จิตรกรรมที่วัดพระแก้ว และวัดสุวรรณดาราราม ถูกเขียนเพื่อสถาปนารัชกาลที่ 7 เป็นสมมุติเทพ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ถ้ายอมรับว่า การที่พระมหากษัตริย์รับสั่งให้เขียนภาพ, บูรณะ หรือเขียนใหม่ ภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์ในระเบียงคดของวัดสำคัญอย่างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือที่คุ้นปากคนทั่วไปในชื่อวัดพระแก้วมากกว่า) คือการบริหาร (exercise) พระราชอำนาจ (และแน่นอนว่า มีเรื่องเชิงพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง) เพราะกษัตริย์คือ “พระราม” ดังมีชื่อเรียกว่า “รามาธิบดี” ก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่า เอาเข้าจริงแล้ว รัชกาลที่ 7 อาจไม่ได้ทรงมีท่าทีเกี่ยวกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญอะไรเลยก็ได้?

เพราะยังทรงใช้จักรวาลแบบราชาธิปไตย ที่ผูกกับรัฐนาฏกรรมแบบดั้งเดิมในการบริหารพระราชอำนาจของพระองค์อยู่เลย

อย่าลืมนะครับว่า ถึงแม้การบูรณะในครั้งนั้นจะอ้างว่าทำเพื่อสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี แต่ปีนั้นมันตรงกับ พ.ศ.2475 และ 150 ปีของกรุงเทพฯ ก็คือ 150 ปีที่นับจากการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 1

ดังนั้น 150 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ย่อมต้องหมายถึง 150 ปีของการสถาปนาราชวงศ์ด้วย

เรื่องรามเกียรติ์ยังเป็นเรื่องของกษัตริย์ในอุดมคติอย่าง “พระราม” ซึ่งไม่ใช่กษัตริย์ทั่วไปที่ไหน เพราะพระรามเป็นอวตารของ “พระนารายณ์” ที่ลงมาปราบคู่ตรงข้ามคือพวกยักษ์ ที่นำโดยทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นตัวอย่างของสิ่งที่ไม่ดีไม่งามแน่ๆ ในสำนึกของฝ่ายพระราม

และผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่า เมื่อ พ.ศ.2475 ในสำนึกของฝ่ายพระรามนั้น “ยักษ์” พวกนี้คือคนกลุ่มไหน?

 

ในวงวิชาการมีข้อถกเถียงกันมานานแล้วว่า ทำไมอุษาคเนย์ ส่วนภาคผืนแผ่นดินใหญ่ จึงเน้นย้ำแต่ “รามายณะ” ไม่สนใจ “มหาภารตะ” ซึ่งก็คืออีกหนึ่งมหากาพย์สำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั้งๆ ที่คนรุ่นก่อนยุคกรุงเทพฯ ก็รู้จักมหาภารตะ แต่กลับไม่นิยมนำมาใช้ทำ โขน (ซึ่งถ้าจะพูดให้ถึงที่สุดก็คือพิธีกรรมอย่างหนึ่ง) และเขียนเป็นภาพจิตรกรรม มีบทละคร และอะไรต่อมิอะไรอีกสารพัด

ผมคงจะไม่พรรณนาถึงข้อถกเถียงเหล่านั้น เพราะไม่ใช่ประเด็นสำคัญในข้อเขียนชิ้นนี้

แต่อยากให้ลองพิจารณาในแง่ง่ามของการหยิบเอามาใช้งานนั้น

มหาภารตะไม่ให้ภาพของกษัตริย์ที่เป็นสมมุติเทพนัก เพราะพระกฤษณะซึ่งเป็นอวตารของพระนารายณ์ ไม่ใช่พระเอกในท้องเรื่อง แถมมหากาพย์เรื่องนี้ยังไม่มีฝ่ายผู้ร้ายที่ชัดเจน และสุดท้ายตอนจบของท้องเรื่อง มหาภารตะก็บอกว่า ทั้งฝ่ายพระเอกคือกลุ่มปาณฑพ และฝ่ายผู้ร้ายคือเการพนั้นต่างก็ตายแล้วขึ้นสวรรค์เหมือนกันหมด

