สองทศวรรษ “Almost Famous” “วารสารศาสตร์” ที่เปลี่ยนแปลง “วัฒนธรรมแฟนคลับ” ที่เปลี่ยนไป | คนมองหนัง

คนมองหนัง

เดือนกันยายน ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) เป็นวาระครบรอบ 20 ปี ที่ภาพยนตร์เรื่อง “Almost Famous” โดย “คาเมรอน โครว์” ได้เข้าฉายในโรงหนัง

นี่คือผลงานที่สร้างชื่อเสียงและเป็นที่รักของผู้ชมมากที่สุดเรื่องหนึ่งของโครว์ โดย “Almost Famous” ได้เข้าชิงออสการ์ในปี 2001 รวมทั้งสิ้น 4 สาขา และได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมไปครอง

คนดูส่วนใหญ่มักกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ในฐานะที่มันเป็นหนังกึ่งอัตชีวประวัติของผู้กำกับฯ, หนังที่พูดถึงวัฒนธรรมดนตรีร็อกกลางทศวรรษ 1970 และจดหมายรักถึงวงการเพลง

อย่างไรก็ตาม “สกอตต์ โทเบียส” คอลัมนิสต์ของเดอะการ์เดียน กลับชี้ให้เห็นว่าหนึ่งในประเด็นใหญ่ที่ “Almost Famous” นำเสนอนั้นเกี่ยวพันกับหลักการสำคัญทางวารสารศาสตร์

“Almost Famous” เล่าเรื่องราวของ “วิลเลียม มิลเลอร์” (รับบทโดย “แพทริก ฟูกิต”) เด็กหนุ่มวัย 16 ปี ผู้ตัดสินใจออกไปเผชิญโลกกว้าง หลังเขาได้รับมอบหมายจากนิตยสารเพลงชื่อดังให้เดินทางติดตามวงดนตรีชื่อ “Stillwater” ระหว่างการตระเวนเล่นคอนเสิร์ต

เพื่อนำประสบการณ์จากการออกทัวร์ดังกล่าวมาเขียนเรียบเรียงเป็นรายงานลงในสื่อสิ่งพิมพ์

ในการนี้ ตัวละคร “เลสเตอร์ แบงส์” (รับบทโดย “ฟิลิป ซีย์มัวร์ ฮอฟฟ์แมน” ผู้ล่วงลับ) คอลัมนิสต์ดนตรีระดับตำนาน ได้กล่าวเตือนหนุ่มน้อยวิลเลียมเอาไว้ว่า “คน (นักดนตรี) พวกนี้ไม่ใช่เพื่อนของคุณนะ”

ตามความเห็นของโทเบียส สารดังกล่าวในหนังของคาเมรอน โครว์ นั้นได้เน้นย้ำถึงหลักปฏิบัติในทางวารสารศาสตร์ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กับสารจากภาพยนตร์เรื่อง “All the President”s Men” (แม้ “Almost Famous” จะไม่สามารถพังทลายวอเตอร์เกตลงได้ก็ตาม)

เพราะคำสอนของสื่อรุ่นพ่อได้ทำให้นักเขียนฝึกหัดวัยมัธยมต้องตระหนักว่าสถานภาพการเป็น “แฟนเพลง” ของตนเอง กับการเป็น “สื่อมวลชน” นั้นควรมีระยะห่างระหว่างกัน โดยเฉพาะเมื่อเขากำลังเดินทางเข้าสู่โลกแห่งเสียงเพลงและความบันเทิงอันแสนยั่วยวนใจ

หากมองในแง่นี้ “บ็อบ วูดเวิร์ด” และ “คาร์ล เบิร์นสไตน์” สื่อมวลชนผู้สืบสวนสอบสวนกรณีวอเตอร์เกต ก็ดูเหมือนจะไม่ประสบปัญหาหนักหนาสาหัสนัก ในการแยกตัวเองออกมาจากบุคลากรภาครัฐที่ทุจริต

ตรงข้ามกับตัวละคร “วิลเลียม มิลเลอร์” ที่ต้องเข้าไปพัวพันและพยายามรักษาระยะห่างจากยอดมือกีตาร์ร็อก ที่ต้องการใครสักคน (แฟนเพลง) มาหนุนเสริมให้เขาดูเท่/ทรงคุณค่า

