จิตต์สุภา ฉิน : E-waste ทิ้งมั่วๆ ก็ไม่พ้นตัว

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ช่วงนี้เรามักจะได้เห็นค่ายผู้ให้บริการมือถือ อย่าง AIS และ dtac ออกมารณรงค์เรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ และช่วยตั้งจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าเพื่อนำไปจัดการต่ออย่างถูกวิธี

ในยุคที่เราเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือกันบ่อยและทุกคนต้องการมีติดตัวไว้อย่างน้อยหนึ่งเครื่องนี่จึงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการจัดการอย่างจริงจัง

ทุกๆ ปีมีจำนวนของใช้อิเล็กทรอนิกส์ อย่างโทรศัพท์ โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ ที่ถูกทิ้งเพิ่มมากขึ้น 2.5 ล้านตัน แต่ละชิ้นมีวงจรการใช้งานที่ค่อนข้างสั้น และสุมกองกลายเป็นภูเขาขยะขนาดมหึมา

ข้อมูลจาก Global E-waste Monitor 2020 ซึ่งเป็นการร่างร่วมกันกับ United Nations University ระบุว่าในปี 2019 มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นทั่วโลกมากถึง 53.6 ล้านตัน

หากเฉลี่ยเป็นรายหัวให้กับประชากรโลกทุกคนก็จะรับผิดชอบกันคนละ 7.1 กิโลกรัมเลยทีเดียว

หากว่ากันที่ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่ผลิตออกมา เอเชียครองแชมป์อันดับหนึ่งคือสร้างขยะในปี 2019 ถึง 24.9 ล้านตัน ตามมาด้วยอเมริกา ที่ 13.1 ล้านตัน ยุโรป 12 ล้านตัน และโอเชียเนีย 7 แสนตัน

หากนับกันที่ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อประชากร ตัวเลขจะไปสูงที่สุดในทวีปยุโรป โอเชียเนีย และอเมริกาตามลำดับ

คนยุโรปทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ยอยู่ที่ 16.2 กิโลกรัมต่อคนทุกๆ ปี ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้นก็คือหนึ่งคนจะทิ้งคอมพิวเตอร์แบบพกพากันคนละเกือบ 8 เครื่อง

ในขณะที่คนในโอเชียเนียก็สร้างขยะ e-waste ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันกับคนยุโรป คือ 16.1 กิโลกรัมต่อคน

คนอเมริกันตามมาเป็นอันดับที่สามอยู่ที่ 13.3 กิโลกรัมต่อคน

ตัวเลขขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-waste ในตอนนี้ที่ว่าเยอะแล้ว แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นไปสองเท่าในปี 2030

และถึงแม้ว่าเราจะปลอบใจตัวเองว่า แต่ขยะเหล่านี้ก็สามารถนำไปรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำก็ได้ไม่ใช่หรือ แต่ความเป็นจริงก็คือ 4 ใน 5 ของขยะทั้งหมดจะไม่ถูกนำไปรีไซเคิลเลย ซึ่งถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ซ้ำซ้อนเพราะนอกจากเราจะมีขยะเพิ่มขึ้นแล้ว

ขยะประเภทนี้หากไม่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธีก็จะสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวงและจะย้อนกลับมาถึงตัวเราในที่สุด

รายงานฉบับเดียวกันนี้บอกว่าในปี 2019 มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียง 17.4% เท่านั้นที่ได้รับการเก็บและนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี

ยุโรปนับเป็นทวีปที่ทำเรื่องนี้ได้ดีเพราะสามารถรีไซเคิลขยะ e-waste ได้มากถึง 42.5% โดยมีทั้งส่วนที่รีไซเคิลภายในประเทศ หรือขายต่อให้ตลาดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

แล้วอีก 82.6% ที่เหลือที่ไม่ได้รับการรีไซเคิลล่ะ หายไปไหน?

 

คําตอบก็คือขยะเหล่านั้นถูกทิ้งไปรวมกับกองขยะอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นกองขยะขนาดใหญ่ที่อยู่ในที่เปิดและไม่มีแม้กระทั่งรั้วรอบขอบกั้น

ซึ่งเมื่อเป็นการนำไปโยนทิ้งไว้เฉยๆ ก็จะทำให้เกิดการไหลของสารพิษต่างๆ เข้าสู่สิ่งแวดล้อม

อย่างในปี 2019 ที่ผ่านมาก็คาดว่ามีสารตะกั่วราว 50 ตัน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 98 ล้านตัน ถูกปล่อยจากตู้เย็นและแอร์ที่คนเอาไปทิ้ง

เมื่อสารเคมีและก๊าซต่างๆ ไหลออกสู่แผ่นดิน แหล่งน้ำ และอากาศ ก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกในที่สุด

ผลกระทบในแง่เศรษฐกิจของการไม่กำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้องก็คือการสูญเสียวัสดุมีค่าไปอย่างน่าเสียดาย อย่างเช่น ทอง เงิน ทองแดง ทองคำขาว และวัสดุมีค่าอื่นๆ ที่ต้องใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อไม่ใช้สินค้านั้นๆ แล้ว

