ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 กันยายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
“มาจากตรัง ไม่หนังก็โนรา”
เล่าขานกันมาอย่างนี้ ว่านี่คือความเป็นทั้งคน “เจ้าบทเจ้ากลอน” และความเป็น “ศิลปิน” ของคนตรัง
โนราเด่นดังคนตรังชื่อ “โนราเติม” มีคำเกริ่นร้องแนะนำตัวว่า
“ตัวฉันชื่อเติม บ้านเดิมอยู่ตรัง”
เวลานี้ลูกหลานของโนราเติมก็ว่ายังมีและสืบทอดศิลปะโนราอยู่
หนังตะลุงนั้นเป็นปฏิภาณกวีพื้นบ้านฐานถิ่นของชาวใต้โดยแท้ เช่นเดียวกับโนราก็เป็นศิลปะการร่ายรำประกอบคำร้องที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชาวใต้โดยเฉพาะด้วย
เอกลักษณ์นี้คือ “ภาษา”
ภาษาใต้ ภาษาถิ่นมีสำเนียงและลีลาเป็นของตนเองโดยเฉพาะ เรียกว่าเป็น “อัตลักษณ์” ที่ลอกเลียนกันไม่ได้
ก็ภาษานี่แหละที่สื่อถึงความเป็นคนพื้นถิ่น-พื้นฐาน เข้าใจและเข้าถึงพื้นภูมิในพื้นที่ของตนจริง
เคยถามคนตรังว่า คุณสมบัติขั้นต้นของผู้แทนชาวใต้ต้องเป็นอย่างไร เพื่อนตอบทันที
“ต้องแหลงใต้ได้ชับเปรี๊ยะ”
แปลว่าต้องพูดใต้ได้ชัดจริง
หนังกับโนรานี่แหละของจริง คือนอกจากสื่อความถึงจิตวิญญาณคนใต้แล้วก็ยังสะท้อนถึงภูมิปัญญาผ่าน “ภูมิภาษา” อย่างมีศิลปะและอลังการยิ่ง
นอกจากหนังและโนราพื้นฐานถิ่นใต้ดังเป็นตำนานของเมืองตรังและคนตรังแล้ว เมืองตรังยังอุดมด้วยนักเขียนมีชื่ออีกมากมาย ทั้งอดีตและปัจจุบัน ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง
มิพักต้องเอ่ยถึงคนตรังที่โดดเด่นเป็นทั้งนักเขียน เป็นศิลปิน ทั้งเขียนรูป เล่นดนตรี แล้วยังเป็นนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัย กระทั่งเป็นประธานสภาคนปัจจุบัน คือ
คุณชวน หลีกภัย
ฉายาฝีปากและคารมคือ “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง”
นี่ก็ยืนยันถึงความเป็น “คนตรัง” ขนานแท้
ไปเมืองตรังล่าสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เห็นพัฒนาการของเมืองตรังอันน่าทึ่ง คือการดูแลรักษาเมืองไว้ได้อย่างเป็นตัวของตัวเองโดยคงธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อยู่เป็นพื้น ถนนหนทางมีต้นไม้เป็นร่มเงาเย็นตาเย็นใจดีนัก
คิดครั้งเคยมา “เขียนแผ่นดิน” เมืองตรังเมื่อปี พ.ศ.2534 ที่โตนน้ำปลิว อุทยานเขาช่อง
ไม้สูงจูงเมฆมาเลื่อน
เป็นเพื่อนมิ่งไม้ไพรฉ่ำ
เป็นฝนเป็นฟ้าประจำ
หอมแรงกลิ่นร่ำจำปูน
ดอกจำปูนเป็นดอกไม้พิเศษมีที่อุทยานเขาช่องหรือเขากะช่อง ต้องไปให้ถูกฤดูจะได้กลิ่นดอกจำปูนดังกลิ่นดอกไม้สวรรค์บนแผ่นดินจริงๆ
มีโอกาสนั่งเรือพายโดยเปลื้อง คงแก้ว กวีตรัง นามปากกา “เทือกบรรทัด” ผู้ล่วงลับพร้อมลายมือลากปากกาเป็นภาษากวีในเฮือกหายใจสุดท้าย
เรานั่งเรือพายลอดป่าชายเลนที่แหลมขามบ้านทุ่ง อ.สิเกา
โกงกางให้ปูเกาะ
แสมเพาะกะพงพี
ลำคลองและไคลคลี
คือแผ่นดินอันอุดม
ชีวิตให้ชีวิต
อันกลมกลืนเป็นเกลียวกลม
แม่นี้แหละให้นม
เลี้ยงน้ำดินนิรันดร
ป่าชายเลนนี้เป็นดั่งครรภ์มารดาของเหล่าปลาทะเลหลากหลายพันธุ์ เช่น ปลากะพง เป็นต้น ว่าถึงฤดูวางไข่ ปลาเหล่านี้จะเข้าอาศัยป่าชายเลนมาวางไข่ โตแล้วจึงว่ายสู่ทะเล เป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ชั่วนาตาปี
เวลานี้ทราบว่าชุมชนที่ย่านตาขาวของตรังก็มีป่าชายเลนอันอุดม เขาสงวนรักษาดูแลให้ป่าชายเลนเป็นดั่งครรภ์มารดาของกุ้งหอยปูปลาเช่นกัน
ทะเลตรังนั้นวิเศษไม่แพ้ทะเลใด
โดยเฉพาะ “หาดเจ้าไหม” ที่ลิบง อำเภอกันตัง มหัศจรรย์ตรงหาดทรายขาวละเอียดเป็นแป้งต้องลอดช่องผาไปยังอีกฟากหาด เห็นความเรียบละเอียดของผืนทรายสีขาวแล้วแทบไม่กล้าเหยียบ ได้แต่นั่งตะลึงแล
เสน่ห์ตรังนั้นมีทั้งความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรแผ่นดิน
อาทิ สวนยางที่มียางต้นแรกซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐ์เป็นผู้นำมา
มีทุ่งข้าวนาดี เช่น พันธุ์ข้าวเล็บนก
มีทะเลและเกาะแก่งมหัศจรรย์อันเป็นดั่ง “สวรรค์มาหล่นลืม” ไว้ที่ทะเลตรัง
วิเศษคืออาหารใต้รสตรัง เช่น หมูย่างและแกงปลาขี้ขมคลองลำชาน
ดอกศรีตรังจึงเป็นสัญลักษณ์พิเศษของ
คนตรงคนตรัง
๐ เจ้าไหมหนอเจ้าเข้าใจไหม
เจ้าสวยกว่าใครที่เคยเห็น
ทรายงามเมื่อยามตะวันเย็น
ฟ้าเป็นสีส้มชมพูคราม
ทะเลเห่กล่อมให้จอมผา
ทอดคลื่นเคลื่อนมาจะพาข้าม
ไปชมชื่นทิพย์ทะเลงาม
ไปตามที่ใจจะไปนั้น
หาดยาวหยงหลิงเจ้าหญิงหลง
น้ำลงลอดเดินที่เนินหลั่น
เงื้อมผาผงาดภูอยู่ยงยัน
โอบกั้นเจ้าไว้ในเพิงภู
เจ้าไหมหนอเจ้าเข้าใจไหม
ว่าใครเขารักเขาอยากอยู่
ชื่นชมดอกทรายโปรยปรายปรู
เจ้าไหมเจ้าจะรู้ … บ้างไหมนะ