วงค์ ตาวัน | 19 กันยายน 49 และ 63

วงค์ ตาวัน

เรื่องราวของ 19 กันยายน ได้กลับมาร้อนแรงในสังคมไทยอีกครั้ง ทั้งเป็นการย้อนทบทวนเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และทั้งพูดถึง 19 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันนัดชุมนุมแบบ “เบิ้มๆ คือลอ” ของเยาวชน นักเรียน-นักศึกษา ในสถานที่ประวัติศาสตร์การต่อสู้การเมืองไทยคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

แม้ว่าการชุมนุม 19 กันยายนนี้ ไม่มีการอธิบายความหมาย ว่าทำไมเลือกเอาวันดังกล่าว แต่ก็ทำให้ทุกคนต้องนึกถึงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในทันที

“เพราะเป็นการรัฐประหารที่เป็นจุดเริ่มต้นของการถอยการเมืองไทยให้กลับไปสู่การเมืองแบบอนุรักษนิยมในรอบล่าสุด”

19 กันยายน 2549 แล้วซ้ำด้วย 22 พฤษภาคม 2557 ที่ทำให้ถอยไปไกลสุดกู่

อันเป็นปมเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มทนไม่ไหว และลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเป็นขบวนใหญ่ในขณะนี้

เพื่อผลักดันการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เปี่ยมด้วยสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง อันจะนำมาซึ่งความหลากหลายทางความคิด ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่พัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุดหน้า

“เพราะบ้านเมืองที่อยู่ในมือของรัฐบาลที่เป็นกลุ่มผูกขาดเป็นกลุ่มคนหยิบมือเดียว ปิดกั้นควบคุมประชาชน จะเป็นสังคมที่แคบตื้น ประเทศชาติก็จะไม่มีความเจริญก้าวหน้าใดๆ”

จะว่าไปแล้ว ความพยายามจะทำให้การเมืองไทยถอยไปสู่ยุคล้าหลัง อำนาจอยู่ในมือของกลุ่มขุนศึกขุนนางเช่นในยุคอดีตนั้น มีความพยายามมาตลอด

แต่ในวงรอบหลังสุดนี้ ต้องนับว่าจุดเริ่มต้นคือเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

โดยก่อนหน้านั้น นับจากเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทำให้ระบบพรรคการเมืองไทยแข็งแกร่ง เกิดพรรคการเมืองที่สร้างนโยบายเข้าถึงประชาชนแบบพลิกโฉมหน้าสังคมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้มีนายกรัฐมนตรีที่มีฐานมวลชนนิยมล้นหลาม

จึงเริ่มสร้างความหวาดระแวงอย่างมากจากฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง เริ่มเกิดกระแสความไม่พอใจต่อการเมืองไทยในระบบนี้จากฝ่ายอำนาจเก่าอย่างชัดแจ้ง

“จังหวะนั้นเองได้เกิดความขัดแย้งระหว่างคน 2 คน ในเรื่องการลงทุนเปิดสถานีโทรทัศน์ใหม่ โดยรัฐบาลเห็นว่าอนุมัติให้ไม่ได้ จึงเกิดการขัดแย้งแตกหัก เพื่อนรักกลายเป็นเพื่อนแค้น!!”

ประกอบกับรู้ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองไทยกำลังหวาดระแวงรัฐบาลชุดนั้นอย่างยิ่ง ก็เลยเกิดแผนโค่นล้ม

เกิดม็อบขับไล่รัฐบาล จุดประเด็นการเมืองในยุคทุนสามานย์

แต่เพราะรู้ดีว่ารัฐบาลขณะนั้นมีฐานประชาชนที่หนาแน่น การปลุกม็อบไปล้มรัฐบาลทำได้ไม่สำเร็จแน่ ก็เลยปูทางสร้างกระแสให้รถถัง แอบอิงฝ่ายอนุรักษนิยมให้ช่วยกันโค่น

จนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ความที่คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยังใช้แนวทางของคณะรัฐประหารรุ่นพี่ นั่นคือ ยึดอำนาจเสร็จ รีบตั้งรัฐบาลที่มีคนกลางมาบริหาร แล้วทหารก็ถอยกลับไป พร้อมกับเร่งร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1 ปี เพื่อกลับสู่บรรยากาศประชาธิปไตยปกติโดยเร็ว

ไม่เช่นนั้นจะรับมือปัญหาเศรษฐกิจไม่ไหว แล้วจะเกิดแรงต่อต้านจากนักประชาธิปไตยรุนแรง

แต่การเลือกตั้งในปลายปี 2550 ผลออกมาเป็นชัยชนะของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามทหารอีก จากนั้นเลือกตั้งอีกในปี 2554 พรรคฝ่ายเครือข่ายทักษิณก็ยังชนะท่วมท้นอีก

