อี๊ดอ๊าด อี๊ดอ๊าด! ให้ศิลปะเป็นเพื่อนนั่งกินอาหาร ที่ โตเกียวฮอท

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
โตเกียวฮอท

ในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ธุรกิจร้านค้าและกิจการต่างๆ โดยเฉพาะร้านอาหารและธุรกิจบริการ ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก และต้องเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ยากลำบาก

พื้นที่ทางศิลปะต่างๆ เองก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นเดียวกัน

แม้ในช่วงหลังจากที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ร้านอาหาร หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่ทางศิลปะ ต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาวะวิถีชีวิตใหม่ หรือนิวนอร์มอล ด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม

มีพื้นที่ทางศิลปะแห่งหนึ่งที่เปลี่ยนการปรับตัวที่ว่านี้ให้กลายเป็นผลงานศิลปะ ที่น่าสนใจก็คือ พื้นที่แห่งนี้ไม่ได้เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นร้านอาหารไปในตัวด้วย

พื้นที่นี้มีชื่อว่า

“โตเกียวฮอท”

คือร้านขายขนมโตเกียวที่พยายามทดลองและต่อยอดรสชาติของไส้ขนมโตเกียว จากความชอบกินโตเกียวมาตั้งแต่เด็กๆ ของกลุ่มเพื่อนๆ ผู้หลอมรวมประสบการณ์การกินอาหารต่างๆ จนมาสู่การสร้างสรรค์รสชาติใหม่ๆ นำเสนอบนแป้งโตเกียวที่สามารถเป็นภาชนะในการบรรจุไส้ต่างๆ ที่เปิดกว้างสำหรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ เปรียบได้กับสื่อกลางอย่าง “หนังสือ” ที่ม้วนเรื่องราว ความคิด ของผู้บันทึกที่ไม่ต่างอะไรกับ “ไส้” ที่ถูกห่อหุ้มใต้ปก ด้วยตัวเนื้อหาเรื่องราวได้ถูกนำเสนอออกมาผ่านประสาทสัมผัสที่ปลายลิ้นที่เป็นภาษาสากลในทุกวัฒนธรรม จนสามารถรับรู้ความรู้สึกต่อรสชาติและนึกไปถึงเรื่องราวของอาหารที่ซ่อนอยู่ในการกินเหล่านั้น

นอกจากเป็นร้านอาหารแล้ว โตเกียวฮอทยังเป็นพื้นที่รวมตัวของกลุ่มศิลปินทำงานสร้างสรรค์ ที่มาประกอบอาชีพและทำธุรกิจร่วมกัน

โดยมี จิรภัทร วัฒนกุลจรัส ศิลปินอิสระและผู้ก่อตั้ง Hatchew People, อดิศักดิ์ โชคส่องแสง และ ณภัทร วัฒนกุลจรัส ศิลปินอิสระและผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Sangnual lap ร่วมกันก่อตั้งพื้นที่แห่งนี้ขึ้นมา

ทางกลุ่มโตเกียวฮอทมีเจตนาในการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์เพื่อหาเลี้ยงตนและต่อยอดโครงการศิลปะที่ฝันเอาไว้

พวกเขาใช้ขนมโตเกียวและร้านแห่งนี้เป็นพื้นที่สนามเด็กเล่นที่เปิดกว้างสำหรับการทดลองเรียนรู้และพร้อมที่จะได้เจอกับเพื่อนใหม่ๆ

เรามีโอกาสได้แวะไปเยี่ยมเยือนร้านขนมโตเกียว+พื้นที่แสดงงานศิลปะแห่งนี้ในช่วงเวลาที่กำลังจัดแสดงนิทรรศการศิลปะชื่อแปลกๆ อย่าง “อี๊ดอ๊าด อี๊ดอ๊าด!” ที่เปลี่ยนการเว้นระยะห่างทางสังคมให้กลายเป็นกิจกรรมทางศิลปะได้อย่างน่าสนใจ