วัสดุเหล่านี้ควรได้รับการคัดแยกออกมาเพื่อนำไปใช้ใหม่ซึ่งก็จะสร้างเม็ดเงินให้กับระบบเศรษฐกิจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ในฐานะผู้บริโภคมีหลายอย่างที่เราสามารถทำได้ อย่างเช่น ลองย้อนเวลากลับไปว่าก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นขยะที่เราเห็นทุกวันนี้ ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นโทรศัพท์ เป็นแท็บเล็ตที่ใหม่เอี่ยมที่เราต้องคัดเลือกและซื้อมาใช้งาน

หากเราหยุดที่กระบวนการนี้ก่อนได้ ถามตัวเองว่านี่เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้จริงไหม ต้องใช้แค่ไหน เราต้องซื้อเครื่องใหม่เอี่ยมหรือเปล่า หรือว่าเราสามารถซื้อเครื่องมือสอง หรือเครื่องรีเฟอร์บิชซึ่งเป็นเครื่องที่มีปัญหาแต่ผู้ผลิตนำกลับไปซ่อมแซมให้เหมือนใหม่แล้วได้หรือเปล่า

หรือคิดเผื่อตั้งแต่ก่อนซื้อเครื่องใหม่ว่าแล้วเครื่องเก่าที่มีอยู่จะเอาไปทำอะไรต่อ จะยกให้เพื่อน หรือเอาไปบริจาคได้ไหม

คล้ายๆ กับหลักการที่ผู้หญิงบางคนใช้ในการจำกัดการช้อปปิ้งเสื้อผ้าของตัวเอง คือถ้ายังไม่รู้ว่าจะเอาตัวเก่าไปส่งต่อที่ไหนก็จะยังไม่ยอมซื้อตัวใหม่อะไรแบบนี้

อีกหนึ่งทางเลือกที่เรามักจะลืมไปแต่ก็พอจะเข้าใจได้เพราะตอนนี้รอบตัวเรามีแต่สิ่งเร้าสิ่งกระตุ้นให้ซื้อของใหม่ก็คือการนำของเก่าไปซ่อม อันที่จริงแล้วมีร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ทั่วไปที่เราสามารถนำพัดลม ตู้เย็น หรือโทรทัศน์ไปซ่อมให้กลับมาใช้งานใหม่ได้

หรือหากใครมีฝีมือทางช่างติดตัวไว้สักหน่อย จะเปิดคลิปยูทูบสอนวิธีซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ ก็ได้

ตัวเลือกสุดท้ายที่ก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีอยู่ก็คือการนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิต่างๆ ซึ่งมูลนิธิเหล่านี้จะมีกระบวนการจัดการว่าของชิ้นไหนต้องนำไปกระจายต่อให้ใคร

และมีหลายมูลนิธิที่ไม่ได้เรียกร้องให้เราซ่อมของก่อนนำไปบริจาค อย่างมูลนิธิกระจกเงาที่ประกาศบนเว็บไซต์เลยว่ารับบริจาคคอมพิวเตอร์เก่า “พังแล้วก็รับ”

(ใครยังไม่เคยไปบริจาคของที่มูลนิธิกระจกเงา บอกได้เลยว่าไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดค่ะ ขนของทุกอย่างไปที่มูลนิธิ เมื่อไปถึงก็จะมีเจ้าหน้าที่เข็นรถมารับของทั้งหมดไปจัดการต่อ กระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 นาทีเท่านั้น)

 

สิ่งที่ต้องท่องจำไว้ให้ขึ้นใจคือไม่ว่าเราจะสามารถซ่อมของใช้อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นนั้นๆ ได้หรือไม่ก็ตาม เราจะต้องไม่ทิ้งมันลงไปในถังขยะทั่วไปเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นของชิ้นใหญ่เบิ้มอย่างเครื่องซักผ้าหรือเล็กจิ๋วอย่างธัมป์ไดรฟ์หรือแบตเตอรี่ ขยะประเภทนี้จะต้องถูกทิ้งในที่ของมันเท่านั้น ถ้าหากจะซื้อเครื่องซักผ้าใหม่แล้วไม่รู้ว่าจะเอาของเก่าไปไว้ที่ไหน ก็ลองพิจารณาว่าเราจะซื้อจากร้านที่รับเครื่องเก่าไปรีไซเคิลเท่านั้นก็ได้นะคะ

และตอนนี้ชีวิตก็ง่ายขึ้นเยอะเมื่อผู้ให้บริการมือถือที่มีสาขากระจายตัวอยู่ทุกจังหวัดประกาศให้เอาขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งได้ที่ช็อปใกล้บ้าน หรือจุดรับขยะที่ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ แถมการทิ้งแต่ละชิ้นจะสามารถนำไปแลกคะแนนได้ด้วย ใครที่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์จะทิ้ง ลองไปตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมบนเว็บไซต์ของทั้ง AIS และ dtac ได้นะคะ

ก่อนหน้านี้คนไม่ทิ้งขยะ e-waste อย่างถูกวิธีเพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปทิ้งได้ที่ไหนบ้าง แต่ตอนนี้มีธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยกำหนดจุดทิ้งไว้ให้แล้วมากมาย แค่หาข้อมูลนิดหน่อยและวางแผนทิ้งให้ดีๆ การทิ้งอย่างถูกต้องก็ทำได้ง่ายกว่าเดิมมาก

หากทุกอย่างง่ายขนาดนี้แล้วแต่เรายังดึงดันที่จะทิ้งตามใจฉันเหมือนเดิม แบบนี้ต้องตีตัวเองแรงๆ แล้วล่ะค่ะ