คำ ผกา | สิ่งที่คุมสื่อคือเสรีภาพของสื่อ

คำ ผกา

สื่อมวลชนต้องชี้นำสังคมจริงหรือไม่?

สำหรับฉัน “สื่อสามารถชี้นำสังคม” แต่ “สื่อมีหน้าที่ที่ชี้นำสังคม” หรือเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจ

อ้าว แล้วไม่เหมือนกันหรอกหรือ?

คำตอบคือ ไม่เหมือน!

สำหรับฉัน วรรณกรรมทุกประเภทไม่เพียงแต่ชี้นำสังคม แต่สามารถเสกสรรปั้นแต่งสังคมได้เลย วรรณกรรมในที่นี้ไม่ได้หมายถึง นวนิยาย บทกวี บทละคร เท่านั้น แต่หมายถึง งานในเชิงเจอนัลลิสต์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข่าวในทุกแขนงในทุกประเภทของสื่อทั้งสื่อเก่าสื่อใหม่ งานสารคดี ไปจนถึงพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์

วรรณกรรมในที่นี้ยังหมายถึงงานเขียนทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี พิพิธภัณฑ์

ยังหมายถึงแบบเรียน ตำราเรียน พจนานุกรม

“วรรณกรรม” เหล่านี้ถูกเสพโดยสาธารณะ เพราะฉะนั้น เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันมีบทบาทในการก่อรูปก่อร่างความคิด สติปัญญาของสังคมนั้น หรือพูดให้เบาที่สุดได้ว่า สามารถ “ชี้นำ” สังคม

แต่การชี้นำนั้นมีสองแบบคือ แบบตั้งใจและแบบไม่ตั้งใจ

วรรณกรรมในรูปของตำราเรียน ประวัติศาสตร์ฉบับราชการ การโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐ เพลงปลุกใจ เหล่านี้คือ เป็นการใช้วรรณกรรมเพื่อปั้นแต่งสังคม สติปัญญาของพลเมืองในรัฐ ให้เป็นไปอย่างที่รัฐต้องการ เป็นการชี้นำโดยตั้งใจ

นวนิยาย ละคร เพลงป๊อป – วรรณกรรมที่ผลิตโดยเอกชนทั้งหลาย ที่คิดว่าตนเองกำลังทำงานศิลปะ ก็มีสองประเภท และถกเถียงกันมาชาติหนึ่งแล้วว่า งานเหล่านี้ควรเป็น ศิลปะเพื่อศิลปะ หรือ ศิลปะเพื่อชีวิต

คนที่เชื่อว่าศิลปะเพื่อศิลปะ ก็มองว่า – งานของชั้นเพื่อความงาม เพื่อสุนทรียะ เพื่อความบันเทิง ไม่มีการเมือง สังคม เศรษฐกิจ คนเสพก็มองว่า ชั้นก็แค่ฟังเพลงป๊อป ดูละครหลังข่าว ดูเกมโชว์ อ่านนิยายน้ำเน่า มันจะไปเกี่ยวข้องกับสังคม กับอุดมการณ์อะไรอย่างไร

ทว่า ทั้งผู้ผลิตงานศิลปะเพื่อศิลปะ และผู้เสพงานศิลปะเพื่อสุนทรียะล้วนๆ ก็มักจะลืมไปว่า สิ่งที่เราเขียน สิ่งที่เราคิด บทสนทนาของตัวละคร การวางทิศทางของความดี ความชั่ว ความงาม ความอัปลักษณ์ ความปกติ ความผิดปกติ สิ่งที่พึงทำ สิ่งที่ไม่พึงทำ อันปรากฏอยู่ในงานเพื่อ “สุนทรียะ” ล้วนๆ ของตนเองนั้น มันไม่ได้หล่นลงมาจากฟากฟ้า

แต่ทั้งผู้เผลิตและผู้เสพล้วนเป็นผลผลิตของวรรณกรรมที่ผลิตโดยรัฐทั้งสิ้น

เราจึงสามารถเป็นได้ทั้งเอเย่นต์ ส่งผ่านอุดมการณ์ของรัฐที่เรารับรู้มาจาก “วรรณกรรมราชการ” หรือเป็นได้ทั้งผู้ต่อต้านอุดมการณ์ของ “วรรณกรรมราชการ” โดยที่เราไม่รู้ตัว หรือในบางคน งานบางชิ้นก็มีทั้งสองส่วนปะปนย้อนแย้งไม่ลงรอยกัน ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ

ส่วนงานศิลปะเพื่อชีวิตนั้น เข้าใจได้ง่ายขึ้นไปอีก เพราะประกาศตัวชัดเจนว่า ฉันผลิตงานขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายอยากเปลี่ยนแปลงสังคม จึงใส่ความคิด อุดมคติ ความเชื่อ ความฝัน และปราถนาจะโน้มน้าวสังคมให้คิด ให้เชื่อ หรือให้สงสัยในสิ่งเดียวกับที่ผู้ผลิตงานสงสัย งานเพื่อชีวิตโดยมากมักต้องการคัดง้างกับอุดมการณ์ของรัฐที่ผลิตผ่าน “วรรณกรรมราชการ”

พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ เป็นงานศิลปะที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองและเป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู้ทางการเมืองอย่างชัดเจน

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

ในบรรดาวรรณกรรมทั้งหมดงานแขนง “ข่าว” และงานของคนในวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นแขนงที่ความเป็น “วรรณกรรม” ของมันถูกซ่อนเร้นอย่างแนบเนียนที่สุด คล้ายๆ กับงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่ใครๆ ก็เชื่อว่ามันคืองานที่บันทึกทั้งความจริงและข้อเท็จจริง

แต่ไม่ได้ตระหนักว่า ทั้งข่าวและประวัติศาสตร์ทำได้แค่การนำเสนอบางส่วนเสี้ยวของข้อเท็จจริงในท่ามกลางข้อเท็จจริงในปริมาณที่เป็นอนันต์

ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือ ในท่ามกลางเหตุการณ์นับล้านๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทำไมจึงมีบางเหตุการณ์เท่านั้นที่เป็นข่าว

และในท่ามกลางเหตุการณ์ที่เป็นข่าวทั้งหมด ทำไมบางข่าวจึงสำคัญกว่าบางข่าว

และในท่ามกลางลำดับชั้นแห่งความสำคัญของข่าวที่ถูกคัดสรรมา ทำไมบางข่าวเป็นที่สนใจแก่ผู้บริโภคข่าวมากกว่าข่าวอื่นๆ?

บางคนอาจจะตอบว่า ไม่เห็นจะมีอะไรซับซ้อน ดูว่าข่าวไหนสำคัญกว่าข่าวไหนก็ดูที่ข่าวนั้นมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่หรือเปล่า

คำถามคือ คนส่วนใหญ่ในการตีความของใคร

เหตุการณ์ก่อการร้ายในประเทศเล็กๆ ในแอฟริกา แม้จะมีคนตายมากกว่าก็ไม่เป็นข่าวใหญ่เท่ากับการก่อการร้ายที่ปารีสหรือนิวยอร์ก

และถามว่าคนส่วนใหญ่ในที่นี้เรานับกันที่จำนวนคนหัวต่อหัว หรือนับกันที่หัวใครที่ถูกเห็น เสียงของใครที่ถูกได้ยินมากกว่ากันใช่หรือไม่

แต่ถามว่า ในความเป็น “วรรณกรรม” ของงานข่าว ทำให้ข่าวมีคุณค่าน้อยลงไหม

คำตอบคือ ไม่! เพราะจะมีคนบ้าที่ไหนรายงานทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ได้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง (ช่นเดียวกับที่หนังสือประวัติศาสตร์ไม่สามารถจดจารทุกเหตุการณ์ในอดีตได้อย่างครบถ้วน มันอิมพอสสิเบิ้ลแบบโคตรๆ) ไม่เรียงลำดับความสำคัญ ต่อให้ความสำคัญนั้นจะมาจากอคติชุดใดก็แล้วแต่

แล้วถ้าหากข่าวเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของการรายงานข้อเท็จจริงที่เต็มไปด้วยอคติและการเลือกที่รักมักที่ชัง ข่าวจะมีคุณค่าได้อย่างไร?

คำตอบคือ ก็มีค่าในความเลือกที่รักมักที่ชังอันแสนจะลำเอียงนั่นแหละ

แต่สิ่งที่จะทำลายคุณค่าของข่าว และวิชาชีพในข่าวคือ อหังการของสื่อ และความคาดหวังจากสังคมว่า ข่าว และสื่อมวลชนคือผู้ที่แสนจะซื่อสัตย์ต่อความจริง!!!!

สําหรับฉัน สิ่งแรกที่สื่อพึงตระหนักและรู้ตัวอยู่เสมอคือ เราไม่ได้เป็นผู้ชี้นำสังคม แต่สังคมชี้นำเราให้ทำการ “คัดสรร” เพียงบางข้อเท็จจริง บางเหตุการณ์ และบางคำพูด ของเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้มารายงานเป็นข่าว

สังคมที่เราสังกัด การเมืองที่เราอยู่กับมัน ผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่เราถือหาง (อาจจะเป็นชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ กรรมกร ฯลฯ) ความขายได้ของเรื่องนั้นๆ คือ ปัจจัยที่กำกับ “การคัดสรร” และการเรียงลำดับความสำคัญของเหตุการณ์ที่เราตัดสินใจนำเสนอให้เป็นข่าว และตัดสินใจต่อจากนั้นว่าจะเป็นข่าวใหญ่หรือข่าวเล็ก

ความซื่อสัตย์เดียวที่คนใน”สื่อ” พอจะทำได้คือ ไม่เสนอความเท็จ ไม่กระตุ้นเร้าความรุนแรง เกลียดชัง ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง – เพราะลำพังการคัดสรรข้อเท็จจริงตามสายตาของเราก็ทำลายความจริงไปมากพออยู่แล้ว

