วิเคราะห์ : มอง “ไทย-ออสเตรเลีย” แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไง

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เศรษฐกิจออสเตรเลียในเวลานี้ ถือว่าอยู่ในภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี

เป็นผลต่อเนื่องทั้งจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไฟป่าและภัยแล้งที่ซัดกระหน่ำมาก่อนแล้ว

ไฟป่าเผาผลาญพื้นที่ไร่นาเรือกสวนกว่า 70 ล้านไร่ สร้างความเสียหายให้กับชาวออสซี่อย่างหนักหน่วง

บริษัทประกันภัยควักเงินชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เอาประกันราว 2 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 45,000 ล้านบาท

เมื่อปีที่แล้วออสเตรเลียเจอวิกฤตภัยแล้งรุนแรงมาก พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกินบริเวณกว้าง

นักวิชาการคำนวณปริมาณฝนและพลิกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้านอุตุนิยมวิทยา พบว่าเป็นภัยแล้งหนักหนาสาหัสที่สุดในรอบ 800 ปี

นักเศรษฐศาสตร์ออสเตรเลียมักชอบคุยโอ้อวดว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศโชคดี เพราะมีสินแร่ ก๊าซ ถ่านหินทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ชาวออสซี่

มาในระยะหลังๆ ออสเตรเลียส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเป็นหลักเป็นฐาน ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเป็นอย่างมาก

ลูกค้ารายสำคัญของออสเตรเลียคือจีน

ปรากฏว่า หลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่นานนัก รัฐบาลนายสกอตต์ มอร์ริสัน ใช้นโยบายเดินตามก้นนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ด้วยการเรียกร้องให้โลกร่วมกันตรวจสอบที่มาที่ไปของการแพร่ระบาด

อย่างที่รู้กันว่า เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา รัฐบาลออสเตรเลียเอาอย่างนายทรัมป์

นายสี จิ้น ผิง ผู้นำจีนซึ่งเปิดศึกกับนายทรัมป์มานานแล้วก็เกิดอาการฉุนเฉียวออสเตรเลีย ประกาศห้ามนำสินค้าออสเตรเลียนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวบาร์เลย์ เนื้อวัวหรือไวน์

เมื่อจีนใช้เกมการค้าตอบโต้อย่างนี้ ออสเตรเลียถึงกับอึ้งกิมกี่

 

วิกฤตเศรษฐกิจทำให้ชาวออสซี่ตกงานระนาว ประเมินคร่าวๆ 1 ล้านคน

ธุรกิจท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึง พังพาบเหมือนๆ กับท่องเที่ยวของไทยและทั่วโลก แน่นอนว่ามีผลกระทบเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆ ทั้งโรงแรม ภัตตาคาร ร้านค้าขายของที่ระลึก

ตัวเลขจีดีพีของออสเตรเลียในไตรมาสที่แล้วช่วงโควิด-19 ระบาดหนักๆ หดตัวลง 7 เปอร์เซ็นต์

สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด รัฐบาลออสซี่ใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวดในรัฐวิกตอเรีย

ชาวออสซี่วัยหนุ่ม-สาวที่ตกงานพากันเข้าคิวรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ เป็นภาพที่สื่อไม่ได้เห็นในรอบหลายสิบปี

สถานการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้กลุ่มนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรกรและองค์กรสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย ร่วมกันผนึกกำลังบีบรัฐบาลนายมอร์ริสันให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารจัดการประเทศเสียใหม่เน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก

ในแถลงการณ์ของ 12 องค์กร อาทิ สภาธุรกิจแห่งออสเตรเลีย สหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ กลุ่มอุตสาหกรรมออสเตรเลียที่ร่วมพลังนั้น บอกว่า ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียไม่ได้เตรียมแผนรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอย่างเป็นระบบเอาเสียเลย

การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ มีผลกระทบกับเศรษฐกิจและชุมชนออสเตรเลียอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นที่ประจักษ์ชัด อุณหภูมิในออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี

