E-DUANG : ท่วงทำนอง “สันติ ประชาธรรม” ​​​19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร

ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้อง 3 ข้อแรกที่เริ่มจาก 1 หยุดคุกคามประชาชน 1 จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วหยุดลงตรง 1 ยุบสภา

รวมตลอดไปถึง 1 ความฝัน

“เยาวชนปลดแอก”ยืนหยัดเดินบนหนทางสันติ ประชาธรรม

เพราะตัดสินใจเดินบนหนทางสันติ ประชาธรรม นั้นเองจึงประกาศ 2 จุดยืนออกมาอย่างเด่นชัด นั่นก็คือ 1 ไม่เอารัฐประหาร 1 ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ

เนื่องจากตระหนักว่าหนทางรัฐประหารอย่างที่เคยมีการทำมาแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2549 มีการทำมาแล้วเมื่อเดือนพฤษภา คม 2557 มิได้เป็นหนทางออกอย่างแท้จริง

เนื่องจากตระหนักว่าหนทาง”รัฐบาลแห่งชาติ”ก็ยังเป็นกระบวน การปะผุในทางการเมืองเพื่อเอาตัวรอดเฉพาะหน้าเท่านั้น

ในที่สุดแล้ว หนทางรัฐสภาต่างหากคือจุดสุดท้ายของข้อเสนอ

 

ถามว่าบนพื้นฐานแห่งข้อเสนอเช่นนี้เป็นการแสดงความเชื่อมั่นต่อสมาชิกแห่งรัฐสภาอย่างชนิดเต็มร้อยหรือไม่

ตอบได้เลยว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เพราะหากว่าเชื่อมั่นในคุณภาพของสมาชิกแห่งรัฐสภาอย่างชนิดเต็มร้อยก็แทบไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่ นักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชนจะต้องออกมาเคลื่อนไหว

แต่นี่เวลาจากเดือนมีนาคม 2562 เรื่อยมาจนถึงเดือนมีนาคม 2563 เด่นชัดอย่างยิ่งว่า ตราบใดที่กฎกติกาอันปรากฏผ่านรัฐธรรม นูญอยู่ในลักษณะบิดเบี้ยว ตราบนั้นหนทางรัฐสภาก็ไร้ประโยชน์

เป้าหมายจึงเป็นการจัดการกับ”รัฐธรรมนูญ” เพราะมีแต่รัฐธรรมนูญที่สลัดคราบอิทธิพลของรัฐประหาร การสืบทอดอำนาจของคสช.เท่านั้นที่จะนำพาประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย

ภาระนี้จึงเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาจักต้องดำเนินการ

ยิ่งนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ขับเคลื่อน ยิ่งเตือนให้ ส.ส.และส.ว.จำเป็นต้องรับผิดชอบ

 

การเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชน อันมีจุดเริ่มต้นเมื่อเดือนกรกฎาคม จึงเป็นการเคลื่อนไหวที่สันติยึดในหลักประชาธรรมมั่นแน่ว

ใครที่สกัดขัดขวางสังคมย่อมมองออกว่าถูกต้องหรือไม่

แต่ละก้าวย่าง แต่ละการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็น 500 ส.ส. ไม่ว่าจะเป็น 250 ส.ว.ย่อมอยู่ในสายตาของสังคม ไม่มีหลุดรอดไปได้

ทุกอย่างจึงรวมศูนย์ไปยัง”รัฐธรรมนูญ”ว่าจะออกมาอย่างไร