มุกดา สุวรรณชาติ : เรื่องจริงแก้ รธน. 2 ปี ยาวนาน ข่าวรัฐประหาร…แค่ขู่เด็ก

มุกดา สุวรรณชาติ

การรัฐประหาร…จะมีจริงหรือไม่

เราสรุปสั้นๆ ว่าเป็นข่าวขู่ม็อบและนักการเมือง โดยมีเหตุผลดังนี้

1. การรัฐประหารครั้งนี้ ไม่ใช่เกิดง่ายๆ เพราะปัญหาที่สำคัญคือจะปกครองต่อไปอย่างไร ในขณะที่คนต่อต้านมากมาย และจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างร้ายแรงที่สุด

ที่สำคัญคนทำจะได้ประโยชน์อะไร? เป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งยังแทบตาย ถ้ามาจากการรัฐประหาร ศพไม่สวยแน่

2. ภาพที่เห็นการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ โชว์ โดยทั่วไปไม่มีคนทำรัฐประหารทำเปิดเผยอย่างนี้ นี่คือกลยุทธ์สมัยสามก๊กใช้ขู่กัน เพราะขณะนี้ไม่มีความขัดแย้งในหมู่ผู้ถืออาวุธด้วยกัน ที่ถึงจุดต้องแตกหัก ที่ว่าต้องทำรัฐประหารก่อน 30 กันยายน ก่อนปรับกำลัง ก็ไร้เหตุผล บางคนสามารถหลุดจากหลุมดำนี้ไปได้ก็ถือว่าโชคดี มีแต่พวกขี่หลังเสือไม่รู้จะลงอย่างไร

3. การเกิดรัฐประหาร 2 ครั้งก่อน ในปี 2549 และ 2557 เป็นความต้องการของผู้บงการโดยเฉพาะ ซึ่งคิดดูแล้วไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์เลย แต่ที่อยากทำเพราะฝ่ายตรงข้ามเป็นรัฐบาลอยู่ จึงต้องสร้างม็อบ แต่ก็กดดันได้แค่ยุบสภา ทำอย่างไรก็ไม่หลุดจากอำนาจ แม้ตุลาการภิวัฒน์แล้วก็ยังรักษาการอยู่ ให้เลือกตั้งใหม่ก็กลัวแพ้ จึงต้องรัฐประหาร

ถามว่า ครั้งนี้ผู้บงการมีบารมีพอที่จะใช้ให้ใครเสี่ยงหรือไม่ และใครจะยอมร่วมเสี่ยงด้วย จะลงมือเองก็ได้ไม่คุ้มเสีย

4. ที่ผ่านมาใช้ความพยายามอย่างหนักกว่าจะแปลงกายจากรัฐบาลทหาร มาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ครั้งนี้ฝ่ายตนเองเป็นรัฐบาลแล้ว จะรัฐประหารไปทำไม ในเมื่อดึงเกมได้ ก็อยู่ในอำนาจได้ ใช้งบประมาณได้ ตาม รธน.2560 และเวลาแบบนี้ใครอยากจะมาแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนฝ่ายที่เก๋าเกมการเมืองใช้การเมืองเล่นได้ง่ายกว่า การต่อสู้กันในวันนี้ยังเป็นเกมกฎหมาย และการเมือง

5. ข่าวรัฐประหาร แค่ใช้ขู่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล แต่เด็กๆ คงจะชูสามนิ้วใส่ และถ้ามีคนกล้าทำจริง คงจะถูกนักศึกษา นักเรียน ประชาชนต่อต้าน ที่ได้รับจะไม่ใช่ดอกไม้ แต่จะเป็นหิน เหล็ก ไฟ แล้วจะทำอย่างไร? จะเอาปืนมายิงเด็กๆ หรือ?

ส่วนจะใช้ขู่นักการเมืองทุกพรรคก็คงยาก พวกนี้เขี้ยวยาวกว่าเยอะ และจะเร่งเครื่องเดินตามแผนแต่ละพรรค ตามเป้าหมาย

6. ทางออกทางการเมืองไม่ใช่ทางตัน จนต้องใช้เป็นข้ออ้างรัฐประหาร ในเมื่อ ส.ว.อยากรักษาฐานะตัวเอง โดยยอมแก้ รธน. แม้อาจใช้เวลานานหน่อย คงจะเป็นอย่างที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง ระบุว่า “การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. บ้านเมืองมาถึงขั้นนี้จะให้ ส.ว.ลงมติเลือกนายกฯ อีกไม่ได้แล้ว หากมีการยุบสภากะทันหัน แล้ว ส.ว.ยังเลือกนายกฯ ได้อีกจะเป็นวิกฤตร้ายแรง เสนอแล้วจะสำเร็จหรือไม่ ย่อมขึ้นกับกระแสสังคม ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน”

