สุรชาติ บำรุงสุข | 88 ปีระบอบทหารไทย Ep.9 สงคราม 2516-2519

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ในช่วงเวลาของสงครามนั้น กระบวนการทำลายความเป็นมนุษย์ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริงที่สำคัญในสังคม”

Marc Pilusuk and Jennifer Rountree

The Hidden Structure of Violence (2015)

หลังจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในเดือนตุลาคม 2516 แล้ว สถานการณ์การเมืองและความมั่นคงไทยเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

ไม่เพียงแต่กองทัพไทยต้องเผชิญกับภูมิทัศน์ทางการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมากเท่านั้น หากยังต้องเผชิญกับภูมิทัศน์ใหม่ของสงครามภายในของรัฐไทยอีกด้วย

หรือกล่าวได้ว่าผลสะเทือนที่เหตุการณ์เดือนตุลาคมได้สร้างขึ้นนั้น ทำให้ทั้งรัฐบาลและกองทัพไทยตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ใหม่ ที่พวกเขาไม่เคยเผชิญมาก่อน

โจทย์การเมืองและโจทย์สงครามเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมากเช่นนี้ ยังถูกสำทับด้วยการเกิดเงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ภูมิทัศน์ใหม่ๆ จากสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคและในไทยเอง อันทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า

ถ้าเช่นนั้นแล้ว รัฐไทยจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเช่นนี้อย่างไร

การเติบโตของนายทหารระดับกลาง

ความพ่ายแพ้ทางการเมืองของกองทัพต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยบนถนนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (transition to democracy) ครั้งสำคัญนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

จนอาจกล่าวได้ว่าปี 2516 เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งแรกที่ทหารต้องออกจากการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 2490

เพราะนับจากรัฐประหารดังกล่าวแล้ว การเมืองไทยถูกพันธนาการอยู่บทบาททางการเมืองของผู้นำทหารอย่างแยกจากกันไม่ได้

ดังจะเห็นได้ว่าการเมืองไทยถูกนิยามว่าเป็น “การเมืองของชนชั้นนำทหาร” และผู้นำทหารแสดงบทเป็น “ผู้ควบคุม” การเมืองไทยมาตั้งแต่ยุคหลังสงคราม และการกำเนิดของสงครามคอมมิวนิสต์ทั้งในบ้านและรอบบ้าน ก็เอื้อให้ทหารแสดงบทบาทเช่นนั้น

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ในปี 2516 ทหารไม่สามารถแสดงบทบาทเช่นนี้ได้อีกต่อไป การควบคุมทางการเมืองถูกท้าทายจากการขยายตัวของขบวนนิสิตนักศึกษา ในขณะเดียวกันสถาบันทหารเองก็เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเองด้วย

การสิ้นสุดอำนาจในการควบคุมกองทัพของกลุ่มจอมพลถนอม กิตติขจร ทำให้เกิด “ช่องว่างแห่งอำนาจ” เพราะกองทัพไทยแต่เดิมอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของผู้นำทหารระดับสูง

แต่ 14 ตุลาฯ ทำให้อำนาจในการควบคุมเช่นนี้อ่อนแอลง และเปิดช่องให้ผู้นำทหารในระดับกลางเติบโตขึ้นในทางการเมือง

ซึ่งก็คือ การกำเนิดของ “กลุ่มทหารหนุ่ม” หรือที่รู้จักในชื่อของ “กลุ่มยังเตริ์ก” ตามชื่อของกลุ่มทหารในตุรกี ที่พวกเขายึดถือเป็นต้นแบบของการมีบทบาททางการเมือง