โจทย์ที่แฟนเพลง/สื่อวัยกระเตาะเช่นวิลเลียมพบเจอจึงไม่ใช่เรื่องง่ายดายเอาเสียเลย

สองทศวรรษผ่านไป แม้สกอตต์ โทเบียส จะแสดงทัศนะว่าหลักการทางวารสารศาสตร์ที่ปรากฏใน “Almost Famous” ยังคงมีความสำคัญและสมควรได้รับการตระหนักถึง

ทว่าต้องยอมรับว่าหลายสิ่งหลายอย่างได้ผันแปรไปอย่างมากมายในยุครุ่งเรืองของโซเชียลมีเดีย กระทั่งพรมแดนระหว่างสื่อมวลชนกับแหล่งข่าว/ศิลปิน หรือการประกอบวิชาชีพสื่อกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจชนิดล้ำเส้น ล้วนพร่าเลือนไปหมดแล้ว

อีกประเด็นหนึ่ง ที่ภาพยนตร์เรื่อง “Almost Famous” ก่อประเด็นถกเถียงไว้ค่อนข้างเยอะ ก็คือการปรากฏขึ้นของตัวละครชื่อ “เพนนี เลน” (สวมบทโดย “เคต ฮัดสัน”)

ในหนังเรื่องนี้ คาเมรอน โครว์ พยายามจะปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ในแง่ลบของเหล่า “กรุ๊ปปี้” (หญิงสาวที่คอยเดินทางตามวงดนตรีต่างๆ) โดยเขียนบทให้เพนนีนิยามตนเองว่าเป็น “ผู้สนับสนุนวงดนตรี” (Band-Aid) ซึ่งมีความรักในเสียงเพลง และสร้างสรรค์แรงบันดาลใจด้วยเสียงดนตรี แต่ไม่ได้หวังจะร่วมรักกับเหล่านักร้อง-นักดนตรีเพศชาย

โทเบียสวิจารณ์ว่า หากพิจารณาผ่านภาพยนตร์ในเวอร์ชั่นปกติ (ไม่ใช่ฉบับตัดต่อโดยผู้กำกับฯ) “เพนนี เลน” ก็เป็นคล้ายสิ่งประดิษฐ์ชวนฝัน ซึ่งถูกประกอบสร้างขึ้นมาเป็นตัวเร่งเร้าให้วิลเลียมเติบโตเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จ

ทว่าหนึ่งในคนที่วิพากษ์ “Almost Famous” ในประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าฟัง ก็คือสตรีวัย 72 ปี ชื่อ “พาเมลา เดส์ บาร์ส”

เดส์ บาร์ส เป็นอดีตกรุ๊ปปี้ (รวมทั้งนักดนตรี-นักแสดง) ที่เคยมีสัมพันธ์กับมิก แจ็กเกอร์, จิมมี เพจ, จิม มอร์ริสัน และนักดนตรีร็อกอีกมากหน้าหลายตา

ที่สำคัญคือเธอเป็นต้นแบบของตัวละคร “เพนนี เลน” ในหนังของโครว์

ในงานเปิดตัว “Almost Famous” เมื่อ 20 ปีก่อน เดส์ บาร์ส ได้รับเชิญให้ไปร่วมชมภาพยนตร์ด้วย หลังหนังจบ เธอได้ทักทายกับเคต ฮัดสัน ซึ่งดารารุ่นลูกได้บอกกล่าวว่าตัวเองต้องอ่านหนังสือ “I”m With the Band” ของเดส์ บาร์ส ก่อนหน้าการถ่ายทำ

นั่นทำให้เดส์ บาร์ส รู้สึกว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมโครว์จึงไม่เชื้อเชิญเธอผู้เป็นกรุ๊ปปี้ตัวจริงเสียงจริงเข้าไปร่วมถ่ายทอดประสบการณ์หรือมีส่วนร่วมด้านอื่นๆ ในกระบวนการสร้างหนังเรื่องนี้เสียเลย (เช่น เป็นที่ปรึกษากองถ่าย)

ยิ่งกว่านั้น เดส์ บาร์ส ยังอ้างว่าเธอเคยเขียนบทภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องกรุ๊ปปี้เอาไว้อยู่เหมือนกัน แต่การอุบัติขึ้นของ “Almost Famous” ได้ส่งผลให้โครงการของเธอต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย

จนในแง่หนึ่ง เธอรู้สึกว่าตนเองถูก “ลักขโมย” ผลงานไป

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือการวิพากษ์การสร้างตัวละคร “เพนนี เลน” ของ “คาเมรอน โครว์” โดย “พาเมลา เดส์ บาร์ส”

