สมชัย ศรีสุทธิยากร | กันยา หน้าร้อน

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ในทางฤดูกาล เดือนกันยายนยังเป็นหน้าฝน เช้าอาจจะแดดเปรี้ยง แต่คล้อยบ่ายตกเย็นฝนก็ตกหนักได้ตรงตามเวลาให้คนเมืองต้องอ่วมกับการเดินทางที่ทุลักทุเล แต่นำความชุ่มฉ่ำไปยังเรือกสวนไร่นาให้ความสุขแก่คนชนบท

ในทางการเมืองของประเทศไทย เดือนกันยายน 2563 กลับเป็นเดือนซึ่งทุกอย่างที่เป็นเรื่องร้อนประดังเข้ามาอย่างพร้อมเพรียงกัน

นับแต่การเสร็จสิ้นการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่นำส่งรายงานให้ประธานรัฐสภาในช่วงต้นเดือน

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 กันยายน

การนัดชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 19 กันยายน

การประชุมร่วมระหว่างวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23-24 กันยายน

และการเกษียณอายุของ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันในวันที่ 30 กันยายน 2563

จุดยืนและท่าทีของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละสถานการณ์ อาจเป็นลมเย็นที่ช่วยผ่อนคลายความร้อน หรืออาจกลายเป็นกองไฟที่โหมกระหน่ำให้ร้อนยิ่งขึ้นได้ทั้งสิ้น

ทุกเรื่องเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก แม้ขนาดผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ในทางการเมืองยังต้องบอกว่า ต้องติดตามดูเป็นวันๆ ไป

1.วุฒิสภา

วุฒิสภาเป็นตัวแปรที่สำคัญของสถานการณ์เดือนกันยายนนี้เพราะมีสถานะเหมือนกุญแจดอกสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดก็ตามการลงมติในวาระหนึ่งและวาระสาม นอกจากจะต้องได้เสียงข้างมากของรัฐสภาแล้วในเสียงข้างมากดังกล่าวยังต้องได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามหรือประมาณ 84 คน

วุฒิสภายังเป็นเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องบทบาทในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี (มาตรา 272) และบทบาทในการติดตาม เร่งรัดเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ (มาตรา 270) ว่าจะต้องลดบทบาทหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว รุนแรงไปจนถึงการยกเลิกที่มาของวุฒิสภาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามบทเฉพาะกาล (มาตรา 269)

แม้จะมีท่าทีของสมาชิกวุฒิสภาบางท่านที่ให้ความเห็นว่าจะพิจารณาเรื่องราวดังกล่าวอย่างเป็นเหตุเป็นผลและเชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ติดยึดกับตำแหน่งและอำนาจหน้าที่

แต่ที่มาและพฤติกรรมการลงมติในอดีตยังดูเหมือนเป็นภาพจำลองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ซ้ายหันขวาหันไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพแทบไม่มีแตกแถว

การยอมผ่อนคลายในบางเรื่อง เช่น ถอนตัวออกจากขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถอนตัวออกจากการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จะเป็นลมเย็นที่ช่วยผ่อนสถานการณ์ แต่ข้อเรียกร้องที่สูงกว่านั้นถึงขั้นทุบหม้อข้าวตนเอง ให้ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากบทเฉพาะกาล น่าจะเป็นไฟร้อนที่ยอมกันไม่ได้

บทบาทของวุฒิสภาในการอภิปรายและลงมติในวันที่ 24 กันยายน 2563 จึงเป็นจุดแตกหักที่น่าจับตายิ่ง

2.สภาผู้แทนราษฎร

น่าแปลกที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรกลับมีความเห็นที่เป็นเอกภาพร่วมกันในหลายประเด็น

เช่น เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรทำให้ง่ายขึ้น โดยเพียงใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาทั้งในวาระหนึ่งและวาระสาม ไม่ต้องมีเงื่อนไขต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นด้วยหนึ่งในสามของสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่ในสภา

และยังเห็นพ้องต้องกันถึงการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.

เพียงแต่จำนวน ที่มา และกรอบเวลาการทำงานยังอาจมีข้อเสนอที่แตกต่างกันบ้าง แต่ไม่ใช่สาระสำคัญที่ตกลงกันไม่ได้

หนำซ้ำยังเห็นตรงกันในเรื่องการแก้ไขระบบการเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียว ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ คือ เลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อแยกออกจากกัน ให้ประชาชนสามารถเลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ชอบได้

เป็นความเห็นที่แทบจะไม่เกรงใจกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเลยว่า นวัตกรรมการเลือกตั้งบัตรใบเดียวที่เรียกชื่อว่าเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมของท่านนั้น ใช้แล้วก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มามากมาย สมควรยกเลิก