การขยายบทบาทของทหารแตกต่างไปจากยุคก่อน นายทหารระดับกลาง (มีนัยถึงนายทหารนายพัน) ซึ่งมีสถานะเป็นผู้คุมกำลังรบโดยตรง ดังจะเห็นได้ว่าฐานกำลังรบหลักอยู่ในระดับของกรมและกองพัน สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้บังคับการกรมและผู้บังคับกองพันคือ ผู้มีอำนาจที่แท้จริงในกองทัพ ไม่ใช่อำนาจในระดับของกองพลที่อยู่ภายใต้ผู้บัญชาการกองพล ที่แม้จะมีอำนาจในการควบคุมในทางกฎหมาย แต่กำลังรบที่แท้จริงกลับถูกควบคุมในระดับที่ต่ำกว่า แตกต่างจากยุคของจอมพลทั้งสามในการเมืองไทยอย่างมาก

นอกจากนี้ อำนาจของนายทหารระดับสูงภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองใหม่ ลดต่ำลง เพราะด้านหนึ่งอำนาจในการควบคุมที่ยึดโยงพวกเขาเข้าด้วยกันนั้น ถูกทำลายลง

ในขณะเดียวกันเมื่อกลุ่มทหารเดิมหมดอำนาจลง นายทหารระดับสูงกลุ่มใหม่ก็พยายามที่จะสร้างกลุ่มของตัวเอง อันส่งผลให้การเมืองในกองทัพมีลักษณะที่ “ไร้ศูนย์กลางอำนาจ” และเกิดการต่อสู้ทางการเมืองภายในเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองของกลุ่มตน

นายทหารระดับกลางที่เห็นจุดอ่อนของทหารกลุ่มเก่า ที่สร้างอำนาจแวดล้อมตัวผู้นำ (คือมีลักษณะที่เป็น “personal rule”)

แต่อำนาจใหม่จะสร้างผ่าน “รุ่น” ในโรงเรียนนายร้อย เพื่อให้เกิด “แกนแนวราบ” ในการควบคุมสมาชิกในกลุ่ม และใช้รุ่นเป็นเครื่องมือของการสร้างอำนาจในกองทัพ ซึ่งในอดีตนั้น ใช้ “แกนแนวตั้ง” เป็นพื้นฐานของการสร้างอำนาจ

ฉะนั้น “การเมืองเรื่องรุ่น” จึงเป็นผลผลิตโดยตรงของ 14 ตุลาฯ ด้วย

ในอีกด้านการมีอำนาจในการควบคุมกำลังรบจึงกลายเป็นอำนาจทางการเมืองในตัวเอง และกลายเป็น “กุญแจ” ที่เปิดประตูให้นายทหารระดับกลางก้าวสู่เวทีการเมือง

เช่น การมีบทบาทเป็นฐานของรัฐบาลในรัฐสภา การมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาล (เพื่อค้ำประกันความอยู่รอดของรัฐบาลที่จะไม่ถูกโค่นจากทหารอีกฝ่าย) ตลอดรวมถึงการมีบทบาทเป็น “ผู้พิทักษ์แห่งชาติ” (The National Guardian) เพื่อปกป้องภัยคุกคามจากการขยายตัวของขบวนนักศึกษาปีกซ้ายในเมือง และการยกระดับของสงครามคอมมิวนิสต์ในชนบท

อย่างไรก็ตาม “การถอนตัวของทหารจากการเมือง” ที่เกิดขึ้นหลัง 14 ตุลาฯ ถูกตั้งคำถามอย่างมากว่า สภาวะเช่นนี้จะยั่งยืนไปได้อีกนานเท่าใด เมื่อสถานการณ์ความมั่นคงในระดับภูมิภาคมีความผันผวนอย่างมากในปี 2518

ความพ่ายแพ้ในอินโดจีน!

