เกษียร เตชะพีระ | ชนะแต่ล้มเหลว (1)

เกษียร เตชะพีระ

ระเบียบอำนาจหนึ่งอาจช่วงชิงชัยชนะ ยึดและควบคุมอำนาจรัฐได้ด้วยกำลังอาวุธ แต่ก็ยังประสบความล้มเหลวในภารกิจหลักของตนที่จะยังความเปลี่ยนผ่านสำคัญของแผ่นดินให้เป็นไปโดยสงบราบคาบ

หากแม้นหมุดหลักต่างๆ ที่หยั่งยึดระเบียบเดิมที่ตกทอดมาพากันเสื่อมถอยสั่นคลอนในอุ้งมือของระเบียบอำนาจนั้นเอง ไม่ว่าหลักความดี ความจริง ความยุติธรรม การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคทางการเมืองและกฎหมาย ประสิทธิภาพการบริหาร และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน

การเอาปลาสเตอร์ของรัฐไปปิดแผลเหวอะหวะเหล่านั้นท่ามกลางวิกฤตความชอบธรรมกับวิกฤตประสิทธิภาพที่เร่งรัดรุนแรงขึ้นจากสถานการณ์เหนือการควบคุมย่อมไม่บังเกิดผล ท้ายที่สุดก็ได้แต่ใช้อำนาจบังคับทั้งโดยกำลังและกฎหมายยัดเยียดกำราบพลเมืองที่ดื้อดึงขัดขืนขึ้นทุกที

ผู้ชนะจึงอาจล้มเหลวพร้อมกันไปได้ในเวลาเดียวกัน เพราะใช้กำลังบังคับผดุงรักษาอำนาจของตัวแบบเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงอย่างเปล่าเปลือยล่อนจ้อนโล่งโจ้งต่อตาเยาวชนและตาชาวโลก

ว่าอำนาจของพวกเขาอยู่ได้มีได้ก็โดยบังคับคนอื่นให้สยบยอมเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากกว่านี้

ข้างหลังปืน ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว

ระเบียบอำนาจเดิมตั้งอยู่บนฐานหลักการพหุนิยมของชนชั้นนำภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ (elite pluralism under royal patronage)

กล่าวคือ มีฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำแตกต่างหลากหลายกลุ่มที่จะแบ่งสรรปันส่วนเขตอำนาจและผลประโยชน์กัน คัดค้านการผูกขาดเหมารวมอำนาจผลประโยชน์โดยกลุ่มใดกลุ่มเดียว (Thai elite consensus จากข้อค้นพบในดุษฎีนิพนธ์ของอาสา คำภา, “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ.2495-2535”, 2562)

ภายใต้เงื่อนไขที่ชนชั้นนำทุกกลุ่มทุกฝ่ายยอมรับพระราชอำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ (royal hegemony) ในฐานะอนุญาโตตุลาการสุดท้าย (final arbiter) เมื่อเกิดข้อพิพาทขัดแย้ง

ระเบียบอำนาจเดิมบนฐานฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำที่ค้ำประกันโดยพระราชอำนาจนำ (the Bhumibol consensus) มั่นคงอยู่ร่วมทศวรรษหลังเหตุการณ์พฤษภามหาโหด พ.ศ.2535 จนกระทั่งถูกท้าทายจากระบอบทักษิณซึ่งมุ่งรวมศูนย์ผูกขาดอำนาจการเมืองและค่าเช่าเศรษฐกิจมาไว้ที่พรรคเด่นพรรคเดียวของกลุ่มทุนใหญ่ผ่านการชนะเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก (พ.ศ.2544)