ทางออกในขณะนี้ ทุกฝ่ายต้องดูกระแสสังคม และปรับตัวตาม

ถ้าให้ประเมินขณะนี้ โอกาสการรัฐประหารมีน้อยกว่าโอกาสการแก้รัฐธรรมนูญหลายเท่า

 

ทำไม ส.ว.ถึงยอมเปิดทางแก้ รธน.
ปิดสวิตช์ไม่ใช้สิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

สถานการณ์การเมืองขณะนี้ความขัดแย้งรุนแรงมากนักศึกษา และนักเรียนพุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรี รัฐบาล และ ส.ว. นายกฯ และรัฐบาลจะอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์

ตัวนายกฯ สามารถเลือกจะลาออก ยุบสภาผู้แทนฯ และให้เลือกตั้งใหม่ได้ นี่ดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนให้ ส.ว.มีสิทธิ์เลือกนายกฯ ทำให้เสียงขับไล่นายกฯ ขณะนี้เบาลง เพราะหากนายกฯ ลาออกหรือยุบสภาขณะนี้ ยังสามารถได้รับเลือกตั้งกลับมาใหม่ได้ไม่ยาก เพราะยังมี ส.ว. 250 คนมาช่วยโหวต

เวลานี้ทุกฝ่ายจึงมีความเห็นว่า ควรแก้ไขบทเฉพาะกาลของ รธน. ตัดสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.เสียก่อน ครั้งแรกใครๆ ก็บอกว่าทำไม่ได้เพราะการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีเสียง ส.ว.สนับสนุนอย่างน้อย 84 เสียง แล้วจะมี ส.ว.สักกี่คนที่ยอมตัดอำนาจสำคัญของตนเอง การแก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรา 272 นี้ ทำไม่ได้แน่

แต่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.ผู้ดีไซน์เรื่องนี้ กลับยอมง่ายๆ

นี่เป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะ ส.ว.วันชัยเป็นคนผลักดันให้วุฒิสภามีส่วนในการเลือกนายกฯ ด้วยตนเองแม้ไม่ได้อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญในตอนแรก แต่ก็มาผลักดันให้เป็นคำถามพ่วงอยู่ในบทเฉพาะกาลและใช้ทุกวิถีทาง ที่จะทำให้ผ่านประชามติเมื่อมีการเลือกตั้งเป็นไปตามแผนจริงๆ พรรคพลังประชารัฐไม่ได้เสียงมากพอที่จะเป็นรัฐบาลและตั้งนายกฯ ได้ตามใจชอบจึงต้องใช้เสียงโหวตของวุฒิสมาชิก และพรรคเล็กมาสนับสนุน แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วกลับไม่สามารถทำงานอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศได้ ต้องมัวแต่หาวิธีเลี้ยงลิงเลี้ยงงูเห่า

โดย ส.ว.วันชัยกล่าวว่า…การประชุมเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 กันยายน ตนพร้อมจะอภิปราย และยกมือสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบ ทั้งโมเดลการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือการแก้ไขแบบรายมาตรา เพราะคิดว่าสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านทั้งหมด พร้อมใจกันเสนอให้มีการแก้ไข ขณะที่ภาคประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาต่างเรียกร้อง

ถ้า ส.ว.ทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวาง ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คิดว่าวันนั้นนรกจะมาเยือน ส.ว.แน่ กระแสของคนทั้งสังคมจะกดดัน รุมประณามมาที่ ส.ว.อย่างแรงแน่นอน และจะมีผลกระทบ ส่งปัญหาต่อการทำงานตลอดความร่วมมือกันในรัฐสภาอีกด้วย

 

เหตุผลของ ส.ว.

1.ปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง ส.ว.กลายเป็นเป้าของความขัดแย้ง มีคำถามว่า ส.ว.มีไว้ทำไม กินเงินเดือนแพงๆ คอยแต่ยกมือเป็นฝักถั่วหนุนรัฐบาล มีเสียงเรียกร้องให้ปลดทิ้งทั้งหมด

กระแสแรงมาก เพียงแต่ไม่มีขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญที่ให้ปลดได้ง่ายๆ

แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบแรงๆ เช่น 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาทมิฬ 2535 ส.ว.ชุดนี้จะต้องลำบากแน่ ไม่เพียงหลุดจากตำแหน่ง แต่จะมีบางส่วนที่มาจากสมาชิก สนช. ซึ่งถือว่าเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการโดยตรง

