ต่างประเทศ : คดีฆาตกรรม จามาล คาช็อกกี ความจริงที่ถูกกลบฝัง

นับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2018 จามาล คาช็อกกี คอลัมนิสต์ชาวซาอุดีอาระเบีย หายตัวเข้าไปในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี นับจนถึงวันนี้ผ่านไปเกือบ 3 ปีแล้ว แม้แต่ศพของเขาก็หาไม่พบ

เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ศาลฎีกาในประเทศซาอุดีอาระเบีย มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีฆาตกรรมนายคาช็อกกี เป็นที่สิ้นสุดทั้งสิ้น 8 คน โดยไม่มีการเปิดเผยชื่อจำเลย โดยโทษสูงสุดที่ได้รับเป็นการจำคุกเพียง 20 ปีเท่านั้น

จุดจบของคดีดังกล่าวถูกมองว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลซาอุฯ ในการปิดคดีฆาตกรรมที่กระทบกับชื่อเสียงของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียมากที่สุดคดีหนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชื่อเสียงของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ประมุขแห่งซาอุดีอาระเบียในทางพฤตินัย ที่ต้องการกอบกู้ภาพลักษณ์ของประเทศก่อนหน้าการประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

คดีเริ่มต้นขึ้นเมื่อจามาล คาช็อกกี คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ผู้ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา หายตัวเข้าไปในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ในนครอิสตันบูล เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2018

นักข่าวมากประสบการณ์วัย 59 ปี เคยทำข่าวในคดีใหญ่ให้สื่อท้องถิ่นมากมาย

เคยมีสายสัมพันธ์อันดีกับราชวงศ์ซาอุฯ ถึงขั้นได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียมาแล้ว

แต่ในปี 2017 คาช็อกกีกลับไม่ได้รับความชื่นชอบจากราชวงศ์ซาอุฯ เหมือนเคย จนต้องลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา และไปทำงานเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เขียนเรื่องราววิพากษ์วิจารณ์นโยบายของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อย่างเผ็ดร้อน

คอลัมน์แรกในเดอะโพสต์ของคาช็อกกีเมื่อปี 2017 ระบุว่า ตนหวาดกลัวที่จะถูกรัฐบาลจับกุมในการกวาดล้างคนเห็นต่างของเจ้าชายซัลมานในซาอุฯ จึงตัดสินใจหนีออกมาจากบ้านเกิดนั้บแต่นั้นมา

คาช็อกกีต้องติดต่อสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบูล เพื่อขอเอกสารยืนยันการหย่าร้าง เพื่อใช้ในการแต่งงานกับคู่หมั้นชาวตุรกีอย่าง “ฮาติส เซนกิซ” ในเดือนกันยายนปี 2018

และสถานกงสุลนัดให้คาช็อกกีมารับเอกสารกับสถานกงสุลในวันที่ 2 ตุลาคมปีเดียวกัน

 

เซนกิซรอคาช็อกกีอยู่นานถึง 10 ชั่วโมง และกลับมาอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ก็ยังไม่พบคู่หมั้นปรากฏตัวออกมาแต่อย่างใด

หลังแจ้งทางการตุรกี จนเป็นข่าวใหญ่โด่งดังไปทั่วโลก รัฐบาลซาอุดีอาระเบียก็ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของคอลัมนิสต์ชื่อดังในทันที

แต่ในที่สุดรัฐบาลซาอุดีอาระเบียออกมายอมรับในเวลาต่อมาว่าคาช็อกกีได้เสียชีวิตแล้วในสถานกงสุล ในปฏิบัติการผิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งการดังกล่าว

อัยการซาอุดีอาระเบียเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า การฆาตกรรมกระทำการโดย “หัวหน้าทีมเจรจา” ที่ “อาห์หมัด อาซิรี รองผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองซาอุฯ” ส่งตัวไปยังประเทศตุรกีเพื่อนำตัวนายคาช็อกกีกลับซาอุดีอาระเบีย ไม่ว่าจะด้วย “วาจา” หรือ “ใช้กำลัง” ก็ตาม

