นิธิ เอียวศรีวงศ์ | โจทย์ใหม่ตอบด้วยรัฐประหารไม่ได้

นิธิ เอียวศรีวงศ์

การเคลื่อนย้ายกำลังพลเข้ากรุงเทพฯ บ่อยครั้ง ทำให้เกิดข่าวลือหนาหูว่า พวกเขากำลังเตรียมการก่อรัฐประหาร

รัฐประหารแปลตามตัวว่า ใช้กำลังเข้ายึดกุมรัฐ แล้วเปลี่ยนระบอบปกครองเพียงเล็กน้อย เช่น เปลี่ยนตัวคนที่เป็นรัฐบาลและองค์กรทางการเมืองบางองค์กร หรือเปลี่ยนอย่างใหญ่ เช่น เปลี่ยนทั้งระบอบเลย

แต่ในเมืองไทย การยึดกุมรัฐด้วยกำลังยังทำได้ด้วยวิธีอื่นๆ อีก เช่น “ประกาศกฎอัยการศึก” และด้วยอำนาจบริหารกฎอัยการศึกซึ่งน่าประหลาดที่ในเมืองไทยยกให้แก่แม่ทัพนายกอง จึงสามารถโอนอำนาจรัฐเกือบทั้งหมดหรือทั้งหมดให้มาอยู่ในมือของกองทัพได้ โดยไม่ต้องประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารเลย (ซึ่งมักใช้ชื่อที่น่าสะอิดสะเอียนได้หลายอย่าง)

ประกาศกฎอัยการศึกแล้วก็ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงสักวันหนึ่ง พร้อมยิงคนที่อยู่นอกบ้านทันที ถ้าอยู่หมัด วันรุ่งขึ้นก็ประกาศเคอร์ฟิวจาก 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้าไปอีกสักเดือน แค่นี้ก็วางแอกลงบนบ่าประชาชนได้เหมือนเดิม

ความเสี่ยงอย่างเดียวที่จะมีก็คือ จะถูกต่อต้านอย่างมีประสิทธิผลหรือไม่ นับตั้งแต่หน่วยทหารบางหน่วยต่อต้าน ทำให้แต่ละฝ่ายต้องหันมาเรียกร้องการสนับสนุนของประชาชน จึงไม่อาจใช้มาตรการเด็ดขาดได้ทั้งสองฝ่าย

ที่น่ากลัวกว่าคือ ประชาชนนั่นแหละที่ต่อต้าน แม้ว่าไม่อาจต่อต้านด้วยกำลังหรือจำนวนผู้ชุมนุมมหึมา แต่ก็อาจต่อต้านด้วยวิธีอื่นๆ กระทำสืบเนื่องไปเป็นปีๆ ผู้ยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังไม่ต้องทำอะไรนอกจากหาวิธีตอบโต้และสกัดประชาชนไปตลอด ในที่สุดก็เป็นที่เอือมระอาของทุกฝ่าย

นั่นคือเหตุผลที่ผู้วางแผนยึดรัฐด้วยกำลัง ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ต้องดูทิศทางลมให้ดีด้วยว่า สังคมในวงกว้างจะมีขันติธรรมต่อการยึดรัฐของตนมากน้อยเพียงไร (นอกจากเช็กกำลังของหน่วยใหญ่ๆ ในกองทัพเอง และความยินยอมพร้อมใจของ “ผู้เล่น” สำคัญทางการเมือง เช่น นายทุนใหญ่ และสถาบันทางอำนาจอื่นๆ)

แม้กระนั้นก็น่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า การรัฐประหารนั้นไม่ง่ายอย่างที่เข้าใจกันผิวเผินว่า กองทัพหรือผู้นำกองทัพเป็นผู้ตัดสินใจแต่ลำพัง ว่าที่จริงแล้ว ถ้าจะมีสักครั้งในประวัติศาสตร์ที่กองทัพตัดสินใจทำรัฐประหารตามลำพังจริงๆ คือใน พ.ศ.2476 ไม่ใช่เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาร่วมมือกับราชสำนักฉีกทิ้งไปแล้วให้กลับมามีชีวิตใหม่

รัฐประหารโดยกองทัพกลายเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากการเมืองไทยเริ่มขึ้นในรัฐประหาร 2490 แต่กองทัพกลับไม่ใช่ผู้ตัดสินใจเพียงลำพัง จะต้องได้รับการอนุมัติ หรือความยินยอมพร้อมใจ หรือความร่วมมือ หรือท่าทีจากการประเมินว่าจะไม่ขัดขวาง ฯลฯ จากคนอื่นนอกกองทัพอีกหลายกลุ่ม

ยิ่งมาภายหลังนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลุ่มที่ต้องแสวงหาตั้งแต่ความยินยอมพร้อมใจ จนถึงเฉยๆ ยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น นับตั้งแต่ระบบราชการพลเรือน โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ซึ่งขยายขนาดขึ้นอย่างมโหฬารจากนโยบายพัฒนา ไปจนถึงนายทุนท้องถิ่นและระดับชาติ รวมคนชั้นกลางที่ขยายตัวขึ้นอย่างมากด้วย

ความหลากหลายของกลุ่มอำนาจที่ผู้ทำรัฐประหารจำเป็นต้องแบ่งพื้นที่ให้ (accommodate) มีมากเสียจน รัฐประหารกี่ครั้งๆ หลังสฤษดิ์เป็นต้นมา ก็ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง นอกจากขจัดศัตรูทางการเมืองของตนออกไป และที่สฤษดิ์ทำอะไรสำเร็จได้ก็เพราะ ไม่มีรัฐประหารครั้งใดที่ผู้ชนะจะขจัดเสี้ยนหนามได้อย่างเด็ดขาดเช่นนั้น ฝ่ายอื่นมีอำนาจต่อรองไม่สู้จะมากนัก และสฤษดิ์กับพรรคพวกคุมกำลังกองทัพได้อย่างไม่มีทางที่ใครจะหือได้

ใครที่ฝันจะเป็นสฤษดิ์สอง พึงเข้าใจด้วยว่า ไม่มีความประจวบเหมาะทางประวัติศาสตร์เช่นนั้นเกิดขึ้นได้อีก ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ไม่มีความประจวบเหมาะครั้งที่สองเกิดขึ้นสักครั้งในประวัติศาสตร์ทั่วโลก

เพราะความหลากหลายของกลุ่มอำนาจที่คณะรัฐประหารต้องแบ่งพื้นที่เช่นกัน ที่ทำให้รัฐประหารทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดนับตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมา ไม่เคยเป็นการรัฐประหารที่ไม่นองเลือดเลย มีคนที่ถูกสังหารและลอบสังหารจำนวนหลายสิบหลัง 2490 ไม่นับคนอีกเป็นร้อยที่ถูกจับขังคุกด้วยข้อหาประหลาดๆ เช่น “กบฏสันติภาพ” ไม่ต่างจากรัฐประหารของสฤษดิ์ ซึ่งเชือดทั้ง “ไก่” และ “ลิง” ไปไม่รู้จะกี่ศพ รวมถึงจำขังลืมผู้คนเป็นร้อย บังคับให้อีกหลายสิบคนต้องหลบหนีไปต่างประเทศ นับวันการนองเลือดก็ยิ่งโหดร้ายป่าเถื่อนมากขึ้น ทั้งในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม, 6 ตุลาคม, พฤษภาคม 2535, เมษายน 2552, เมษายน-พฤษภาคม 2553

ความสะพรึงกลัว (terror) กลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ของการทำรัฐประหาร เพราะจำนวนของกลุ่มอำนาจมีมากขึ้น ซับซ้อนขึ้นจนเกินกว่าใครจะสามารถแบ่งพื้นที่ให้อย่างทั่วถึงเพื่อความสงบได้อีกแล้ว