โดยณภัทร หนึ่งในผู้ก่อตั้งโตเกียวฮอท เล่าถึงความเป็นมาของพื้นที่และนิทรรศการศิลปะครั้งนี้ให้เราฟังว่า

“ก่อนหน้านี้ผมทำพื้นที่ทางศิลปะเล็กๆ ชื่อ Sangnual lap ซึ่งเป็นพื้นที่ของร้ายขายหลอดไฟเก่าของพ่อ หลังจากนั้นผมกับเพื่อนก็มาร่วมลงทุนทำร้านอาหารแห่งนี้ด้วยกัน ทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น เราจึงเริ่มจากการทำให้พื้นที่นั่งกินอาหารในร้านกลายเป็นพื้นที่ทางศิลปะ และด้วยความที่เรามีเพื่อนเป็นคนทำงานศิลปะที่อยู่ในละแวกใกล้ๆ กัน จึงทำให้เราจัดกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น”

นิทรรศการอี๊ดอ๊าดอี๊ดอ๊าด! ใน Tokyo Hot Canteen

“โครงการศิลปะ อี๊ดอ๊าด อี๊ดอ๊าด! เกิดในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เราต้องปิดหน้าร้าน เพราะเปิดขายอาหารในพื้นที่ไม่ได้ หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายขึ้นและมีการคลายล็อกดาวน์ใหม่ๆ ร้านอาหารทุกร้านต้องปรับตัวเพื่อตอบรับการเว้นระยะห่างทางสังคม”

“พอดีเราไปเห็นโครงการ “เพื่อนนั่งกินข้าว” ที่เป็นการใช้ตุ๊กตาเป็นเหมือนเพื่อนจำลอง ที่มานั่งเป็นเพื่อนแก้เหงาให้ลูกค้าที่ถูกเว้นระยะห่างเวลานั่งกินอาหารในร้านอาหาร ในช่วงที่มีมาตรการนั่งแยกกัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสที่ผ่านมา โดยแต่ละร้านอาหารจะมีหน้าตาของ “เพื่อน” ที่แตกต่างกันไป”

นิทรรศการอี๊ดอ๊าดอี๊ดอ๊าด! ใน Tokyo Hot Canteen

“เราก็สนใจในความเป็นเพื่อนของตัวตุ๊กตาเหล่านั้น เราเลยชวนเพื่อนๆ ของเราที่เป็นศิลปินที่ทำงานในหลากหลายรูปแบบที่อยู่ละแวกใกล้เคียงกัน 12 คน มาตีความพื้นที่และสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ริโซ่กราฟ* นำมาจัดแสดงบนฉากกั้นป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส ที่ตั้งระหว่างโต๊ะรับประทานอาหาร ทั้งหมด 12 ที่นั่ง 12 ผลงาน ภายในพื้นที่ Tokyo Hot Canteen บนชั้นสองของร้านโตเกียวฮอท เพื่อเป็นเพื่อนเคียงข้างการกินอาหารบนโต๊ะ และเป็นผลงานศิลปะที่สร้างบทสนทนา ให้ผู้มาเยี่ยมเยือนได้เอร็ดอร่อยทั้งลิ้นและสายตาไปพร้อมๆ กัน เนื้อหาของผลงานก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา”

“โดยทางโตเกียวฮอทได้รับการสนับสนุนด้านการพิมพ์ผลงานริโซ่กราฟของศิลปินทั้งหมดจาก Poop Press รวมถึงเพื่อนศิลปินทุกท่านที่สนับสนุนผลงานศิลปะให้กิจกรรมนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ว่าจะเป็น Speedy Grandma และ Yep Yep Handicraft”