จากการสืบสวนของทางการซาอุฯ ระบุว่า คาช็อกกีถูกควบคุมตัวด้วยกำลัง และถูกฉีดยาเข้าไปเกินขนาด นำไปสู่การเสียชีวิต

ร่างของคาช็อกกีถูก “แยกชิ้นส่วน” และลำเลียงออกจากสถานกงสุลให้ผู้ร่วมขบวนการในพื้นที่นำไปทำลาย ขณะที่อัยการซาอุดีอาระเบียยังคงยืนยันในการสืบสวนว่า เจ้าชายซัลมานไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวกับการก่อเหตุดังกล่าวแต่อย่างใด

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว อัยการซาอุฯ ระบุว่ามีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 21 คน มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล 5 คนถูกปลดจากตำแหน่ง ในจำนวนนี้รวมถึงรองผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองซาอุดีอาระเบีย และ “ซาอุด อัล คาห์ทานี” ผู้ช่วยใกล้ชิดของเจ้าชายซัลมานด้วย

การไต่สวนคดีเริ่มต้นขึ้นในปี 2019 ที่ศาลอาญาในกรุงริยาด โดยการไต่สวนมีขึ้นโดยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดแม้แต่ชื่อของจำเลยในคดีดังกล่าว ซึ่งในที่สุดมีการตัดสินให้จำเลย 5 คนต้องโทษประหารชีวิต และจำเลยอีก 3 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องโทษจำคุกรวม 24 ปี

อย่างไรก็ตาม อาซิรีและคาห์ทานีไม่ได้ถูกตัดสินลงโทษใดๆ เนื่องจากขาดหลักฐานเชื่อมโยงความผิด

การตัดสินคดีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่แล้วถึงความไม่โปร่งใส ถูกตั้งคำถามมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อ “ซาลาห์ คาช็อกกี” ลูกชายของคาช็อกกี ที่อาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบียออกมาแถลง “ให้อภัยคนที่ฆ่าพ่อของตนเพื่อรับพรจากพระเจ้า” ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นำไปสู่การลดโทษจำเลยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในเวลาเดียวกันนั้น วอชิงตันโพสต์รายงานว่า ลูกๆ ของคาช็อกกีในซาอุดีอาระเบีย รวมถึงซาลาห์เองได้รับบ้านมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ และได้รับเงินเป็นรายเดือนจากรัฐบาลจำนวนมหาศาล

รายงานข่าวซึ่งซาลาห์เองออกมายืนยันว่าไม่เป็นความจริง

 

ผลการสืบสวนของซาอุดีอาระเบียขัดแย้งกับทั้งของทางการตุรกีและทีมสืบสวนพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ที่สรุปว่าเป็นการฆาตกรรมอย่างเลือดเย็น และมีการเตรียมพร้อมมาก่อนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายงานของยูเอ็นที่ระบุว่า มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่บ่งชี้ว่าเจ้าชายซัลมานและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมครั้งนี้

ล่าสุดศาลซาอุดีอาระเบียตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิดเพียง 8 ราย ลดโทษประหารลงเหลือจำคุกสูงสุดเพียง 20 ปี แถมยังไม่เปิดเผยชื่อผู้กระทำผิด ทำให้ข้อสงสัยที่มีต่อระบบยุติธรรมในซาอุดีอาระเบียยังคงอยู่ต่อไป

เซนกิซระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า การตัดสินดังกล่าวเป็นเหมือนกับ “ละครตลก”

“การตัดสินที่มีขึ้นในซาอุดีอาระเบียในวันนี้ เป็นอีกครั้งที่เกิดการเย้ยหยันความยุติธรรมอย่างสมบูรณ์” เซนกิซระบุ

อินเนส ออสแมน ผู้อำนวยการกลุ่มสิทธิมนุษยชนมีนาในสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า นับตั้งแต่เริ่มต้น ซาอุดีอาระเบียไม่ได้มีความตั้งใจที่จะนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษอยู่แล้ว มีเพียงความพยายามปกปิดความจริงเท่านั้น

“คำตัดสินครั้งนี้เป็นตะปูดอกสุดท้ายที่ตอกฝาโลง คดีนี้ถูกปิดลงแล้ว”

ฝังกลบความจริงพร้อมๆ กับศพของคาช็อกกีไปตลอดกาล”