เทศมองไทย : แนวรบใหม่จีน-อินเดีย ไฉนอยู่ที่ “คลองกระ”?!

กลางวงสนทนาระหว่างผู้สื่อข่าวกลุ่มใหญ่กับเอกอัครราชทูตของประเทศในเอเชียประเทศหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เกิดคำถามที่ไม่ค่อย “เข้าพวก” กับหลากหลายคำถามก่อนหน้านี้ ที่หนักไปในเรื่องเกี่ยวกับการเมืองภายในและโควิด-19 ขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยว่า “คิดกันยังไงเรื่องคลองกระ?”

ผมเชื่อว่าทุกคนในวันนั้นไม่ได้คาดคิดถึงว่าจะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกันในวันนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแทบไม่ปรากฏข่าวคราวเรื่องเดียวกันนี้บนหน้าหนังสือพิมพ์บ้านเราอยู่เลยในห้วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า “คลองกระ” ที่ “ติดๆ-ดับๆ” คู่กับการเมืองไทยมาเนิ่นนานเต็มที จะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อในประเทศอื่น

 

ผมกลับมา “ทำการบ้าน” นิดหน่อยแล้วพบว่า “คลองกระ” เป็นประเด็น “ฮอต” อย่างยิ่งในสื่อมวลชนที่อินเดีย

สื่อหลายสำนักเล่นเรื่องนี้กันอย่างน้อย 1-2 ครั้งในช่วงสัปดาห์สองสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตัวอย่างเช่น เอเอ็นไอ เว็บไซต์ข่าวของสำนักข่าวชื่อเดียวกันในอินเดีย เล่นเรื่องนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง ชิ้นแรกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 8 กันยายนนี่เอง ยูเรเซียนไทม์ส เว็บข่าวอีกเจ้าก็ทำนองเดียวกัน ข้อเขียนล่าสุดของยูเรเซียนไทม์สในเรื่องนี้เผยแพร่เมื่อ 6 กันยายนที่ผ่านมานี่เอง

หนังสือพิมพ์อย่างฮินดูสถานไทม์ส ก็สนใจเรื่องเดียวกันนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว

เหตุผลสำคัญก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี้ จริงจังอย่างมากกับสิ่งที่สื่ออินเดียบอกว่า เป็นการดำเนินของทางการจีน เพื่อ “ผลักดัน” โครงการคลองกระของไทย

 

ตามข้อมูลของฮินดูสถานไทม์ส บอกว่า รัฐบาลอินเดียซีเรียสถึงขนาดอนุมัติงบประมาณไม่น้อยเลยทีเดียว เปลี่ยนที่มั่นทางทหารที่เคยมีเพียง “ลานบิน” เล็กๆ บนเกาะสองเกาะในทะเลอันดามัน ให้กลายเป็น “ฐานทัพ” ขนาดใหญ่เต็มรูปแบบ ที่สามารถปฏิบัติการรบได้ครบถ้วนทั้ง “ดิน-น้ำ-ฟ้า” เลยทีเดียว

เกาะสองเกาะที่ว่านั้นคือ เกาะศิภปูร์ ในทะเลอันดามันตอนเหนือ กับเกาะนิโคบาร์ ในทะเลอันดามันตอนล่าง ตรงกับแถวๆ ประจวบคีรีขันธ์และชุมพรของไทย

ตอนเหนือของเกาะศิภปูร์นั้นเดิมมี “แอร์สตริป” สำหรับใช้ขึ้นลงของเครื่องบินทหารอยู่ เรียกกันว่า “ไอเอ็นเอส โคฮัสสา” ส่วนที่เกาะนิโคบาร์ ก็มีแอร์สตริปทำนองเดียวกัน เรียกว่า “แคมป์เบลล์ สตริป” ครับ

