ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ยานยนต์ |
ผู้เขียน | สันติ จิรพรพนิต |
เผยแพร่ |
แม้จะเผยโฉมรุ่นใหม่มาตั้งแต่งานมอเตอร์โชว์ ที่ผ่านมา แต่เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส (Mercedes-Benz E-Class) เพิ่งปล่อยรถให้สื่อมวลชนไทยทดสอบเมื่อไม่นานมานี้
ผมเองมาโอกาสได้สัมผัสกับอี-คลาส เมื่อทีมงานประชาสัมพันธ์ของดาวสามแฉกส่งรุ่น “E220d AMG Dynamic” มาให้ลองของ
“E220d AMG Dynamic” ถือเป็นรุ่นท็อปและรุ่นแต่งพิเศษ ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ ความโดดเด่นคือแรงจัดแต่ประหยัดจริง
แต่ก่อนจะไปรู้จักกับรุ่นล่าสุดของอีคลาส ขอย้อนประวัติศาสตร์ของรถรุ่นนี้ที่ถือว่าเป็นเจเนอเรชั่นที่ยาวนานรุ่นหนึ่งของเบนซ์
อี-คลาส จัดเป็นรถเก๋งขนาดกลางของค่ายนี้ ความหรูหราและกว้างขวางเป็นของแค่ “เอส-คลาส” แต่ตอนหลังคงต้องบวกรุ่นใหญ่ขึ้นไปอีกคือ “มายบัค เอส-คลาส” เข้าไปด้วย
คำว่า “อี-คลาส” ย่อมาจาก “Einspritzung-Class” เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า “รถยนต์เครื่องหัวฉีด”
เรียกว่าตั้งชื่อตระกูลกันซื่อๆ ตามเทคโนโลยีจ่ายน้ำมันเข้าห้องเผาไหม้ ที่เปลี่ยนจาก “คาร์บูเรเตอร์” มาเป็น “หัวฉีด” นั่นเอง
ตระกูลนี้จริงๆ แล้วเกิดขึ้นมานานหลายสิบปีตั้งแต่ พ.ศ.2478 แต่ช่วงแรกไม่ได้ใช้ชื่ออี-คลาส
จนล่วงเข้าปี พ.ศ.2527 นั่นแหละจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อตระกูลอี-คลาส มีรหัสตัวถังคือ “W124” เพราะเป็นรุ่นแรกที่ใช้เครื่องยนต์หัวฉีดล้วนๆ ไม่มีเครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์ เป็นรุ่นย่อยให้เลือกเหมือนก่อนหน้านี้
อี-คลาส รุ่นนี้ถือว่าโด่งดังมากในเมืองไทย เชื่อว่าหลายท่านน่าจะคุ้นกับชื่อเล่นน่าหวาดเสียวคือ “เบนซ์โลงจำปา”
ฉายานี้ได้มาจากเอกลักษณ์ของบั้นท้าย ดูคล้ายๆ กับ “โลงจำปา” หรือโลงศพ ที่ชาวจีนนิยมใส่ร่างผู้เสียชีวิตก่อนนำไปฝัง
ที่ได้รับความนิยมในหมู่เศรษฐีจีนในเมืองไทย เพราะความเชื่อเรื่องการนอนโลงศพสะเดาะเคราะห์นั่นเอง
ไม่นับรูปร่างหน้าตาหากไม่กังวลว่าบั้นท้ายคล้ายโลงจำปาแล้ว ถือว่าเป็นรุ่นหนึ่งที่ออกแบบได้หรูหรา แถมเทคโนโลยีก็ล้ำสมัย
สําหรับ อี-คลาส รุ่นล่าสุดที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย เป็นเจเนอเรชั่นที่ 10 เป็นรุ่นที่สมบูรณ์แบบทั้งการออกแบบภายนอก-ใน และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใส่เข้ามาแน่นคัน
น่าเสียดายอยู่เล็กๆ ที่เมืองไทยไม่ได้นำเข้ารุ่นที่มีเทคโนโลยีแบบเต็มแม็ก เพราะปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น การใช้คลื่นความถี่วิทยุ รวมถึงราคาจำหน่ายที่กระโดดขึ้นไปพอสมควร
แต่รุ่นที่นำเข้ามาก็ถือว่ามีของเล่นเต็มคันแล้ว
รูปลักษณ์ภายนอกยังยึดกับเทรนด์การออกแบบให้ดูปราดเปรียวแบบสปอร์ตคูเป้ มิติตัวถัง (กว้าง x ยาว x สูง) 1,852 x 4,923 x 1,468 ม.ม.