ภัยพิบัติที่เกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เช่น คลื่นความร้อน ไฟป่า เกิดขึ้นถี่บ่อยครั้ง ในแต่ละครั้งสร้างความเสียหายอย่างมาก

เช่นเดียวกับพื้นที่ชายฝั่งของออสเตรเลียประสบปัญหาน้ำทะเลเพิ่มสูง กัดเซาะชายฝั่ง เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในบริเวณเกรต แบริเออร์ รีฟ ซึ่งมีผลต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล

บางรัฐมีภัยพิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้พืชไร่เสียหาย นำไปสู่ความไม่มั่นคงทั้งทางอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ เช่น ธุรกิจประกันภัย การลงทุน

ภัยพิบัติยังมีผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คน เกิดความไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน เมื่อเกิดบ่อยครั้ง ชาวออสซี่เกิดอาการเสียขวัญ อยู่ในภาวะเครียด นำไปสู่ภาวะเจ็บป่วยบั่นทอนสุขภาพ

 

ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียจะต้องเผชิญกับวิกฤตด้านการจัดทำงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่ในการกู้ชีพ เมื่อภัยพิบัติเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมากในการแก้ไขสถานการณ์

เมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้นรัฐก็ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย กระทบต่อการพัฒนาประเทศ

ข้อเรียกร้องของกลุ่มต้องการให้รัฐบาลออสเตรเลียวางแผนอย่างเป็นระบบในการแก้วิกฤตเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศ

ออสเตรเลียต้องเดินเป้าเหมือนประเทศอื่นๆ ทั่วโลกตามข้อตกลงที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กำหนดไว้ว่า ในปี 2593 หรืออีก 30 ปีนับจากนี้ การปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกต้องเป็นศูนย์

“อนาคตของออสเตรเลีย จะเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง หรือจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ อยู่ที่การบริหารจัดการของรัฐบาล ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการเชื่องช้าและไม่ได้เตรียมการอย่างเพียงพอ” ในแถลงการณ์ระบุ

 

กลุ่มดังกล่าวยังเสนอให้รัฐบาลออสเตรเลีย ปรับโครงสร้างด้านการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

มีการเสนอให้ปรับปรุงระบบประเมินความเสี่ยงมีความทันสมัย ข้อมูลเรียลไทม์ รู้ได้ทันท่วงทีว่าพื้นที่ไหนจะเกิดความเสี่ยงจากภัยแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ จำนวนประชากรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ หรือในภาคเกษตรจะเกิดความเสียหายอย่างไร ต้องวางแผนเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ข้อมูลที่มีอยู่รัฐบาลต้องแบ่งปันให้ภาคเอกชนได้รับรู้ ใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลาทันท่วงที

สภาธุรกิจแห่งออสเตรเลียเชื่อมั่นว่า ถ้ารัฐบาลออสเตรเลียวางเป้าลดการปล่อยก๊าซพิษให้เป็นศูนย์ในอีก 30 ปีข้างหน้า จะเปิดทางให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทางด้านการลงทุน เศรษฐกิจขับเคลื่อนเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ สร้างงานใหม่ และนั่นจะเป็นหนทางพลิกฟื้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และไฟป่า

 

มองออสเตรเลียแล้ว ย้อนกลับมาดูบ้านเรา

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแย่หนักกว่าออสเตรเลีย ทั้งที่ภัยพิบัติก็ไม่ได้รุนแรงเท่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเศรษฐกิจบ้านของเรายังต้องพึ่งพาการส่งออก ท่องเที่ยว

เมื่อทั้งสองปัจจัยหลักทรุดฮวบ ความปั่นป่วนอลหม่านก็ตามมา มิหนำซ้ำยังมีสถานการณ์การเมืองเข้ามาแทรกเป็นยาดำอีก

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถพารัฐบาลฝ่าฟันวิกฤตทั้งเศรษฐกิจ การเมืองให้ผ่านพ้นปีนี้ได้ สงสัยคงต้องยกให้เป็นซูเปอร์นายกฯ