วิเคราะห์มุมฝ่ายความมั่นคง 19 กันยาฯ : ตร.ปลดอาวุธ ถือ กม.จัดการม็อบ แกนนำ น.ศ.เอาไม่อยู่-มือที่ 3 ป่วน??

ย้อนไปกลางเดือนสิงหาคม คณะประชาชนปลดแอกประกาศกลางเวทีราชดำเนิน ให้รัฐบาลสนอง 3 ข้อเรียกร้อง “ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และหยุดคุกคามประชาชน” ที่สำคัญต้องให้ 250 ส.ว.ยุติบทบาท และขีดเส้นตายนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 19 กันยายนนี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หากไร้เสียงตอบกลับจากรัฐ

แต่ในที่สุดรัฐบาลไม่มีสัญญาณตอบรับ อีเวนต์การเมืองที่สำคัญจึงเกิดขึ้นในชื่อ “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร”

เริ่มตั้งแต่ 14.00 น. จนถึง 08.00 น.วันถัดไป ก่อนเคลื่อนพลไปยังทำเนียบรัฐบาล

ต่อมากระแสข่าวบิ๊กนครบาลออกมาบอกว่าจะงัด “แผนกรกฎ 52” ควบคุมสถานการณ์ชุมนุม ซึ่งเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ อดีตประธานสหภาพแกนนำนักเรียน นิสิต และนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) พูดระหว่างแถลงแนวทางการชุมนุมว่าเป็นการปล่อยข่าวจากฝ่ายความมั่นคงเพื่อหวังข่มขู่

หากมีผู้ร่วมชุมนุมมากเกินมหาวิทยาลัยจะรองรับได้ ก็จะเคลื่อนพลไปปักหลักที่สนามหลวง

สําหรับแผนกรกฎ มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน คือ

1. เตรียมรับมือก่อนเกิดเหตุ โดยประสานข้อมูลแต่ละหน่วย เตรียมกำลังซักซ้อมและเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจก่อนควบคุมสถานการณ์

2. เผชิญหน้าขณะเกิดเหตุ เริ่มจากเจรจาต่อรอง สืบสวนรวบรวมหลักฐาน หากการกระทำใดละเมิดกฎหมายหรือสิทธิส่วนตัวบุคคลให้ใช้มาตรการตามกฎหมายโดยร้องขอต่อศาล พร้อมสั่งให้ยุติการกระทำ

3. การใช้กำลังคลี่คลายสถานการณ์ เริ่มจากการตักเตือน จับกุมมือเปล่า ใช้เครื่องพันธนาการ คลื่นเสียง ฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา กระบอง จบที่กระสุนยาง

และ 4. การฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ หากมีทรัพย์สินราชการเสียหายต้องบูรณะตามคำร้องขอ และติดตามหาตัวผู้กระทำผิด

พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานความมั่นคง เปิดเผยว่า การบังคับใช้แผนกรกฎ 52 เพื่อควบคุมการชุมนุมนั้นไม่มีแน่นอน

เนื่องจากมีมาตรการตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะไว้กำกับดูแลอยู่แล้ว

เหตุที่เมื่อก่อนใช้แผนกรกฎ 52 เพราะยังไม่มี พ.ร.บ.ชุมนุม ไม่ทราบว่ากลุ่มนักศึกษาไปนำข่าวนี้มาจากไหน?

ส่วนการใช้พื้นที่สนามหลวง แม้ผู้ชุมนุมจะไปขอใช้สถานที่จากสำนักงานเขตพระนคร ผู้รับผิดชอบ ก็ไม่อาจทำได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ให้จัดการชุมนุมในสถานที่ราชการหรือโบราณสถาน หากมีความพยายามเข้าไป ตำรวจก็ต้องเจรจาห้ามไม่ให้เข้า แต่หากฝ่าฝืนบุกรุกเข้าไป ก็ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

จึงขอแนะนำว่าไม่ควรเข้าไปเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบสันติ ปราศจากอาวุธและสุจริต