ซึ่งต่างจากรามายณะชัด เพราะกษัตริย์ที่เป็นตัวเอกคือพระรามนั้นเป็นอวตารของพระนารายณ์ และฝ่ายตรงข้ามเป็นสิ่งชั่วร้าย

ดังนั้น การสถาปนากษัตริย์เป็น “พระราม” นั้นย่อมให้ภาพของการเมืองการปกครองที่คมชัดยิ่งกว่าที่จะเป็น “พระกฤษณะ” ที่ไม่ใช่พระเอกในมหาภารตยุทธ หรือพี่น้องปาณฑพทั้ง 5 ที่แม้จะเป็นพระเอก แต่ก็ไม่ใช่อวตารของพระนารายณ์แน่

 

แต่ว่าวัดพระแก้วไม่ใช่เพียงตัวอย่างเดียวที่รัชกาลที่ 7 โปรดให้บูรณะภาพจิตรกรรมในช่วงใกล้ๆ พ.ศ.2475 อีกกรณีตัวอย่างที่สำคัญมากก็คือ วัดสุวรรณดาราราม ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

ผู้สร้างวัดสุวรรณดารามคือ พระปฐมบรมชนก (พ่อ) ของรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีชื่อเดิมว่า ทองดี เมื่อสร้างวัดนี้แล้ว จึงตั้งชื่อวัดว่าวัดทอง ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์จึงทรงกลับมาบูรณะ และสถาปนาสิ่งปลูกสร้างภายในวัดเพิ่มเติม แล้วโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดสุวรรณดารารามแทน

วัดดังกล่าวยังสร้างขึ้นตรงบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระปฐมบรมชนก โดยตอนที่รัชกาลที่ 1 ทรงบูรณะนั้น พระอนุชาคือกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ได้ยกเขตนิวาสสถานเดิมของพระองค์ให้เป็นที่ของวัดด้วย ดังนั้น วัดสุวรรณดารารามจึงถูกยกให้เป็นวัดประจำราชวงศ์

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 1 ปีคือ พ.ศ.2474 รัชกาลที่ 7 โปรดให้บูรณะวัดนี้ และให้เขียนภาพจิตรกรรมขึ้นใหม่ในพระวิหาร โดยมีลักษณะเป็นภาพจิตรกรรมอย่างตะวันตก คนวาดคือพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ซึ่งมีศักดิ์เป็นตาของอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของไทยคือคุณสมัคร สุนทรเวช แต่ที่วิหารวัดนี้ไม่ได้วาดเรื่อง เกียรติของพระราม เหมือนที่วัดพระแก้วหรอกนะครับ

เพราะเรื่องที่ถูกวาดขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องในปรัมปราคติใดๆ แต่กลับเป็นเกียรติประวัติของบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริงอย่าง “พระนเรศวร” ต่างหาก

 

แน่นอนว่า “พระนเรศวร” ก็ทรงมีลักษณะเป็นกษัตริย์ในอุดมคติตามมุมมองของพงศาวดารและประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

แต่ภาพจิตรกรรมที่วัดแห่งนี้ยังทำให้พระนเรศวรมีลักษณะเชิงปรัมปราคติไม่ต่างจากการที่พระรามเป็นอวตารของพระนารายณ์

เพราะภาพเริ่มต้นของพระราชประวัติพระนเรศวรที่นี่คือ ภาพพระสยามเทวาธิราชไปทูลเชิญพระอิศวรให้จุติมาเป็นพระนเรศวร (นเรศวร แปลว่า พระอิศวร ซึ่งก็คือองค์เดียวกันกับพระศิวะ) ดังปรากฏมีคำอธิบายซึ่งเขียนเอาไว้ตั้งแต่แรกวาดภาพจิตรกรรมอยู่ที่ข้างใต้ของภาพว่า

“พระสยามเทวาธิราชทูลอัญเชิญพระนเรศวร คือพระอิศวรแบ่งภาคลงมาอุบัติในมนุสย์โลก” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

แน่นอนว่า ฉากนี้ไม่ใช่ความเชื่อ หรือเรื่องเล่าที่เก่าแก่ไปถึงสมัยพระนเรศวร เพราะพระสยามเทวาธิราชเป็นเทวดาวัยละอ่อนเมื่อเทียบอายุกับพระนเรศวร เนื่องจากเป็นเทวดาที่เพิ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เท่านั้นเอง

