คลิปพ่นพิษ “วิระชัย” หลุดเก้าอี้ ก.ตร.เก็บตกถกโผ “21 นายพล” “ปิยะ” โฆษก ตร.ขึ้นรอง ผบ.ตร.

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา พ้นตำแหน่งรอง ผบ.ตร. เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน มีผลตั้งแต่ 29 กรกฎาคม 2563

พล.ต.อ.วิระชัยโด่งดังและเป็นที่รู้จักจากการทำคดีสำคัญๆ อาทิ เมจิกสกิน แชร์ลูกโซ่ยูฟัน, คดีกวาดล้างเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ตลาดใหม่ดอนเมือง

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 นิตยสารฟอร์บส์ ไทยแลนด์ ได้จัดอันดับ 50 อภิมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2563 โดย พล.ต.อ.วิระชัยติดอันดับ 40 ซึ่งคุมบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ ร่วมกับตระกูลของเขา

บริษัทแห่งนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ทำให้ตระกูลนี้มีทรัพย์สินสุทธิรวม 585 ล้านเหรียญ หรือ 1.91 หมื่นล้านบาท

แต่เส้นทางสู่เก้าอี้พิทักษ์ 1 ของ พล.ต.อ.วิระชัยต้องสะดุดลง

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 เวลาประมาณ 20.00 น. มีเหตุการณ์ยิงรถ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ท้องที่ สน.บางรัก ขณะนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ไปราชการที่ต่างประเทศ ทำให้ พล.ต.อ.วิระชัยได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. จึงโดดมาควบคุมงานสืบสวนสอบสวนหาตัวคนร้ายด้วยตนเอง

จากนั้น 9 มกราคม 2563 เวลาประมาณ 08.00 น. มีการเผยแพร่คลิปเสียงผ่านสื่อมวลชน ระหว่างเสียงคล้าย พล.ต.อ.จักรทิพย์ กับเสียงคล้าย พล.ต.อ.วิระชัย ในเชิงตำหนิว่าไม่อยากให้ พล.ต.อ.วิระชัยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีมากเกินไป

กรณีดังกล่าวซึ่งถือเป็นความลับของราชการ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ ตร. และการปฏิบัติหน้าที่ของ ผบ.ตร. เป็นเหตุให้ราชการเสียหาย จึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง

23 มกราคม 2563 พล.ต.อ.วิระชัยถูกย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างโปร่งใส ใช้เวลานานกว่า 6 เดือน

จน 10 กรกฎาคม 2563 คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ฟันวินัยร้ายแรง และดำเนินคดีอาญาในความผิดฐาน พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 74 รวมทั้งประกาศ คปค.ฉบับที่ 21 เรื่องการห้ามดักฟังทางโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสารอื่นใด

23 กรกฎาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 219/2563 ให้ พล.ต.อ.วิระชัยกลับไปปฏิบัติราชการ ตร. โดยระบุว่าผลสอบสวนเสร็จแล้ว

24 กรกฎาคม 2563 พล.ต.อ.จักรทิพย์ลงนามในคำสั่ง ตร.ที่ 383/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และท้ายที่สุดมีคำสั่งสำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัยในวันที่ 29 กรกฎาคม 2563

ระหว่างถูกสำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัยได้ร้องขอความเป็นธรรมต่ออนุ ก.ตร.ร้องทุกข์ ระบุว่า กรณีถูกสั่งสำรองราชการและการสอบวินัยร้ายแรงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

รวมทั้งมอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้อง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จนทำให้ตนเองหมดสิทธิเข้ารับการพิจารณาแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.คนต่อไป

ล่าสุด 6 กันยายน 2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกฯ โปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.อ.วิระชัยพ้นจากตำแหน่งรอง ผบ.ตร.โดยสมบูรณ์

เมื่อ พล.ต.อ.วิระชัยพ้นจากตำแหน่งรอง ผบ.ตร. จึงต้องมีการแต่งตั้งทดแทนตำแหน่งว่างดังกล่าว และจะทำไปในคราวเดียวกัน เมื่อราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2563 จัดตั้งกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บช.สอท.

โดยมีกรอบอัตรา ผบช. 1 ตำแหน่ง รอง ผบช. 3 ตำแหน่ง และ ผบก. 7 ตำแหน่ง

เพราะฉะนั้น มีตำแหน่งว่างระดับรอง ผบ.ตร. ถึง ผบก.รอบเก็บตกวาระประจำปี 2563 ดังนี้ รอง ผบ.ตร. ว่าง 1 ตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ว่าง 1 ตำแหน่ง ผบช. ว่าง 2 ตำแหน่ง รอง ผบช. ว่าง 5 ตำแหน่ง และ ผบก. ว่าง 12 ตำแหน่ง รวมเก้าอี้นายพลรอบเก็บตกว่างถึง 21 ตำแหน่ง

โดยจะต้องนำรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งไม่เกินกลางเดือนกันยายนนี้

เก้าอี้สำคัญที่น่าจับตามอง อาทิ “รอง ผบ.ตร.” คาดมีการเสนอชื่อ

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. นรต.38 สวมหมวกอีกใบในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจสำคัญ อาทิ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรับผิดชอบงาน “จิตอาสา”

พล.ต.ท.รอย อิงคไพโรจน์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. นรต.40 อดีตนายเวร พล.ต.อ.วีระ วิสุทธิกุล อดีตรอง ผบ.ตร. เบียดชิงดำ

หากมองถึงความได้เปรียบ คาดว่า พล.ต.ท.ปิยะจะได้รับการผลักดันให้นั่งเก้าอี้รอง ผบ.ตร. ติดยศ พล.ต.อ. ตามโผรอบแรก

ตำแหน่ง “ผู้ช่วย ผบ.ตร.” มีชื่อ พล.ต.ท.สุรพล อยู่นุช ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. ประสานงานทำเนียบรัฐบาล นรต.36 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เบียดคู่มากับ พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผบช.ภ.7 นรต.42 คนสนิท พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.

ระดับ “ผบช.” ประจำ สง.ผบ.ตร. ประสานงานทำเนียบรัฐบาล มีผู้สนใจขับเคี่ยวในตำแหน่งนี้หลายคน อาทิ พล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี รอง ผบช.ภ.3 นรต.41, พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รอง ผบช.น. นรต.42, พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. นรต.38, พล.ต.ต.อภิชาติ เพชรประสิทธิ์ รอง ผบช.ส. นรต.40 และ พล.ต.ต.เจษฎา ใยสุ่น รอง ผบช.ภ.8 นรต.36

ส่วนเก้าอี้ “ผบช.สอท.” หรือ บช.ไซเบอร์ มีชื่อ “บิ๊กแจง” พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง จเรตำรวจ (สบ.8) นรต.41 เป็นม้าเต็ง ว่ากันว่าเพราะะมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ และเนื่องจากเป็นกองบัญชาการน้องใหม่ “บิ๊กแป๊ะ” จึงต้องเข้ามาวางตัวคนทำงานและจัดการระบบให้เรียบร้อย ก่อนส่งไม้ต่อให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.คนต่อไป

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งนายพลล็อตแรก 258 ตำแหน่ง ยังถือว่าไม่สะเด็ดน้ำ มีโอกาสโยกสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนเก้าอี้กันได้อีกครั้ง

เสมือนเส้นชัยได้ขยับออกไป “แคนดิเดต” ทุกคนออกแรงกันได้เต็มที่