2. ถ้ามีการรัฐประหารและยึดอำนาจ ไม่ว่าจะอยู่ได้กี่วัน คณะรัฐประหารชุดใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องเอา ส.ว.ชุดนี้ไว้

3. ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะต้องมีเสียง ส.ว.เป็นส่วนสำคัญในการแก้ไข จึงเป็นโอกาสให้ ส.ว.ทำการแก้ตัวได้ และได้อยู่เป็น ส.ว.ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ฟังเหตุผลของ ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน

“…สำหรับเสียงคัดค้านในบทเฉพาะกาลที่ถูกตั้งคำถามหนักในประเด็นความชอบธรรมทางการเมือง ที่กำหนดให้ คสช.คัดเลือก 250 ส.ว. แล้ว ส.ว.ร่วมเลือกอดีตหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งยอมรับว่าตรงนี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ เป็นระบอบการเมืองเฉพาะกิจในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้บรรลุ 2 เป้าหมาย หนึ่ง คือความสงบสุขในบ้านเมือง อย่างน้อยก็ชั่วคราว และสอง เพื่อให้การปฏิรูปประเทศตามแผนงานเดินหน้าได้ดี ในช่วง 5 ปีแรก แต่บัดนี้ทั้ง 2 เป้าหมายไม่สามารถบรรลุผลได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศอย่างการปฏิรูปตำรวจ ที่จำเป็นที่จะต้องกล่าวด้วยความเจ็บปวดว่ารัฐบาลชุดนี้สอบไม่ผ่าน เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วผมขอตอบโจทย์โดยไม่ลังเล”

“ขณะนี้ไม่มีความคุ้มค่าที่จะคงมาตรการพิเศษเฉพาะกิจและเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะที่อ้างว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้าไว้อีกต่อไป ทำให้ตรงเป้าที่สุดก็คือตัดมาตรา 272 อำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของ 250 ส.ว.ออกไปจากรัฐธรรมนูญ”

(แปลว่ารัฐบาลชุดที่ ส.ว.เลือกมานี้ไม่ได้เรื่อง ไม่เอาแล้ว ยอมที่จะไม่เลือกนายกฯ อีกแล้ว)

“ความคิดเบื้องต้นของผม คือควรแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราว่ากันเป็นประเด็นๆ ไปก่อนเลย โดยต้องรวมเอาประเด็นที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด หรือที่ถูกมองว่าไร้ความชอบธรรมที่สุด คือมาตรา 272 ไว้ด้วย จะเหมาะสมกว่าการแก้ไขให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร.”

(แปลว่าอยากให้แก้รายมาตรา)

“อย่างไรก็ตาม ในชั้นต้นที่ผมยังมีคำถามกับประเด็น ส.ส.ร.ก็เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หมดทั้งฉบับโดย ส.ส.ร.ในลักษณะปราศจากกรอบ นอกจากห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เท่านั้น เสี่ยงต่อการที่จะทำให้ของดีๆ ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีอันต้องหายไป …ยังต้องใช้เวลาอีก 15-19 เดือนกว่าจะสำเร็จทุกขั้นตอน”

(แปลว่า ตั้ง ส.ส.ร.ก็ต้องมีปัญหาหลายมาตรา ร่างนานเหมือนกัน)

 

ส.ว.บางส่วนรับได้ทุกแบบ
เพื่อประโยชน์และความอยู่รอด

มีส.ว.บางคนประกาศแล้วว่าในวันที่ 24 กันยายน ส่วนตัวจะลงมติให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรายประเด็นรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 272 ว่าด้วยการให้ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกฯ ถ้ามีร่างเสนอเข้ามา หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดใหม่ให้มี ส.ส.ร.ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับตามร่างที่เสนอเข้ามาแล้ว 2 ฉบับ

ขณะนี้มี ส.ว.จำนวนหนึ่งได้เข้ามาสนับสนุนความคิดนี้ เพราะเหตุผลที่แท้จริงก็คือพวกเขาอยากอยู่เป็น ส.ว.ต่อไปประมาณ 2 ปี แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะลาออกจากนายกฯ ก็ไม่เกี่ยวกับพวกเขา

การที่พวกเขาจะอยู่ต่อได้อีกประมาณ 2 ปี เงื่อนไขที่สำคัญคือต้องยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญและมีกระบวนการแก้ไข ที่ต้องใช้เวลาตามที่ ส.ว.คำนูณได้อธิบายไว้ในข้อ 3 ที่อยากให้แก้เป็นรายมาตรา

แต่ถ้าแก้ไขโดยใช้วิธีตั้ง ส.ส.ร. ก็ต้องใช้เวลานานเช่นกันเพราะจะต้องมีขั้นตอนหลายขั้น

ต้องลงประชามติให้ยอมแก้ไขก่อน จากนั้นต้องตั้งกฎเกณฑ์ในการคัดเลือก ส.ส.ร.