ในด้านหนึ่ง เดส์ บาร์ส ปฏิเสธว่าเธอและเพื่อนๆ อดีตกรุ๊ปปี้ ไม่ได้รังเกียจภาพยนตร์เรื่อง “Almost Famous” อย่างสิ้นเชิง ตรงกันข้าม เธอมองว่าโครว์ได้พยายามปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของหญิงสาวหน้า-หลังเวทีเพลงร็อก มิให้เป็นเพียงสตรีวัยรุ่นโง่เง่า ที่คอยทำอะไรต่างๆ นานาตามความปรารถนาของศิลปินชาย หรือมีภาพลักษณ์ผูกโยงกับเรื่องเซ็กซ์เท่านั้น

(แม้เดส์ บาร์ส จะไม่ค่อยชอบประโยคคำพูดตอนหนึ่งของเพนนี เลน ซึ่งพยายามด้อยค่าคำว่า “กรุ๊ปปี้” แล้วแทนที่/เหยียบย่ำมันด้วยคำว่า “ผู้สนับสนุนวงดนตรี”)

แต่อีกด้านหนึ่ง อดีตกรุ๊ปปี้เมื่อหลายทศวรรษก่อนก็มองว่าโครว์พยายามฟอกขาวให้บรรดาหญิงสาวในโลกดนตรีร็อก กระทั่งเรื่องราวของพวกเธอที่ปรากฏในหนังกลายเป็นการ์ตูนดิสนีย์อันแสนจืดชืด

เดส์ บาร์ส เชื่อว่าความบกพร่องดังกล่าวอาจเกิดจากการที่โครว์พยายามสะท้อนการตีความสังคมร็อกแอนด์โรลจากมุมมองในช่วงวัยเยาว์ของตนเอง (“คาเมรอน โครว์” เริ่มเป็นคอลัมนิสต์ด้านดนตรีในวัย 15-16 ปี เช่นเดียวกับตัวละคร “วิลเลียม มิลเลอร์”)

หรือบางที มันอาจเกิดจากแฟนตาซีไร้เดียงสาตามมุมมอง/อคติของมนุษย์เพศชาย

รายละเอียดประการหนึ่งที่เดส์ บาร์ส รับไม่ได้ คือเหตุการณ์ตอนที่ “เพนนี เลน” ผิดหวังในความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับตัวละครมือกีตาร์ร็อกชื่อ “รัสเซลล์ แฮมมอนด์” (รับบทโดย “บิลลี ครูดัพ”) จน “ผู้สนับสนุนวง” ที่รักในเสียงดนตรี เกือบจะตัดสินใจปลิดชีวิตตนเอง เพราะผู้ชายเลวๆ คนหนึ่ง

เดส์ บาร์ส บอกว่า กรุ๊ปปี้ตัวจริงเช่นเธอและเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันไม่มีทางคิดสั้นเช่นนั้นเด็ดขาด เพราะในความเป็นจริงเมื่อหลายสิบปีก่อน หากศิลปิน/ชายคนหนึ่งทอดทิ้งพวกเธอไป ก็จะมีคนหน้าใหม่ๆ เดินเข้ามา จนเหล่ากรุ๊ปปี้ไม่มีเวลาหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต

วิธีคิดของตัวละคร “เพนนี เลน” จึงสะท้อนถึงอคติที่ผู้กำกับฯ “คาเมรอน โครว์” มีต่อเพศหญิง

ไม่แน่ใจว่าเรื่องราวดราม่าความขัดแย้งเกี่ยวกับ “กรุ๊ปปี้” ในทำนองนี้จะยังน่าสนใจและทรงพลังอยู่หรือไม่? เมื่อวัฒนธรรมว่าด้วยผู้บริโภคในอุตสาหกรรมบันเทิงได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลและไม่รู้จบ

มาสู่การก่อตัวของ “แฟนคลับ” ในทศวรรษต่อๆ มา

รวมถึงการดำรงอยู่ “แฟนด้อม/ติ่ง/โอตะ” ในกระแสวัฒนธรรมไอดอลยุคปัจจุบัน

ข้อมูลจาก

https://www.vulture.com/2020/09/the-real-penny-lane-pamela-de-barres-on-almost-famous.html

https://www.theguardian.com/film/2020/sep/14/almost-famous-at-20-cameron-crowe-warm-hearted-ode-to-music-journalism