สภาผู้แทนราษฎรอาจมีความเห็นต่างกันบ้างในบางจุดที่มีข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไปไกล เช่น ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลที่ไปถึงการยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล หรือการเลิกรับรองความถูกต้องชอบธรรมของการทำรัฐประหาร ตามมาตรา 279

แต่ความแตกต่างดังกล่าวไม่น่าเป็นประเด็นลุกลาม ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งประกอบด้วยทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านที่เหลือค่อนข้างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

3.การยกระดับการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา

ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ชู 3 ประเด็น หยุดคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา นั้นค่อนข้างเป็นเอกภาพและเรียงลำดับก่อนหลังเป็นที่เรียบร้อย

แต่ดูเหมือนจะได้รับการตอบสนองเพียงในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญในการยอมให้มี ส.ส.ร. แต่ภายใต้กระบวนการทางนิติบัญญัติที่กว่ารัฐสภาจะประชุมร่วมกันในวันที่ 23-24 กันยายน 2563 การเริ่มต้นนับหนึ่งในวันนั้น อาจไม่ทันกับสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องที่คาดว่าจะยกระดับสูงขึ้นในวันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2563

นอกจากนี้ การลงลึกถึงประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการชุมนุมเรียกร้อง โดยแยกประเด็นของการแก้รัฐธรรมนูญออกเป็นสองส่วน คือ ระยะสั้นที่กดดันให้มีการแก้ไขทันที และระยะยาวที่ให้มีการร่างใหม่โดยประชาชนมีส่วนร่วม

ระยะยาวนั้น มีแนวทางของ ส.ส.ร.ที่ผู้มีอำนาจยอมให้มีการดำเนินการแล้ว เนื่องจากว่า กว่าจะเลือก กว่าจะร่าง กว่าจะเสร็จ ต้องใช้ระยะเวลานับปี ยอมวันนี้ แต่ไปสู้กันต่อในอนาคตก็ยังได้

แต่ข้อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีในหลายประเด็นต่างหากที่จะกลายเป็นประเด็นร้อน เพราะข้อเสนอที่ว่าต้องไม่มี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.คงปฏิบัติหน้าที่ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2563 ดูจะเป็นไฟแรงที่ไม่เห็นทางออก หากข้อเรียกร้องดังกล่าวจุดติด

4.กองทัพ ตำรวจ และกองหนุน

เมื่อผู้บัญชาการกองทัพบกจะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2563 แต่ความเข้มข้นในการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ยังร้อนแรงด้วยวลีล่าสุด “จะไม่ยอมให้จบที่รุ่นเรา” เท่ากับเป็นการเปิดหน้าในการเป็นฝ่ายตรงข้ามกับการชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษาอย่างชัดเจน

ประกอบกับการตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่กวาดเอาบรรดากฎหมายเท่าที่จะมีตั้งแต่กฎหมายอาญามาตรา 116 ไปจนถึงพระราชบัญญัติการรักษาความสะอาดมาเป็นข้อหาต่อผู้ชุมนุม ที่ดูเหมือนจะยิ่งเป็นการยั่วยุให้ผู้ชุมนุมอึดอัดและกล้าที่จะตอบโต้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สาดคืนด้วยถังสี

ต้องอย่าลืมว่า ม็อบที่ดี มีการจัดตั้ง มีการควบคุมอย่างเป็นระบบนั้นยังไม่น่ากลัวเท่าม็อบที่ต่างคนต่างมา ไม่มีผู้นำ ใช้อารมณ์นำเหตุผล เพราะหากถึงจุดที่เขาหมดความอดทน อะไร อะไรก็ห้ามไม่อยู่

ในขณะที่การชุมนุมของฝ่ายที่เห็นตรงข้ามกับนักเรียน-นักศึกษาก็เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง แม้จะยังมีจำนวนน้อยกว่า แต่ก็เป็นที่น่าวิตกถึงการพัฒนาของสถานการณ์ที่อาจกลายเป็นความรุนแรง ให้กองทัพใช้จังหวะดังกล่าวในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนการเกษียณอายุเข้ามารักษาความสงบอีกหรือไม่

เดือนกันยายน จึงไม่ใช่หน้าฝนที่ชุ่มฉ่ำ สร้างความสุขสบายใจให้ผู้คน

แต่กลายเป็นเดือนร้อนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย

เจ้าของบ้านผู้ปกครองประเทศวันนี้ หากรู้จักหาน้ำเย็นใส่ยาอุทัยให้ผู้มาเยี่ยมเยือนถึงเรือนชาน หาพัดวีมาโบกให้เย็นใจ ความร้อนแห่งเดือนกันยายนก็จะบรรเทา แต่หากยังดื้อดึงเห็นว่าบ้านนี้เป็นของข้า ข้าจะทำอะไรคนอื่นไม่เกี่ยว นอกจากเดือนกันยายนจะเป็นเดือนร้อนแล้ว เดือนตุลาคม 2563 คงจะเป็นเดือนที่อุณหภูมิขึ้นสูงสุด