Jackson Pollock ตัวพ่อแห่งการสาดสีในโลกศิลปะ แจ๊กสัน พอลล็อก

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
Convergence (1952)

เมื่อไม่นานมานี้ มีเหตุการณ์สาดสีในการประท้วงทางการเมืองจนกลายเป็นข่าวดังในโลกออนไลน์

เราจะไม่เล่าถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ เพราะนี่ไม่ใช่คอลัมน์ข่าวการเมือง แต่เป็นคอลัมน์ศิลปะต่างหาก

ด้วยเหตุนี้เราเลยขอเล่าถึงศิลปินที่ใช้แนวทางการสาดสีในการทำงานอย่างโดดเด่นเป็นเอกจนเรียกได้ว่าเป็น “ตัวพ่อแห่งการสาดสีในโลกศิลปะ”

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

แจ๊กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock)

ศิลปินชาวอเมริกันผู้ทรงอิทธิพล และเป็นศิลปินหัวหอกคนสำคัญของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ แอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Abstract Expressionism)

ในช่วงชีวิตของเขา พอลล็อกมีชื่อเสียงทั้งในด้านความอื้อฉาวและความยิ่งใหญ่ในโลกศิลปะ ในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกงานศิลปะนามธรรมอันรุนแรงและทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่

และพลิกนิยามใหม่ๆ ของการทำงานศิลปะ ทั้งงานวาดเส้น งานจิตรกรรม และการแสดงออกทางศิลปะใหม่ๆ ขึ้นมา

แจ๊กสัน พอลล็อก เกิดในปี 1912 ที่เมืองโคดี้ รัฐไวโอมิง สหรัฐอเมริกา

ด้วยชีวิตวัยเด็กอันยากลำบากและไม่มั่นคง หล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนขบถและหัวรั้น อันจะส่งผลถึงแนวทางการใช้ชีวิตและทำงานของเขาในภายหลัง

ในช่วงแรก เขาเริ่มต้นทำงานในรูปแบบของศิลปะรูปธรรม โดยในปี 1929 เขาเข้าเรียนในสถาบัน Art Students League ในนิวยอร์ก ภายใต้การสอนของโธมัส ฮาร์ต เบนตัน (Thomas Hart Benton) ศิลปินแนว Regionalism

ในช่วงปี 1930 พอลล็อกทำงานในสไตล์ Regionalist ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตในชนบทในรูปแบบเหมือนจริงออกมา

เขายังได้รับอิทธิพลจากศิลปินโซเชียลเรียลลิสต์ (Social Realism) ผู้เป็นเสาหลักของวงการศิลปะเม็กซิกัน อย่างดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera) ดาวิด ซิเกอิรอส (David Siqueiros) และโฆเซ่ โอรอซโก (Jos? Clemente Orozco)

ในช่วงปี 1939 พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) จัดแสดงผลงานย้อนหลังของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวสเปนอย่างปาโบล ปิกัสโซ่ หนึ่งในนั้นมีผลงานชิ้นเอกอันเลื่องชื่อของเขาอย่าง Guernica (1937)

การได้ชมผลงานศิลปะแบบคิวบิสซึ่มของปิกัสโซ่เปิดมุมมองใหม่ๆ ในการใช้รูปทรง พื้นที่ว่าง และองค์ประกอบให้พอลล็อก ผนวกกับอิทธิพลจากการทำงานของกระแสเคลื่อนไหวเซอร์เรียลลิสต์ ที่มุ่งเน้นในการแสดงออกซึ่งการทำงานอย่างฉับพลันจากจิตไร้สำนึกถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะล้ำจินตนาการ ที่ไร้เรื่องราว เหตุผล และตรรกะรองรับ

อิทธิพลของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้า (avant-garde) จากยุโรปเหล่านี้ ส่งผลให้พอลล็อกตระหนักถึงพลังในการแสดงออกของศิลปะสมัยใหม่

และทำให้เขาละทิ้งแนวทางการทำงานเหมือนจริงแบบเดิมๆ หันมาหาแนวทางใหม่อย่างการทำงานแบบกึ่งนามธรรมแทน

ในช่วงปีเดียวกันพอลล็อกที่ทุกข์ทรมานจากอาการติดสุราเรื้อรัง ได้เข้าบำบัดกับนักจิตวิเคราะห์ และได้รับคำแนะนำให้บำบัดอาการด้วยการทำงานวาดเส้น ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการในการทำงานวาดภาพของเขาในเวลาต่อมา

