คุยกับทูต : ซาราห์ เทย์เลอร์ ไทย-แคนาดา เตรียมฉลองครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ตอน 2 เลือดนักโบราณคดี

“อันที่จริงดิฉันมีความสนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่เพราะเรียนมาทางด้านโบราณคดี จึงเชี่ยวชาญในแถบเอเชียเพราะเวลาส่วนใหญ่มักอยู่ในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีในฐานะนักเรียน สาเหตุอีกส่วนหนึ่งที่ดิฉันให้ความสนใจก็เพราะได้เดินทางไปยังส่วนต่างๆ ของโลกและเรียนรู้ในความแตกต่างของประเทศเหล่านั้น”

“ตอนที่เรียนปริญญาตรีปีสุดท้าย ก็เริ่มไม่แน่ใจว่าต้องการทำงานด้านวิชาการเพราะงานโบราณคดีส่วนใหญ่มักจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือมหาวิทยาลัย ดิฉันจึงเริ่มคิดว่า ไม่ค่อยเหมาะกับตัวเอง”

ดร.ซาราห์ เทย์เลอร์ (Her Excellency Dr. Sarah Taylor) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เขตอาณาครอบคลุมราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เล่าถึงการเข้ามาร่วมงานกับกระทรวงต่างประเทศ

“เมื่อเรียนจบโบราณคดี ดิฉันสนใจงานทางด้านการทูต จึงสมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการกระทรวงต่างประเทศและประสบความสำเร็จได้เข้าทำงานในที่สุด ผ่านมาถึงตอนนี้ ดิฉันก็ได้มานั่งอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา”

“คุณพ่อและคุณแม่ของดิฉันก็เป็นนักการทูตทั้งคู่ โดยคุณพ่อทำงานในกระทรวงต่างประเทศของแคนาดา และคุณแม่ทำงานในสำนักงานเครือจักรภพอังกฤษ ทั้งสองพบกันตอนที่ไปประจำการ ณ ประเทศอินเดียและแต่งงานกันที่กรุงนิวเดลี ดังนั้น เราจึงเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้งเมื่อตอนดิฉันยังเด็ก ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ทั้งในปารีสและมอสโก ส่วนพี่สาวคนหนึ่งของดิฉันก็เป็นนักการทูตที่กระทรวงต่างประเทศของเราเกี่ยวกับ Global Affairs Canada โดยเชี่ยวชาญเรื่องในตะวันออกกลาง”

“ดังนั้น จึงอาจพูดได้ว่าเราเป็นครอบครัวนักการทูตอย่างแท้จริง”

 

“ดิฉันเคยมาเมืองไทยสองสามครั้งในฐานะนักท่องเที่ยว และในฐานะนักเรียนซึ่งสนุกกว่ามาก ได้มาอยู่ที่นี่ประมาณ 5 เดือน เมื่อตอนเป็นนักโบราณคดี ได้รับประสบการณ์ที่ดีมาก ไปพักถึงสองแห่ง แห่งหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ คือบ้านดอนตาเพชร จ.กาญจนบุรี ส่วนอีกแห่งคือ พนัสนิคม จ.ชลบุรี ได้ไปใช้ชีวิตแบบไทยๆ ที่ไม่เหมือนนักท่องเที่ยว”

แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร เคยเป็นชุมชนโบราณที่มีการติดต่อทางทะเลกับทั้งอินเดียและทางตะวันออก ค้นพบครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ.1975 เมื่อโรงเรียนวัดสาลวนาราม ให้นักเรียนช่วยกันขุดหลุมดินเพื่อปักเสารั้ว และได้พบหลักฐานโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก

สำหรับการขุดสำรวจทางโบราณคดีนั้น ได้ทำการขุดสำรวจทั้งสิ้นสี่ครั้งด้วยกัน

ครั้งที่ 1 โดยกรมศิลปากรได้มอบหมาย

ครั้งที่ 2 ดำเนินงานขุดค้นศึกษาในช่วงปี ค.ศ.1980-1981

ครั้งที่ 3 ดำเนินงานในช่วงปี ค.ศ.1984-1985 ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับมหาวิทยาลัยลอนดอน

ครั้งที่ 4 ดำเนินงานขุดค้นศึกษาในช่วงวันที่ 9 สิงหาคม ถึง 12 กันยายน ค.ศ.2000 ภายใต้ชื่อโครงการศึกษาและพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และกรมศิลปากร มีอายุอยู่ที่ประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว หรืออยู่ในยุคเหล็ก

“นอกจากนี้ ยังมีการขุดค้นกันมากที่คอนพนมดี พนัสนิคม และบางสิ่งที่เราค้นพบในตอนนั้นก็ได้ไปอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ”

โดยมีการวิเคราะห์โครงกระดูกที่แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 3 ตำบลท่าข้าม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

 

“ดิฉันมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตครั้งแรกที่ประเทศไทย โดยมาพร้อมกับสามีและลูกชายเมื่อวันที่ 9 มกราคมปีนี้ ตำแหน่งล่าสุดของดิฉันก่อนมาที่นี่คือ อธิบดีกรมเอเชียเหนือและโอเชียเนีย กระทรวงต่างประเทศแคนาดา เพราะเป็นภูมิภาคที่ใหญ่มาก จึงมีงานเยอะและค่อนข้างยุ่งมาก”

เอเชียเหนือ ครอบคลุมประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้

ส่วนโอเชียเนีย คือกลุ่มประเทศและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ประกอบด้วยผืนแผ่นดินที่เป็นที่ตั้งของประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ และหมู่เกาะพอลินีเซีย หมู่เกาะไมโครนีเซีย หมู่เกาะเมลานีเซีย ทวีปออสเตรเลีย-โอเชียเนีย เป็นกลุ่มของหมู่เกาะจำนวนมากนับพันเกาะ อย่างไมโครนีเซียมีในครอบครองกว่า 600 เกาะ

ถามถึงความรู้สึกเมื่อทราบว่าต้องเดินทางมารับตำแหน่งใหม่ที่ประเทศไทย ท่านทูตตอบว่า

“แน่นอนที่สุด ดิฉันตื่นเต้นดีใจมากเพราะเป็นครั้งแรกในฐานะเอกอัครราชทูต เพราะหน้าที่ในต่างประเทศครั้งสุดท้ายของดิฉันคือ อุปทูต ณ สถานทูตแคนาดา ในปักกิ่ง ระหว่างปี ค.ศ.2011-2015”

“ความยินดีต่อมาคือ ได้มาประจำการในประเทศไทยที่สวยงามซึ่งดิฉันคุ้นเคยดี เพราะเคยมาเยือนก่อนหน้านี้ดังที่กล่าวไปแล้ว อีกทั้งมีความรับผิดชอบอีกสองประเทศคือ สปป.ลาว และกัมพูชา ส่วนสำคัญของการเป็นทูตคือ ความรับผิดชอบและบริหารจัดการหน้าที่ด้วยตัวของเราเอง”

 

ความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างแคนาดา-ไทย

“มีมูลค่าถึง 4.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018”

“ส่วนการส่งออกสินค้าของแคนาดาในปี 2019 มีมูลค่า 895.1 ล้านดอลลาร์ ประกอบด้วย เยื่อไม้ที่นำไปทำกระดาษ เครื่องจักร ธัญพืช ปุ๋ย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลัก” ท่านทูตชี้แจง

“แคนาดานำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 การนำเข้าส่วนใหญ่มักเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร ยาง เนื้อสัตว์และปลาเตรียมสำเร็จ อัญมณี และโลหะมีค่า”

“ในส่วนของการค้าทวิภาคีด้านบริการ มีมูลค่าถึง 383 ล้านดอลลาร์ในปี 2018”

“ในปี 2018 การลงทุนโดยตรงของแคนาดาในประเทศไทยมีมูลค่ารวม 110 ล้านดอลลาร์ ของไทยในแคนาดาปีเดียวกัน มีมูลค่า 56 ล้านดอลลาร์”

 

การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดาและอาเซียน

“เรามีการประชุมสำหรับคู่เจรจาของอาเซียนเป็นประจำ ดิฉันคิดว่า แคนาดาเป็นประเทศแรกที่เป็นคู่เจรจาของอาเซียน ดังนั้น ในปี 2017 เราจึงฉลองครบรอบ 40 ปีในฐานะคู่เจรจากับอาเซียน เรามีประวัติศาสตร์อันยาวนานและยาวนานมากกว่ากับประเทศไทย ซึ่งเราจะฉลอง 60 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยอย่างยิ่งใหญ่ในปีหน้าคือ 2021”