จึงจะมีการเลือก ส.ส.ร.จากประชาชนทั่วประเทศ

เมื่อได้ ส.ส.ร.มาแล้ว จึงจะมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็น่าจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมด้วย กระบวนการร่าง ทุกหมวดทุกมาตรา กว่าจะลงตัวคงต้องใช้เวลานาน

ถ้าเสร็จเรียบร้อยก็ต้องนำไปผ่านประชามติอีก

เมื่อได้รัฐธรรมนูญจึงจะมีการยุบสภาที่มีอยู่เดิม และให้เลือกตั้งใหม่

ซึ่งจะกินเวลาทั้งหมดประมาณ 2 ปี

ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ส.ว.กลุ่มนี้มองเห็นแล้วว่าถ้าตัวเองยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยอมตัดอำนาจโหวตนายกฯ ไปก็จะได้อยู่ต่ออีกประมาณ 2 ปี และสามารถวางบทบาทในการมีส่วนร่วม เท่าที่จะทำได้บางคนจะสามารถฟอกตัวได้เพราะดูแล้วหลายคนมีความสามารถในการปรับตัว เปลี่ยนสีให้เข้ากับสถานการณ์ได้ เมื่อมีอุบัติเหตุ หรือแรงกดดันทางการเมืองต้องยุบสภา

ส.ว.กลุ่มนี้ก็จะมีทางเลือก แบบที่เรียกว่า ส.ว.อิสระ สามารถไหลไปสนับสนุนใครก็ได้

 

พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล
เหยียบเรือสองแคม

ทุกพรรคสามารถตามกระแสนี้ได้อย่างง่ายดาย เพราะมีแต่ได้ประโยชน์

โดยแต่ละพรรคจะวางเกมการเมืองคล้ายกัน คือยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ยอมรับในเกมที่จะยืดยาวออกไปโดยยังร่วมรัฐบาลอยู่ และหาประโยชน์จากอำนาจรัฐทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าสถานการณ์รัฐบาลไม่ดี ก็จะฉวยโอกาส ถีบหัวเรือส่งโดดขึ้นฝั่ง กระหน่ำซ้ำเติม เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

เช่น พรรคประชาธิปัตย์ถูกพรรคพลังประชารัฐแย่งเสียงไปในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วกว่า 6 ล้าน ดังนั้น ถ้าโอกาสเปิดจะรีบโดดลงเรือก่อนคนอื่น

ภูมิใจไทยก็เตรียมพร้อมอยู่แล้ว แต่เมื่ออยู่บนเรือยังจับปลาได้ก็อยู่ไปก่อน แต่ถ้าประชาธิปัตย์โดดออกจากเรือ หมายความว่าเรือไปไม่ไหวแล้ว ภูมิใจไทยก็ต้องโดดตามทันที

ภูมิใจไทยอ่านเกมว่าพรรคพลังประชารัฐจะแตกออกและ ส.ส.ส่วนหนึ่งจะไหลมาเข้าภูมิใจไทย ทำให้กลายเป็นพรรคการเมืองใหญ่ได้ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้น

การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนคือแรงกดดันสำคัญ ตัวชี้วัดระยะใกล้คือการชุมนุมวันที่ 19 กันยายนนี้ซึ่งมีลักษณะสำแดงพลังและเจตนารมณ์ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานแต่ต้องมีปริมาณที่มากพอ และมีเหตุผลดีพอ จึงจะส่งผลให้ทิศทางการเมืองไหลไปตามกระแส

ในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่ว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีนั้น สถานการณ์ทางการเมืองเศรษฐกิจ จะกดดันจนต้องบีบเวลาให้สั้นลง ถ้ายาวขนาดนั้นอาจมีอุบัติเหตุ ทางการเมือง แบบ 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาคม 2535 ก็ได้

หรืออาจจะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ หลังจากตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ และแก้วิธีการเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบ ก็จะสามารถมีรัฐบาลใหม่ที่ลดความขัดแย้งมาทำหน้าที่ ขณะ ส.ส.ร.ร่าง รธน.ใหม่ได้ ทางออกยังมีหลายทาง ที่ใช้เสียงประชาชน ไม่ต้องอ้างวิกฤตเพื่อรัฐประหาร