จัตวา กลิ่นสุนทร : อาจารย์ (ฝรั่ง) ผู้ปลูกฝังศิษย์ (ไทย) บนเส้นทางศิลปะร่วมสมัย

ปี พ.ศ.2563 ดูเหมือนว่าโลกหยุดเคลื่อนไหว ทุกสิ่งอย่างคล้ายกับไม่ได้เคลื่อนที่ การเดินทางระหว่างประเทศยังไม่มีทีท่าว่าจะได้เริ่มต้นใหม่เสียที

ทั้งหมดสืบเนื่องมากจากไวรัสโคโรนา (Covid-19) สายพันธุ์ใหม่จากเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) มณฑลหูเป่ยของจีน ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วจนมนุษย์ได้รับเชื้อกันมากถึง 25 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 8 แสนคน อย่างไม่เลือกชาติพันธุ์ ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีน (Vaccine) เพื่อสกัดกั้นให้หยุดระบาด

ทุกเมืองที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส (Virus) ถูกล็อกดาวน์ (Lockdown) ซึ่งย่อมมีปัญหาเรื่องการทำมาหากิน การประกอบอาชีพต่างๆ ต้องหยุดลงแบบฉับพลันทันที เกิดปัญหาเรื่องอาหาร สุดท้ายเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทุกชาติประเทศประสบเหมือนกันหมด

ประเทศที่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ อย่างประเทศไทย ตราบใดที่ยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ เศรษฐกิจจะขยับคืนกลับมาฟื้นตัวใหม่คงยากทีเดียว การทำมาหากินย่อมเปลี่ยนแปลงไป อย่างที่เรียกกันว่าชีวิตวิถีใหม่

ประชาชนมากหลายอาชีพตกงาน ไม่มีงานทำทั่วไป

 

นักศึกษาศิลปะ รวมทั้งครูผู้สอนศิลปะ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการของคณะ “ศิลปินแห่งชาติ” จากโครงการของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ.2540) สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+สื่อผสม) “ศิลปินสองซีกโลก” ซึ่งมีบ้านพักอยู่ในสหรัฐ เป็นหัวเรือใหญ่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องหยุดลงเช่นกัน

หลังปฏิบัติภารกิจเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องของศิลปะร่วมสมัย รวมทั้งเปิดหอศิลป์ “บ้านศิลปินแห่งชาติ” ในกรุงเทพฯ เพิ่งเดินทางสู่สหรัฐเมื่อต้นปี พ.ศ.2563 เพื่อเตรียมรับคณะศิลปินต่างๆ ที่จะเดินทางไปศึกษาดูงานยังประเทศสหรัฐในปี พ.ศ.2563 หลายคณะ แต่มีอันต้องหยุดลงทั้งหมด

โครงการต่างๆ ต้องเลื่อนยาวออกไปถึงปี พ.ศ.2564 เดิมทีตามกำหนดการ กมล ทัศนาญชลี จะกลับมาเมืองไทยเพื่อเปิดแสดงผลงานของเขา ณ หอศิลป์ ราชดำเนิน กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2564 พร้อมทั้งต้องมาดูแลการติดตั้งงานประติมากรรม Stainless /กระจกสี/แผ่นทองเหลือง/ขนาดสูง 10 เมตร ณ ศูนย์วัฒนธรรม ที่เขาเป็นผู้ออกแบบด้วย

แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีใครกล้ายืนยันว่าปี พ.ศ.2564 จะสามารถเริ่มขับเคลื่อนกิจการต่างๆ การเดินทางท่องเที่ยวข้ามประเทศ และกิจกรรมเกี่ยวด้วยเรื่องศิลปะได้หรือยัง?

กมล ทัศนาญชลี จึงต้องกักเก็บตัวเองที่บ้านในนครลอสแองเจลิส สหรัฐ (Los Angeless, California, USA. สร้างงานศิลปะตลอดเวลาตามนิสัยของศิลปินที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

 

ถ้ายังมีโอกาสขีดเขียนหนังสืออยู่ และยังไม่หลงลืมติดขัด หรือเจ็บไข้ได้ป่วยอะไร วันที่ 15 กันยายนของทุกปีจะต้องเขียนถึง “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” (Prof.Corrado Feroci) อาจารย์ผู้มีคุณูปการ ผู้วางรากฐานศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ตามที่ชาวศิลปากรเรียกท่านว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย”

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ลูกศิษย์ชาวศิลปากร ที่ทันได้ศึกษาเล่าเรียนกับท่าน เรียกชื่อท่านอย่างหลากหลาย เช่น โปรเฟสเซอร์, อาจารย์เฟโรจี, อาจารย์ฝรั่ง, อาจารย์ศิลป์ เป็นต้น ได้เดินทางเข้ามารับราชการในตำแหน่งช่างปั้น สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัง ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2466 ขณะมีอายุ 31-32 ถึงปี พ.ศ.2563 นับอายุได้ 97 ปี/ถ้าหากท่านยังชีวิตอยู่ถึงปัจจุบันอายุของท่านจะเป็น 128 ปี

อาจารย์ฝรั่งทำงานอยู่ในประเทศไทยเพียง 39 ปี ได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 รวมอายุได้แค่ 70 ปี

อาจารย์ฝรั่งเกิดวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2435 ที่เมืองเก่าแก่ดินแดนแห่งศิลปะ และศิลปินผู้ยิ่งใหญ่จำนวนมาก ของประเทศอิตาลี คือ นครฟลอเรนซ์ (Florence, Italy) ท่านศึกษาในสถานศึกษาศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ เป็นช่างปั้น หรือประติมากร ก่อนตัดสินใจเดินทางมาทำงานยังประเทศไทย ชาวศิลปากรจึงยึดถือเอาวันที่ 15 กันยายนของทุกๆ ปีเป็นวันที่รำลึกนึกถึงท่าน และเรียกวันนั้นว่า “วันศิลป์ พีระศรี”