“ดิฉันสามารถพูดได้ว่า ความสัมพันธ์ของเรานั้นค่อนข้างแข็งแกร่งและเป็นบวกอยู่เสมอ แต่ลักษณะของความสัมพันธ์ได้เปลี่ยนไปเล็กน้อยเมื่อกาลเวลาผ่านไป ดังนั้น เมื่อเราเริ่มต้นเป็นคู่เจรจากับอาเซียนและเมื่อเรามีความสัมพันธ์กับไทยครั้งแรก จึงเป็นการมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการพัฒนามากกว่า”

ปัจจุบัน อาเซียนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ 10 คู่เจรจา (Dialogue Partner) ซึ่งประกอบด้วย 9 ประเทศ คือ อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-ออสเตรเลีย, อาเซียน-นิวซีแลนด์, อาเซียน-สหรัฐอเมริกา, อาเซียน-แคนาดา, อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี, อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-จีน, อาเซียน-รัสเซีย และ 1 องค์กรระดับภูมิภาค คือ อาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) นอกจากนี้ ตามกฎบัตรอาเซียนข้อ 44 อาเซียนยังมีปฏิสัมพันธ์กับภาคีภายนอกในสถานะอื่นๆ

“ดังนั้น เราจึงสนับสนุนการพัฒนาในภูมิภาค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเราได้ทำงานมากมายเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการศึกษา การเกษตร และงานบางอย่างที่เกี่ยวกับสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค”

“เนื่องจากอาเซียนและไทยมีการพัฒนามากขึ้น เราจึงมีความสัมพันธ์ที่กว้างขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และตอนนี้เรากำลังดำเนินการเพื่อเปิดข้อตกลงการค้าเสรีแคนาดา-อาเซียน (Canada-ASEAN FTA) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในความสัมพันธ์ของเรา”

 

ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับแคนาดาในฐานะประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partner) เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1977 โดยที่ผ่านมา อาเซียนกับแคนาดามีโครงการร่วมกันในหลากหลายมิติ ซึ่งครอบคลุมทั้ง 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน

แคนาดายังเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่ให้ความสําคัญกับ Digital Economy เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม เทคโนโลยี ทําให้รูปแบบธุรกิจ การซื้อขายสินค้า การให้บริการ การติดต่อสื่อสาร ได้มีการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและสะดวกมากขึ้น หรือมีต้นทุนที่ต่ำลง

ทุกวันนี้แคนาดาจึงเป็นหนึ่งในประเทศผู้นําของโลกและเป็นที่ตั้งของบริษัทที่ประกอบธุรกิจการพัฒนาเทคโนโลยี Fintech และ Blockchain ซึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาเหล่านี้จะถูกนํามาใช้ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมการเงิน การธนาคาร และการประกันภัยในอนาคต

ปัจจุบัน แคนาดามีนโยบายเปิดรับแรงงานที่มีทักษะระดับสูงในด้าน Digital Economy จากทั่วโลก ให้ย้ายเข้าไปทํางานในแคนาดาโดยสนับสนุนวีซ่าการทํางาน (Work Visa) หรือการย้ายถิ่นฐานไปยังแคนาดา (Immigration)

ทําให้แรงงานต่างชาติไม่ว่าจะเป็นวิศวกร นักพัฒนาโปรแกรม คอมพิวเตอร์ ย้ายงานจากสหรัฐ เข้าไปในแคนาดามากขึ้น ส่งผลให้แคนาดากลายเป็นแหล่งที่ตั้งของบริษัท Startup ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับ Technology เพิ่มสูงขึ้นมาก

“นอกจากมีการติดต่อสัมพันธ์กันไม่ว่าจะเป็นระหว่างประชาชนต่อประชาชน นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ นักท่องเที่ยว นักธุรกิจแล้ว เรายังมีความร่วมมือที่กว้างมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งที่เกี่ยวกับปัญหาระดับโลกและปัญหาระดับภูมิภาค” ท่านทูตเทย์เลอร์ย้ำว่า

“เราจึงต้องร่วมมือกันทำงานเพื่อเผชิญความท้าทายที่มากขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งในด้านความมั่นคง การเผชิญกับความท้าทายของปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และล่าสุดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่”