กาแฟดำ | ใครเชื่อบ้าง : นโยบาย E-Government ครั้งนี้เอาจริง?

สุทธิชัย หยุ่น

ผมได้ยินเรื่องปฏิรูประบบราชการมาตั้งแต่เป็นนักข่าวใหม่ๆ…ผ่านมากว่า 50 ปียังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรม

แต่เมื่อเกิด “ความป่วน” อันเป็นผลของเทคโนโลยีที่กระทบทุกวิชาชีพที่เรียกว่า technological disruption จนทำให้ไม่มีใครสามารถปฏิเสธ transformation ได้ เราจึงเริ่มเห็นความพยายามอีกครั้ง

ครั้งนี้ต้องขอบคุณโควิด-19 ที่ทำให้เกิด “การบังคับให้ต้องเปลี่ยน” แบบ “ชั่วข้ามคืน”

ใครไม่ปรับไม่เปลี่ยนไม่เพียงแต่จะ “ตกรถไฟ” เท่านั้น แต่ยังจะหลุดโลก ตกงาน และหมดสภาพได้จริงๆ

พอผมเห็นข่าวว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการปฏิรูประบบราชการ (อีกแล้ว) ผมก็สนใจ

ที่ว่าสนใจนั้นคืออยากรู้ว่าจะทำจริงหรือ…และใครจะเป็นคนทำ…และถ้าทำไม่สำเร็จใครจะต้องรับผิดชอบ

ผมตอบตัวเองว่าก็ไม่รู้เหมือนกัน

แต่เมื่อเจอกับ Covid-19 แล้ว ระบบราชการได้เจอ “ของจริง” และต้องทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องทำ จึงต้องตระหนักว่า “ถ้าไม่ปรับก็ต้องพับฐาน”

หรือ Do or Die จริงๆ

คําว่า e-government และ e-service กลับมาอยู่ในแผนอีกครั้งหนึ่ง

คราวนี้ถ้าอยู่บนกระดาษอย่างเดียว ไม่ทำจริง คงจะถูกคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาก็อยู่กับโลกดิจิตอลเรียกร้องอย่างต่อเนื่องว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นโลกไซเบอร์อย่างแท้จริง

ถ้าผู้ใหญ่ไม่ทำ เด็กรุ่นใหม่เขาไม่จำเป็นต้องขอร้องอ้อนวอนอีกต่อไป

คนรุ่นใหม่เขาสามารถจะสร้างชีวิตใหม่บนโลกดิจิตอลของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องสนใจว่าผู้ใหญ่จะปรับตัวหรือไม่อย่างไร

ยิ่งหากรัฐบาลและระบบราชการยังคร่ำครึอยู่กับระบบอะนาล็อก คิดในกรอบเดิม คนรุ่นนี้ก็จะเลือกเส้นทางใหม่ของตนเองได้

เพราะโลกเก่ากับโลกใหม่เริ่มจะแยกทางกันเดินอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นทุกวัน

ผมลองอ่านมติคณะรัฐมนตรีวันนั้นแล้วก็เห็นว่ารัฐบาลและหน่วยราชการคงจะเริ่มตระหนักแล้วกระมังว่าโลกเก่ากำลังจะถูกสลัดทิ้งหากไม่มีการปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการของโลกยุคใหม่

ลองอ่านดูครับว่านโยบาย “ยกเครื่องระบบราชการ” ที่ว่านี้เป็นอย่างไร

ข่าวบอกว่า “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งสำนักงาน ก.พ.-ก.พ.ร. ปรับโครงสร้างราชการ-จัดองค์กร นำระบบ “ดิจิตอล” มาใช้เพื่อ

– ลดจำนวนข้าราชการ

– สร้าง “ระบบราชการใหม่” ที่เหมาะสมกับอนาคตประเทศ

– ปรับการปฏิบัติงานให้สอดคล้อง New Normal

– คัดกลุ่มหัวกะทิร่วมปฏิรูปหน่วยงาน

ที่น่าตกใจคือตัวเลขปีงบประมาณ 2564 งบฯ บุคลากรรัฐแตะ 1.1 ล้านล้านบาท

เท่ากับ 1 ใน 3 ของงบประมาณ

ผมอ่านเจอในสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ที่รายงานว่า

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ครม.รับทราบผลการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน

โดย พล.อ.ประยุทธ์มีข้อสั่งการและมอบหมายให้คณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง รับไปดำเนินการรวม 16 ประเด็น

นายกฯ ได้มีข้อสั่งการเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างราชการ การจัดองค์กร การสรรหาบุคคลเข้าเป็นข้าราชการ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน ซึ่งมีทั้งสิ้น 5 ประเด็น ประกอบด้วย

1. ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ร่วมกันปรับปรุงระบบการทำงานใหม่

เช่น โครงสร้างราชการ การจัดองค์กร กำลังคนภาครัฐ การลดจำนวนข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ โดยนำระบบดิจิตอลเข้ามาใช้ในการทำงาน เพื่อให้เกิดระบบราชการใหม่ที่เหมาะสมกับอนาคตของประเทศ