จึงเกิดแผนต้องรัฐประหารซ้ำ เพราะที่ทำหนแรกนั้นไม่เด็ดขาด ทำให้เสียของ

ขณะที่สูตรการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้น เริ่มต้นด้วยม็อบเสื้อเหลือง จัดชุมนุมต่อต้านรัฐบาล โหมกระแสโจมตีด้านเลวร้าย ลงเอยเรียกร้องให้ทหารออกมาหยุดนักการเมืองชั่ว หยุดกลุ่มทุนสามานย์ ปูทางจนได้ที่ ก็เกิดการยึดอำนาจล้มรัฐบาลในที่สุด

“สูตรเดียวกัน ยังนำมาใช้อีกในปี 2557”

เกิดม็อบนกหวีด ต่อต้านรัฐบาลด้วยชนวน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อมารัฐบาลยอมถอยด้วยการปล่อยให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวสิ้นสภาพ พร้อมกับถอยกรูดอีกจังหวะด้วยการประกาศยุบสภา เพื่อจัดเลือกตั้งใหม่

แต่แทนที่แกนนำม็อบจะยอมเลือกหนทางที่รักษาประชาธิปไตยเอาไว้ นำมวลมหาประชาชนเข้าคูหา เพื่อล้มพรรคเพื่อไทย ด้วยวิถีทางประชาธิปไตยที่ทั่วโลกยอมรับ

“กลับไม่ยอมเลือกทางนี้ อ้างว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพื่อจะไม่ยอมให้เลือกตั้ง”

ลงเอยก็ตามสูตรคือ เกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

แต่คราวนี้เพื่อไม่ให้เสียของ เลยยึดครองอำนาจยาวนาน เป็นรัฐบาลทหาร 5 ปี แล้วเป็นรัฐบาลต่ออีก ภายใต้เสื้อคลุมการเลือกตั้ง

โดยเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่สร้างกลไกเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มเดิมอยู่ในอำนาจต่อไป

แค่อำนาจ 250 ส.ว.โหวตนายกฯ เรื่องเดียว ก็คือการละเมิดหลักประชาธิปไตยรุนแรง เอาคนที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน มีอำนาจเหนือเสียงประชาชนหลายล้านที่ไปเลือกตั้ง

“เป็นกติกาที่สร้างความเหลื่อมล้ำ สร้างการผูกขาดอำนาจโจ่งแจ้ง”

แค่เอาชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปใส่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อการนี้

โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องออกหาเสียง ไม่ต้องแสดงตัวเป็นนักการเมืองอะไรเลย แต่ก็คือชื่อที่ล็อกเอาไว้ล่วงหน้าแล้วในตำแหน่งนายกฯ หลังเลือกตั้ง เพราะมีเสียง 250 ส.ว.รออยู่แล้ว

นี่แหละจุดชนวนให้นักเรียน-นักศึกษาไม่ขอทนอีกต่อไป!

การชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษา ประชาชน ที่เป็นมาตลอดโดยส่วนใหญ่ เป็นการชุมนุมต่อสู้เพื่อให้มีประชาธิปไตย เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน จึงเป็นการต่อสู้ที่ได้รับการจารึกยกย่องในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองประชาชน

14 ตุลาคม 2516 ขับไล่รัฐบาลทหาร 3 ทรราช เบิกม่านประชาธิปไตย จากนั้นขบวนการนักศึกษาประชาชนก็เติบโต ต่อสู้เพื่อสร้างสังคมใหม่อย่างต่อเนื่อง จึงต้องเกิด 6 ตุลาคม 2519 เพื่อปราบปรามกวาดล้างขบวนการนักศึกษาประชาชนให้หมดสิ้น

ต่อมาพฤษภาคม 2535 ลุกฮือขับไล่รัฐบาลที่มีผู้นำรัฐประหารเข้ามาเป็นนายกฯ พร้อมกับผลักดันให้รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.ผู้ผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้น

จากนั้น เมษายน-พฤษภาคม 2553 หรือ 99 ศพ เป็นการชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหาร เรียกร้องให้ยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจใหม่

“เหล่านี้คือการต่อสู้ของประชาชน เพื่อประชาธิปไตย เสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชนคนสามัญ!”

แต่ม็อบเสื้อเหลืองเมื่อปี 2549 เพื่อเรียกหาทหารมาล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง จากนั้นม็อบนกหวีดก็มาซ้ำในปี 2557 เรียกหาทหารให้ล้มรัฐบาลประชาธิปไตย

เป็นม็อบที่สวนทางกับการหมุนไปข้างหน้าของโลก

“ทำให้อำนาจการเมืองหลุดลอยจากมือประชาชนส่วนใหญ่ ไปอยู่ในมือคณะขุนศึกขุนนาง ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของใคร!?”

ดังนั้น นักเรียน-นักศึกษาคนรุ่นใหม่จึงต้องบุกขึ้นมาในปี พ.ศ.นี้ ต่อต้านรัฐบาลทหารในสื้อคลุมประชาธิปไตย ไม่เอารัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาเพื่อสร้างการเอารัดเอาเปรียบและการผูกขาดทางการเมืองของคนหยิบมือเดียว

การชุมนุม 19 กันยายน 2563 จึงต้องมี เพื่อลบล้างกระบวนการทำลายประชาธิปไตยเมื่อ 19 กันยายน 2549!