งพิกัดลงสมุดบันทึก

ชื่อนี้จะถูกเรียกไปตลอดสำหรับชุดลาดตระเวนหน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช

ที่นี่เป็นเพียงจุดเล็กๆ ในป่ากว้างใหญ่ มันสำคัญกับสัตว์ป่า เป็นแหล่งอาหาร เป็นที่ซึ่งสัตว์ป่าจะมากินเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้สมบูรณ์ และจะอยู่ตลอดไปอีกนาน

ถึงวันนี้คงไม่มีใครรู้หรอกว่า ทำไมโป่งนี้ชื่อ ม่อ ปะตี หรืออาจไม่มีใครเรียกด้วยชื่อนี้แล้ว ชุดลาดตระเวนเปลี่ยนคนไปหลายชุด

อีกทั้งคงไม่มีใครเข้าไปทำซุ้มบังไพรนั่งบนต้นไทรให้สัตว์ป่าสงสัย

 

ในป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก นอกจากม่อ ปะตี แล้ว มีสถานที่ซึ่งผมมีส่วนเกี่ยวข้องอีกแห่งหนึ่ง

นั่นคือ เนินหม่องโจ

เนินนี้ได้รับชื่อจากการที่ผมพาเจ้านิค พาหนะหงายท้อง สี่ล้อชี้ฟ้าขณะกำลังไต่ขึ้นในวันฝนตก ทางลื่นไถล

มันเป็นความผิดพลาด

โป่งที่ชื่อ ม่อ ปะตี เป็นแค่จุดเล็กๆ ในป่ากว้าง คนคงไม่ใช้และลืมชื่อนี้ไปแล้ว

แต่ชื่อเนินหม่องโจ ยังคงอยู่ คนเล่าขานกันถึงที่มาชื่อเสมอ

บางทีนี่คงไม่ใช่เรื่องน่าสงสัยอะไร

เพราะความผิดพลาดต่างหากที่คนจะจดจำ