2. ให้สำนักงาน ก.พ.ร.เร่งผลักดันระบบ e-Service ให้เห็นเป็นรูปธรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และสามารถให้บริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง

3. ให้มีการปรับปรุงระบบการสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่มีความสนใจเข้ารับราชการ โดยให้พิจารณาแนวทาง วิธีการ รวมไปถึงหลักเกณฑ์ที่สามารถคัดเลือกบุคคลซึ่งมีความรู้ ความสามารถทักษะ คุณลักษณะที่เหมาะสมกับภารกิจ และตรงตามความต้องการส่วนราชการ นอกจากนี้ ให้พิจารณาขยายผลการบริหารและพัฒนากำลังคนคุณภาพด้วยการมอบหมายให้ปฏิบัติงานในส่วนราชการอื่นอีกหน้าที่หนึ่ง (Secondment)

4. ให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน (Work from Home) อย่างต่อเนื่อง และปรับให้เข้ากับการปฏิบัติงานภายใต้ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบกับการให้บริการประชาชน และให้สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกันกำหนดแนวทางการปฏิบัติราชการใหม่ เช่น การกำหนดวัน เวลา และสถานที่ปฏิบัติราชการ การเหลื่อมเวลาปฏิบัติราชการ การนับจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติราชการ

5. ให้ทุกส่วนราชการสนับสนุนให้กำลังคนคุณภาพของรัฐ เช่น กลุ่มนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) กลุ่มนักเรียนทุนรัฐบาล กลุ่มผู้นำคลื่นลูกใหม่ในราชการไทย กลุ่มข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง เข้ามามีบทบาทในงานด้านการปฏิรูปของหน่วยงาน

เช่น การร่วมปฏิบัติงานในกลุ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (กลุ่ม ป.ย.ป.) ของกระทรวง

สํานักข่าวอิศราไปค้นรายละเอียดว่าเงินทองที่ใช้กับเรื่องของ “คน” ในระบบราชการนั้นเป็นเช่นไร

ก็พบว่าเป็นงบประมาณจำนวนก้อนเบ้อเร่อที่ไม่สามารถจะประเมินได้ว่าใช้ไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างไรหรือไม่

จากเอกสารงบประมาณปีงบประมาณ 2564 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา พบว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ เป็นวงเงินสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณปี 2564 ที่มีวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท

เห็นหรือไม่ว่าเงินภาษีของประชาชนที่เก็บทุกปีนั้น 1 ใน 3 หรือ 1.1 ล้านล้านบาทถูกนำไปเป็นเงินเดือนและสวัสดิการจ้าง “บุคลากรในภาครัฐ”

ซึ่งประกอบด้วย งบฯ บุคลากร คือ เงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ ในปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 635,928.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.3% ของวงเงินงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท เทียบกับปีงบฯ 2563 ที่มีการจัดสรรงบบุคลากรในวงเงิน 635,522 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.8% ของวงเงินงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดสรรงบฯ กลาง ปีงบฯ 2564 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ เป็นวงเงิน 465,290.6 ล้านบาท ได้แก่

1. ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 74,000 ล้านบาท (ปีงบฯ 2563 วงเงิน 71,200 ล้านบาท)

2. เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 5,008 ล้านบาท (ปีงบฯ 2563 วงเงิน 4,940 ล้านบาท)

3. เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 300,435.5 (ปีงบฯ 2563 วงเงิน 265,716.3 ล้านบาท)

4. เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 15,500 ล้านบาท (ปีงบฯ 2563 วงเงิน 10,464.6 ล้านบาท)

5. เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 640 ล้านบาท (ปีงบฯ 2563 วงเงิน 670 ล้านบาท)

และ 6. เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 69,707.1 ล้านบาท (ปีงบฯ 2563 วงเงิน 62,780 ล้านบาท)

ผมอ่านรายงานชุดนี้แล้วก็สะดุ้งพอประมาณ

เพราะหากระบบราชการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างจริงจังแล้วจะพบว่าเราอาจสามารถลดจำนวนบุคลากรในภาครัฐได้ครึ่งหนึ่งสบายๆ

และเผลอๆ ประสิทธิภาพของการทำงานอาจจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกนั้นหากประเทศไทยสามารถสร้าง e-government ได้อย่างจริงจัง ก็จะลดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล

และหากกองทัพเข้าใจว่ายุทธศาสตร์ยุคนี้ไม่ได้อยู่ที่เรือดำน้ำ, รถถังและเครื่องบินรบ…หากแต่อยู่ที่การสร้างเสริมสมรรถภาพทาง Cyber Warfare จริงจัง

เราจะเลิกถกแถลงกันเรื่อง “งบฯ ความมั่นคง” และ “งบฯ ราชการลับ” แบบเดิมๆ อย่างที่เป็นประเพณีมาช้านานกันเลยทีเดียว