นิทรรศการอี๊ดอ๊าดอี๊ดอ๊าด! ใน Tokyo Hot Canteen

“ผลงานภาพพิมพ์ริโซ่กราฟทั้งหมดของศิลปินที่เข้าร่วมในโครงการนี้ถูกนำมาขายในจำนวนชุดละ 15 ชิ้น และเรายังนำใบสั่งอาหารกับใบเสร็จที่ใช้แล้วมาเย็บเป็นสมุดทำมือ (โดย Yep Yep Handicraft) มาวางขายเพื่อสมทบกองทุนเดียวกัน โดยสามารถบริจาคค่าสมุดเป็นจำนวนเงินตามความพอใจ และนำรายได้ทั้งหมดโดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายส่งมอบให้ทางมูลนิธิกระจกเงา ในบัญชี กองทุนอาสามาเยี่ยม เพื่อให้ทางมูลนิธิได้นำไปใช้จ่ายจัดซื้อของอุปโภคบริโภคให้กับผู้ไม่มีรายได้ หรือได้รับผลกระทบจากวิกฤติเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ผ่านมา ซึ่งทางเราจะชี้แจงยอดรายได้ทั้งหมดลงในเพจเฟซบุ๊ก โตเกียวฮอท”

“เรายังทำ “แพนเค้กหมุดคณะราษฎร” ในโอกาสครบรอบ 88 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยทำแพนเค้กวาดมือรูปหมุดคณะราษฎร เพื่อแสดงความรำลึกถึงในวันนั้นวันเดียว โดยสามารถซื้อในราคาเท่าไหร่ก็ได้ และนำรายได้เข้ากองทุน อี๊ดอ๊าด อี๊ดอ๊าด เพื่อนำไปมอบให้มูลนิธิกระจกเงาเช่นเดียวกัน ซึ่งในวันนั้นก็มีคนบริจาคให้เรามา 247.50 บาท ด้วย”

นิทรรศการอี๊ดอ๊าดอี๊ดอ๊าด! ใน Tokyo Hot Canteen

อนึ่ง คำว่า “อี๊ดอ๊าด” เป็นการเล่นคำพ้องเสียงระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อย่างคำว่า Eat (กิน) และคำว่า Art (ศิลปะ) นั่นเอง

นอกจากนิทรรศการ “อี๊ดอ๊าด อี๊ดอ๊าด!” แล้ว โตเกียวฮอทยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจและมีชื่อแปลกๆ ไม่แพ้กัน อย่างโครงการ “ซิ่งวีดิทัศน์” โดยณภัทรเฉลยให้เราฟังว่า

นิทรรศการอี๊ดอ๊าดอี๊ดอ๊าด! ใน Tokyo Hot Canteen

“โครงการนี้เกิดจากการพูดคุยกับ ณณฐ ธนพรรพี เพื่อนศิลปินผู้มีความสนใจในสื่อภาพเคลื่อนไหว และเราเองก็มีเพื่อนๆ ที่ทำงานในสื่อภาพเคลื่อนไหวอีกหลายคน บางคนเรียนจบภาพยนตร์ บางคนทำหนังทดลอง บางคนหัดทำหนังของตัวเอง ถ่ายเป็น Vlog, Tik Tok หรือ IG Story เราเลยอยากรวมกลุ่มคนเหล่านี้ให้มาเจอกัน เพื่อพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนผลงานกันชม เราเลยเปิดรับสมัครผลงานวิดีโอสั้นๆ ความยาว 30 วินาที ถึง 1 นาที และนำไปจัดฉายในจอโทรทัศน์ที่จัดวางในพื้นที่ “ตู้ปลา” (Fish Tank) ที่ให้เป็นเหมือนเป็นของประดับตกแต่งร้าน และเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมในร้านได้ดูผลงานเหล่านั้นเหมือนดูปลาที่ว่ายเวียนอยู่ในตู้ปลา “ปลา” ในที่นี้อาจหมายถึงศิลปินที่อยู่ในระบบนิเวศทางศิลปะ เหมือนเป็นชุมชนเล็กๆ ชุมชนหนึ่ง”