ประสบการณ์จากการบำบัดนี้ ทำให้พอลล็อกตระหนักว่าภาพวาดของเขาไม่เพียงเป็นการแสดงออกทางจิตใจของเขาเท่านั้น หากแต่ยังแสดงออกถึงความหวาดกลัวของมนุษยชาติในยุคสมัยใหม่ผู้อาศัยอยู่ในเงามืดของสงครามนิวเคลียร์อีกด้วย

ในปี 1930 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เหล่าศิลปินหัวหอกของกลุ่มหัวก้าวหน้าจากยุโรปต่างลี้ภัยสงครามมายังสหรัฐอเมริกา ทำให้ศิลปินอเมริกันได้รับอิทธิพลทางความคิดจากศิลปินเหล่านั้นอย่างมาก และนำมาปรับเปลี่ยนสไตล์ให้เข้ากับอารมณ์ความรู้สึกยุคหลังสงครามที่อเมริกาเพิ่งบอบช้ำจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ และการถูกโดดเดี่ยวทางวัฒนธรรม

จนพัฒนากลายเป็นกระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะอีกแนวทางหนึ่งในช่วงยุค 1940 ที่มีชื่อว่าแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกระแสศิลปะนามธรรม (Abstract) ในการแสดงออกของอารมณ์ความรู้สึกผ่านการทำงานศิลปะที่ไม่ยึดติดกับความเป็นจริง และเน้นการสำแดงความเคลื่อนไหวแบบฉับพลันและรุนแรงตามสัญชาตญาณของศิลปะเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Expressionism) รวมถึงใช้ประโยชน์จากการทำงานโดยอัตโนมัติของจิตไร้สำนึกของศิลปะเซอร์เรียลลิสต์

ซึ่งแจ๊กสัน พอลล็อกเองก็เป็นศิลปินคนสำคัญที่อยู่ร่วมในกระแสเคลื่อนไหวนี้ด้วย

ในช่วงนี้นี่เอง พอลล็อกพัฒนาเทคนิคการทำงานจิตรกรรมที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ด้วยการวางผืนผ้าใบลงบนพื้น แล้วเยื้องย่างร่างกายไปรอบๆ และหยด, สะบัด, ตวัด, สาด, เท สีลงบนผืนผ้าใบด้วยท่วงทีอันเข้มแข็งเปี่ยมพลัง

การทำงานเช่นนี้ทำให้เขาสามารถมองเห็นและวาดภาพได้จากทุกมุมมอง เขายังใช้สื่อและวัสดุแปลกแหวกแนวในการวาดภาพอย่างสีทาบ้าน, สีอุตสาหกรรม, กรวดทราย รวมถึงก้นบุหรี่และข้าวของที่ร่วงจากกระเป๋าเสื้อหล่นลงไปในภาพวาด

เทคนิคนี้ถูกขนานนามในเวลาต่อมาว่า “แอ๊กชั่น เพนติ้ง” (Action Painting) โดยฮาโรลด์ โรเซนเบิร์ก (Harold Rosenberg) นักวิจารณ์/นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และภัณฑารักษ์ชื่อดังชาวอเมริกัน เพื่อนิยามการทำงานจิตรกรรมที่ใช้วิธีการวาดภาพที่แตกต่างจากการจับพู่กันวาดภาพตามปกติ หากแต่ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายแทบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นแขน ไหล่ ขา ราวกับจะสำแดงท่วงทีร่ายรำและใช้สีสร้างภาพวาดนามธรรมอันรุนแรงเปี่ยมอารมณ์ให้ปรากฏขึ้นมา

แจ็คสันพอลล็อคขณะกําลังทํางานแอ็กชั่นเพนติ้ง, ภาพจากhttps://bit.ly/3hcpDZW

การทำงานศิลปะนามธรรมอันสุดขั้วของพอลล็อก สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการศิลปะสมัยใหม่อย่างมาก ได้รับคำวิจารณ์แตกต่างหลากหลาย

บ้างก็ยกย่องชื่นชมในความฉับไวและทรงพลัง

บ้างก็เย้ยหยันถากถางว่าเป็นวิธีการทำงานนอกคอก มักง่าย และไม่เป็นศิลปะ

แต่ในภายหลังผลงานลักษณะนี้ของเขาได้รับการยอมรับอย่างสูงในโลกศิลปะ ถูกแสดงในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำและเป็นที่หมายปองของนักสะสมทั่วโลก