ด้านหนึ่ง ก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบพลิกกระดานจาก [การเมืองเรื่องมุ้งที่ครอบงำโดยเจ้าพ่อต่างจังหวัด] -> ไปเป็น [การเมืองเรื่องนโยบายที่ครอบงำโดยพรรคภายใต้การนำของผู้นำประชานิยม] (a political transformation from provincial-boss dominated, factional politics to party-dominated, policy-oriented politics led by a populist leader ดูดุษฎีนิพนธ์ของอาจารย์ Prajak Kongkirati, “Bosses, Bullets and Ballots: Electoral Violence and Democracy in Thailand, 1975-2011”, 2013, pp. 144-45)

ในอีกด้านหนึ่ง ระบอบทักษิณก็เป็นช่องทางในการชักนำมวลชนรากหญ้าเสียงข้างมากให้เข้ามีส่วนร่วมโดยตรงผ่านการเลือกตั้งในเวทีการเมืองที่เคยผูกขาดครอบครองโดยชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ และเวทีการบริหารปกครองที่เคยผูกขาดครอบครองโดยระบบราชการในอดีตเป็นครั้งแรก เกิดเป็น “ประชาธิปไตยที่กินได้” และ “ประชาธิปไตยที่เห็นหัวกู” ภายใต้อำนาจนำของนักธุรกิจการเมืองจากการเลือกตั้ง

ชนชั้นนำไทยกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (ถูกขนานนามว่า “อำมาตย์”) กับพันธมิตรคนชั้นกลางระดับกลางและบนของพวกเขา (ถูกขนานนามว่า “สลิ่ม”) ได้ใช้เวลากว่าทศวรรษ (พ.ศ.2549-2563) ทุ่มทุนทางการเมืองและวัฒนธรรมไม่อั้นและไม่เลือกจนหมดหน้าตัก ในการหาทางตีกรอบจำกัด กำกับ แยกสลาย กำราบและสยบ [อำนาจนำของนักธุรกิจการเมืองจากการเลือกตั้ง+อำนาจประชาชนผ่านการเลือกตั้ง] ที่ว่านี้

จนการเมืองไทยประสบพบผ่าน…

นายกฯ 6 คนไม่นับรักษาการ 2 คน, เฉลี่ยครองตำแหน่งคนละราว 2 ปีกว่า นั่นหมายถึงรัฐบาลส่วนใหญ่ต้องใช้งบประมาณที่รัฐบาลก่อนวางไว้ แต่ได้จัดทำงบประมาณเองแค่ปีสองปี ไม่มีความต่อเนื่องทางนโยบายและผู้บริหารรัฐบาลยาวนานพอ

รัฐประหาร 2 ครั้ง (คปค. 19 กันยายน 2549, คสช. 22 พฤษภาคม 2557)

การชุมนุมมวลชนต่อต้านรัฐบาลขนานใหญ่ 7 ระลอก (พธม. 2549, นปก. 2550, พธม. 2551, นปช. 2552, นปช. 2553, องค์การพิทักษ์สยาม 2555, กปปส. 2556-2557, แฟลชม็อบเยาวชนปัจจุบัน)

การปะทะและปราบปรามสลายการชุมนุม 4 ยก (2551, 2552, 2553, 2556-2557) ยอดผู้เสียชีวิตเรือนร้อย, บาดเจ็บเรือนพัน, เสียหายทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านถึงแสนล้านบาท

รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ (ชั่วคราว 2549, 2550, ชั่วคราว 2557, 2560)

แน่นอน ระเบียบอำนาจเผด็จการทหาร คสช.ประสบชัยชนะในการหยุดยั้งไม่ให้อำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชนผ่านนักการเมืองได้เข้าครอบครองอำนาจรัฐเต็มที่โดยตรง

แต่ก็ล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างมั่นคงยั่งยืน ดังเห็นได้จากกระแสคลื่นแฟลชม็อบเยาวชนช่วงต้นปีและในปัจจุบัน และข้อเรียกร้องฉันทามติของสังคมให้แก้รัฐธรรมนูญ (ที่ออกแบบมาเพื่อพวกเขา ให้แก้ยากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และตั้งใจให้คงอยู่อย่างนี้ไปอย่างน้อย 20 ปี)

(ต่อสัปดาห์หน้า)