39 ปีในประเทศไทย อาจารย์ฝรั่งได้สร้างผลงานศิลปะมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานประติมากรรม ซึ่งดูเหมือนจะรับรู้รับทราบกันโดยทั่วไปเนื่องจากประวัติความเป็นมา ผลงานของท่าน ชาวศิลปากรได้กล่าวถึง ศึกษาค้นคว้ามาเผยแพร่จนหมดแล้ว

ผลงานของอาจารย์ฝรั่งส่วนใหญ่จะเป็นอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ต่างๆ ซึ่งได้พบเห็นกันตามสถานที่สำคัญๆ ในประเทศไทย

 

ผลงานสำคัญของอาจารย์ฝรั่งบนผืนแผ่นดินไทย คือ การก่อตั้ง “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” เพื่อสอนสั่งลูกหลานคนไทยให้ประสบความสำเร็จมากมาย ศิษย์รุ่นแรกๆ จากโรงเรียนดังกล่าวได้กลายมาเป็นผู้ช่วยงานประติมากรรม เป็นตัวแทนของท่านได้

เมื่อท่านก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ขึ้นในปี พ.ศ.2486 หลังโรงเรียนประณีตศิลปกรรม 10 ปี ศิษย์จากโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ได้มาเป็นอาจารย์ในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนที่นักศึกษารุ่นแรกๆ และต่อๆ มาของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ได้รับไม้ต่อสืบสานเจตนารมณ์ เป็นอาจารย์สอนสั่งนักศึกษาศิลปะของมหาวิทยาลัยแห่งนี้จนขยายใหญ่ เติบโตขึ้นมากระทั่งทุกวันนี้

วันที่ 15 กันยายนของทุกๆ ปี มหาวิทยาลัยศิลปากรจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยมีท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้เกียรติเดินทางไปเป็นประธานในพิธีประจำทุกปี

คิดว่าสำหรับปีนี้คงดำเนินไปเหมือนอย่างเคย

สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร+สมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานเพื่อให้ระลึกถึงอาจารย์ เริ่มต้นด้วยการตักบาตรพระสงฆ์ ร่วมพิธีวางช่อดอกไม้กับมหาวิทยาลัย และกรมศิลปากร ณ ลานอนุสาวรีย์ อาจารย์ศิลป์ (คณะจิตรกรรมฯ) ทำบุญถวายสังฆทาน ณ หอประติมากรรมต้นแบบ (โรงหล่อเดิม)

มีการปาฐกถาศิลป์จากหลานของอาจารย์ฝรั่ง ชื่อ Luca Vivianni ตอนบ่ายๆ มีการแสดงดนตรี Classical/Jazz พบปะสังสรรค์รับประทานอาหารทั้งศิษย์เก่า+ศิษย์ปัจจุบัน ร่วมจุดเทียน+ร้องเพลง Santa Lucia ด้วยกัน ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ

สำหรับวันที่ 15 กันยายน 2563 ปีนี้ สมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดประชุมสามัญประจำปี 2563 เพื่อเลือกตั้ง “นายกสมาคม” คนใหม่ด้วย

 

ตั้งใจว่าจะไปร่วมรำลึกถึงอาจารย์ฝรั่ง ภาพเก่าๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ก็กลับมาหลอกหลอน เนื่องจาก 5-6 ปีที่ผ่านมานั้น มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ ได้รับงบประมาณจำนวนประมาณ 800 ล้านบาทเพื่อทำการก่อสร้างปรับปรุง (Lenovate) มหาวิทยาลัย แต่ค้างคามานานมาก

นักศึกษาคณะต่างๆ ที่เรียนอยู่ที่วังท่าพระจึงต้องกระจัดกระจายไปยังวิทยาเขตสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐมบ้าง บางคณะต้องไปเช่าอาคารพาณิชย์เรียน ว่ากันว่าเด็กบางรุ่นจบการศึกษาออกไปโดยที่ไม่เคยได้เรียนในมหาวิทยาลัย วังท่าพระ กรุงเทพฯ เลย ถึงกับเปรียบเทียบเย้ยหยันกันว่า มหาวิทยาลัยศิลปากร กับการก่อสร้างถนนพระราม 2 แห่งไหนจะเสร็จก่อนกัน

บางคนแอบกระซิบว่าอธิการบดีเอาแต่คิดค้นหาคำมาโพสต์โซเชียลเรื่องการเมืองมากไปหรือเปล่า เห็นบอกว่ามีบางกลุ่มสร้างสถานการณ์ทำให้บ้านเมืองไม่สงบ ถ้าจัดการกับคนที่ส่งท่อน้ำเลี้ยงได้ก็จะเบาลง ส่วนเด็กๆ บอกว่า ปล่อยไปก่อน หรือเอาไปปรับทัศนคติก็เรียบร้อย เลยไปไกลถึงกับไล่ให้คนไทยอพยพไปอยู่ที่อื่น อธิการบดีน่าจะมีความคิดแตกต่างกับนักศึกษาส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้แน่ๆ

แต่วันนี้ได้ข่าวว่านักศึกษาบางคณะได้กลับเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ บ้างแล้ว แต่บริเวณท้องพระโรงวังท่าพระ และอาคารหอประชุมเดิม ยังคาราคาซังอยู่ มหาวิทยาลัยพยายามขอให้เสร็จทันเดือนตุลาคม 2563 นี้–

15 กันยายน 2563 อย่าลืมไปพบกันเหมือนเดิม (วังท่าพระ กรุงเทพฯ) เพื่อระลึกถึงอาจารย์ฝรั่ง