ดังนั้น เรื่องนี้ถ้าจะนับว่าเป็นพระราชประวัติของพระนเรศวร ก็เป็นพระราชประวัติที่เพิ่งสร้าง เพื่อทำให้พระนเรศวรทรงมีฐานะเป็นเทพเจ้าไม่ต่างจากพระรามนั่นแหละ

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จากประวัติการวาดภาพจิตรกรรมชุดนี้ พระยาอนุศาสน์จิตรกรไม่ได้วาดพระราชประวัติของพระนเรศวรขึ้นเองตามใจชอบ แต่วาดขึ้นตามสคริปต์ (script) ของบุคคลระดับพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งก็ย่อมหมายถึง ภาพฉากที่พระสยามเทวาธิราชไปทูลเชิญพระอิศวรแบ่งภาคลงมาเป็นพระนเรศวรด้วย

 

การเขียนพระราชประวัติของพระนเรศวรที่วัดสุวรรณดารารามนั้นย่อมเป็นการบริหารพระราชอำนาจ และมีลักษณะเชิงพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เพราะวัดสุวรรณดารารามนั้นเป็นวัดประจำราชวงศ์ แถมยังสร้างขึ้นตรงนิวาสสถานเดิมของราชวงศ์ ที่อ้างความสืบเนื่องด้วยคำว่าสยาม และไทย ต่อจากกรุงศรีอยุธยาด้วย

ที่สำคัญก็คือ มีชุดข้อมูลจากหนังสือปฐมวงศ์และอภินิหารบรรพบุรุษที่อ้างว่า พระปฐมบรมชนก (ทองดี) นั้น สืบเชื้อสายข้างแม่มาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) (คนเดียวกับที่เป็นราชทูตไปฝรั่งเศสในสมัยพระนารายณ์นั่นแหละ) เจ้าพระยาโกษาปานนี้เป็นลูกของหม่อมเจ้าหญิงอำไพ ที่เป็นพระราชธิดาของพระเอกาทศรถอีกทอด

ต่อให้ผมไม่บอก ทุกคนก็คงปะติดปะต่อภาพเองได้ว่า พระเอกาทศรถเป็นพระอนุชา (คือน้องชาย) ของพระนเรศวร และพระปฐมบรมชนก (ทองดี) ก็สืบเชื้อสายมาจากวงศ์ของพระนเรศวร ที่เป็นพระอิศวรจุติลงมา แปลว่า ภาพจิตรกรรมชุดนี้อ้างว่าต้นราชวงศ์ของ ร.7 คือพระนเรศวร ผู้เป็นพระอิศวรมาเกิด

พระราชประวัติของพระนเรศวรในภาพเขียนที่วัดนี่ เอาเข้าจริงแล้วจึงไม่ต่างอะไรกับรามเกียรติ์ที่เป็นประวัติของพระรามหรอกนะครับ แต่พระราชประวัติของพระนเรศวรนั้น อ้างถึงความชอบธรรมในการปกครองประเทศมากกว่าประวัติของพระราม เห็นได้ชัดๆ ก็จากวาทกรรมกู้ชาติ ทั้งๆ ที่ชาติในสมัยของพระนเรศวร กับสมัยรัชกาลที่ 7 นั้นหน้าตามันไม่ได้เหมือนกันเลยสักนิด แถมอันที่จริงแล้วเราก็ไม่รู้หรอกว่า พระนเรศวรจะทรงคิดว่าพระองค์กู้ชาติหรือเปล่า?

เอาเข้าจริงแล้ว ท่าทีในการบริหารพระราชอำนาจของรัชกาลที่ 7 ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ยังผูกติดกับจักรวาลแบบสมมุติเทพ จึงไม่ได้ชวนให้น่าเชื่อว่าจะโยงถึงเรื่องการพระราชทานรัฐธรรมนูญเลยสักนิด

และถ้าจะมองในมุมของความต้องการประชาธิปไตยในขณะนั้นแล้ว คณะราษฎรก็ไม่ได้ชิงสุกก่อนห่ามอะไรหรอกนะครับ