นอกเหนือจากการให้ความเห็นชอบก่อสร้างฐานทัพบนเกาะทั้งสองในทะเลอันดามันแล้ว รัฐบาลอินเดียยังอนุมัติให้ “อัพเกรด” แอร์สตริปอีกแห่งที่ “ลักษทวีป” (เดิมคือหมู่เกาะลักกาดีฟ, มินิคอยและอามินทวิ) นอกฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอินเดีย ให้กลายเป็นฐานทัพขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางทะเลในพื้นที่มหาศาล ตั้งแต่อ่าวเบงกอล เรื่อยไปจนถึงช่องแคบมะละกา และรวมไปถึงทะเลอาหรับ และอ่าวเอเดนโน่น

นายทหารระดับผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพของอินเดียบอก “อย่างเป็นทางการ” ไว้ว่า การพัฒนาเกาะศิภปูร์กับเกาะนิโคบาร์ให้กลายเป็นฐานทัพนั้น ก็เหมือนกับอินเดียมี “เรือบรรทุกเครื่องบิน” ใหม่ในกองทัพอีก 2 ลำ

เพราะทำให้สามารถดำรงอิทธิพลทางทะเลได้ไกลออกไปจากแผ่นดินใหญ่อินเดียอีกไกลมาก

ครอบคลุมน่านน้ำที่มี “เส้นทางเดินเรือที่มีสถิติการเดินเรือสูงที่สุดในโลก” โดยที่ครึ่งหนึ่งของสินค้าที่ค้าขายกันทั่วโลกต้องผ่านเส้นทางในน่านน้ำนี้

 

แต่ทั้งฮินดูสถานไทม์ส, ยูเรเซียนไทม์ส แล้วก็เอเอ็นไอ ยืนยันว่า การพัฒนาฐานทัพของอินเดียบนสองเกาะในอันดามันนั้น มีขึ้นเพราะ “จีนผลักดันอย่างหนักให้ไทยขุดคลองกระ” ครับ

ทั่วโลกในเวลานี้รู้กันดีว่า อินเดียกับจีนเกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก แต่นั่นเป็นความขัดแย้งบริเวณพรมแดนรกร้างระหว่างสองประเทศที่ลาดักห์ สูงขึ้นไปบนเทือกเขาที่แทบไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ที่เป็นส่วนหนึ่งของหิมาลัย เกี่ยวอะไรกับทะเลอันดามันและคลองกระของไทย?

ยูเรเซียนไทม์สบอกเอาไว้เมื่อ 6 กันยายนนี้ว่า “(การขุด) คลองกระในไทย เป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหา “มะละกา พร็อบเบล็ม” ของจีน” อธิบายต่อเอาไว้ด้วยว่า คลองขุดความยาว 120 กิโลเมตรแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่ม “เส้นทางสายไหมใหม่ทางทะเล” ซึ่งอยู่ในนโยบายทะเยอทะยาน “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน

บอกเอาไว้เป็นนัยๆ ด้วยว่า ถ้าเป็นจริงได้ เรือบรรทุกสินค้าที่เดิมเคยอ้อมผ่านช่องแคบมะละกาขึ้นมาจะประหยัดเวลาในการเดินเรือได้มากถึง 2 วัน

ซึ่งแปลความหมายได้เช่นกันว่า ถ้าหากเป็น “เรือรบ” ก็จะสามารถผ่านจากทะเลจีนใต้สู่ทะเลอันดามันเพื่อคุกคามโดยตรงต่ออินเดียได้ “ง่ายขึ้น” และ “เร็วขึ้น” นั่นเอง

แน่นอนครับ พัฒนาการล่าสุดในไทย ทั้งเรื่องระงับซื้อเรือดำน้ำจีนไว้ชั่วคราว กับการสร่างซาในความสนใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการคลองกระของไทยอีกครั้ง ย่อมเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากสื่ออินเดียต่อเนื่องไปด้วยเช่นเดียวกัน

ถึงกับมีการวิเคราะห์กันว่า นี่เป็นการ “แข็งข้อ” ครั้งใหญ่ของประเทศที่เป็น “พันธมิตรที่แข็งแกร่งที่สุด” ของจีนในทะเลจีนใต้เลยทีเดียว