แล้วในที่สุด “ฝันร้ายด้านความมั่นคง” ที่ผู้นำรัฐไทยมีความกังวลในหลายปีที่ผ่านมาก็กลายเป็นความจริง

ในปี 2518 รัฐบาลนิยมตะวันตกทั้งสามประเทศในอินโดจีนล้มตามกัน และอาจเปรียบเหมือนภาพลักษณ์ของการล้มของ “โดมิโน”… เวียดนาม กัมพูชา และลาวตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์อย่างรวดเร็ว

แม้ว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลอเมริกันอาจประเมินว่า การพ่ายแพ้น่าจะยังไม่เกิดในปี 2518 และรัฐบาลฝ่ายขวาน่าจะรั้งสถานการณ์ทางทหารได้อีกระยะหนึ่ง

ภูมิทัศน์ใหม่ในอินโดจีนเช่นนี้มีนัยต่อการเมืองและความมั่นคงไทยโดยตรง อันนำไปสู่คำถามสำคัญของยุคนั้นว่า “ไทยจะเป็นโดมิโนตัวที่สี่หรือไม่?”

ภาวะเช่นนี้ทำให้ทหารไทยกลายเป็นแกนสำคัญของกลุ่มปีกขวาในการเมืองไทย

และยิ่งความกลัวการเป็นโดมิโนเพิ่มมากเท่าใด กลุ่มปีกขวาก็ยิ่งสร้างความเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งกับผู้นำทหารมากขึ้นเท่านั้น

ประกอบกับการถอนตัวของกองทัพสหรัฐออกจากไทย ยิ่งทำให้ความกลัวเช่นนี้เพิ่มถึงขีดสุด

เพราะไทยจะไม่มีกำลังรบของรัฐมหาอำนาจใหญ่เหลือไว้เป็นหลักประกันความมั่นคง เช่น การมีฐานทัพสหรัฐในยุคสงครามเวียดนาม

ความกลัวเช่นนี้ยังถูกขยายผลจากการเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาที่มีทิศทางออกไปทางซ้ายมากขึ้น

ความเป็น “นักศึกษาฝ่ายซ้าย” ในช่วงหลังอินโดจีนแตก ผนวกเข้ากับการขยายตัวของสงครามในชนบท ส่งผลให้กลุ่มปีกขวาในสังคมไทยตัดสินใจที่จะยุติ “ภัยคุกคามในเมือง” ด้วยการเปิดยุทธการต่อต้านนักศึกษาอย่างต่อเนื่องด้วยการจัดตั้งกลุ่มการเมืองปีกขวาในชื่อต่างๆ

แต่ก็รับรู้กันว่ากลุ่มเหล่านี้ถูกจัดตั้งโดยฝ่ายทหาร ผ่านการสนับสนุนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เพื่อทำ “สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเมือง” และกองทัพรับบทบาทโดยตรงในการทำ “สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในชนบท”

การทำสงครามในเมืองของฝ่ายขวาไทยเดินมาถึงจุดสูงสุดด้วยการเปิด “ยุทธการล้อมปราบ” ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยความหวังว่า การปราบปรามที่เกิดขึ้นจะทำให้ภัยคุกคามในเมืองหมดไป

แต่กลับกลายเป็นผลด้านกลับที่ทำให้สงครามในชนบทขยายตัวอย่างมาก

หลังจากการเข้าร่วมของนักศึกษาจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จนหลายฝ่ายเริ่มมองด้วยความกังวลว่า ผลจากการปราบปรามที่เกิดขึ้น รวมเข้ากับการจัดตั้งรัฐบาลขวาจัดจะกลายเป็นเงื่อนไขของ “สงครามกลางเมือง” และจะจบลงด้วยผลลัพธ์ไม่ต่างจากสงครามเวียดนาม

คือ ความพ่ายแพ้ของรัฐบาลฝ่ายขวา

ฝันร้ายที่ไม่จบ!