“คำว่า “ซิ่ง” เป็นศัพท์ในวัฒนธรรมย่อยของเด็กแว้น หรือนักซิ่ง ที่หมายถึงการทำบางอย่างให้เหนือกว่ามาตรฐานที่โรงงานผลิตมา อย่างเช่น เอามอเตอร์ไซค์ไปตกแต่งให้เครื่องแรงหรือท่อเสียงดังกว่าเดิม อย่างในวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา เรายังมีกิจกรรม “เชงไนต์” ซึ่ง “เชง” ก็เป็นศัพท์ของเด็กแว้นที่หมายถึงการเอารถมาแข่ง มาวัดเครื่องกัน เชงไนต์ก็คือการเชิญชวนให้นักทำภาพเคลื่อนไหวได้มาอวดผลงานของตนแบบไม่จำกัดเวลาและพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน”

(โครงการนี้ยังเปิดรับสมัครผลงานอยู่ เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://bit.ly/2ENYiAi)

“ในอนาคต เรากำลังจะทำโครงการที่มีชื่อว่า “Egg” หรือ “ไข่” ซึ่งเป็นเหมือนการฟักไข่ ก่อนที่จะออกจากเปลือก เราอยากให้พื้นที่นี้เป็นพื้นฐานหรือจุดเริ่มต้นของอะไรบางอย่าง เราก็จะชวนศิลปิน เพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน หรือคนรุ่นใหม่ๆ มาแสดงผลงาน ในอนาคตเราคิดว่าจะมีหลักสูตรสอนศิลปะสำหรับบุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดอายุ และเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะจากผลงานจริงๆ ที่มาแสดงในพื้นที่นี้อีกด้วย”

“อาหารการกินเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง การที่เราหยิบไส้แต่ละไส้ใส่ในขนมโตเกียว เหมือนเราหยิบเอาความทรงจำของสิ่งที่เราเคยกินจากที่ต่างๆ มาแบ่งปัน ไม่ต่างอะไรกับศิลปะ เพราะศิลปะเองก็มีรากเหง้าที่มา เช่นเดียวกับขนมโตเกียวที่มีเรื่องเล่าอยู่ในนั้น เราแค่เอามาจัดการใหม่ให้กินง่ายขึ้นในแบบที่เราชอบ”

“แนวคิดของของพื้นที่โตเกียวฮอท เป็นเหมือนพื้นที่ที่เปิดรับเพื่อนทุกคนอย่างเปิดกว้าง โดยไม่แบ่งแยกสัญชาติของอาหารหรืองานศิลปะ เหมือนกับแนวคิดของการห่อ การม้วน ขนมโตเกียว ที่เราเปิดรับไม่ว่าจะเป็นไส้อะไร ที่เราสร้างสรรค์และเล่าเรื่องของมันได้”

สมุดทํามือที่ทําจากใบสั่งอาหารกับใบเสร็จที่ใช้แล้วโดยโดย Yep Yep Handicraft

นิทรรศการ อี๊ดอ๊าด อี๊ดอ๊าด! จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2563 ที่โตเกียวฮอท ซอยเจริญกรุง 43 (ฝั่งตรงข้าม TCDC) ร้านเปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 11:00-19:00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของร้านได้ที่ช่องทาง Inbox ของ Facebook Page โตเกียวฮอท, [email protected] หรือโทร. 08-1583-0408

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากโตเกียวฮอท

ริโซ่กราฟ* (Risograph) คือเทคนิคการทำงานพิมพ์ที่เรียกตามชื่อเครื่องพิมพ์สำเนาระบบสเตนซิลของญี่ปุ่น Riso ที่ออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในปี 1986 โดยเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานได้ทั้งในระบบดิจิตอลร่วมกับคอมพิวเตอร์และเป็นเครื่องถ่ายสำเนาแบบอะนาล็อก Riso สามารถพิมพ์ได้ทีละสี ให้สีสันสดใส เหมาะสำหรับงานสิ่งพิมพ์ทางเลือกที่ราคาเป็นมิตร อย่างโปสเตอร์ การ์ตูนและหนังสือทำมือ ไปจนถึงงานภาพพิมพ์ต่างๆ