คงจำได้ว่า ไม่เคยมีการ “ล็อก” ผู้คนด้วยวิธีทั้งนอกและในกฎหมายอย่างกว้างขวางเท่ากับการรัฐประหาร 2557 กว้างขวางเสียจนไม่อาจ “ล็อก” คนไว้ในคุกเพียงอย่างเดียว จึงจำเป็นต้องทำให้ทั้งประเทศกลายเป็นคุกไป ทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในคณะรัฐประหารล้วนถูก “ล็อก” ไว้อย่างแน่นหนา “ล็อก” ด้วยกฎหมาย ทั้งที่ออกมาใหม่และตีความกฎหมายเดิมให้กลายเป็นลูกกรงเหล็ก แม้แต่รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นก็เจตนาจะ “ล็อก” ผู้คนทั้งประเทศไว้อย่างแน่นหนา “ล็อก” ด้วยกำลังตำรวจและทหารคอยตรวจตราระแวดระวังอย่าให้ใครขยับเขยื้อนมากไปกว่าที่อนุญาตไว้ “ล็อก” ด้วยค่านิยมสิบสองประการ “ล็อก” ไว้ด้วยการปรับทัศนคติ

“ล็อก” ไว้ด้วยการข่มขู่คุกคามครอบครัวของบุคคลที่พยายามจะดิ้นให้หลุด รวมแม้แต่การอุ้มฆ่าผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งปราศจากการคุ้มครองจากรัฐใดๆ โดยสิ้นเชิง

เมื่อดูประวัติศาสตร์ในระยะยาวของการรัฐประหารไทยแล้ว อาจกล่าวได้ด้วยความมั่นใจว่า หากเกิดการใช้กำลังยึดรัฐขึ้นอีกในครั้งหน้า ความสะพรึงกลัวจะยิ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากจนอาจกลายเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่

ทั้งนี้เพราะความชอบธรรมที่เคยใช้อ้างในการยึดรัฐด้วยกำลังตลอดมา กำลังไร้ความหมายลงในสังคมไทย เช่น ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่คำขวัญที่เห็นพ้องต้องกันหมดในสังคมเสียแล้ว ชาติแบบไหน, ศาสนาแบบไหน, พระมหากษัตริย์แบบไหน กลายเป็นเรื่องถกเถียงกันทั่วไป จะต้องใช้ความสะพรึงกลัวสักเพียงใด จึงจะบังคับให้คนยอมรับความหมายของสามสถาบันนี้ไปในทางเดียวกันได้

นายทุนนอกกลุ่มเจ้าสัว ทั้งนายทุนใหญ่และนายทุนน้อยมองเห็นแล้วว่า คณะยึดรัฐด้วยกำลัง ไม่ว่าจะเป็นชุดเก่าหรือชุดใหม่ ไม่อาจให้ความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุนทุกกลุ่มได้ ส่วนใหญ่ของคนชั้นกลางประกาศแล้วว่าไม่เอาทั้งรัฐประหารและรัฐบาลแห่งชาติ นักเรียน-นักศึกษาหายใจไม่ออกจากวง “ล็อก” ที่แน่นหนา จนได้ลุกขึ้นมาทวงอากาศหายใจไปทั่วประเทศแล้ว นอกจาก ผอ.โรงเรียน, อธิการบดี และนายกสภามหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีอำนาจของคณะรัฐประหารอะไรในวงการศึกษาเหลืออยู่บ้าง ประชาชนในชนบทเผชิญภัยพิบัติทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมาหลายปี จนแม้แต่ทหารสายที่ไม่เชื่อมโยงกับเครือข่ายประวิตร หรือคอไม่แดง ยังจะเหลืออนาคตอะไรอีกในอาชีพ