แน่นอนว่าสำหรับผู้นำทหารไทยแล้ว อินโดจีนแตกในปี 2518 ไม่ใช่ฝันร้ายครั้งแรกที่รัฐไทยต้องเผชิญในยุคสงครามเย็น…

เดียนเบียนฟูแตกในปี 2497 และตามมาด้วยการถอนตัวของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสออกจากอินโดจีน…

ผู้นำจีนประกาศการเกิดสงครามประชาชนในต้นปี 2508 และต่อมาสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็เกิดในเดือนสิงหาคม 2508…

ผู้นำสหรัฐประกาศ “หลักการนิกสัน” ที่เกาะกวมในกลางปี 2512 อันนำไปสู่การยุติสงครามของสหรัฐในการเจรจาสันติภาพในปลายเดือนมกราคม 2516…

การเตรียมลดพันธะสงครามของสหรัฐ ด้วยการทยอยปิดฐานทัพสหรัฐในไทย

แต่ไม่มีอะไรจะเป็น “ฝันที่น่ากลัว” มากเท่ากับการแตกของอินโดจีน เพราะเพื่อนบ้านด้านตะวันออกกลายเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งหมดแล้ว

ในสายตาของชนชั้นนำไทยแล้ว ฝันร้ายเหล่านี้มีนัยประการเดียวคือ สหรัฐกำลังถอนตัวออกจากภูมิภาคเพื่อปลดพันธะสงครามเวียดนาม และไทยกำลังถูกทิ้งให้ยืนโดดเดี่ยวในการเผชิญหน้ากับชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน

ความเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ใหม่คือ การที่ประเทศมีแนวพรมแดนติดต่อกับประเทศที่มีความแตกต่างของอุดมการณ์การเมือง และเป็นอุดมการณ์ที่ผู้นำไทยมองว่าเป็น “ภัยคุกคามสูงสุด” ซึ่งอย่างน้อยในช่วงที่ผ่านมา ภูมิรัฐศาสตร์ไทยมีลาวและกัมพูชาเป็นดังแนว “รัฐกันชน” (buffer state) ที่ขวางกั้นคอมมิวนิสต์เวียดนามเอาไว้ให้ผู้นำไทยได้มีความอุ่นใจอยู่บ้าง

ฉะนั้น ปี 2518 จึงเป็นเส้นแบ่งเวลาที่สำคัญของความพลิกผันทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในปีต่อไป

การสูญเสียแนวรัฐกันชนเช่นนี้ ทำให้ความกลัวในหมู่ชนชั้นนำและผู้นำทหารมีมากขึ้น จนพวกเขามีความเห็นมีความเห็นตรงกันว่า ถ้าเช่นนั้น การเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาประชาชนในเมืองจะต้องยุติลง และการปิดฉากของการเมืองชุดนี้นำไปสู่การใช้ความรุนแรง (ดังที่กล่าวแล้วในข้างต้น)… ปฏิบัติการในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงดูเป็นเหมือนการเอาชัยชนะฝันร้ายจากอินโดจีน และเชื่ออย่างง่ายๆ ว่า ความรุนแรงในวันดังกล่าวได้ทำให้ฝันร้ายของโดมิโนหมดลงแล้ว

แต่ฝันร้ายที่มากกว่า กลายเป็นภาพสะท้อนอีกด้านว่า การล้อมปราบในวันดังกล่าวทำให้สงครามประชาชนในชนบทขยายตัวมากยิ่งขึ้น

พรรคคอมมิวนิสต์ไม่เพียงได้รับกำลังพลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการเข้าสู่ฐานที่มั่นของนักศึกษาประชาชน แต่ยังได้รับความสนับสนุนจากหลายส่วนในสังคมไทย ที่ไม่ยอมรับความชอบธรรมของการจัดตั้งรัฐบาลขวาจัด ที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการสังหารหมู่ในปี 2519 และทั้งยังกลายเป็นรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาที่ติดบัญชีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลอเมริกัน ทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลขวาจัดไทยมีปัญหาในตัวเองอย่างมาก

สงครามประชาชนจากปี 2519 ต่อเข้าปี 2520 ขยายตัวอย่างมาก คำถามจากปี 2518 หวนกลับมาอีกครั้งว่า “แล้วไทยจะเป็นโดมิโนหรือไม่?”…

คำถามนี้ท้าทายชนชั้นนำไทยทุกภาคส่วนอย่างยิ่ง!