ยาวกว่าเดิม 43 ม.ม. ระยะฐานล้อยาว 2,939 ม.ม. ยาวขึ้น 65 ม.ม.
กระจังหน้าสีเงินเสริมโครเมียม แถบคาดกลาง 2 เส้นพร้อมสัญลักษณ์ดาวสามแฉก เป็นลักษณะของรถแนวสปอร์ตของค่ายนี้ ฝากระโปรงหน้าค่อนข้างยาวติดตราดาวสามแฉกขนาดเล็กไว้ด้านบน
ไฟหน้าทรงใหม่ดูเฉี่ยวขึ้น เป็นแบบ MULTIBEAM LED ทำหน้าที่ควบคุมหลอดไฟแบบ LED จำนวน 84 หลอด ให้ปรับระดับความสว่างอย่างเป็นอิสระจากกัน โดยมีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวและคำนวณระดับความสว่างอัตโนมัติ
จุดเด่นไม่พ้นสามารถตรวจจับทางโค้ง มุมอับสายตาได้ในระยะทางที่ไกลมากกว่าเดิม พร้อมปรับให้แสงมีความสว่างเต็มพื้นที่เพื่อความปลอดภัย
มาพร้อมระบบส่องสว่างอัจฉริยะ (ILS – Intelligent Light System) ปรับเปลี่ยนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์การขับขี่และรูปแบบของถนน
ระบบ ALS – Active Light System ปรับโคมไฟหน้ารถตามการเลี้ยวของพวงมาลัย
ระบบ Cornering Light เพิ่มความส่องสว่างขณะเลี้ยวโค้ง และระบบ Adaptive Highbeam Assist ปรับไฟสูงอัตโนมัติเพื่อไม่ให้รบกวนสายตาของผู้ขับขี่รถยนต์ที่วิ่งสวนทางมา
ในโคมเดียวกันยังมีไฟ daytime สำหรับการขับขี่ในเวลากลางวัน แบบ LED fibre optic
โคมไฟท้ายแบบชิ้นเดียวโดยด้านในโคมแบ่งออกเป็นสองส่วน
ล้ออัลลอยดีไซน์สปอร์ต AMG แบบ 5 ก้านคู่ ขนาดบิ๊กเบิ้ม 19 นิ้ว ปลายท่อไอเสียโครเมียม 2 ท่อ
พร้อมชุดแต่ง AMG รอบคัน
มาดูภายในถือว่าสะดวกสบายไฮโซและไฮเทคสุดๆ พวงมาลัยนิรภัยพร้อมเพาเวอร์ปรับระดับด้วยระบบไฟฟ้า และปรับน้ำหนักตามความเร็วรถ พร้อมมัลติฟังก์ชั่นแบบสปอร์ตท้ายตัดหุ้มหนัง nappa มีปุ่มควบคุมแบบสัมผัส (Touch control button)
แผงหน้าปัดแบบ Digital ปรับเปลี่ยนได้ 3 รูปแบบแล้วแต่ผู้ขับขี่ ดูไฮเทคมั่กๆ
จอของแผงหน้าปัดยังเชื่อมเป็นชิ้นเดียวกับจอแสดงผลตรงกลางคอนโซลแบบ Widescreen Cockpit กว้างพิเศษถึง 31.2 ซ.ม. (12.3 นิ้ว) พร้อมระบบควบคุมและเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต COMAND Online แผนที่นำทางแบบ 3 มิติ
มีฟังก์ชั่น WLAN/WiFi hotspot อีกทั้งยังมี Multifunction telephony เชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ iOS (Apple CarPlayTM) และ Android (Android Auto)
คอนโซลหน้าเป็นสีดำกรุด้วยวัสดุอ่อนนุ่ม เดินด้านคู่สีอิฐเข้ากับเบาะหนัง nappa สีเดียวกันช่องแอร์ทรงกลมแบบสปอร์ต ใส่ถึง 6 ช่อง ซ้าย 1 ขวา 1 และตรงกลางอีก 4 แถมมีช่องแอร์เฉพาะให้กับผู้โดยสารด้านหลังด้วย