บางภาพถูกขายในราคาถึง 200 ล้านเหรียญเลยทีเดียว

วิธีการทำงานอันแปลกใหม่ รุนแรง ทรงพลังของพอลล็อกกลายเป็นจุดสนใจอย่างมหาศาลในหมู่สื่อมวลชน ในเดือนสิงหาคม 1949 นิตยสาร Life ลงสกู๊ปเด่นในเล่มโดยพาดหัวบทความว่า “Jackson Pollock : Is he the greatest living painter in the United States?” (แจ๊กสัน พอลล็อก : เป็นจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาที่ยังมีชีวิตอยู่หรือ?)

Full Fathom Five (1947)

ซึ่งแฝงนัยยะในเชิงยกย่องและเย้ยหยันไปพร้อมๆ กัน

ในปี 1951 นิตยสาร Vogue ลงเซ็ตแฟชั่นเด่นในเล่มโดยมีนางแบบโพสท่าถ่ายรูปหน้าภาพวาดสาดสีของพอลล็อก

แต่ในยามที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพศิลปิน พอลล็อกกลับละทิ้งสไตล์การทำงานแบบนามธรรมสาดสีที่สร้างชื่อเสียงให้เขา หันมาทำงานด้วยสีสันมืดมิด และหวนกลับไปทำงานแบบรูปธรรมมากขึ้น

ถึงแม้จะมีสถานภาพเป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดในวงการศิลปะอเมริกัน และเป็นหนึ่งในศิลปินหัวก้าวหน้าที่ล้ำหน้าที่สุดแห่งยุคสมัย แต่เขากลับต้องทุกข์ทรมานกับปัญหาชีวิตส่วนตัวที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความล้มเหลวในชีวิตครอบครัว และการติดสุราเรื้อรัง จนต้องหยุดทำงานศิลปะ

กระทั่งในปี 1956 พอลล็อกก็ประสบอุบัติเหตุจากการขับรถขณะเมาสุราจนเสียชีวิต

ทุกวันนี้ แจ๊กสัน พอลล็อก ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในศิลปินอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 เขาผสานจุดเด่นของศิลปะหัวก้าวหน้าแห่งยุคสมัยใหม่อย่างคิวบิสซึ่ม, เซอร์เรียลลิสต์, อิมเพรสชั่นนิสต์ และยกระดับขึ้นไปอีกหลายขั้น สิ่งนี้ส่งให้เขามีสถานภาพเทียบเคียงกับศิลปินระดับตำนานอย่างปิกัสโซ่

ผลงานและแนวทางการทำงานของเขาส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังมากมาย, ในปี 1958 อลัน คาโพรว ศิลปินหัวก้าวหน้าชาวอเมริกันผู้บุกเบิกงานศิลปะแสดงสดและแนวทางศิลปะอันแหวกแนวอย่างแฮพเพนนิ่งอาร์ต กล่าวว่า พอลล็อกเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการก้าวพ้นขอบเขตของการทำงานจิตรกรรม

Number 5 (1948)

ฮาโรลด์ โรเซนเบิร์ก กล่าวว่า การเยื้องย้ายร่างกายสาดราดรดสีไปรอบๆ ผืนผ้าใบของพอลล็อก ไม่เพียงสร้างนิยามใหม่ให้แก่การทำงานจิตรกรรม หากแต่ทำให้ผืนผ้าใบกลายเป็นเวทีของงานศิลปะแสดงสดในรูปแบบหนึ่งด้วย

Mural on Indian Red Ground (1950)

เรื่องราวของพอลล็อกถูกถ่ายทอดทั้งในรูปแบบของหนังสือ ภาพยนตร์ชีวประวัติ รวมถึงนิทรรศการแสดงผลงานย้อนหลังครั้งใหญ่มากมาย

ทำให้เขาไม่เพียงเป็นภาพแทนของศิลปินหัวขบถแปลกแยกผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น

หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะสมัยใหม่จวบจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูล หนังสือ This is Pollock โดย Catherine Ingram, เว็บไซต์ https://bit.ly/328b3OU, https://bit.ly/2DF40DY, https://bit.ly/2R89sCA อ่านเกี่ยวกับแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ได้ที่นี่ https://bit.ly/2ZgfLsg