และนี่ก็น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่สื่อควรเลิกคิดได้แล้วว่าตนเองชี้นำสังคมได้

เพราะดูเหมือนว่า ทั้งสังคมและสื่อทำได้มากที่สุดก็แค่ชักเย่อกันไปมาระหว่างสื่อกับสังคมต่างฝ่ายต่างชี้ ต่างฝ่ายต่างส่งอิทธิพลแก่กัน

เพราะสื่อก็คือผลผลิตของสังคมและระบบการเมืองที่ตนเองสังกัดอยู่นั่นแหละ

แล้วอย่างนี้สื่อจะมีประโยชน์อะไร เสนอความจริงก็ครบถ้วนแถมยังเป็นแค่แขนงหนึ่งของงานวรรณกรรม ชี้นำสังคมก็ไม่ได้

สําหรับฉัน สื่อมีประโยชน์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง – นอกเหนือไปจากการเป็นหน่วยแจ้งข้อมูลข่าวสาร เช่น พยากรณ์อากาศ การแจ้งเตือนภัยต่างๆ

สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง อี๋ ฟังดูน่าขยะแขยงจังเลย แค่คำว่าการเมืองก็น่าเกลียดน่ากลัวตัวละบาท

ก็ต้องขยายความต่อว่า เครื่องมือทางการเมืองในที่นี้คือ เครื่องมือทางการเมืองของภาคประชาสังคมหรือ civil society

เพราะในรัฐสมัยใหม่ที่พลเมืองอย่างเรา ทำสัญญาประชาคมมอบอำนาจการบริหารจัดการบ้านเมืองไปจนถึงภาษีทุกบาททุกสตางค์ของเราให้แก่รัฐแล้ว – ชิบหายตายห่า แล้วเราจะเอาอะไรไปถ่วงดุลหรือต่อรองกับรัฐฟะ? เพราะลำพัง “ฝ่ายค้าน” ในสภา ก็ไม่น่าจะพอ และไว้ใจได้หรา? และตามกฎหมาย เรามอบอำนาจให้เขาไปแล้วนาในวันที่ไปหยอดบัตรเลือกตั้งน่ะ

สื่อ (ที่เราต้องตระหนักถึงอคติของมันอยู่เสมอ) จึงเป็นเครื่องมือของภาคประชาสังคมและกลุ่มผลประโยชน์อันหลากหลายในทางการเมืองเพื่อถ่วงดุล ต่อรอง ตรวจสอบอำนาจรัฐ อย่างไม่กระมิดกระเมี้ยนว่า โอ๊ยย ชั้นเป็นสื่อที่ทำหน้าที่แค่เสนอข้อเท็จจริงนาจะ ชั้นไม่มีอะเจนด้าทางการเมืองใดๆ

แต่ย้อนกลับไปอ่านตั้งแต่ย่อหน้าที่หนึ่งใหม่ ต่อให้คุณไม่อยากมีอะเจนด้าทางการเมืองเลย แต่ในฐานะที่คุณเป็นผลผลิตทางการเมืองที่เลือกเกิดไม่ได้ อะเจนด้าทางการเมืองมันก็ผุดพรายขึ้นมาเองจากการคัดว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญในสื่อของคุณ

ต่อให้คุณเลือกเสนอแต่ข่าวดาราเลิกกันเอากันทุกวัน – นั่นก็เป็นการเมืองอย่างหนึ่ง!

แล้วเราจะเอาอะไรมาถ่วงดุลอะเจนด้าและอคติของสื่อทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวล่ะ?

คําตอบก็คือ เสรีภาพของสื่อ และการแข่งขันอย่างไรhขีดจำกัดของสื่อ

ปล่อยให้แต่ละภาคประชาสังคม ทำงาน ถกเถียงดีเบต

และปล่อยให้สื่อทำงานชักเย่อกับทั้งอุดมการณ์ ผลประโยชน์ของภาคประสังคม กลุ่มผู้อ่าน ผู้ชม ของตนเอง และกับรัฐ มีสื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง สื่อของชนกลุ่มน้อย สื่อชายขอบ สื่อศิลปะ สื่อเทคโนโลยี สื่อห่าสื่อเหวอะไรก็ปล่อยให้แข่งขันอย่างเต็มที่

สิ่งเดียวที่ต้องมีเป็นคู่มือร่วมกันคือ จรรยาบรรณพื้นฐานของสื่อมีอะไรบ้างที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยมีสมาคมวิชาชีพสื่อ ควบคุม ถ่วงดุลกัน และมีภาคประชาสังคม ประชาชนผู้บริโภคนี่แหละคอยควบคุมคุณภาพของสื่อ

สื่อชี้นำสังคมไมได้ สื่อเป็นแค่เครื่องมือในสนามการต่อรองทางอำนาจระหว่างรัฐกับภาคประชาสังคมเท่านั้น

ถามต่อว่า อะไรคือเครื่องมือในการควบคุมคุณภาพและจรรยาบรรณของสื่อ

คำตอบคือ เสรีภาพของสื่อนั่นเอง