ทั้งมีระบบไฟสร้างบรรยากาศในห้องโดยสารที่ปรับสีได้ถึง 64 สี
ระบบเสียงรอบทิศทาง Burmester
พร้อมทั้งระบบชาร์จโทรศัพท์มือถือแบบไร้สาย (wireless charging) เข้ากับเทรนด์ฮิตในปัจจุบัน ที่สมาร์ตโฟนถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว
ประตูเปิดได้ค่อนข้างกว้าง ขยับเข้าไปนั่งได้ง่ายขณะที่ปีกเบาะโอบกระชับพอดิบพอดี มองซ้าย-มองขวา บอกเลยว่าดูไฮเทคดีเหลือเกินโดยเฉพาะหน้าจอดิจิตอลขนาดใหญ่
กดปุ่มสตาร์ตเสียงค่อนข้างเงียบ แม้จะลองเปิดประตูเอาไว้ก็ไม่ได้ดังจนน่ารำคาญ ทั้งที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล
พวงมาลัยนุ่มกระชับมือมาก อยากจะบอกว่าจุดเด่นไม่พ้นหน้าปัดแบบดิจิตอล ที่ดูไฮโซเหลือกินเหลือใช้
ระบบเกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะ (9G-TRONIC) ยื่นออกมาทางขวาของแกนพวงมาลัย ใช้การผลักขึ้น (D)-ลง (R) และกด (P)
แต่ไม่ต้องกังวลกรณีต้องการ “เล่น” เกียร์ หรือใช้เอนจิ้นเบรก เพราะมีปุ่ม “Paddle Shift” หลังพวงมาลัย ให้ผู้ขับขี่เพิ่ม-ลดระดับเกียร์แบบนิ้วกระดิกเท่านั้น
เครื่องยนต์ดีเซลบล็อกใหม่แบบ OM 654 Common-rail 4 สูบ 16 วาล์ว เทอร์โบ ความจุ 1,950 ซีซี กำลังสูงสุด 194 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตร อัตราเร่งจาก 0-100 ก.ม./ช.ม. ที่ 7.3 วินาที แต่กลับประหยัดน้ำมันระดับเกิน 25 ก.ม./ลิตร
อัตราเร่งตีนต้นมาเร็วและแรงเหลือเฟือ ความเร็วระดับ 140-150 ก.ม./ช.ม. ไม่ถึงอึดใจก็มาแล้ว
แม้ความเร็วขนาดนี้แต่เสียงเครื่องและเสียงลมเข้ามาไม่มากนัก
แต่การทำความเร็วตีนต้น-กลาง จะมีประสิทธิภาพสูงสุดหากปรับโหมทดขับขี่ไปที่ “Sport” หรือ “Sport+” เพราะรอบเครื่องยนต์จะวนเวียนอยู่ระดับสูงกว่าโหมดอื่นๆ (Eco, Comfort)
นอกจากนี้ มีอีกโหมดการขับขี่คือ “Individual” ผู้ขับขี่สามารถปรับการทำงานของระบบต่างๆ อย่างอิสระ
ช่วงล่างแบบ DIRECT CONTROL ซึ่งปรับได้ทั้งโหมด Sport และ Comfort และ AIR BODY CONTROL ทำให้ช่วงล่างกระชับทั้งการเข้า-ออกโค้ง หรือเปลี่ยนเลนแรงๆ
ระบบความปลอดภับครบเครื่องรวมถึงกล้องมองภาพรอบคัน ที่จะโชว์ภาพที่หน้าจอเมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง และเข้าเกียร์เดินหน้าในช่วงแรกๆ
รวมทั้งภาพจะปรากฏขึ้นทันทีที่ขับเข้าในทางแคบๆ หรือมีอุปสรรคใกล้ๆ ตัวรถ เพื่อความลอดภัยมากขึ้น
“E220d AMG Dynamic” เป็นรถที่ไฮเทคและครบเครื่องสุดๆ แล้วของตระกูลนี้
ราคาจัดไปที่ 4,790,000 บาท