ถึงผู้ใช้กำลังยึดรัฐจะเป็นกลุ่มใหม่ – เช่น คอแดงล้วน – ย่อมหมายความว่าต้องรื้ออำนาจมืดของ คสช.ลงทั้งหมด อย่างน้อยก็เพื่อความชอบธรรมในการยึดรัฐ เครือข่าย “ป่ารอยต่อ” ซึ่งอยู่ในวงการเมือง, ธุรกิจ, วิชาการ และกองทัพ จะยอมสูญเสียอำนาจและโอกาสแต่โดยดีละหรือ

การยึดรัฐด้วยกำลังที่ผ่านมาเกือบทุกครั้ง ล้วนเป็นผลมาจากการแย่งชิงอำนาจกันในหมู่ชนชั้นนำ แต่ครั้งนี้ จะไม่ใช่เสียแล้ว ปัญหามันไม่ใช่เพียงแค่จะเอาหรือไม่เอาประยุทธ์ แต่ระบบการเมืองซึ่งปิดกั้นประชาชนส่วนใหญ่ให้อยู่นอกวงต่างหากที่เป็นปัญหา ดังที่กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ได้ประกาศอย่างชัดเจนไว้แล้ว วิกฤตครั้งนี้จึงเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนหลากหลายชนชั้น เกือบไม่ต่างอะไรกับการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

และครั้งนั้นต้องใช้ความป่าเถื่อนโหดเหี้ยมขนาดไหน สร้างความสะพรึงกลัวขนาดไหน จึงสามารถสกัดประชาชนออกไปอยู่วงนอกต่อไปได้สำเร็จ

แต่วิกฤตครั้งนี้มีความต่างจาก 6 ตุลาอย่างสำคัญ นั่นคือชนชั้นนำเองแตกร้าวกันเองชนิดที่ไม่พบใน 6 ตุลา ครั้งนั้น พวกเขาพากันมองความเคลื่อนไหวของนักศึกษาว่าเป็นปฏิปักษ์กับผลประโยชน์และอำนาจของตน จึงยอมรับการสังหารหมู่กลางเมืองได้โดยดุษณี ไม่ว่าตนจะมีส่วนรู้เห็นมาแต่ต้นหรือไม่ นอกจากนี้ใน 6 ตุลา ยังมีพลังใหญ่ที่มีอิทธิพลไพศาลคอยประสานและสร้างแนวร่วมขึ้นสนับสนุนการใช้กำลังยึดรัฐ ในขณะที่ในวิกฤตปัจจุบัน ไม่ใช่ชนชั้นนำทุกกลุ่มที่มองการเคลื่อนไหวของประชาชนว่าเป็นปฏิปักษ์กับผลประโยชน์ของตน อีกทั้งไม่มีพลังใหญ่ที่มีอิทธิพลไพศาลเหลืออยู่ในเมืองไทยเช่นนั้นอีกแล้ว

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้ที่ยังมีสัมปชัญญะเหลืออยู่ก็จะเห็นได้ว่า การใช้กำลังยึดรัฐจึงไม่ใช่คำตอบทางการเมืองแก่ใครอีกแล้ว ไม่ใช่ว่าจะยึดไม่ได้นะครับ แต่ราคาที่ต้องจ่ายจะแพงมาก ทั้งความชอบธรรมที่เหลือน้อยอยู่แล้ว จะยิ่งสูญสิ้นไปเพราะจำเป็นต้องใช้ความสะพรึงกลัวในการรักษาอำนาจของตนตลอดไป แรงกดดันจากนานาชาติจะยิ่งแรงขึ้น บังคับให้ไม่เหลือทางออกใดๆ นอกจากตกเป็นสมุนของจีนอย่างเต็มตัว กองทัพพม่าและลาวอาจทำได้ แต่เศรษฐกิจ-สังคมไทยไม่อนุญาตให้เราเข้าไปอยู่ในอุปถัมภ์จีนจนหมดตัวขนาดนั้น ความไม่แน่นอนมั่นคงทางการเมืองทำให้ทุนทั้งไทยและเทศย้ายหนีออกไป แม้แต่การดิ่งลงของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่สามารถหยุดยั้งได้ ยังไม่พูดถึงบริหารให้มันโงหัวขึ้นมา

ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทำให้คนไทยไม่พอใจอำนาจที่ยึดรัฐไปมากขึ้นอย่างไม่หยุด ต้องใช้ความสะพรึงกลัวให้แรงขึ้น ก็ยิ่งทำให้ความไม่พอใจมากขึ้น และการเมืองก็ยิ่งไร้เสถียรภาพขึ้นไปอีก ทุนจึงยิ่งย้ายออก วนเวียนเป็น “วงจรอุบาทว์” ที่นำไปสู่ความพังพินาศย่อยยับเสียยิ่งกว่าการเสียกรุง

แม้กระนั้นก็อย่าเพิ่งวางใจว่าจะไม่เกิดการรัฐประหารหรือยึดรัฐด้วยกำลังวิธีอื่น คนหน้ามืดเผลอตัวเพราะขาดสัมปชัญญะย่อมมีอยู่เสมอ ในทุกสังคม และในทุกสถานการณ์

อันที่จริงจะพูดว่าคนเหล่านั้นหน้ามืด ก็อาจทำให้ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาต้องเลือกมันหนักหนาสาหัสแก่พวกเขาเพียงไร ดังที่กล่าวแล้วว่าวิกฤตทางการเมืองครั้งนี้ คล้ายกับเมื่อครั้ง 6 ตุลา คือต้องเลือกระหว่างการปล่อยให้ชนชั้นนำได้บริโภคอภิสิทธิ์อันไม่มีการถ่วงดุลสืบไป หรือต้องยอมลงมา “เล่น” บนระนาบเดียวกับคนส่วนใหญ่ (พร้อมความได้เปรียบนานาชนิดที่พวกเขาครอบครองอยู่แล้ว) นับเป็นทางเลือกที่ชนชั้นนำไทยไม่เคยต้องเลือก เพราะนับจาก 2490 เป็นต้นมา พวกเขาก็ประสบความสำเร็จที่จะจำกัดทางเลือกทางการเมืองให้เหลือเพียงการสลับสับเปลี่ยนช่วงชั้นทางอำนาจของกลุ่มบุคคลหรือสถาบันทางการเมืองที่เป็นของชนชั้นนำอยู่แล้วเท่านั้น

ถึงเศรษฐกิจ-สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างไร พวกเขาก็ยังเชื่อว่าจะสามารถจำกัดทางเลือกทางการเมืองไว้เพียงเท่านั้นได้สืบมา ความสำเร็จของชนชั้นนำในการยับยั้งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปตาม รธน. 2540 ด้วยการทำรัฐประหารใน 2549 ทำให้พวกเขาหลงระเริงว่าไม่จำเป็นต้องปรับตัวแต่อย่างไร แม้ความสำเร็จนี้จะตามมาด้วยการใช้ความสะพรึงกลัวที่นองเลือดมากขึ้นทุกทีก็ตาม จนกระทั่งผมไม่แน่ใจแล้วว่า บัดนี้สายเกินไปหรือยังที่ชนชั้นนำจะเริ่มเรียนรู้การปรับตัว

หากการประท้วงต่อต้านยังดำเนินต่อไปและกว้างขวางขึ้นอย่างที่ส่อให้เห็นว่าจะขยายตัวไปอย่างไม่สิ้นสุด จุดจบจะไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนรัฐบาล แต่คือการเปลี่ยนระบอบอำนาจไปอย่างสิ้นเชิง นับเป็นราคาที่แพงเกินกว่าพวกเขาจะยอมจ่าย

ไม่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดการใช้กำลังยึดรัฐในอนาคตอันใกล้หรือไม่ บัดนี้ฝ่ายประชาชนก็เหลือทางเลือกอยู่อย่างเดียวคือ จะเป็นไทหรือเป็นทาสไปชั่วชีวิต