ดนตรีกับการเมือง ในห้วง 4 ทศวรรษก่อน ถึงเวทีประท้วง 2563

แฟลชม็อบของนักเรียน-นักศึกษาที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั่วประเทศในปี 2563 และเกิดคำถามถึงค่านิยม กรอบความคิด กรอบการปฏิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุครัฐประหาร

ที่ทำให้ภาครัฐต้องพลิกตำรามาแก้ปัญหาแทบไม่ทัน

จากเดือนกันยายน เดือนหน้าคือตุลาคม จะเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย

ที่เด่นๆ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519

ทั้ง 2 เหตุการณ์มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตมากมาย และเป็นจุดพลิกผันของการเมืองไทย

อย่าง 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ 2518 ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด มีพรรคการเมือง มีเลือกตั้ง และผู้นำประเทศมาจากการเลือกตั้ง หลังจากอยู่ภายใต้เผด็จการมายาวนานถึง 15 ปี

ความเบ่งบานของสิทธิเสรีภาพในยุค 2516 ทำให้เกิดการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในสาย “เพื่อชีวิต” โดยได้แรงส่งจากวัฒนธรรมปัญญาชนตะวันตก ที่ระยะนั้นต่อต้านสงครามเวียดนาม คนหนุ่มสาวต่อต้านรัฐบาลลินดอน จอห์นสัน และริชาร์ด นิกสัน

ยุคเสรีภาพและประชาธิปไตย ยุติลงด้วยการล้อมสังหารที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเช้ามืด ต่อเนื่องถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก่อนจะเกิดรัฐประหารในตอนเย็นวันเดียวกัน

จนเกิดการหลั่งไหลเข้าป่าจับปืนสู้กับรัฐบาล

14 ตุลาคม 2516 ทำให้เกิดวงดนตรีเพื่อชีวิตของนักศึกษาและประชาชนอย่างคาราวาน วงจากมหาวิทยาลัย อาทิ กรรมาชน กงล้อ ครุชน รวมฆ้อน โคมฉาย รุ่งอรุณ ฯลฯ

มีเพลงเพื่อชีวิตบันทึกเสียงในคาสเส็ตและแผ่นเสียงออกเผยแพร่ และวางขายมากมาย

และหลัง 6 ตุลาคม 2519 สมาชิกวงเหล่านี้บางส่วนเข้าป่า และกลายเป็นวงดนตรีที่สนับสนุนการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท.ไป

เพลงปฏิวัติในยุคนี้เผยแพร่ผ่านทางวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย หรือ สปท. ของ พคท. ที่ออกอากาศจากจีนในระบบคลื่นสั้น

และบันทึกเทปคาสเส็ตกระจายไปในกลุ่มผู้สนับสนุนการต่อสู้ของ พคท.

จนกระทั่ง “ป่าแตก” ในปี 2524-2525 นักดนตรีที่ผ่านเวทีประท้วงในเมืองและในป่าเขา ก็กลับออกมาทำผลงานเพลงในเมือง บ้างก็ละทิ้งไปทำอาชีพอื่น

ด้วยเทคโนโลยีไอทีที่ก้าวหน้า เพลงจาก 14 ตุลาคม 2516 – ตุลาคม 2519 บันทึกไว้ในระบบออนไลน์ค่อนข้างครบถ้วน

เพลงที่เคยใช้ในวิทยุ สปท. อย่างวีรชนปฏิวัติ ภูพานปฏิวัติ มาร์ชกองทัพปลดแอก ฯลฯ ที่บรรเลงโดยวงออเคสตร้าจีน เพลงปฏิวัติที่ผลิตกันด้วยเทคนิคง่ายๆ ตามเขตจรยุทธ์ มีอยู่ในออนไลน์ทั้งหมด

ในระยะหลังเพลงเหล่านี้กลับมาดังกระหึ่มอีกครั้งบนเวทีต่างๆ โดยใช้ระบบแสงสีเสียง และวงดนตรีออเคสตร้า

สําหรับเพลงที่เป็นผลจากเหตุการณ์เหล่านี้ ที่เด่นๆ อย่าง 14 ตุลาคม 2516 น่าจะได้แก่เพลง “14 ตุลาฯ” ของวงกรรมาชน

ส่วน 6 ตุลาคม 2519 คือเพลง “จากภูพานถึงลานโพธิ์” ผลงานของวัฒน์ วรรลยางกูร, “6 ตุลาฯ” โดยจิ้น กรรมาชน และ “ตุลาชัย” โดยอดีตสมาชิกวงกงล้อ

เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อนหน้านี้ เกิดปรากฏการณ์ที่งานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ เงียบเหงา มีคนไปร่วมเพียงกลุ่มเล็กๆ ติดต่อกันหลายปี

แต่หลังจากรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

คนรุ่นใหม่หันมาเสาะค้น ศึกษาเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยความสนใจ

โดยเฉพาะ 6-7 ปีที่ผ่านมา กระแสความสนใจยิ่งเพิ่มความเข้มข้น

เสียงเพลงบนเวทีต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ แม้ซาวด์จะแปลกแตกต่าง แนวคิดแตกต่างบ้าง

แต่เป้าหมายเพื่อประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม แทบไม่ต่าง