ส่วนข่าวการซักซ้อมกำลังควบคุมฝูงชนของตำรวจ นับเป็นเรื่องปกติที่ต้องซ้อมแผนเผชิญเหตุ เพราะแต่ละท้องที่มีภูมิประเทศที่ต่างกัน ถ้ามีเหตุฉุกเฉินอาจถูกเรียกเข้ามาสนับสนุนได้ จึงต้องซ้อมกำลังเตรียมพร้อมเสมอ

และในการชุมนุม หน้าที่ตำรวจคือการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในกลุ่มผู้ชุมนุมและสถานที่ราชการไม่ให้เกิดความเสียหายหรือได้รับอันตรายจากมือที่สาม ไม่ใช่สลายการชุมนุม

โดยตำรวจจะตั้งจุดสกัดอาวุธและจุดคัดกรองโควิด-19 จึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นอาวุธและตรวจวัดอุณหภูมิเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคและภัยอันตราย

“สำหรับการประเมินการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาในครั้งนี้ นับว่าแตกต่างจากกลุ่มชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ถามว่าการปักหลักค้างคืนที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลานั้นเกินคาดหรือไม่ ตอบตามตรงว่ารูปแบบการก่อม็อบของนักศึกษานั้นคาดการณ์ได้ยาก เพราะมีรูปแบบไม่ชัดเจน กรณีนี้ยกตัวอย่างว่ามีแกนนำชุมนุมรายหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กเตรียมแจกหนังสือให้ผู้ชุมนุมหลักแสนเล่ม แต่จะมาถึงนั่นหรือไม่ ไม่อาจทราบได้”

พล.ต.ต.สมประสงค์กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงได้วิเคราะห์สถานการณ์แล้วมีความกังวลถึงการสร้างสถานการณ์จากกลุ่มมือที่สาม เนื่องจากพบว่ามีการ์ดเสื้อสีแฝงตัวเข้ามาผสมปนเปกับนักศึกษามากขึ้น ยังไม่ทราบว่าจะมีกลุ่มหัวรุนแรงที่มีประวัติเข้ามาแฝงตัวร่วมด้วยหรือไม่ เพราะคนเหล่านี้มักจะมายุยงส่งเสริมและชี้นำเด็กๆ โดยหวังผลประโยชน์แอบแฝง ประจวบเหมาะกับแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง พร้อมยืนยันจะออกมาเคลื่อนไหวนอกสภา ถือเป็นการส่งสัญญาณที่น่ากังวล เพราะเชื่อว่าจะต้องมีกลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนตามกันขึ้นมาร่วมชุมนุมด้วย

กระนั้น เจ้าหน้าที่ไม่มีความกังวลเรื่องความรุนแรงจากกลุ่มนักศึกษา เพียงแต่บางสถานการณ์แกนนำอาจไม่มีวุฒิภาวะมากพอที่จะควบคุมเหตุไม่ให้บานปลายได้

ขณะเดียวกันกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีแผนระดมกวาดล้างอาชญากรรมก่อนการชุมนุมใหญ่อย่างเข้มข้น โดยให้กองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 ตั้งจุดสกัดจับอาวุธและยาเสพติดสิ่งผิดกฎหมายตามเส้นทางเข้า-ออกพื้นที่สำคัญรอบกรุงเทพฯ พร้อมประสานตำรวจจราจรกลางและตำรวจภูธรช่วยตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนำอาวุธเข้ามา และในวันชุมนุมจะมีกำลังตำรวจคอยดูแลความสงบพร้อมอำนวยการจราจรรวมทั้งสิ้น 20 กองร้อย หรือ 3,100 นาย ดูแลรอบพื้นที่มหาวิทยาลัย 3 กองร้อย สนามหลวง 6 กองร้อย ระหว่างเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาลอีก 3 กองร้อย

จากภาพรวมแนวทางรับมือของตำรวจแม้จะดูวางมาดขึงขัง ท้ายสุดเพื่อเป็นการลดแรงปะทะ เชื่อว่าคงยอมถอยให้ผู้ชุมนุมใช้พื้นที่สนามหลวงได้ แล้วค่อยตามเช็กบิลแกนนำหรือผู้ชุมนุมที่กระทำผิดเป็นรายบุคคลให้เป็นข่าวรายวันอย่างเคย

จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความเดือดของการชุมนุมครั้งนี้ จะร้อนระอุทะลุปรอทเพียงใด